ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 52' 16.4492"
16.8712359
Longitude : E 99° 7' 45.5146"
99.1293096
No. : 137763
ระแหง
Proposed by. ktp_tnk Date 6 June 2012
Approved by. Takculture Date 6 June 2012
Province : Tak
1 2444
Description

ชื่อบ้าน นามเมือง

จาก “ระแหง” สู่ “เมืองตาก” เมืองหลายหลากมากวัฒนธรรม

บ้านระแหง ศูนย์กลางเมืองตากในอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองตาก เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังอำเภอแม่สอดซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนไทย-พม่า และอำเภอต่างๆ ของจังหวัดตาก อำเภอเมืองตากเดิมชื่อ "เมืองระแหง" ในอดีตมีชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญและชาวเมืองตากที่มีเชื่อสายมอญกระจายในทุกพื้นที่ของเมืองตาก

ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้าน ฝั่งตะวันตก ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวาของแม่น้ำปิงมายังฝั่งซ้ายบริเวณตำบลระแหง จนกระทั่งทุกวันนี้

ชื่อ เมืองระแหง มีที่มาของชื่ออยู่หลายตำนาน บ้างก็ว่า สืบเนื่องมาจากตำนาน ผาสามเงา ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสามเงา จังหวัดตาก บ้างก็ว่ามาจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งของเมืองตาก ดังที่จะได้สาธยายพอสังเขป ดังนี้

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๐ หรือประมาณกว่าพันปีมาแล้ว มีฤาษีสองตน ผู้สร้างเมืองหริภุญชัยหรือลำพูน ได้ส่งคนมาทูลเชิญราชวงศ์กษัตริย์จากเมืองละโว้ หรือลพบุรี ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย ซึ่งก็คือ พระนางจามเทวี ธิดากษัตริย์เมืองละโว้ พระนางได้เสด็จทางเรือขึ้นไปทางเหนือ เมื่อมาถึงหน้าผาแห่งหนึ่งก็เกิดมีพายุใหญ่พัดกระหน่ำ จนเรือไม่สามารถแล่นทวนกระแสน้ำขึ้นไปได้ พระนางและคณะต้องแวะพักอยู่ริมฝั่งแห่งนั้น เป็นเวลาถึงสามวัน สามคืน เพื่อตากผ้าและข้าวของที่ขนมาทางเรือที่เปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝนจนกระทั้งเสื้อผ้าและข้าวของแห้งสนิท ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำว่า ระแหง คือ ตากแล้วแห้ง ต่อมาเพี้ยนไปว่า ตากระแห้ง จนกลายมาเป็น “ระแหง” ในปัจจุบัน

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายที่มาของนามเมืองตากเอาไว้ใน “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง”โดยอ้างอิงจากหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยไว้ว่า “เมืองตากเก่านี้พวกมอญเข้ามาตั้งเป็นแน่ไม่ต้องสงสัย เพราะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง และอยู่ตรงปากน้ำวัง ทางไปเมืองนครลำปางออกลำน้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในทางคมนาคม มีวัดและพระเจดีย์องค์หนึ่งเรียกว่าพระมหาธาตุเมืองตาก”

นอกจากนั้นประวัติศาสตร์จังหวัดตากในสมัยสุโขทัยยังบ่งบอกว่าเมืองตากเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญเมืองหนึ่งในสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จากนั้นไม่นานขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดก็ยกทัพมาตีเมืองตากแต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่พ่อขุนรามคำแหงซึ่งเป็นโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นับแต่นั้นเมืองตากดูเหมือนจะถูกลดความสำคัญลงในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะไม่ปรากฏหลักฐานหรือเอกสารใดๆ ที่ระบุถึงเมืองตาก ตากเป็นเพียงแค่หัวเมืองทางเหนือที่บางครั้งก็เป็นเส้นทางผ่านของกองทัพพม่าในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพให้แก่กรุงศรีอยุธยา เมืองตากถูกย้ายมาอยู่ที่บ้านป่ามะม่วง เขตตำบลระแหง กลายเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกอีกครั้งหนึ่ง และยังเป็นเมืองที่ใช้ชุมนุมพลไปตีเมืองเชียงใหม่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อีกด้วย

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบางท่าน สันนิษฐานว่านาม เมืองตาก หรือ เมืองระแหง ไม่น่าจะข้องเกี่ยวกับเรื่องดินฟ้าอากาศอย่างที่ชาวบ้านหรือบรรพบุรษชาวตากมุขปาฐะต่อกันมาว่า เมืองตากเป็นเมืองร้อน สภาพดินฟ้าอากาศแห้งแล้งจนแผ่นดินแยกแตกระแหง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองระแหงในปัจจุบัน แต่คำว่า ตาก น่าจะมาจากภาษามอญ ซึ่งแปลว่า ตี เพราะเมืองตากในอดีตเป็นเมืองที่มีแต่การสู้รบหรือการสงคราม

บางที่มากล่าวว่า คำว่า ระแหง น่าจะพ้องมาจากพระนามของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งคำว่า คำแหง หรือ กำแหง แปลว่า แข็งแรง เข้มแข็ง กล้าแกร่ง เพราะในอดีตที่ผ่านมาเมืองตากหรือเมืองระแหงเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญ เป็นเมืองที่แข็งแกร่งด้านการสู้รบเมืองหนึ่งในอดีต และในเวลาต่อมา คำว่า ระแหง ยังถูกนำไปใช้เป็นชื่อตำแหน่งขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี คือ พระยาระแหง อีกด้วย

ไม่ว่าชื่อเมืองตากหรือเมืองระแหงจะมีที่มาจากอะไรก็ตาม บ้านนี้ เมืองนี้ ก็ยังคงมีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเมืองที่สงบร่มเย็น แวดล้อมไปด้วยป่าไม้ขุนเขา และธรรมชาติอันสมบูรณ์ มีวัฒนธรรมอันหลากหลายที่หล่อหลอมมาจากวิถีชีวิตของคนเมืองตาก และจะยังคงเป็น “เมืองน่าอยู่ ประตูการค้าชายแดน” สมกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดตาก ต่อไป

Category
Etc.
Location
ตำบลระแหง
Road ตากสิน
Tambon ระแหง Amphoe Mueang Tak Province Tak
Details of access
จากการสัมภาษณ์
Reference นางบัวผัน เนื่องอ้น
No. 77 Road ตากสิน
Tambon หนองหลวง Amphoe Mueang Tak Province Tak ZIP code 63000
Tel. 055540408
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่