รำฟ้อนภูไท
“การรำฟ้อนภูไทเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านการแสดงประเภทการรำของชาวภูไท แต่เดิมเป็นการรำภูไทของกลุ่มผู้ชาย เคยเป็นชนที่อยู่แถบสิบสองจุไทยซึ่งเป็นบริเวณตอนเหนือของประเทศลาวและบางส่วนของเวียดนามเหนือ ติดต่อกับทิศใต้ของประเทศจีนแล้วอพยพเข้ามาประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แยกออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจังหวัดต่าง ๆ คือ กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กลุ่มหนึ่งลงมาทางใต้ คือ จังหวัดราชบุรี เรียกว่าลาวโซ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี การรำฟ้อนของชนภูไทได้เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายหญิงทั้งหมดภายหลัง แล้วมีการผสมกันโดยมีผู้ชายร่วมรำด้วย โดยฝ่ายหญิงนุ่งผ้าถุงดำ เสื้อแขนยาวดำขลิบชายสีแดง เกล้าผมเป็นมวยสูง ชายนุ่งโจงกระเบนปล่อยชายทั้งหน้าหลัง หรือนุ่งกางเกงครึ่งน่อง สวมเสื้อกุยเฮงสีดำขลิบแดงเช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่มักใช้หญิงล้วนเพราะสะดวกในการจัด นอกจากนั้นยังสวมเล็บยาวอีกด้วย”
สำหรับที่อำเภอแม่วงก์การรำฟ้อนภูไทเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้านบ้านน้อย หมู่ที่ ๑๙ ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ได้อพยพมาจากจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐โดยมีป้าบุญจันทร์ โพธาราม อายุ ๖๖ ปี เป็นผู้ถ่ายทอดให้ลูกหลาน