มะละกอ (Papaya)
มะละกอ (Papaya) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L.ชื่อสามัญPapaya, Pawpaw, Tree melon อยู่ในวงศ์Caricaceae มีชื่ออื่น ๆ ได้แก่ มะก้วยเทศ (ภาคเหนือ) หมักหุ่ง (ลาว,นครราชสีมา,เลย) ลอกอ (ภาคใต้) กล้วยลา (ยะลา) แตงต้น (สตูล)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะละกอเป็นไม้ผลชนิดหนึ่ง ประเภทไม้ล้มลุก มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง ถูกนำเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา สูงประมาณ 3-6 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลออกขาว ลำต้นตรง ไม่มีแก่น แตกกิ่งก้านน้อย มีรอยแผลใบชัดเจน มียางขาวข้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรอบต้นหนาแน่นที่ปลายยอด ใบรูปฝ่ามือ ขนาด 80-120 ซม. ขอบใบเว้าเป็นแฉกลึกถึงแกนก้าน ก้านใบเป็นหลอด กลมกลวงยาว 25-100 ซม. ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวห้อยลง ดอกสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ มีกลิ่นหอม ดอกเพศเมียสีขาว ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกมีขนาดใหญ่ กว่าดอกเพศผู้ ผล รูปกระสวย ผิวเรียบ เปลือกบาง มียางสีขาว ผลสดสีเขียวเข้ม พอสุกเปลี่ยนเป็นสีส้ม รับประทานได้ มีเมล็ดมาก เมล็ดกลม สีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวใส
ประโยชน์
นอกจากรับประทานสด ๆ แล้ว เรายังสามารถนำมะละกอไปหมักเนื้อให้นุ่มได้อีกด้วย เพราะในมะละกอมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งเรียกว่า พาเพน (Papain) ซึ่งสามารถนำเอนไซม์ชนิดนี้ไปใส่ในผงหมักเนื้อสำเร็จรูป บางครั้งนำไปทำเป็นยาช่วยย่อยสำหรับผู้ที่มีปัญหาอาหารไม่ย่อยก็ได้
สรรพคุณของมะละกอ
1. แก้อาการขัดเบา ใช้รากสด (1 กำมือ) 70-90 กรัม รากแห้ง 25-35 กรัม หั่นต้มกับน้ำ กรองดื่มเฉพาะน้ำ วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา(75 มิลลิลิตร) ดื่มก่อนอาหาร
2. เป็นยาระบายอ่อนๆ การกินเนื้อมะละกอสุก ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ เพราะไปช่วยเพิ่มจำนวนกากไยอาหาร ดังนั้นเนื้อผลสุกมะละกอจะช่วยระบายอ่อนๆ แก้ท้องผูก
สรรพคุณอื่น ๆ ของมะละกอ :
ผลสุก - เป็นมีสรรพคุณป้องกัน หรือแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เป็นยาระบาย
ยางจากผลดิบ - เป็นยาช่วยย่อยโปรตีน ฆ่าพยาธิได้
รากมะละกอ - ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา
ใช้เป็นยาระบาย :ใช้ผลสุกไม่จำกัดจำนวน รับประทานเป็นผลไม้
ใช้เป็นยาช่วยย่อย
1. ใช้เนื้อมะละกอดิบไม่จำกัด ประกอบอาหาร เช่น ส้มตำ แกง เป็นผักจิ้ม
2. ยางจากผลดิบ หรือจากก้านใบ ใช้ 10-15 กรัม หรือถ้าเป็นตัวยาช่วยย่อย เพราะในยางมะละกอมีสารที่เรียกว่า Papainเป็นยากัน หรือแก้โรคลักปิดลักเปิด โรคเลือดออกตามไรฟัน มะละกอสุกรับประทานเป็นผลไม้ ให้วิตามินซีสูง
สรรพคุณในการรักษาอาการต่าง ๆ
อาการเท้าบวม
เอาใบมะละกอสดตำให้แหลกผสมกับเหล้าขาว ใช้พอกเท้าที่บวมลดอาการบวมลงได้
แก้เคล็ดขัดยอก
ใช้รากมะละกอสดตำให้แหลกผสมเหล้าโรงพอก
โดนหนามตำหรือหนามหักคาเนื้อใน
ให้บ่งปากแผลเปิดออก เอายางมะละกอดิบใส่หนามจะหลุดออก
คันเพราะพิษของหอยคัน
ให้ใช้ยางมะละกอดิบทาเช้า-เย็นจนหาย
เมื่อมีอาการปวดตามข้อและหลัง
รับประทานมะละกอสุกเป็นประจำป้องกันและบำบัดโรคปวดข้อปวดหลังได้ ปวดข้อ ปวด
กล้ามเนื้อ ไม่มีแรง ใช้รากมะละกอตัวผู้แช่เหล้าขาวให้ท่วมยาไว้ 7 วัน และกรองเอาน้ำใช้ทาแก้ปวดข้อและกล้ามเนื้อเปลี้ยอ่อนแรง ลดอาการปวดบวม ให้เอาใบมะละกอสดย่างไฟหรือลวกกับน้ำร้อนแล้วประคบบริเวณที่ปวด หรือตำพอหยาบห่อด้วยผ้าขาวบางทำเป็นลูกประคบ
ถ้าโดนตะปูตำเป็นแผล
ให้เอาผิวลูกมะละกอดิบตำพอกแผล เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง แผลน้ำร้อนลวก ใช้เนื้อ
มะละกอดิบต้มให้สุกจนเปื่อย ตำพอกที่แผล แผลพุพอง ใช้ใบมะละกอแห้งกรอบบดเป็นผง ผสมกับน้ำกะทิพอเหนียวข้น ใช้พอกหรือทาที่แผลวันละ 2-3 ครั้ง
แก้ผดผืนคัน
ใช้ใบมะละกอ 1 ใบ น้ำมะนาว 2 ผล เกลือ 1 ช้อนชา ตำรวมกันให้ละเอียดเอาทั้งน้ำและเนื้อ
ทาแผลผื่นคันบ่อยๆ
กลาก เกลื้อน ฮ่องกงฟุตหรือเท้าเปื่อย
ใช้ยางของลูกมะละกอดิบทาวันละ 3 ครั้งฆ่าเชื้อราได้
ข้อควรระวัง :
สำหรับผู้ที่รับประทานมะละกอสุกติดต่อกันเป็นจำนวนมาก เป็นเวลานาน อาจทำให้สารมีสีพวก carotenoid ไปสะสมในร่างกายมากเกินไป ทำให้ผิวมีสีเหลือง
เอกสารอ้างอิง
ข้อมูลจาก http://www.philippineherbalmedicine.org/papaya.htm
ข้อมูลจาก http://yathai.blogspot.com/2010/09/blog-post_10.html
ข้อมูลจาก สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สวนจิตรลดา ถ.ราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพฯ
๑๐๓๐๓ http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_15_4.htm