ครกไม้ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น ครกซ้อมมือ ครกตำข้าว เป็นต้น ครกไม้เป็นของใช้สำหรับตำข้าวเปลือก ตำงา ตำถั่ว ตำข้าวเม่า แต่ส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมุ่งใช้เพื่อตำข้าวเปลือกเป็นหลัก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโรงสีข้าวเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีตำข้าวเปลือกให้เป็นเม็ดข้าวสารไว้หุงกิน จึงคิดประดิษฐ์ครกไม้ขึ้นมา
ครกไม้จะใช้ท่อนไม้ใหญ่ทั้งลำต้น มักเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้มะค่า ไม้พะยอม ฯลฯ ชาวบ้านตัดท่อนไม้ยาวประมาณ ๑ เมตร ตัดหัวท้ายให้ผิวเรียนเสมอกัน เพราะเมื่อเวลานำครกตั้งไว้จะได้ตั้งได้ตรงไม่กระดกเอียงไปมาได้ จากนั้นเจาะส่วนตรงกลางด้านบนของท่อนไม้ไม่ให้เว้าลึกลงไปเหมือนครกหิน การเจาะลึกจะใช้ขวานโยนและค่อยตกแต่งไปเรื่อย ๆ ให้ปากครกกว้าง ก้นครกลึกสอบเข้าเป็นหลุมลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
เมื่อทำครกเสร็จแล้วต้องทำสากซึ่งได้ทำ ๒ วิธีการ
๑ . ทำสากมือชนิดใช้ไม้ท่อนเดียวกลม ๆ ยาวประมาณ ๒ เมตร เหลาให้คอดกิ่วตรงกลาง เพื่อเป็นมือจับปลายสาก ๒ ข้างมน ใช้สำหรับตำข้าว
๒ . ทำสากชนิดใช้ไม้ ๒ ท่อน คือ ท่อนหนึ่งสำหรับตำ อีกท่อนหนึ่งเป็นมือจับ เรียกว่า สากโยนหรือสากมือ
การตำ สิ่งของต่าง ๆ เช่น ตำข้าว ตำงา ตำพริก ตำแป้งขนมจีน และอื่น ๆ อาจตำคนเดียว หรือ ๒ - ๓ คนก็ได้ ถ้าตำหลายคนต้องตำสลับกัน เมื่อตำสิ่งของละเอียดจะมีคนคอยใช้มือกลีบไปกลับมาให้ตำทั่วถึงกัน ในปัจจุบันครกดังกล่าวนี้นับวันจะหมดไป เพราะความไม่สะดวกในการใช้ ยังมีใช้อยู่บ้างตามแถวชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ