ทุ่งกุลาร้องไห้
เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ล้านไร่ มีอาณาเขตครอบคลุม พื้นที่ ๕ จังหวัด คือจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดมหาสารคาม พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ ไร่อยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอโพนทราย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอปทุมรัตต์
สาเหตุที่ทุ่งแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่า ชนเผ่ากุลา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจากเมืองเมาะตะมะ ประเทศพม่า มีอาชีพเดินทางค้าขายสินค้าระหว่างเมือง นำสินค้าประเภทสีย้อมผ้า เครื่องทองเหลืองต่าง ๆ เดินทางค้าขายผ่านทุ่งกุลาแห่งนี้ ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน ไม่พบหมู่บ้าน ไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีต้นไม้เป็นร่มเงา มีแต่หญ้าสูงขึ้นเต็มไปหมด ส่วนพื้นดินก็เป็นทราย ยากลำบากต่อการเดินทางเสมือนอยู่กลางทะเลทราย ทำให้ชนเผากุลาถึงกับร้องไห้จึงให้ชื่อ ทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ในอดีตทุ่งกุลาร้องไห้ในฤดูแล้งพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้งมากเป็นดินทราย ส่วนในฤดูฝนน้ำจะท่วมทุกปี ใต้พื้นดินลงไปก็จะเป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถทำการเกษตรใด ๆ ได้หลังจากที่รัฐบาลออสเตรียได้สนับสนุนให้ทุนแก่รัฐบาลไทย ผ่านกรมพัฒนาที่ดินพร้อมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการสำรวจและพัฒนาที่ดินในปี พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๗ (จบโครงการ) โดยจัดสร้าง ถนน คลองส่งน้ำ และอ่างเก็บน้ำ สำนักงานปฏิรูปที่ดินได้ทำการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรได้ทำกินอย่างทั่วถึง สามารถพลิกฟื้นทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะของดินทุ่งกุลาร้องไห้แห่งนี้ทำให้ข้าวหอมมะลิที่ผลิตได้มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ ทุ่งกุลาร้องไห้จึงกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีชื่อเสียง เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด