สถานที่ตั้ง
รูปหล่อหลวงพ่ออิ่มประดิษฐาน ณ วัดลาดชะโด ตำบลหนองน้ำใหญ่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ชีวประวัติ
หลวงพ่ออุปัชฌาย์ (อิ่ม ธัมมสาโร)เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2413 บิดาชื่อ นายดิษฐ์ มารดาชื่อ นางหนู มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน คือ
1.นางหรุ่น
2.นางทิม
3.พระอุปัชฌาย์อิ่มธัมมสาโร
4.นายหลำ
5.นายหรุ่ม
หลวงพ่ออุปัชฌาย์อิ่มได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่เด็ก และได้อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดสะแก อำเภออุทัย จังหวัดอยุธยา โดยหลวงพ่อหร่าย วัดสะแกเป็นอุปัชฌาย์และได้มาอยู่ที่วัดลาดชะโด ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชพระเณรแถวนี้ทั้งหมดตั้งแต่ ลาดชะโด ดอนลาน นาคู ลำตะเคียน ลานช้าง ลาดตาล ในสมัยยุคนี้ถือว่าวัดรุ่งเรืองเป็นอย่างมากบางปีมีพระจำพรรษาถึงร้อยกว่ารูปก็มี ท่านชอบทำยาแผนโบราณแจก เช่น ยาเขียว ยาเหลือง ยาดำ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายถึงกรุงเทพฯ เจ้านายผู้ใหญ่ เช่น หม่อมเจ้าคำรพ ทรงนับถือท่านนักโดยเฉพาะพวกบ้านแป้ง บ้านขนมจีน อำเภอเสนานับถือท่านมาก ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่เห็นในปัจจุบันก็เกิดในสมัยท่าน มรณภาพในปีพุทธศักราช 2490 อายุได้ 77 ปี 57พรรษา
ความเชื่อ
ลูกศิษย์ที่ให้ความเคารพนับถือหลวงพ่ออิ่มต้องการหล่อรูปเหมือนของหลวงพ่ออิ่มไว้เพื่อทำการบูชาต่อไป จึงได้ไปขออนุญาตหลวงพ่ออิ่มเพื่อทำการหล่อรูปเหมือน แต่หลวงพ่อกับบอกว่าถ้าหล่อรูปเหมือนแล้วตนจะต้องตาย จึงบอกไม่ให้หล่อ แต่ลูกศิษย์ด้วยความนับถือต้องการจะหล่อรูปเหมือนให้ได้ จึงไปตามช่างมาปั้นหุ่นแกะรูปของท่านโดยหลวงพ่อก็นั่งเป็นแบบให้ช่างแกะและมีน้ำตาไหลตลอดเมื่อช่างแกะเรียบร้อยแล้วปรากฏว่าเหมือนหลวงพ่อมาก หลวงพ่อจึงพูดออกมาว่ากูตายแน่
วันที่ทำการหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อได้สร้างวัตถุมงคลมาปลุกเสกพร้อมกันโดยสร้างเหรียญรุ่นหนึ่งมา 2 แบบ แบบที่ 1 คือ แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบที่ 2 แบบใบเสมา และมีแหวนพิรอด ซึ่งพันด้วยผ้าดิบสีขาว โดยทำพิธีหล่อที่หน้าโรงเรียนวัดลาดชะโด มีหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อำเภอบางไทร มาปลุกเสกรูปหล่อและเหรียญของท่านซึ่งวันนั้นมีประชาชนมากันมากมาย เมื่อทำการปลุกเสกเสร็จได้มีการจำหน่ายเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ในราคา 1 บาท และแหวนพิรอดในราคา 1 บาท ส่วนเหรียญรูปใบเสมาหลวงพ่อบอกว่าให้นำใส่ขันลงหินนำมาเก็บไว้ที่กุฏิ ซึ่งได้นำมาจากภายหลังและถือได้ว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกและรุ่นเดียวของหลวงพ่ออิ่ม การหล่อรูปเหมือนได้ทำการหล่อในช่วงกลางเดือนห้า พ.ศ. 2490 และต่อมาหลวงพ่อได้มรณภาพเดือนเก้า พ.ศ.2490 ซึ่งได้เป็นไปตามที่หลวงพ่อได้บอกลูกศิษย์ไว้ว่าถ้ารูปหล่อเหมือนของตนแล้วตัวเองต้องตาย การฌาปนกิจศพหลวงพ่ออิ่ม มีขึ้นในเดือนห้าของปีต่อมา โดยก่อนที่ฌาปนกิจมีประชาชนที่ให้ความเคารพมาขอจีวรของหลวงพ่ออิ่มไปเป็นจำนวนมาก เมื่อฌาปนกิจเสร็จแล้วกระดูกและเศษขี้เถ้าก็มีประชาชนที่ศรัทธาจำนวนมากมาขอไปจนหมด ต่อมาภายหลังมีบางคนนำกระดูกของหลวงพ่อไปขาย ซึ่งมีราคาสูงมาก
โดยสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอผักไห่