ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 7° 15' 42.6406"
7.2618446
Longitude : E 100° 21' 30.6209"
100.3585058
No. : 161190
หมอต่อกระดูก: ทางเลือกในการจัดการสุขภาพ
Proposed by. สงขลา Date 27 September 2012
Approved by. สงขลา Date 28 September 2012
Province : Songkhla
0 2172
Description

หมอต่อกระดูก : ทางเลือกในการจัดการสุขภาพ

นายหมัด สามาย เกิดเมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๑๐ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๑๖ หมู่ ๘ บ้านดอนเหรียง ตำบลห้วยลึก อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๕-๖๗๒-๘๙๕๘

ทางเลือกในการรักษา

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะกระดูกหักจะเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเป็นอันดับแรก และลังจากที่รับการรักษาจากโรงพยาบาลเป็นระยะเวลา ๒ -๓ เดือนกว่าแล้วกระดูกยังไม่มีการเชื่อมต่อกัน ผู้ป่วยบางรายจึงเลือกเข้ามารับการรักษากับหมอต่อกระดูกพื้นบ้าน เมื่อผู้ป่วยมาถึงบ้านของหมอต่อกระดูก หมอต่อกระดูกจะต้องตัดเฝือกที่โรงพยาบาลทำให้ออกเสียก่อน เพื่อวินิจฉัยลักษณะของกระดูกที่หัก หลังจากนั้นจึงเริ่มการรักษาด้วยกรรมวิธีพื้นบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดมารุ่นต่อรุ่น สำหรับนายหมัด สามาย วิทยาการด้านการต่อกระดูกได้รับการถ่ายทอดมา ๔ รุ่น รวมระยะเวลาประมาณ ๘๐ ปี

การสืบทอดและการถ่ายทอด

องค์ความรู้ด้านการต่อกระดูกเป็นความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากสายตระกูล โดยผู้เป็นทวดได้ถ่ายทอดให้ปู่ ปู่ถ่ายทอดให้บิดา คือ นายแอ สามาย ต่อมาบิดาได้ถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับนายหมัด
สามายและลูกคนอื่นๆ ตระกูลสามายเป็นตระกูลแพทย์พื้นบ้าน ฝ่ายผู้หญิงได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านหมอตำแยและการนวด สำหรับฝ่ายชายได้รับการถ่ายทอดหมอต่อกระดู หมองูและหมอนวด ให้บริการชาวมุสลิมในชุมชนบ้านดอนเหรียงเป็นหลัก รวมถึงคนต่างถิ่นโดยไม่เรียกค่ารักษาใดๆ

การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการต่อกระดูกจากบิดา เกิดขึ้นอย่างจริงจังเมื่อนายหมัด สามาย อายุได้ ๒๕ ปี โดยเริ่มจากเป็นผู้ช่วยบิดาในการดูแลคนไข้ที่มาขอรับการรักษากับหมอพื้นบ้าน จากนั้นบิดาสอนให้รู้จักรูปทรงของกระดูก ลักษณะการหักและสอนการจัดกระดูกให้เข้าที่ก่อนการเข้าเผือก นายหมัด สามาย ฝึกฝนกันบิดาจนเกิดความชำนาญ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบิดาจวบจนกระทั่งเข้าปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ บิดาไม่สามารถให้การบริการได้เนื่องจากความชรา นายหมัด สามาย จึงได้เป็นหมอต่อกระดูกอย่างสมบูรณ์

เครื่องมือในการรักษา

๑. ไม้เฝือก ทำจาก ไม้ไผ่ เหลาเป็นแท่งความยาวมากกว่าช่วงกระดูกที่หัก

๒. ยาสมุนไพร ยกตัวอย่างเช่น หัวไพร ยาดำ เป็นต้น

๓. คาถา (พรมลม) เรียกกระดูกเรียกเอ็น

๔. น้ำมันมะพร้าว สำหรับทาลูบไล้ขณะต่อกระดูก

ขั้นตอนการรักษา

ผู้ที่เข้ามาขอรับการรักษาสามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือได้ทุกวันยกเว้นวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันเข้ามัสยิดของอิสลามิกชนเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ผู้ป่วยจะต้องเตรียมหมากพลู ๓ คำ และเบี้ยราช (เงินบูชาครู) จำนวน ๑๒๒ บาท เมื่อยกราชหมากพลูให้แก่หมอต่อกระดูกเป็นที่เรียบร้อย หมอต่อกระดูกมีขั้นตอนในการรักษาดังนี้

๑. หมอต่อกระดูกจะตรวจวินิจฉัยรูปร่างของการะดูกว่ามีลักษณะการหักอย่างไร โดยใช้วิธีการสัมผัส

๒. เมื่อทราบลักษณะของการหักแล้ว จึงเข้าขั้นตอนการจัดกระดูก ในขั้นตอนนี้ผู้มารับการรักษาจะเจ็บปวดเป็นอย่างมาก

๓. ขณะจัดกระดูกใช้น้ำมันมะพร้าวทาลูบให้ทั่วบริเวณ

๔. นำไม้เฝือกพอกสมุนไพร ก่อนนำไปพันดามบริเวณอวัยวะที่หัก

๕. จบการรักษาด้วยการว่าคาถา (พรมลม) เรียกกระดูกเรียกเอ็น

การดูแลรักษา

๑. ผู้ป่วยจะต้องเดินทางมาพบกับหมอต่อกระดูกอาทิตย์ละครั้ง เพื่อเช็คดูว่ากระดูกมีการเชื่อมต่อกันหรือยัง ดูตัวยาสมุนไพรที่พอกให้ พร้อมกับลูบทาน้ำมันมะพร้าวกระตุ้นให้กระดูกเกิดการเชื่อมรักษาตัวเอง นายหมัด สามาย กล่าวว่า “กระดูกหักทำเยอะไม่ได้ ถ้าทำรุนแรงจะไม่เชื่อมต่อกัน ต้องให้กระดูกแข็งก่อน (เชื่อมต่อกันสนิท) ถึงจะนวดได้”

๒. แนะนำผู้ป่วยงดอาหารแสลง ประเภท หน่อไม้ ลูกสะตอ ลูกเนียง ปลามีพิษ คือ ปลาน้ำจืดและน้ำเค็มที่ไม่มีเกล็ดทุกชนิด เช่น ปลาดุก เป็นต้น

ระยะเวลาการรักษา

กระดูกของเด็กจะเชื่อมกันสนิทได้เร็วกว่ากระดูกของผู้ใหญ่ กล่าวคือ กระดูกของผู้ใหญ่ใช้ระยะเวลาการรักษาประมาณ ๑ เดือน ส่วนกระดูกของเด็กใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ ๑๕ วัน ก็สามารถเชื่อมต่อกันสนิท

การสืบทอดและการถ่ายทอด

นายหมัด สามาย มีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน พี่สาวเป็นหมอตำแยพื้นบ้าน นายหมัด สามายเป็นหมอต่อกระดูก นายหลี สามายเป็นหมอนวด และนายเหลง สามายเป็นหมองู รักษาผู้ที่ถูกงูกัด การถ่ายทอดให้แก่คนในสายตระกูลเป็นหลักโดยการสอนตัวต่อตัว บิดาทำให้บุตรดูเป็นตัวอย่าง สอนให้รู้จักลักษณะของโครงสร้างกระดูก สอนการวินิจฉัยลักษณะการหักของกระดูก สอนตัวยาสมุนไพรที่ช่วยในการรักษา เมื่อบุตรมีความพร้อมจนถึงที่สุดจึงสอนการจัดกระดูกซึ่งถือเป็นเทคนิคที่ยากและจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ปัจจุบันนายหมัด สามาย ยังไม่ได้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับลูกชายคนโต เนื่องจากลูกชายยังไม่ได้ให้ความสนใจในศาสตร์ด้านนี้

นายหมัด สามาย กล่าวไว้ว่า “เมื่อเป็นหมอต่อกระดูกช่วยเหลือคนแล้วจะต้องทำต่อไป จนกว่าจะทำไม่ไหว โชคดีที่ยังมีนายหลี สามาย ผู้เป็นน้องชายรับช่วงการสืบทอดความรู้ของบรรพบุรุษสืบต่อไป”

ความเชื่อและพิธีกรรม

๑. ศาสตร์ความรู้ด้านการรักษาเป็นสิ่งที่องค์อัลเลาะห์ประทานให้แก่ตระกูลจะเรียกร้องค่ารักษาใดๆ ไม่ได้ ถ้าตีเป็นราคาเงินทอง การรักษาจะไม่ประสบผลสำเร็จ

๒. ขณะรักษาหมอต่อกระดูกต้องส่งจิตต่อองค์อัลเลาะห์ขอใช้การรักษาประสบผลสำเร็จ

๓. มีพิธีไหว้ครูประจำปีจัดในวันพฤหัสบดีแรกของเดือน ๖ (ประมาณปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม)

ผู้ที่รักษาหายจะต้องเตรียมเครื่องไหว้ครู ประกอบด้วย

- ผ้าถุง ๑ ผืน

- ผ้าขาวม้า ๑ ผืน

- ไก่ (ตัวเป็น) ๑ ตัว

- ข้าวสาร ๑ กิโลกรัม

- ข้าวเหนียว ๑ กิโลกรัม

- เบี้ยราช (ตามกำลังศรัทธา)

เครื่องบูชาครูดังกล่าว นำมาร่วมพิธีไหว้ครูซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการรักษาและหายขาด (เด็ดพิษ/
ตัดราก) ไม่กลับมาป่วยซ้ำที่เดิมอีกต่อไป

Location
No. 16 Moo 8
Tambon ห้วยลึก Amphoe Khuan Niang Province Songkhla
Details of access
นายหมัด สามาย
Reference นางธารารักษ์ ภู่ริยะัพันธุ์
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา
No. 10/1 Road สุขุม
Tambon บ่อยาง Amphoe Mueang Songkhla Province Songkhla ZIP code 90000
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่