ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 17° 19' 49.0541"
17.3302928
Longitude : E 103° 48' 53.3718"
103.8148255
No. : 163111
วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง
Proposed by. สกลนคร Date 6 October 2012
Approved by. สกลนคร Date 6 October 2012
Province : Sakon Nakhon
1 2590
Description

บ้านช้างมิ่ง เป็นหมู่บ้านคริสตชนที่เก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง และเป็นศูนย์กลางของวัดต่าง ๆ ในเขตตะวันตกของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ห่างจากถนนนิตโย สกลนคร-อุดรธานี) 3 กิโลเมตรแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้านคือ บ้านช้างมิ่ง หมู่ที่ 1 และบ้านช้างมิ่งพัฒนา หมู่ที่ 12 โดยใช้ถนนสาย ร.พ.ช. หนองเบ็น-ผักคำภู เป็นเส้นแบ่ง ทิศเหนือติดกับบ้านหนองเบ็น ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน ทิศใต้ติดกับบ้านตาลเลียนและบางส่วนของบ้านอุ้มไผ่ บ้านหนองโดก ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม ทิศตะวันออกติดกับบ้านหนองเดิ่น ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณนานิคม และทิศตะวันตกติดกับบ้านแร่ ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร

1.ประวัติความเป็นมา จากบันทึกของมิชชันนารีในหนังสือ “ที่ระลึกงานเสกวัดช้างมิ่ง” เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1969 และคำบอกเล่าของนายกลึง ทิพย์ทอง อดีตกำนันตำบลช้างมิ่ง ทำให้เราทราบว่าบ้านช้างมิ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้

1.1 การตั้งถิ่นฐาน ในปี ค.ศ.1887 มีหัวหน้าหมู่บ้านใกล้เมืองพรรณนานิคมซึ่งเป็นชาวภูไท

(ปัจจุบันคือบ้านโคกเสาขวัญ) ได้ไปติดต่อกับบาทหลวงยอแซฟกอมบูริเออที่บ้านท่าแร่เพื่อขอเรียนคำสอน ท่านได้เอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี เดิมทีชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวอาศัยอยู่ที่ทุ่งโพนทองอยู่ฝั่งใต้ลำน้ำอูนซึ่งอพยพมาจากบ้านโคกเสาขวัญ ต่อมาได้แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ใกล้หนองที่มีชื่อว่าหนองโดก เรียกว่า“บ้านนาคำส่วนอีกกลุ่มหนึ่งย้ายไปอยู่ทางฝังเหนือของลำน้ำอูนเรียกว่า “บ้านช้างมิ่ง” อยู่ใกล้หนองเหมือดและหนองอีนาง ซึ่งหนองเหมือดในสมัยนั้นมีต้นไทรน้ำไทรน้ำปกคลุมเป็นจำนวนมาก มีเสือ จระเข้และงูพิษชุกชุม ที่ชาวบ้านใกล้เคียงถือว่าเป็นหนองผีดุไม่มีใครกล้าหาปลาหรือใช้หนองน้ำนี้ แต่เมื่อคริสตชนกลุ่มแรกมาตั้งรกรากบริเวณดังกล่าวตามคำแนะนำของบาทหลวงกอมบูริเออพวกเขาไม่กลัวผีและได้อาศัยหนองเหมือดเลี้ยงชีวิต ชาวบ้านที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ตามบันทึกของนาย

กลึง ทิพย์ทอง มีจำนวน 9 ครอบครัว แต่ทราบชื่อเพียง 6 ครอบครัว ได้แก่ 1) ครอบครัวนายชัย วงศ์ษา ต้นตระกูล “ทองวงศ์ษา” 2) ครอบครัวนายไกรยะราช สมแสน น้องชายของนายชัย วงศ์ษา ต้นตระกูล“สมแสน” 3) ครอบครัวหมื่นรินทร์ ต้นตระกูลนารินทร์รักษ์”ภายหลังได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บ้านหนองเดิ่น 4) ครอบครัวนายตอ มะหัส 5) ครอบครัวนายกรม อวนทุมมา ต้นตระกูล “อวนทุมมา” ซึ่งผู้สืบสกุลเป็นหญิงส่วนมากส่วนผู้ชายได้ย้ายไปที่หาที่ทำกินในที่ใหม่ที่บ้านน้ำบุ้นและบ้านนาจร 6) ครอบครัวนายโก้ง โพธิมล ต้นตระกูลโพธิมล”ภายหลังที่บ้านช้างมิ่งมีฐานะเป็นตำบลได้รับเลือกเป็นกำนันคนแรก ในการบุกเบิกหมู่บ้านครั้งแรกนั้น ชาวบ้านได้พบโครงกระดูกช้าง ซึ่งเล่ากันว่าเป็นช้างมิ่งเมืองของพระยา มหาชัยเจ้าเมืองมหาชัยประเทศลาวซึ่งตกมันทำร้ายลูกสาวเจ้าเมือง นายพรานจึงออกตามล่าและใช้ธนูยิงตามบริเวณหนองสะเดา ช้างเผือกเชือกนี้เมื่อยังมีชีวิตเป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองมากเรียกได้ว่าเป็นช้างมิ่งเมือง ดังนั้นเพื่อเป็นสิริมงคลและนำมาซึ่งความอุดมสมบรูณ์ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านช้างมิ่ง” และถือเอาช้างเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านสืบมา

1.2 วัดหลังแรก วัดพระตรีเอกานุภาพ ในระยะเริ่มแรกบาทหลวงกองเต เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่คริสตชนแถบนั้น และได้สร้างวัดชั่วคราวหลังแรกขึ้น และบาทหลวงกอมบูริเออได้ตั้งชื่อว่าวัดพระตรีเอกานุภาพปี ค.ศ. 1891บาทหลวงกราเซียง ได้รับมอบหมายจากบาทหลวงกอมบูริเออ ให้มารับหน้าที่แทน แต่เนื่องจากบาทหลวงเป็นคนเข้มงวดกวดขัน ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มไม่พอใจจึงได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ทางทิศตะวันออกริมหนองเดิ่น ทำให้เกิดกลุ่มคริสตชนใหม่ที่นั้นในเวลาต่อมาคือบ้านหนองเดิ่นในปัจจุบัน ต่อมาบาทหลวงยวง สต้อกแกร์ ได้มาดูแลแทน ในระหว่างนี้บาทหลวงกับชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างวัดถาวรหลังที่ 2 ขึ้นพร้อมกับชาวบ้านพักพระสงฆ์ วัดหลังที่ 2 มีลักษณะเป็นแบบบ้านทั่วไปหลังคาทรงปั้นหยา ฝาไม้ไผ่ขัดแตะพอกดินปูนหลังคามุงด้วยกระดาษเกล็ด ส่วนบ้านพักนั้นมีลักษณะเหมือนตึกลากอล์มในปัจจุบัน พื้นทำด้วยปูนซีเมนต์นอกนั้นเป็นไม้หมด ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่เล่าว่า การสร้างวัดนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากเพราะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือการขนย้ายซุงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 40 เซนติเมตรออกจากป่าต้องอาศัยแรงชาวบ้าน ที่ช่วยกันก่อสร้างโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เมื่อทำงานเสร็จก็กลับไปรับประทานอาหารที่บ้านของตนโดยไม่มีเสียงประมาณแต่อย่างใด ปี ค.ศ.1900 บาทหลวงลาซาร์ฮวด ได้เดินทางมาช่วยงานที่ประเทศไทย และมาดูแลวัดบ้านช้างมิ่งระยะหนึ่ง หลังจากนั้นบาทหลวงมาลากี ได้มาดูแลรับช่วงต่อได้ขยายวัดเก่าแก่ให้กว้างออกไปเป็นอิฐถือปูนและเป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อระฆังใบแรกซึ่งมีเสียงเป็นโน๊ตเสียงลามาใช้ที่วัด ซึ่งระฆังใบนี้ได้มาใช้เป็นเวลาหลายปี ปี ค.ศ.1910 บาทหลวงลากอล์ม ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ปรับปรุงวัดและสร้างบ้านพักพระสงฆ์เป็นอิฐถือปูนขึ้นอีกหลังหนึ่งที่เรียกว่า “ตึกลากอล์ม” ที่เห็นกันในปัจจุบัน นอกจากนี้ได้เปิดวัดเป็นโรงเรียนเพื่อสอนชาวช้างมิ่งทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสด้วยตนเอง และได้จัดหาครูพร้อมกับส่งชาวบ้านไปรับการอบรมครูมาเพื่อสอนแทนบาทหลวง และในช่วงนี้ทางมิสซังได้ส่งบาทหลวงอันตนหมุน ธารา และบาทหลวงอันตนคำผง กายราช มาช่วยงาน

1.3 กรณีพิพาทอินโดจีนและการเบียดเบียนศาสนา ปี ค.ศ. 1940 เกิดกรณีพิพาท

อินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส บาทหลวงลากอล์ม ถูกส่งตัวออกนอกประเทศ คริสตชนถูกเบียดเบียนและกวาดล้างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ วัดถูกปิดและถูกยึดทรัพย์สินไปเก็บไว้ที่อำเภอพรรณนานิคม เช่น ระฆัง หีบเพลง ส่วนของมีค่าต่างๆ ถูกตำรวจริบไปจนสิ้น ทางมิสซังได้เรียกตัวบาทหลวงคำผงกลับท่าแร่เพื่อรอเหตุการณ์สงบ เป็นเหตุให้คริสตชนเกิดความสับสนและระส่ำระสาย ในช่วงนี้เองทางการได้ส่งพระภิกษุมาจำวัดที่บ้านพักพระสงฆ์และใช้วัดเป็นที่แสดงธรรมบังคับให้ชาวบ้านนับถือศาสนาด้วยการทำบุญตักบาตร ทำให้ชาวบ้านหลายคนละทิ้งความเชื่อและหลายคนที่ขัดสู้ถูกจับตัวไปคุมขังที่คุกบางขวางจังหวัดนนทบุรี สถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นและเพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ บาทหลวงเปาโลศรีนวล ศรีวรกุล ผู้อำนวยการมิสซัง ได้เดินทางไปพบและขอความช่วยเหลือจากพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ประมุขมิสซังราชบุรี และบาทหลวงยอห์น กาเซตตา อธิการเจ้าคณะซาเลเซียน ซึ่งได้จัดให้บาทหลวงยอแซฟฟอร์ลัสชินี มาประจำที่วัดช้างมิ่งโดยพักอยู่บ้านนายฮาด ทิพย์ทอง(บิดาของนายกลึง ทิพย์ทอง)ตัวคุณพ่อเองได้ถูกเบียดเบียนและทำร้าย แต่ด้วยสำนึกในการเป็นนายชุมพาบาล บาทหลวงจึงไม่ยอมทิ้งฝูงแกะและได้อาศัยอยู่กับชาวช้างมิ่งนานเกือบ 2 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจสำหรับพวกเขา เมื่อกรณีพิพาทอินโดจีนสิ้นสุดลง บาทหลวงได้เดินทางกลับประเทศอิตาลี รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายควง อภัยวงศ์ ได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอีกครั้ง และได้คืนทรัพย์สินของวัดที่ถูกยึดไปแก่พระศาสนจักร ส่วนทรัพย์สินของวัดช้างมิ่งและวัดในเขตตะวันออก ทางมิสซังได้แต่งตั้งให้บาทหลวงซามูแอลสมุห์ พานิชเกษม เป็นผู้รับมอบ ปี ค.ศ. 1943 บาทหลวงคำผง กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นงานหนักสำหรับบาทหลวงในการฟื้นฟูความเชื่อที่ถูกระหน่ำจากพายุของการเบียดเบียนเป็นเวลานานถึง 4 ปีให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เป็นเหตุให้สุขภาพของบาทหลวงย่ำแย่ลง

1.4 พระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ นับเป็นพระพรของพระที่ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อนั้นพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่ จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการนำของบาทหลวงคลาแรนซ์ เจ ดูอาร์ต ,บาทหลวงดรเจอร์ กอดเบาท์, บาทหลวงโรเบิร์ต ลาริวิแวร์ และบาทหลวงเอ็ดเวิร์ด เคน ได้เดินทางมาที่บ้านช้างมิ่งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.1948 เพื่อดูแลคริสตชนที่บ้านช้างมิ่งและวัดใกล้เคียงตามคำเชื่อเชิญและการมอบหมายของมุขนายกเกลาดิอุส บาเย ช้างมิ่งจึงกลายเป็นศูนย์กลางของคณะพระมหารไถ่แห่งแรกในประเทศไทยเป็นเวลา 8 ปี และในเวลาต่อมาได้มีลูกวัดช้างมิ่งหลายคนได้บวชเป็นพระสงฆ์ในคณะนี้ ได้แก่ บาทหลวงลอเรนซ์ชาย ขันทะโฮม,บาทหลวงยอห์นไพโรจน์ สมงาม,บาทหลวงเปโตรประสิทธ์ ตรงสหพงษ์, บาทหลวงฟิลิปบรรจง ไชยรา (อธิการเจ้าคณะ) และบาทหลวงมาร์โกจักรายุทธ ปาละลี

ปี ค.ศ.1949 มุขนายกบาเย ได้ขอร้องให้คณะพระมหาไถ่รับผิดชอบและดูแลหมู่บ้านคริสตชนเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่วัดโพนสูงในจังหวัดอุดรธานี วัดเวียงคุก วัดห้วยเซือมและห้วยเล็บมือจังหวัดหนองคาย และวัดท่าบ่ม จังหวัดเลยจนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1957 คณะพระมหาไถ่จึงได้ย้ายออกจากช้างมิ่ง เพื่อจะเน้นในการสร้างมิสซังอุดรธานีต่อมาภายหลังมุขนายกมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้ขอพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่มาดูแลวัดช้างมิ่งอีกครั้งในช่วงปี ค.ศ.1972-1981 คือ บาทหลวงมอริสชี และบาทหลวงวิลเลี่ยมไรท์นับว่าคณะพระมหาไถ่ได้สร้างคุณประโยชน์สำหรับชาวช้างมิ่งเป็นอย่างมาก

1.5 วัดหลังใหม่ : วัดพระคริสตราชา ปี ค.ศ.1957 บาทหลวงยอแซฟอินทร์ นารินรักษ์ ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส คุณพ่อได้เตรียมการสร้างวัดใหม่เนื่องจากวัดเก่ามีสภาพทรุดโทรมมากโดยการยกเลิกการเช่านาวัด นำมาทำเองเพื่อจะได้ขายข้าวสำหรับเป็นกองทุนการก่อสร้างโดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 ก่อนหน้าที่บาทหลวงจะย้ายไปเป็นอธิการโบสถ์วัดท่าแร่ในปี ค.ศ.1962 โดยมีบาทหลวงวาเลนตินล้วน นักพรรษา,บาทหลวงเอดมองต์เปอเซต์ และบาทหลวงเบเนดิกต์บุปผา สลับเชื้อ ผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล ต้นปี ค.ศ.1963 บาทหลวงเปาโลคำจวน ศรีวรกุล มารับหน้าที่อธิการโบสถ์และเตรียมการสร้างวัดใหม่ โดยมีบาทหลวงบุปผา เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์ดูแลวัดบ้านนาคำบาทหลวงปีโอ ไอศวรรย์ จันทร์ลือชัย เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์และดูแลวัดบ้านดอนม่วย และบาทหลวงการสซี เป็นผุ้ช่วยอธิการโบสถ์และดูแลวัดบ้านหนองเดิ่น ปี ค.ศ.1964 บาทหลวงคำจวน ได้เริ่มสร้างวัดหลังใหม่ โดยได้รับเงินส่วนหนึ่งจากหญิงหม้ายชาวอเมริกัน มาดามลิวอิส (Mrs. Lewis ) โดยจ่ายเป็นงวดในระยะเวลา 5 ปีเป็นเงินรวม 2 แสนบาทผ่านทางมุขนายกมีคาแอลเกี้ยน พร้อมทั้งมีความประสงค์ขอเปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดพระตรีเอกานุภาพ”เป็นวัด “พระคริสตราชา” เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึง HENRY H. AND MARY E. SPEARMAN , GERTRUE SPEARAM LEWIS, MOTHER MAGDALEN (GRACE SWINTON LEWIS) ดังนั้นวัดช้างมิ่งจึงมีนามชื่ออีกจนกระทั่งปัจจุบัน วัดหลังใหม่นี้ออกแบบการก่อสร้างโดยนายถวิล หล้าพิศาล นายช่างของบริษัทวิษรุตการก่อสร้าง กรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษคือรูปทรงกางเขน ประตูไม้สักทอง 17 ช่องและหน้าต่าง 46 บานเพื่อให้อากาศระบายได้ ดำเนินการก่อสร้างโดยบาทหลวงคำจวน กับชาวบ้านช่วยกันทำและจ้างช่างรายวันในงานที่ต้องการความละเอียด งานก่อสร้างเริ่มด้วยการเสกและวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1965 จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบรูณ์มีพิธีเสกและเปิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1969 โดยมุขนายกมีคาแอลเกี้ยน ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีเต็มรวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 460,000.- บาท โดยได้รับเงินจากมาดามลิวอิส สหรัฐอเมริกา 200,000. –บาท, กระทรวงแพร่ธรรม กรุงโรม 150,000.-บาท, คณะสงฆ์ 4,600.-บาท, คณะนักบวชชาย-หญิง 5,300.-บาท, สัตบุรุษจากวัดต่างๆ แห่งสังฆมณฑลจันทบุรี 25,900.-บาท, สัตบุรุษจากวัดต่างๆ แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 117,907 .-บาท, สัตบุรุษจากวัดต่างๆ แห่งสังฆมณฑลราชบุรี 28,784.-บาท, สัตบุรุษจากวัดต่างๆ แห่งสังฆมณฑลอุบลราชธานี 15,575.-บาท,และผู้ช่วยพิเศษสร้างพระแท่น 10,000.-บาท สร้างรูป 14 ภาค 7,000.- บาท สร้างรูปพระคริสตราชา 4,000.- บาท และสร้างประตู่ 17 ช่อง 23,500.- บาท นอกจากนั้นได้หาทุนมาก่อสร้างศาลาประชาคมจนแล้วเสร็จ และได้เป็นสื่อกลางในการขายที่นาของวัดให้กับชาวบ้านที่ยากจน โดยกำหนดให้ส่งเป็นงวดและให้เข้าทำกินก่อน นับว่าได้สร้างคุณประโยชน์แก่ชาวช้างมิ่งเป็นอย่างมาก จนกระทั่งปี ค.ศ.1972 บาทหลวงได้เป็นอธิการโบสถ์วัดท่าแร่ มุขนายกมีคาแอลเกี้ยน ประมุขมิสซังในขณะนั้นได้ขอพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่มาดูแลวัดช้างมิ่งอีกครั้ง คือบาทหลวงมอริสซี และบาทหลวงวิลเลี่ยมไรท์ ตามลำดับ ซึ่งบ้านพักหลังใหม่ที่ทำด้วยไม้ และหอระฆังใหม่สร้างในสมัยนี้ วันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1981 มุขนายกมีคาแอลเกี้ยน หลังจากเกษียณ อายุ ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นอธิการโบสถ์วัดช้างมิ่ง ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างสิ่งต่างๆ มากมาย เช่น การซ่อมแซมตึกลากอล์ม การสร้างถ้ำแม่พระให้แล้วเสร็จ และการตกแต่งภายในวัด พร้อมกันนี้พระคุณเจ้าได้จัดสร้างซุ้มประตูวัด จัดซื้อระฆังใบใหม่ซ่อมแซม ศาลาประชาคม ต่อเติมด้านข้างทางทิศใต้เพื่อทำเป็นทำโรงครัว ซี.ซี.เอฟ. สร้างธนาคารข้าวเพื่อให้บริการแก่ราษฎรในเขตตำบลช้างมิ่ง และในปี ค.ศ. 1985ได้ขออนุมัติจากอัครสังฆมณฑลฯ ก่อสร้าง ตลาดสดข้างสถานีอานมัยตำบลช้างมิ่งซึ่งเป็นที่ดินของวัดเพื่อเป็นสาธารณ ประโยชน์ นับได้ว่าเป็นยุคสมัยของการปรับปรุงและพัฒนาอย่างแท้จริง ปี ค.ศ.1985 บาทหลวงยอแซฟกมล เสมอพิทักษ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการโบสถ์ ได้ปรับปรุงบริเวณวัดและจัดสร้างโรงคำสอนสำหรับเด็กในหมู่บ้าน ปี ค.ศ.1989 บาทหลวงเปโตรสุรพงศ์ นาแว่น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการโบสถ์ โดยมีบาทหลวงฟรังซิส เซเวียร์คัมภ์ศรณ์ กาแก้ว,บาทหลวง เปโตรสุดสาคร ศรีวรกุล, บาทหลวงยอห์นบอสโกสมบัติ มังทะ,บาทหลวงอัลฟองโซสุรวุฒิ (สุขสังวร)สมงาม และบาทหลวงยอแซฟสุรศักด์ พงษ์พิศ เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์และดูแลวัดบ้านนาคำ บ้านหนองเดิ่น พังโคน และบ้านนาทัน ตามลำดับ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่บ้านช้างมิ่งมีอายุครบ 100ปี พอดี จึงได้ร่วมใจกับชาวบ้านในการจัดเฉลิมฉลอง พร้อมทั้งสร้างกำแพงและตกแต่งภายในวัด ตลอดจนปรับปรุงบ้านพักภคินีและรณรงค์เพื่อหาทุนสร้างบ้านพักภคินีหลังใหม่ ปี ค.ศ.1993 บาทหลวงลูกาสุพล ยงบรรทม ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการโบสถ์โดยมีบาทหลวงปัสกัส บัณฑิต ธรรมวงศ์, บาทหลวงเปาโลไพศาล ว่องไว, บาทหลวง สุริยา ผันพลี เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์ตามลำดับ บาทหลวงได้มาอยู่กับชาวบ้านแบบเป็นกันเองเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป เป็นพักภคินีหลังปัจจุบันสร้างเสร็จในสมัยบาทหลวงนี้เอง ปี ค.ศ.1998 บาทหลวงเปาโลพิซิต ศรีอ่อน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการโบสถ์ โดยมีบาทหลวงฟิลิป สุกิจ นารินรักษ์ เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์ ก่อนหน้าจะเข้ารับตำแหน่งบาทหลวงพิซิต ได้ขออนุญาตมุขนายกไปพักผ่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมกับช่วยเทศน์มิสชั่น ซึ่งได้ล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจ จนต้องเข้ารับการรักษาและผ่าตัดหัวใจที่สหรัฐอเมริกา ภายหลังที่สุขภาพแข็งแรงดีพอได้เดินทางกลับประเทศไทย และเข้าทำงานในฐานะอธิการโบสถ์วัดช้างมิ่งในวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1999 จนกระทั่งคืนวันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน ค.ศ.1999 บาทหลวงได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงแก่มรณภาพ บาทหลวงสุรวุฒิ (สุขสังวร) ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการโบสถ์แทนเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1999 โดยมีบาทหลวงสุกิจ เป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์เช่นเดิม

1.6 การบูรณะวัดหลังปัจจุบัน เนื่องจากหลังวัดปัจจุบันเริ่มชำรุดทรุดโทรมแม้จะได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมเรื่อยมา แต่ด้วยความจำกัดเรื่องงบประมาณจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการและบรรดาสัตบุรุษจึงได้ขอความอนุเคราะห์จากภคินีคณะเซอร์เซนต์ปอลเดอชาร์ตร และคณะสงฆ์พระมหาไถ่ ในฐานะที่วัดช้างมิ่งเคยเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของคณะในประเทศไทยในการบูรณะวัดใหม่ให้สง่างาม เพื่อถวายเป็นของขวัญแด่พระเยซูคริสตเจ้าในโอกาสเฉลิมฉลองปี “ปีติมหาการุณคริสตศักราช 2000” ดังนั้นโครงการบูรณะวัดและตึกลากอล์มจึงได้เกิดขึ้น

วันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1999 เริ่มดำเนินการตามโครงการตามแบบแปลนของบริษัท PJJ ENGINEERING ในวงเงินประมาณ 2,800,000.-บาท โดยได้รับอนุเคราะห์ทุนทรัพย์จากแมร์ฟรังซัวร์ ชีรานนท์ อธิการิณีเจ้าคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตรและโรงเรียนในเครือ ครอบครัวคุณบัญชา-สุรัตน์ ภานุประภา จากบริษัทโตโยต้าธนบุรี, ครอบครัวกิจเจริญเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่แมร์ หลุยส์ เดอลา ตรินิเตและจากคณะสงฆ์พระมหาไถ่แห่งประเทศไทย โดยบาทหลวง

ฟิลิปบรรจง ไชยรา อธิการเจ้าคณะพร้อมกับผู้มีจิตศรัทธาอื่นๆ และการสมบทของลูกวัดพระคริสตราชาช้างมิ่งทั้งในและต่างประเทศ จนกระทั่งโครงการนี้แล้วเสร็จสมบรูณ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.2000 รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 3,963,965.30-บาท และได้มีพิธีเฉลิมฉลองในโอกาสครบ 110 ปีของหมู่บ้านเมื่อวันที่ 28-29 มกราคม ค.ศ.2000

4.ข้อมูลปัจจุบัน วัดหลังปัจจุบัน เป็นวัดหลังที่ 3 สร้างโดยบาทหลวงเปาโล คำจวน ศรีวรกุล ปี ค.ศ.1969 บูรณะใหม่ปี ค.ศ.1999 อธิการโบสถ์คือบาทหลวงฟรังซิส เซเวียร์คัมภ์ศรณ์ กาแก้ว ผู้ช่วยอธิการโบสถ์ บาทหลวงยอห์นอดิพงษ์ แสนสุริวงศ์ เนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา จำนวนสัตบุรุษ 1,916 คน กิจการคาทอลิกคณะพลมาลี, คณะวินเซนต์เดอปอล,กลุ่ม ส.ช.ค., กลุ่มซี.ซี.เอฟ และเด็กคำสอน

Location
วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง
Road ถนนนิตโย สกลนคร-อุดรธานี
Tambon ช้างมิ่ง Amphoe Phanna Nikhom Province Sakon Nakhon
Details of access
ว่าที่พันตรีประภาส สะท้านอิทธิฤทธิ์
Reference ว่าที่พันตรีประภาส สะท้านอิทธิฤทธิ์ Email praphat2555@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร
Road ศูนย์ราชการ
Tambon ธาตุเชิงชุม Amphoe Mueang Sakon Nakhon Province Sakon Nakhon ZIP code 47000
Tel. 042-716247 Fax. 042 716214
Website province.m-culture.go.th/sakonnakhon
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่