ผ้าซิ่นยวนเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย ที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวไทย –ยวน อำเภอสีคิ้ว
มาเกือบ ๒๐๐ ปี แต่ก่อนนั้น ผ้ายวนจะเป็นผ้าที่ใช้นุ่งเฉพาะในงานวันสำคัญต่าง ๆ ของหมู่บ้าน/ชุมชน เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ผ้ายวน เป็นผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยโบราณ
การทอผ้าไท–ยวน บ้านโนนกุ่ม หมายถึง การทอผ้าด้วยมือของประชาชนชาวบ้านโนนกุ่ม ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา การทอผ้าเริ่มมาแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานชัดเจน จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า น่าจะเริ่มต้นนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม แสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวโนนกุ่ม เมื่อสมัยกรุงรัตโกสินทร์ตอนต้น เป็นสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงมอบหมายให้ชาวเมืองเชียงแสนหรือโยนกที่อพยพมาตั้งกองเสบียงเลี้ยงโคขึ้นตามริมแม่น้ำละตะคอง และอีกหลักฐานหนึ่งปรากฏชัดเจนคือ ภาษาที่ใช้เรียกผ้านุ่งจะเรียกว่าผ้าซิ่น คำว่าผ้าซิ่นเป็นภาษาของชาวไทยภาคเหนือใช้กัน ลักษณะการทอก็คล้ายกันความนิยมมักจะใช้นุ่งห่มด้วย ผ้าพื้นบ้านที่ตนเองทอด้วยมือทั้งชายและหญิง นอกจากนี้ยังใช้
ภาษาพูดก็มีคำและสำเนียงการพูดคล้ายกัน
สมัยแรกเริ่มทอด้วยมือใช้กี่ธรรมดาที่ประดิษฐ์ขึ้น เวลาทองใช้มือจับพุ่งเข้าในด้ายยืน คนทอประมาณ ๓ – ๔ คนจึงจะทอได้แต่ปัจจุบัน พัฒนาขึ้นใช้กี่กระตุก สามารถทอได้รวดเร็ว เดิมเป็นประชาชนชาวไท–ยวน จะทำการทอผ้าด้วยตนเอง คือครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย นำดอกฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย ย้อมสีตามต้องการ และจึงนำมาทอตามลวดลายด้วยมือ แต่ปัจจุบันการจัดการไม่สะดวกต้นทุนสูง จึงมีการพัฒนาขึ้นโดยใช้เส้นด้ายสำเร็จ นำมาทอทำให้ผลงานมีคุณภาพกว่าเดิม สีจะไม่ตกลวดลายก็มีการออกแบบด้วยกลุ่มแม่บ้าน และยังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาวโยนกไว้ คือ การทอผ้าไท-ยวน หลายชนิดด้วยกัน เช่น ผ้าขาวม้า ผ้ามุก ถุงเป๋อ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าซิ่นยวนบ้านโนนกุ่ม
ชาวไท – ยวน อำเภอสีคิ้ว จึงเป็นเชื้อสายที่สืบเนื่องจากชาวเชียงแสนในสมัยนั้น และได้สืบทอด รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปะ วัฒนธรรมของตนเอาไว้ เช่น ภาษาพูด ศิลปหัตถกรรมการทอผ้า ชาวบ้านโนนกุ่ม ก็เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่ได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษชาวโยนกนครที่มีความรู้ด้านการทอผ้าของชาวชาวไท - ยวน ที่เรียกว่า “ ผ้าซิ่น “ คำว่าผ้าซิ่น เป็นภาษาทางภาคเหนือ หมายถึง ผ้านุ่ง การทอผ้าของบ้านโนนกุ่มแรกเริ่มนั้นเป็นการทอผ้าที่ทอใช้กันเองในหมู่ครอบครัว เรียกชื่อผ้าตามคนทอผ้าว่า “ ผ้ายวน “ ซึ่งก็หมายถึง ผ้าของชาวโยนกนคร (ไท –ยวน)
ลักษณะที่โดดเด่นของผ้ายวน คือสีและลวดลายของผ้าจัดส่วนประกอบให้น่าสนใจ เช่น การเน้นด้วยเส้นด้าย รูปทรง รูปร่าง แสง เงา สี ลักษณะพื้นผิวมาประกอบกันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมองดูแล้วทำให้เกิดกลุ่มก้อน ไม่แตกแยกกระจัดกระจาย ซึ่งเป็นการผสมผสาน ๓ ส่วน ได้แก่ ธรรมชาติ ประสบการณ์ และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีมาใช้ในการออกแบบลวดลายผ้าทอ ผ้าทอของกลุ่มทุกชิ้นสีไม่ตก ทอเนื้อผ้าแน่น ฝีมือปราณีต บางชิ้นทอจากสีธรรมชาติ ผ้ายวนจะมีสีสันที่สดใส สวยงาม เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า สีน้ำเงิน สีน้ำตาล ลวดลายของผ้ามีความละเอียด สวยงาม