กระยาสารท เป็นขนมไทยแต่โบราณ เมื่อถึงเทศกาลสารทของไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรือบุญสารทเดือน 10 มีการทำบุญใส่บาตรพระด้วยกระยาสารและกล้วยไข่ พร้อมกันประเพณีตานก๋วยสลากของไท-ยวน บ้านเหนือ อำเภอสีคิ้ว อันเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ กระยาสารทมีส่วนผสมของข้าวตอก ข้าวพอง ถั่ว งา มะพร้าว น้ำตาลมะพร้าว นมข้นหวาน และแบะแซ เนื่องจากกระยาสารทมีรสหวานจัด จึงควรรับประทานกับกล้วยไข่ ซึ่งจะสุกในหน้าเทศกาลสารทไทยพอดี ในการนำกระยาสารทใส่บาตรถวายพระ จึงถวายกล้วยไข่ ควบคู่ไปด้วย พระจะฉันเป็นของหวาน ส่วนที่เหลือจากการทำบุญชาวบ้านจะนำมาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการโชว์ฝีมือในการทำกระยาสารท และถ้ากระยาสารทของใครเหนียว มีรสอร่อยและหวานหอม ก็จะได้รับคำชม ยกย่อง นับเป็นความภาคภูมิใจที่ชาวบ้านคนไท-ยวน บ้านเหนือได้สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน และมีการพัฒนารสชาดให้อร่อยมากยิ่งขึ้น
การกวนกระยาสารท ต้องใช้เวลาและแรงคนหลายๆ คน จึงจะทำเสร็จได้ ดังนั้นการกวนกระยาสารทจึงต้องอาศัยความสามัคคีกันของคนในครอบครัว เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำไปทำบุญและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน
สาระสำคัญของประเพณีวันสารทไทยมิใช่เป็นเพียงเรื่องของขนมที่ใช้ในการทำบุญเท่านั้น หากแต่อยู่ที่กุศโลบายในการสร้างความสามัคคีภายในครอบครัว การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้าน