(๑๖) ๏ วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย ลืมภัก พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาศแคล้วแล้วหนอฯ
(๑๗) ๏ คิดคำลำฦกไว้ ใคร่เตือน
เคยรักเคยร่วมเรือน ร่วมรู้
อย่าเคืองเรื่องเราเยือน ยามแก่ แม่เอย
ใครที่มีชู้ชู้ ช่วยช้ำคำโคลงฯ
(๑๘) ๏ เลี้ยวทางบางกอกน้อย ลอยแล
บ้านเก่าเย่าเรือนแพ พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
ลำฦกนึกรักร้อง เรียกน้องในใจฯ
(นาคบริพันธ์)
(๑๙) ๏ สาวเอยเคยอ่อนหนุ้ม อุ้มสนอม
ออมสนิทชิดกลิ่นหอม กล่อมให้
ไกลห่างว่างอกตรอม ออมตรึก รฦกเอย
เลยอื่นขึ้นครองไว้ ใคร่หว้าหน้าสวนฯ
(๒๐) ๏ ยนย่านบ้านบุตั้ง ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจรร แจ่มฟ้า
ยามยากหากปันกัน กินซีก ฉลีกแฮ
มีคู่ชูชื่นหน้า นุชปลื้มลืมเดิมฯ
สุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๓๗๔ ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ และเดินทางไปเมืองสุพรรณโดยทางเรือ วัตถุประสงค์ในการเดินทางคือเพื่อหาแร่ชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาแปรธาตุชนิดอื่นได้ ซึ่งเรียกกันว่า "เล่นแร่แปรธาตุ"
นิราศสุพรรณนี้เป็นเพียงร้อยกรองเรื่องเดียวของท่านที่แต่งเป็นโคลง ทำนองจะลบคำสบประมาทว่าท่านแต่งได้แต่เพียงกลอน ในนิราศเรื่องนี้ เราจะพบท่านสุนทรภู่แต่งโคลงกลบทไว้หลายต่อหลายรูปแบบ และโคลงที่มีสัมผัสในเหมือนอย่างกลอนที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ท่านสุนทรภู่ใช้คำเอกโทษ โทโทษ เปลืองที่สุด ด้วยหมายจะคงความหมายดังที่ต้องการ ส่วนการรักษารูปโคลงเป็นเพียงเรื่องรอง ทำให้ได้รสชาติในการอ่านโคลงไปอีกแบบหนึ่ง เพราะต้องเดาด้วยว่าท่านต้องการจะเขียนคำว่าอะไร