การทอหูกเสื้อผ้าสวย ๆ ที่เห็นรวมใส่กันในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ทอด้วยเครื่องจักรทั้งนั้น จนบางครั้งเราอาจจะลืมไปแล้วว่าในสมัยก่อนมีเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าที่เรียกว่า “หูก” สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เครื่องทอผ้าซึ่งเราเรียกรวมกันว่า หูก เดิมทำด้วยไม้เป็นท่อน ๆ ๔-๕ ท่อน ขนาดยาว ๕๐-๑๐๐ เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกันทั่วโลก เพื่อใช้ขึงด้ายเป็นเส้นยืนและสอดด้ายเป็นเส้นขัดสลับไปมา จนเป็นผืนผ้าหน้าแคบ ๆ ประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร
หูกได้รับการพัฒนามาเป็นระยะเวลานานหลายร้อยปี จนมีอุปกรณ์ประกอบมากมายหลายชิ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการทอให้รวดเร็วขึ้น มีหน้าผ้าที่กว้างขึ้นมาก หน้าผ้ากว้างก็จะขยายขนาดของหูกให้ใหญ่กว้างขึ้น และพัฒนาจากการพุ่งกระสวยด้ายด้วยมือให้ขัดกับเส้นด้ายยืน และเหยียบสลับไม้เหยียบหูกขึ้นลง พร้อมกับใช้การกระตุกให้กระสวยวิ่งไปด้วยความรวดเร็ว กระตุกกลับพร้อมกับเหยียบหูกไม้สลับไปมา การทอผ้าจะเป็นผืนได้ในเวลาที่ไม่มากนัก อาจทอหูกได้ถึงวันละ ๒-๓ เมตร เรียกหูกชนิดนี้ว่า กี่กระตุก งานทอหูกทั่วไปในประเทศไทยเป็นงานของหญิงในชนบท มักทำที่ใต้ถุนบ้านในหน้าแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว นอกจากทอหูกเพื่อนำผ้ามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังทำเพื่อเป็นพุทธบูชา เช่น ทอตุงหรือธง ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ผ้าอาสนะสงฆ์ ในการนี้จะทอเป็นลวดลายเฉพาะ และไม่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
ในสมัยโบราณ วัสดุที่ใช้ทอส่วนใหญ่เป็นฝ้าย การทอหูกด้วยฝ้ายในประเทศไทยสันนิษฐานว่านำพันธุ์ฝ้ายมาจากอินเดีย จากนั้นป่านกัญชาจึงลดความสำคัญลงเพราะขั้นตอนยุ่งยากกว่าฝ้ายมาก การย้อมสีฝ้ายก็ย้อมได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ การทอหูกยังนิยมใช้ใยไหมมาทอเป็นผืนผ้าได้อีก โดยเลี้ยงตัวไหมด้วยใบหม่อน แล้วนำรังไหมมาต้มใน
น้ำเดือดเพื่อสาวเอาใยไหมออกมาพันเป็นเกลียวใช้ทอหูกได้