ลูกข่าง ชาวพื้นบ้านอีสานเรียกว่า “บักขั่ง” ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้หนามแท่ง ไม้ประดู่ ไม้พยุง ไม้มะขาว เป็นต้น โดยนำไม้ดังกล่าวมากลึงหรือเหลาให้กลมและทำส่วนก้นลูกข่างให้แหลมเข้าหาแกนกลางส่วนด้านบนก็ทำลักษณะเดียวกัน แต่เหลือเนื้อไม้ให้รอบแกนกลางประมาณ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลาง ก็จะได้ลูกข่าง 1 ลูก ลูกข่างถือเป็นของเล่นที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก มีใช้ในการละเล่นเพื่อความบันเทิง การพนัน
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่น
1.ลูกข่าง
2.เชือกยาวประมาณ 50-80 เซนติเมตร ปลายเชือกด้านหนึ่งผูกด้วยไม้
3.วงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50-60 เซนติเมตร
การเล่นลูกข่าง หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า“บักขั่ง”เป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันในเวลาว่างจากงานประจำ เป็นการละเล่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ การเล่นลูกข่างจะแยกเล่นเป็นวงผู้ใหญ่และวงเด็กวิธีการละเล่นเมื่อต้องการเล่นก็จะนำไม้ที่ผูกเชือกยาวประมาณสองถึงสามเมตรมาม้วนรอบ ลูกข่าง โดยมือข้างหนึ่งจะถือลูกข่างที่ถูกเชือกหมุนพันรอบไว้ และมืออีกข้างจะถือไม้ที่ผูกเชือกที่หมุนรอบลูกข่างไว้ แล้วเอามือทั้งสองสะบัดไปข้างหน้า พร้อมดึงไม้ที่ผูกเชือกไว้อย่างแรง แล้วลูกข่างจะตกสู่พื้นแล้วหมุน ซึ่งในกติกาในการเล่นจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายตีลูกข่างที่กำลังหมุนอยู่ของอีกฝ่าย โดยฝ่ายที่ตีนั้นจะต้องพยายามตีลูกข่างให้ถูกมากที่สุด ซึ่งถ้าหากสามารถทำการตีถูกมาก ก็จะสามารถทำการตีต่อไปได้ แต่หากตีไม่ถูกก็จะต้องเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายหมุนลูกข่างให้อีกฝ่ายผลัดไปเป็น ฝ่ายตีแทน การเล่นลูกข่างนี้ นอกจากจะได้รับความสนุกสนานจากการเล่นแล้ว ยังเป็นการฝึก และทดสอบความแม่นยำทางด้านสายตาด้วยปัจจุบันการละเล่นลูกข่างเริ่มหายไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป