ชุมเห็ดเทศ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ชุมเห็ดเทศ เป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตรแตกกิ่งออกด้านข้างในแนวขนานกับพื้น ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 3-7 ซม.ยาว 6-15 ซม.หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองทอง ใบประดับสีน้ำตาลแกมเหลือง หุ้มดอกย่อยเห็นชัดเจน ผลเป็นฝัก มีครีบ 4 ครีบ เมล็ดแบน รูปสามเหลี่ยม
ส่วนที่ใช้เป็นยาคือ ใบสด หรือแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทยรสเบื่อเอียน ใบตำทาแก้กลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ดอกและใบต้มทานแก้อาการท้องผูก ใบชุมเห็ดเทศมีสารแอนทราควิโนน (anthraquinone) ช่วยขับถ่าย ชุมเห็ดเทศใช้เป็นยารักษาอาการ ดังนี้
๑. อาการท้องผูกใช้ดอกชุมเห็ดเทศสด 2-3 ช่อ ต้มรับประทานกับน้ำพริก หรือนำใบสดมาล้างให้สะอาด หั่นตากแห้ง ใช้ต้มหรือชงน้ำดื่ม ครั้งละ 12 ใบ หรือใบแห้งบดเป็นผง ปั้นกับน้ำผึ้งเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ครั้งละ 3 เม็ด รับประทานก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องผูก
๒. กลากใบชุมเห็ดเทศสด ขยี้หรือตำในครกให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อย หรือใช้ใบชุมเห็ดเทศกับหัวกระเทียมเท่าๆกัน ผสมปูนแดง(ที่กินกับหมาก)นิดหน่อย ตำผสมกัน ทาบริเวณที่เป็นกลาก โดยเอาไม้ไผ่ขูดผิวให้แดงก่อน ทาบ่อยๆ จนหาย หายแล้วทาต่ออีก 7 วัน
๓. ฝีและแผลพุพองใช้ใบชุมเห็ดเทศ และก้านสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วมยา แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 ชะล้างบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ถ้าเป็นมากให้ใช้ประมาณ 10 กำมือ ต้มอาบ
ใบและดอกมีสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น Rhein, Emodin และ Aloeemodin ใช้เป็นยาระบาย ที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ต้มใบแห้งครั้งละ 12 ใบ หรือชงน้ำดื่มก่อนนอน หรือทำเป็นยาลูกกลอน หรือใช้ดอกสด 2-3 ช่อ ต้มกินเป็นผักจิ้ม ไม่ควรกินติดต่อกันนาน เพราะจะทำให้ลำไส้ชินยา และไม่ทำงานตามปกติ สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้