ชุมชนโบราณบ้านตรีมอยู่ในตำบลตรีม อำเภอศีขรภูมิ มีคูน้ำล้อมรอบ ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านมีหนองน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า หนองลิม ภายในวัดตรีม มีเนินดินขนาดเล็ก บนเนินดินมีใบเสมาปักอยู่เป็นกลุ่ม โผล่พ้นดิน จำนวน ๑๖ ใบ มีลักษณะเป็นรูปกลีบบัว ทำด้วยศิลาแลง ใบเสมาทุกใบมีลักษณะของการตกแต่งที่เหมือนกัน คือ สลักเป็นรูปหม้อน้ำ หรือรูปสถูปอยู่ตรงกลางใบทั้งสองด้าน ยอดสถูปบรรจบกับส่วนบนของใบเสมาพอดี ที่ขอบของใบเสมาเป็นเส้นตรงโค้งไปตามขอบ ทำให้ดูเหมือนว่าผิวหน้าทั้งสองด้านของใบเสมายื่นออกมา
ใบเสมานับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนทวารวดีในภาคอีสาน ในขณะที่ชุมชนทวารวดีในภาคกลางหรือภาคอื่น ๆ ไม่ค่อยมีการสร้างใบเสมามากนัก ใบเสมาเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับจุดประสงค์ในการใช้งานหลาย ๆ ลักษณะ
ใบเสมาที่บ้านตรีม ลักษณะปักแบบรวมกลุ่มกันแสดงว่าไม่ใช่ปัก เพื่อกำหนดเขตที่พระสงฆ์ ใช้ทำสังฆกรรมและจากลักษณะของใบเสมาทุกใบที่แกะสลักเป็นรูปสถูปอยู่กลางใบ แสดงให้เห็นว่าใบเสมาเหล่านี้แต่ละใบน่าจะมีความสำคัญในตัวเอง อาจจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญญลักษณ์แทนสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้น เพื่อถวายให้กับศาสนาหรือจุดประสงค์อื่น ๆ แล้วนำมาปักไว้ในบริเวณที่กำหนดขึ้นภายในชุมชน
นอกจากนี้ที่บริเวณกลางหมู่บ้านมีเนินดินสูง บนเนินดินพบซากโบราณสถาน ปัจจุบันเหลือเพียงฐานเป็นแนวศิลาแลง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ ๔๕ ๔๖ เมตร บนเนินดินพบในเสมาทำด้วยศิลาแลงจำนวนสองใบ ใบหนึ่งเป็นแผ่นเรียบไม่มีการตกแต่งใด ๆ ส่วนอีกใบสลักเป็นเส้นนูนขึ้นมากลางใบ บนผิวดินและหน้าตัดเนินดินที่ถูกไถออกพบเศษอิฐและเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินอยู่ทั่วไป ตัวโบราณสถานปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศาลปู่ตา ประจำหมู่บ้าน