เจดีย์วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ต่อเนื่องกับอุโมงค์ทางทิศเหนือ ซึ่งอยู่ภายในวัดอุโมงค์เจดีย์วัดอุโมงค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังระยะแรกของศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 ปรับปรุงมาจากเจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งในศิลปะพุกาม ครั้นล่วงมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องกับต้นพุทธศตวรรษถัดมา เจดีย์ทรงนี้คลี่คลายไปโดยมีรูปทรงที่สูงโปร่ง และในช่วงเวลาของพุทธศตวรรษที่ 21 รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังจึงมีการคลี่คลายปรับเปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว เพราะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย อีกทั้งเป็นเจดีย์องค์สำคัญยุคต้นๆของพัฒนาการเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนา งานก่อสร้างเริ่มขึ้นในรัชกาลของพระเจ้ามังรายคงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ต่อมาได้รับการบูรณะในรัชกาลของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆังมีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวยซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวประกอบกันเป็นบัวคว่ำและบัวหงาย (ปัทมบาท) ตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า ส่วนองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ยังเหลือแบบแผนที่น่าจะเป็นเค้าเดิม คือระเบียบของฐานในผังกลม 3 ฐานซ้อนลดหลั่น เป็นชุดฐานรองรับทรงระฆังใหญ่ ต่อขึ้นไปคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม ส่วนยอดที่ทรงกรวยประกอบด้วยส่วนสำคัญที่ทางภาคกลางเรียกว่า ปล้องไฉน และปลี ที่ท้องไม้ของบานกลมแต่ละฐานประดับด้วยแถวช่องสี่เหลี่ยมไว้โดยรอบงานประดับเช่นนี้รวมทั้งขนาดที่ใหญ่ของทรงระฆัง เกี่ยวข้องกับแบบแผนของเจดีย์แบบหนึ่งของพุกาม สร้างเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่18 เช่นเจดีย์ในบริเวณวัดถิทสวดี (Thitsavadi Temple) ในหมู่บ้านปวาสอ (Pwasaw) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง