หมากฮอสเป็นกีฬาหมากกระดานพื้นบ้านของไทย นิยมเล่นกันทั่วไป เป็นกีฬาที่เล่นกันระหว่างนักกีฬา 2ฝ่าย โดยการเดินตัวหมากไปมาบนกระดานหมากฮอส แพ้ชนะต่อกันด้วยการหมดตัวเดิน หมดตาเดิน ยอมแพ้ หรือ ถูกปรับให้แพ้ อุปกรณ์การเล่น - กระดานหมากฮอส เป็นกระดานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตีตารางเป็นรูปจัตุรัสขนาดเท่ากันรวม 64ตาทาสีเข้มและสีอ่อนสลับตากันไปทุกตา ตาสีเข้มทั้ง 32ตาใช้เป็นตาเดินตัวหมากมุมกระดานที่มีตาสีเข้มอยู่เพียงตาเดียวเรียกว่า "มุมเดี่ยว" มุมกระดานที่มีตาสีเข้มอยู่คู่กันสองตาเรียกว่า "มุมคู่" - ตัวหมาก เป็นรูปทรงกลม แบ่งเป็นสองสี การเดินหมาก - การสุ่มเลือกตัวหมาก ให้เตรียมหมากมาสีละตัว ระบุว่าจะให้ฝ่ายถือหมากสีใดเป็นฝ่ายเดินก่อน หรือเดินหลังทุกกระดาน แล้วให้นักกีฬาสุ่มเลือกตัวหมาก ฝ่ายใดเลือกได้หมากสีอะไร ให้ใช้หมากสีนั้นเดินในกระดานแรก หลังจากนั้นให้ทั้ง 2ฝ่ายสลับการถือหมากกันทุกครั้งที่เริ่มแข่งขันกระดานต่อไป - เบี้ยและฮอส ตัวหมากที่วางไว้ตามกติกา เรียกว่า "เบี้ย" เบี้ยเดินตามแนวทแยงไปข้างหน้าทีละตา และต้องกินหมากของฝ่ายตรงข้ามตามกติกา เมื่อเบี้ยตัวใดตัวหนึ่งเดินไปถึงหรือกินไปตกในตาที่อยู่แถวหลัง สุดของฝ่ายตรงข้าม เบี้ยตัวนั้นจะกลายเป็น "ฮอส" ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้หมากสีเดียวกันอีกตัวหนึ่งวางซ้อนไว้เป็นสัญลักษณ์ฮอสสามารถเดินหน้าหรือถอยหลังได้ตามแนวทแยง โดยไม่จำกัดจำนวนตาที่เดินเบี้ยที่เพิ่งกลายเป็นฮอสจะเดินหรือกินทันทีไม่ได้ ต้องรอให้ฝ่ายตรงข้ามเดินหรือกินอีกครั้งหนึ่งก่อน - การจับหมากเดิน ในการแข่งขันแต่ละกระดาน ให้นักกีฬาทั้ง 2ฝ่าย ผลัดกันเดินหมากของตนฝ่ายละครั้ง โดยให้ถือกฎ "จับตัววางตาย" กล่าวคือ เมื่อนักกีฬาฝ่ายที่จะเดินหมากแตะหมากตัวใด ให้จับหมากตัวนั้นเดินโดยไม่ชักช้า ห้ามจับค้างไว้ ห้ามเปลี่ยนไปจับหมากตัวอื่นเดินเว้นแต่หมากตัวนั้นไม่มีตาเดิน เมื่อเดินหมากไปแตะตาใด ให้วางในตานั้น ห้ามเปลี่ยนไปวางในตาอื่น เว้นแต่นักกีฬาฝ่ายตรงข้ามทักท้วง ก่อนที่จะเดินหมากของตนเอง ว่าเป็นการทำผิดกติกาในกรณีที่เดินฮอส เมื่อจับฮอสไปทางทิศใดของแนวทแยง ให้วางลงในตาที่อยู่ทางทิศนั้น ห้ามเปลี่ยนไปทางทิศอื่นเว้นแต่นักกีฬาฝ่ายตรงข้ามทักท้วง ก่อนที่จะเดินหมากของตนเอง ว่าเป็นการทำผิดกติกา การกินหมาก - การกินหมาก ให้ถือกฎ "กินได้ต้องกิน" กล่าวคือ เมื่อหมากของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขวางทางเดิน หมากของอีกฝ่ายหนึ่ง และมีตาว่างอยู่ในแนวเดียวกันถัดหมากที่ขวางอยู่ ฝ่ายที่ถูกขวางต้องกินโดยจับหมากของตนเองตัวที่ถูกขวาง ข้ามหมากตัวที่ขวางไปวางในตาว่างนั้น แล้วยกหมากที่ถูกกินออกจากกระดาน - การกินหลายต่อ เมื่อเป็นการกินหลายต่อ ฝ่ายกินต้องแสดงการกินให้ชัดเจนโดยกินออกทีละตัว จนกว่าจะกินต่อไปอีกไม่ได้ - การกินหลายแบบ เมื่อมีโอกาสกินได้หลายแบบ ฝ่ายกินจะเลือกกินแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ - การกินได้แต่ไม่กิน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีโอกาสกินได้ แต่กลับเดินหมากโดยไม่กินอีกฝ่ายหนึ่งจะทักท้วงให้กิน ก่อนที่จะเดินหมากของตนเอง หรือจะปล่อยเลยตามเลยก็ได้ โดยกรรมการไม่มีสิทธิ์เตือนให้กิน |