ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 19° 52' 25.4716"
19.8737421
Longitude : E 99° 43' 23.7623"
99.7232673
No. : 192129
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน
Proposed by. culture Date 31 January 2014
Approved by. mculture Date 3 Febuary 2014
Province : Chiang Rai
0 1351
Description

เชียงแสนเป็นเมืองโบราณบริเวณภาคเหนือตอนบนที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของแคว้นล้านนา มีแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ ปรากฎอยู่มาก พระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพระเจ้าเม็งรายทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นปี พ.ศ.๑๘๗๑ เพื่อเป็นที่มั่นในการควบคุมดูแลหัวเมืองต่างๆ ในแคว้นโยนก และเป็นปากประตูเพื่อติดต่อกับบ้านเมืองภายในผืนทวีปตามเส้นทางแม่น้ำโขง มีร่องรอยโบราณสถานให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบัน

เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยศิลปากรขึ้นปี ๒๕๐๐ เพื่อดูแลรักษาโบราณสถานในเมืองเชียงแสน ได้มีการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานเมืองเชียงแสน และบริเวณใกล้เคียง จัดแสดงให้ประชาชน นักศึกษา ชม และศึกษาหาความรู้ โดยใช้ศาลาหลังเก่าของวัดเจดีย์หลวงเป็นอาคารจัดแสดงหลังแรก

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้ประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ

ปี ๒๕๒๔ ได้รับงบประมาณในการสร้างอาคารทรงไทยล้านนาประยุกต์ ประดับยอดจั่ว กาแล 1 หลัง จึงได้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไปจัดแสดง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๗ และปี ๒๕๒๘ ได้มีการสร้างอาคารส่วนขยาย ปี ๒๕๓๘ ได้รับงบประมาณในการซ่อมปรับปรุง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐

การจัดแสดง

1. โบราณวัตถุพบในเมืองเชียงแสน

- เครื่องมือหินกะเทาะ สมัยก่อนประวัติศาสตร์พบบริเวณเมืองเชียงแสน และพื้นที่ใกล้เคียง

- ชิ้นส่วนลายปูนปั้น ลายเครือเถาและดอกไม้ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 18 ทำจากปูนปั้น เลขทะเบียน 14/2501 ได้จากวัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

- พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 19 - 20 ทำจากสำริด เลขทะเบียน 4/2504 วัดพระเจ้าล้านทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มอบให้

2. โบราณวัตถุได้จากการขุดค้น ขุดแต่ง

- พระพิมพ์ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 22-23 พบในบริเวณเมืองเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

- ผอบ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 - 22 หินควอร์ท เลขทะเบียน 20/2511 พบที่บ้านสบคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

- ผอบ ศิลปะล้านนา เลขทะเบียน 7/2511 ทำจากเงินและทองคำ ได้จากวัดงำเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

- แผ่นอิฐดินเผา ศิลปะล้านนา เลขทะเบียน 219/2520 ไม่ทราบที่มา

3. เครื่องถ้วยในจังหวัดเชียงราย

- ซุ้มพระพุทธเคลือบใส ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21-22 เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ เลขทะเบียน 91/2530 เตาเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย นายอร่าม เอี่ยมอรุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบให้

- แม่พิมพ์กล้องยาสูบ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 22 - 23 เลขทะเบียน 47/2538 เครื่องปั้นดินเผาเตาเมืองเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พบบริเวณวัดเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

4. วิถีชีวิตชาวบ้าน

- ผ้าซิ่นไทยลื้อ อายุประมาณ 30 - 50 ปีมาแล้วจากบ้านหาดป้าย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

- เหล็กสัก พื้นบ้านล้านนา เลขทะเบียน 90/2528 วัดป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มอบให้

5. วิถีชีวิตชาวเขา

- เทวภาพแห่งลัทธิเต๋าของเผ่าเย้า ภาพวาดบนกระดาษ

- เก้ง เครื่องดนตรีของม้ง เลขทะเบียน 284/2530 นางยุพิน แซ่ซือ มอบให้

- แคนน้ำเต้าของอาข่า เลขทะเบียน 202/2530 นายวิชัย วงศ์สุวรรณ มอบให้

- บุงผ้า (กระบุงใส่ผ้า) ไทยใหญ่ พุทธศตวรรษที่ 25 เลขทะเบียน 36/2530 นางพัชรี ศรีมัธยกุล มอบให้

6. ศาสนา

- กรรมวาจา (พระคัมภีร์) ศิลปะล้านนา พ.ศ. 2468 ทำจากกระดาษและไม้ เลขทะเบียน 11/2528 พระสมบัติ คุณวีโร วัดปงสนุก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มอบให้

- พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พ.ศ. 2462 ไม้ทาสี เลขทะเบียน 28/2528 วัดสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายมอบให้

- ตุงเงิน ศิลปะล้านนา ทำจากเงิน เลขทะเบียน 50/2528 พระครูปันแก้ว จันทปัญโญ วัดสุมังคลาราม จังหวัดเชียงราย มอบให้

- ขันแก้วทั้งสาม ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 25 เครื่องเขิน เลขทะเบียน 24/2530 พระแสวง อาจารสุโก วัดสันกอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มอบให้

โบราณวัตถุที่สำคัญประกอบด้วย

1. หน้ากาล

ศิลปะล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19
ปูนปั้น สูง 68 ซม.
เลขทะเบียน 84/2500
ได้จากวัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2500

ชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย บริเวณส่วนมุม ลักษณะเป็นรูปใบหน้ากึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์สวมกระบังหน้า เหนือเศียรเป็นลายกนก ปากคายลายกนกออกมาทั้งสอบข้าง มีมือยึดลายกนกไว้ริมฝีปากล่างหักหายไป

ตำนานอินเดียเล่าถึงกำเนิดของหน้ากาลนี้ว่า ครั้งหนึ่งมีพญายักษ์ชื่อชลันธรบำเพ็ญตบะแก่กล้า จนได้รับพรจากพระศิวะไม่ให้ผู้ใดต่อกรด้วยได้จึงเกิดความลำพองทำร้ายข่มเหงทั้งยักษ์ เทพ และมนุษย์

ต่อมา ยักษ์ชลันธรได้ให้พระราหูไปบอกพระศิวะให้มารบกับตน หากพระศิวะแพ้จะริบตัวนางปารพตีมเหสีเป็นของตน พระศิวะได้ฟังดังนั้นก็พิโรธเกิดมียักษ์หน้าสิงห์โตกระโดดออกจากหว่างพระขนงจะกินพระราหู พระราหูเห็นดังนั้นก็ตกใจขอให้พระศิวะช่วย พระศิวะทรงห้ามยักษ์ไม่ให้ทำร้ายพระราหู ยักษ์กล่าวว่าถ้าอย่างนั้นขอให้กินสิ่งอื่นแทนพระราหู พระศิวะตรัสให้ยักษ์นั้นกินแขนขาของตัวเอง ด้วยความหิวโหยยักษ์ได้กัดกินแขนขาของตนหมดแล้วยังไม่อิ่ม จึงกัดกินท้องและอกจนหมดสิ้นเหลือเพียงส่วนหัว พระศิวะเห็นเช่นนั้นก็เกิดความสงสาร ตรัสให้พรยักษ์นั้นให้อยู่ที่ประตูวิมานของพระองค์ตลอดไป ผู้ใดไม่เคารพจะไม่ได้รับพรจากพระองค์ หลังจากนั้นพระองค์เสด็จไปปราบยักษ์ชลันธรได้สำเร็จ

สมัยโบราณถือว่าหน้ากาลนี้เป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่กินทุกสิ่งแม้แต่ตัวเอง รวมทั้งเป็นผู้ที่คอยดูแลฝูงปศุสัตว์เนื่องจากพระศิวะได้รับการยกย่องเป็นปศุบดี ผู้เป็นใหญ่ในฝูงสัตว์ หน้ากาลอันเปรียบเสมือนบุตรของพระองค์คงจะมีฤทธิ์ปกป้องสัตว์เลี้ยงได้ ลายหน้ากาลนี้สามารถพบเห็นได้ทั้วไปในเทวสถานของฮินดู และนิยมสร้างกันอย่างแพร่หลายในอินโดนีเซีย

2. เปลวรัศมี

ศิลปะล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 20 - 21
สำริด กว้าง 55 ซม. สูง 70 ซม.
เลขทะเบียน 8/2504
พบที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แล้วนำไปที่วัดมุมเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

เปลวรัศมี คือ สัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้หล่อด้วยสำริด ภายในกลวง ลักษณะเป็นเปลวรัศมี 9 แฉก แต่ยอดตรงกลางหักหายไป มีช่องสำหรับใส่หินมีค่าเพื่อประดับตกแต่ง ฐานด้านล่างมีกลีบบัวหงายรองรับและมีเดือยสำหรับสวมลงบนเศียรพระพุทธรูป

มีผู้สันนิษฐานว่าเปลวรัศมีนี้เป็นของพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งจมลงใต้แม่น้ำโขง ดังปรากฏว่าตำนานและพงศาวดารได้กล่าวถึงวัดบน "เกาะบัลลังตระการ" หรือ "เกาะดอนแท่น" กลางแม่น้ำโขงเมืองเชียงแสน อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่องค์หนึ่งที่อัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เกาะนี้น่าจะถล่มจมลงในแม่น้ำโขงก่อน พ.ศ. 2347 ที่เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

3. ประติมากรรมรูปพระฤาษีกัมมะโล (ริมสุดด้านซ้าย)

ศิลปะล้านนา พ.ศ. 2147
สำริด กว้าง 34 ซ.ม. สูง 74 ซ.ม.
เลขทะเบียน 1/2539
พบที่วัดพระธาตุดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ประติมากรรมรูปบุคคลนั่งศรีษะเกล้ามวยสูง ใบหน้ายิ้ม นุ่งห่มหนังสือ สองมือพนมสูงเสมออก ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้นในลักษาการที่เรียกว่า "ประคองอัญชลี" บนที่นั่งด้านขวามีภาชนะรูปร่างคล้ายคนโทใส่น้ำ ด้านซ้ายมีภาชนะรูปทรงคล้ายขันหรือชามกับกล่องใส่ของ ฐานล่างมีภาพบุคคลกำลังแสดงความเคารพรูปกวาง มีภาพของเครื่องมือเครื่องใช้ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องใช้ของฤาษี ซึ่งเครื่องใช้เหล่านี้พบประกอบลายปูนปั้นกลีบขนุนปรางค์ในสมัยลพบุรี

ฐานมีจารึกภาษาล้านนา และไทใหญ่ กล่าวถึงปี พ.ศ. 2147 เจ้าเมืองเชียงแสน พร้อมทั้งพระสังฆราชเจ้าทั้งหลาย มีพระมหาสมเด็จราชครูวัดพระหลวง (วัดเจดีย์หลวง) เป็นประธาน และพระสังฆโมลีเป็นกรรมการ ฝ่ายฆราวาสมีอำมาตย์ สร้างรูปพระฤาษีนี้ไว้บนดอยตุง ในตอนท้ายมีคำไหว้พระธาตุ และตำนานพระธาตุดอยตุง จารึกดังกล่าวแสดงให้เป็นว่าประติมากรรมรูปนี้คือพระฤาษีกัมมะโล ซึ่งตำนานและพงศาวดารเหนือกล่าวว่ามีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอชุตราชกษัติย์ในตำนาน โดยพระฤาษีมีศักดิ์เป็นพ่อตาของพระเจ้าอชุตราช

สาระสำคัญของจารึกบนฐานพระฤาษีกัมมะโลกล่าวถึงการสร้างพระธาตุดอยตุง โดยพระเจ้าอชุตราชเป็นผู้นำในการสร้างถวายแด่พระฤาษีกัมมะโล เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ฉลองพระธาตุ มีการสร้างตุง (ธง) ขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของชื่อ "ดอยตุง" และมอบหมายให้ชาวลัวะเป็นผู้ดูแล

4. พิณเปี๊ยะ

ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 25
เฉพาะส่วนหัวพิณหล่อด้วยสำริด กว้าง 4.5 ซ.ม., ยาว 18 ซ.ม.
เลขทะเบียน 92/2528
พระบุญช่วย วรางคโล เจ้าอาวาสวัดป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มอบให้เมื่อวันที่ 15 ธันวามคม 2528

หัวเปี๊ยะทำเป็นรูปหัวช้าง มีงวง มีหูกางใช้เป็นที่พาดสายทั้ง 2 ข้าง ส่วนปลายด้ามทำเป็นปลอกสำหรับเป็นที่เสียบแกนไม้ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของล้านนา ที่มีประวัติพัฒนาการที่ยาวนาน

"พิณเปี๊ยะ" พัฒนามาจากพิณน้ำเต้าในตระกูลเดียวกับพิณธนูโดยพิณเปี๊ยะได้เพิ่มจำนวนสายขึ้นเป็น 2 - 7 สาย เปลี่ยนกล่องเสียงที่แต่เดิมใช้ผลน้ำเต้าแห้งผ่าครึ่งมาเป็นผลมะพร้าวแห้งผ่าครึ่ง ส่วนปลายที่เป็นที่ผูกสายนั้นเดิมทำด้วยไม้ ต่อมาเปลี่ยนมาทำด้วยวัสดุอื่น เช่น เขาสัตว์, งาช้าง, โลหะหล่อ, สำริด คันทวนใช้ไม้เนื้อแข็ง สายเป็นโลหะ

จากหลักฐานทางโบราณคดี พบภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์จุลประโทน ในเมืองโบราณนครปฐมปัจจุบันนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เป็นภาพกินรกำลังเล่นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายพิณเปี๊ยะ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับเครื่องดนตรีโบราณของอินเดีย ที่เรียกว่า "เอกะตันตริ" ที่ปรากฏในศิลปะอินเดียใต้ ราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 หรือเครื่องดนตรีของรัฐโอริสสา ทางตะวันออกของอินเดีย ชื่อ "ตุลา" ยังพบประติมากรรมปูนปั้นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นรูปสตรี 5 นางกำลังบรรเลงเครื่องดนตรี นางหนึ่งในจำนวนนักดนตรีเล่นเครื่องดนตรีที่มีรูปร่างคล้ายพิณเปี๊ยะอีกด้วย อันอาจจะสันนิษฐานได้ว่า เครื่องดนตรีประเภทนี้เข้ามาพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนาพุทธ และพราหมณ์ในบริเวณภาคกลาง เป็นที่นิยมเล่นกันแพร่หลายในสมัยทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 17 และเข้ามาทางภาคเหนือของประเทศไทยพร้อมกับการโยกย้ายของกลุ่มคนจากพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยไปตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ "หริภุญไชย" จังหวัดลำพูน ตามตำนานจามเทวีวงศ์

วิธีการเล่น ใช้มือกดสายและถือคันพิณเฉียงกับลำตัวผู้เล่น ให้กล่องเสียงวางทาบกับหน้าอกของผู้เล่น ซึ่งผู้เล่นจะบังคับให้เสียงที่ออกจากกล่องเสียงมีความทุ้ม หนักเบา แหลม ฯลฯ เกิดเป็นเสียงได้หลายลักษณะ โดยการขยับกล่องเสียงด้วยมือซ้าย ทำให้เสียงสะท้อนออกมาทางช่องระหว่างกะลากับหน้าอก เดิมชายล้านนามักนำพิณเปี๊ยะไปเล่นเวลาไป "แอ่วสาว"

Category
Museum
Location
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน
Province Chiang Rai
Details of access
http://www.nationalmuseums.finearts.go.th/
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่