ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)
เดิมบ้านกลาง ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อขาย เป็นอาชีพเสริมหลังฤดูทำนา เพราะบ้านกลางเป็นพื้นที่ที่มีบ่อดินเหนียวที่หนองกุดค้าว ตำบลโนนตาล โดยตอนแรกผลิตเป็นกิจการของครัวเรือน ซึ่งการทำเครื่องปั้นดินเผาเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง สำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผามีการสืบทอดกันมานานนับได้ประมาณ ๑๕๐ ปี โดยมี ปู่ไห ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีที่ได้อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกลางในสมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่ม นำดินเหนียวที่หนองกุดค้าวมาปั้นครกและภาชนะเครื่อง ใช้ในครัวเรือนไว้ใช้และส่วนที่เหลือใช้ก็ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขาย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้มีการรจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยมีสมาชิกทั้งหมด ๔๓ คน ในการรวมกลุ่มครั้งแรกก็เพื่อเป็นการต่อรองราคาสินค้ากับพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ และต่อมารัฐบาลที่ต้องการให้เกิดสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ คนในชุมชนก็เลยให้ความสนใจในเรื่องนี้ และชุมชนเองก็ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาที่ตนเองมีอยู่ จึงนำสินค้าด้านเครื่องปั้นดินเผาครกบ้านกลางมาเป็น สินค้า (OTOP) และได้รับการยอมรับโดยแพร่หลายอันเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์มีความแกร่ง มีเสียงดังกังวาน ทนต่อแรงกระแทก ได้รับการยกย่องเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ ๕ ดาวของจังหวัดนครพนม
อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
เครื่องปั้นดินเผาครกบ้านกลาง จัดอยู่ในประเภทงานฝีมือดั้งเดิมเป็นลักษณะเฉพาะที่ได้จากดินเหนียวจากบ่อดินกุดค้าว บ้านกลาง ตำบลโนนตาล ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของดินในฤดูฝน เนื้อดินจะเนียนเหนียว มีสีนวลปนเหลืองจัดตัวกันเป็นก้อนแน่น ขุดมาใช้หลังการเก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง ชื้นงานเผาเสร็จจะมีสีเนื้อดินเป็นสีส้ม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านกลาง
ขั้นตอนการผลิต
วัสดุ
ดินเหนียว จะต้องเป็นดินเหนียวปราศจากวัชพืช หรือเศษกรวดทรายปนอยู่ในเนื้อดิน เนื้อดินต้องมีลักษณะเหนียว มีสีนวลปนเหลือง เนื้อดินจับเป็นก้อนแน่นไม่ร่วนซุยผสมด้วยทรายละเอียด ผสมนวดให้เนื้อดินกับทรายให้เข้ากัน
อุปกรณ์
๑. แป้นหมุน ใช้สำหรับขึ้นรูปแจกัน โอ่ง อ่าง หม้อ ครก ฯลฯ
๒. เหล็กขูด หรือไม้ขูดใช้สำหรับตกแต่ง ขีด ปาด เขียนลวดลายบนภาชนะ
๓. ผ้าคลุมดิน ใช้คลุมดินไม่ให้ดินแห้งแข็งเร็วก่อนกำหนด ขณะที่ผลงานยังไม่เสร็จ
๔. น้ำสำหรับล้างมือและขึ้นรูปเพื่อให้ความเลื่อนง่ายต่อการขึ้นรูป
๕. ไม้แกะสลัก ทำด้วยไม้ไผ่ ใช้สำหรับแกะสลักลวดลาย
๖. ด้ายหรือลวด เอาไว้สำหรับตัดดินหรือตัดก้นของผลิตภัณฑ์หลังจากที่ขึ้นรูปเสร็จ
ขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผา
๑. นำดินที่สามารถนำมาทำเครื่องปั้นดินเผามาตากแดดให้แห้งแล้วนำเข้าเครื่องปดดิน
๒. พอปดดินได้แล้วก็นำดินดังกล่าวไปหมักในทอหรือนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ ๑ คืน
๓. นำดินที่แช่นำเข้าเครื่องนวด
๔. นำดินที่นวดแล้ววางบนแป้นหมุนขึ้นรูปทรงตามที่ต้องการ
๕. ตกแต่งรูปทรง ขนาด ความหนาให้เรียบร้อย ใช้กะลา หรือหินขัด ตกแต่งรูปทรงให้สมส่วน แล้วนำมาผึ่งให้แห้ง
๖. กำหนดลวดลายที่ต้องการลงบนภาชนะที่ต้องการ
๗. ใช้เครื่องมือที่ทำด้วยไม้ไผ่ หรือเหล็กขูด แกะตามลายที่กำหนดไว้
๘. ตกแต่งลวดลายให้สวยงาม เศษดินที่ติดตามร่องลายตามซอกลายให้นำออกให้หมด
๙. นำภาชนะที่แกะเรียบร้อยแล้วไปผึ่งในที่ร่มโล่ง โปร่ง ห้ามตากแดด เพราะจะทำให้ภาชนะที่ ปั้นแตกร้าวได้
๑๐. นำภาชนะแกะตกแต่งที่แห้งแล้วนำไปเข้าเตาเผา เผาด้วยอุณหภูมิประมาณ ๘๐๐ ํc ถึง ๑,๐๐๐ ํc ใช้เวลาเผาประมาณ ๒๒ - ๒๕ วัน
๑๑. ผลงานที่เผาเสร็จจะมีสีเนื้อดินเป็นสีส้ม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านกลาง
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน นั้นๆ
๑.คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
ครกบ้านกลาง เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ปั้นมาจากดินที่มีคุณภาพของดินที่มีส่วนผสมของแร่เหล็กที่มีปริมาณสูง จากแหล่งดินในท้องถิ่น(กุดค้าว) จากการสำรวจและรับรองโดยกรมวิทยาศาสตร์และบริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์แลและเทคโนโลยี จึงทำให้ครกบ้านกลางมีความแกร่ง มีเสียงดังกังวาน ทนต่อแรงกระแทก เป็นทีนิยมของผู้ใช้และความต้องการของพ่อค้าคนกลางเป็นอย่างยิ่ง การปั้นครกของชาวบ้านกลางยังอนุลักษณ์การปั้นแบบดั้งเดิมอยู่เป็นบางส่วน แม้จะได้รับการสนับสนุนอุปรกณ์และวิธีการสร้างมูล ค่าของดินจากกรมวิทยาศาสตร์และบริการ ในการผลิตนอกเหลือจากการปั้นครกของชุมชน เช่น ถ้วยรองน้ำยางพารา กระถาง โอ่ง แจกัน เป็นต้น จนได้รับขนานนามว่า บ้านกลางเป็นเมืองหลวงแห่งการปั้นครก และรักษางานช่างดั้งเดิมไว้เป็นอัตลักษณ์ ของชุมชนในท้องถิ่น
๒.บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
การทำงานวัฒนธรรมของชุมชนจึงจำเป็นต้องสร้าง ความร่วมมือของสถาบันหลักในชุมชน ได้แก่ วัด บ้านโรงเรียน และสมาชิกในชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนางานศิลป- วัฒนธรรมในชุมชนร่วมกัน ซึ่งการนำสถาบันสำคัญในชุมชน มาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาขั้นต่างๆ นั้น ก่อให้เกิดความ สัมพันธ์ทางสังคมแบบ “มนตรี บวร” ได้แก่ สถาบันการ ปกครอง (บ = บ้าน) สถาบันศาสนา (ว = วัด) สถาบันการศึกษา (ร = โรงเรียน) ที่ต่างให้ความสำคัญต่อกัน ในการตัดสินใจและ แก้ปัญหาของชุมชน อีกทั้งเป็นแกนกลางในการบริหารชุมชน ในทุกด้านจากความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงความ เจริญงอกงามเป็นมรดกที่ล้ำค่าของชุมชนตำบลโนนตาล กอรปกับแนวทางการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมตำบลโนนตาลและสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าอุเทน ที่ได้มีการ ผลักดัน เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองมรดกทาง วัฒนธรรม รวมทั้งคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรม เพื่อรักษาวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ทำให้ชุมชนหันกลับมามองถึงกระบวนการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของ ตนเองอย่างจริงจัง เกิดการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนางาน ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เป็นจุดเริ่มต้นของ ชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนจะส่งผลอย่างยั้งยืนในการดำรงไว้ซึ่งสิ่งดีงาม โดยมีชุมชนเป็นผู้รับ ผลประโยชน์ร่วมกัน
ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและภาพลักษณ์ที่ดีงามของท้องถิ่น ประชาชนทุกคและชุมชนในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ครกบ้านกลาง” จึงควรร่วมมือกันสอดส่อง ดูแล สนับสนุนส่งเสริมอนุรักษ์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้ไว้ ตลอดจนให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้ที่จะนำไปใช้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้รู้คุณค่าและเป็นการอนุรักษ์ สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด