ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 8° 1' 54.0001"
8.0316667
Longitude : E 98° 20' 2"
98.3338889
No. : 192577
ประเพณีไหว้ตายายผีถลาง
Proposed by. ภูเก็ต Date 27 March 2020
Approved by. ภูเก็ต Date 2 April 2020
Province : Phuket
0 1432
Description

ประวัติความเป็นมา

ประเพณีไหว้ตายายผีหลาง เป็นประเพณีเก่าแก่ในอำเภอถลางที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานานเกินกว่าหนึ่งร้อยปี แต่เดิมนั้นจัดกันที่บริเวณบ้านเจ้าเมืองถลาง หรือบ้านลูกหลานเจ้าเมืองถลาง เช่นบ้านลิพอน บ้านดอน บ้านสาคู บ้านเหรียง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งอยู่ในตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จะประกอบพิธีกันในเดือน ๔ หรือเดือน ๖ ไทย วันที่สามารถประกอบพิธีได้คือ วันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ในวันข้างขึ้น เวลาที่สามารถประกอบพิธีได้คือ เวลาที่ดวงอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้า จนถึงรุ่งเช้า

เมื่อมีการบวงสรวงที่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ซึ่งตั้งอยู่ที่ สี่แยกท่าเรือ หมู่ที่๓ บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ชาวบ้านจึงไม่ได้จัดในหมู่บ้านของตัวเองอีก เพราะเข้าใจว่า การประกอบพิธีของทางราชการคงรวมถึงการระลึกถึงบรรพชนเช่นเดียวการไหว้ตายายผีหลางในหมู่บ้านของตน แต่การประกอบพิธีของทางราชการซึ่งจัดกันในช่วงสาย ของวันที่ ๑๓ มีนาคม ของทุกปี ซึ่งถือกันว่าวันนี้เป็นวันถลางชนะศึก ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ เป็นการประกอบพิธีกรรมที่ไม่สมบูรณ์เท่าการประกอบพิธีกรรมของชาวบ้าน จึงได้เสนอแนะให้เพิ่มพิธีไหว้ตายายผีหลางในช่วงเวลาก่อนที่ประธานจะบวงสรวงและวางพวงมาลาสักการะท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ได้จัดพิธีไหว้ตายายผีหลางที่บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ติดต่อกันมาเป็นเวลา ๔ ปี

ต่อมาคณะกรมการจัดพิธีกรรมเห็นควรให้แยกการประกอบพิธีไหว้ตายายผีหลาง ออกจากการบวงสรวงที่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ในวันที่ ๑๓ มีนาคม ของทุกปี โดยมาจัดที่บริเวณใกล้ที่อยู่เดิมของท้าวเทพกระษัตรี – ท้าวศรีสุนทร ณ บริเวณเมืองถลางบ้านเคียน จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ใช้บริเวณวัดม่วงโกมารภัจจ์ เป็นสถานที่จัดพิธี เริ่มจัดที่วัดม่วงโกมารภัจจ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ และได้จัดทุกวันที่ ๑๒ มีนาคมของทุกปี สืบต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีไหว้ตายายผีหลาง

การเกิดขึ้นของประเพณีไหว้ตายายผีหลาง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เกิดจากต้องการแสดงความกตัญญูกตเวทีและความสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษ รวมทั้งยังเป็นการพบปะระหว่างเครือญาติ และยังถือว่าเป็นวันรวมญาติอีกด้วย

องค์ประกอบของพิธีไหว้ตายายผีหลาง

ประเพณีไหว้ตายายผีหลาง มีองค์ประกอบของการทำพิธีดังต่อไปนี้

๑. ผู้นำในการประกอบพิธี จะต้องเป็นผู้มีความรู้ในด้านการประกอบพิธีกรรมเป็นอย่างดี สามารถจัดลำดับขั้นตอนของพิธีกรรมได้อย่างถูกต้อง มีความกล้าหาญ มีเวทย์มนต์คาถาสามารถ ป้องกันตนเองจากภูติผีปีศาจได้

๒.ตายายผีหลางที่ได้รับเชิญมาร่วมประกอบพิธีไหว้ตายายผีหลาง จะมีวิญญาณที่ได้รับเชิญมาในพิธี เช่น แม่ธรณี กรุงพาลี ภูมิเจ้าที่ ตาหลวงดาบทอง ตาหลวงเพชรมณีสิน แม่ยายเจ้า แม่คุณ แม่ขุนนาง ตาหลวงคินทศมาส เจ้าในเกาะ โต๊ะย่า โต๊ะแซะ พระแทว พ่อท่านเขาเมือ พระยายอดน้ำ แม่นางกลาง พ่อท่านเจ้าฟ้า ตาอิน ตาเณร เสาธงขี้ไหลท้าวเทพกระษัตรี(ท่านผู้หญิงจัน)ท้าวศรีสุนทร(คุณมุก) พระยาถลางทั้งหลายเช่น พระยาพิมลขัน พระยาถลางถลางอาดพระยาถลางทองพูนพระยาถลางเทียนพระยาถลางเจิม พระยาถลางพาหุ(บุญคง) พระยาถลางฤกษ์ พระยาถลางทับ พระยาถลางคิน พระยาถลางเกต พระยาถลางหนูแม่ปรางเจ้าคุณมารดาทองพระยกบัตรจุ้ยมหาดเล็กเนียมนายทองเพ็งเจ้าพระยาทัพศึก ย่าเชี้ยน ทวดอ้อน ทวดเขียน พระภูเก็ตแก้ว พระยาวิชิตสงคราม พระยาภูเก็ตโลหะเกตรารักษ์ บรรพชนผู้กล้าแห่งเมืองถลางที่ร่วมรบทั้งหลาย รวมถึงตายายที่รู้จักชื่อและไม่รู้จักชื่อ รวมถึงบริถิว*ด้วย (บอ-ริ-ถิ้ว) (เทพรักษาแผ่นดิน เจ้าที่เจ้าทาง ) เมื่อออกชื่อทั้งหมดแล้วก็จะบอกกล่าวว่า ให้มารับเครื่องบวงสรวงสังเวยที่ลูกหลานทั้งหลาย จัดมาไว้ให้ ผิดบ้างพลั้งไป ขออภัยด้วยเถิดหนา

๓. ระยะเวลาของการประกอบพิธี พิธีไหว้ตายายผีหลางจะประกอบพิธีในเดือน ๔ หรือเดือน ๖ ไทย วันที่สามารถประกอบพิธีได้ คือ วันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ในวันข้างขึ้น ส่วนมากจะนิยมใช้วันพฤหัสบดีแรกของเดือนสี่หรือเดือนหก เวลาที่สามารถประกอบพิธีได้คือ เวลาที่ดวงอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้า หรือเวลาที่นกชุมรัง

๔. สถานที่จัด ในอดีตจะจัดกันบริเวณบ้านเจ้าเมืองถลาง หรือบ้านลูกหลานเจ้าเมืองถลาง เช่น บ้านลิพอน บ้านดอน บ้านสาคู บ้านเหรียง เป็นต้น การรวมญาติไหว้ตายายผีหลางที่จัดครั้งใหญ่สุดเป็นครั้งสุดท้าย จัดที่บ้านทวดเขียน ที่บ้านค่าย ณ บ้านเลขที่ ๒๐๓ ม.๑ ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นปีที่ทวดเขียนเสียชีวิต ที่บ้านทวดเขียนนี้มีแคร่หรือแคร่ ตายายถึง ๙ แคร่ หรือ ๙ เชี่ยน หลังจากนั้นก็จัดกันในแต่ละตายายสายตระกูล ต่อมาได้จัดที่สวนพระพุทธศาสนาวัดม่วงโกมารภัจจ์ ม.๓ บ้านเหรียง ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต มาจนถึงปัจจุบัน

๕. โรงครู เป็นโรงที่ใช้สำหรับประกอบพิธีไหว้ตายายผีหลาง มีลักษณะการก่อสร้างง่าย ๆ ด้วยการปลูกเสา ๖ เสา (เพื่อความเป็นสิริมงคล) ไม้ที่นำมาใช้ทำเสาสามารถใช้ไม้ได้ทุกชนิด ยกเว้นไม้ที่ใช้ทำราวตากผ้า เพราะถือว่าไม่เป็นมงคล หลังคามุงด้วยจาก มีหน้าจั่ว ๓ ด้าน หน้าจั่วแต่ละด้านจะใช้จากด้านละ ๓ ตับ เพดานโรงครูใช้ผ้าขาวโดยให้วางผ้าไว้เฉย ๆ อย่าผูกมุม ให้ใช้ที่หนีบหนีบเอาไว้เพื่อไม่ให้หลุด โรงครูจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามที่ตั้งของเครื่องบวงสรวง ภายในโรงครูจะมีคาดนัก* ทำด้วยไม้ไผ่ผูกกั้นด้วยหวาย อวด หรือย่านนาง ไว้ ๔ มุม ที่ต้องมีคาดนักเพราะว่าที่แสดงให้เห็นถึงการแบ่งเขตไว้เฉพาะให้วิญญาณที่ได้รับเชิญมาเท่านั้น พื้นโรงครูจะทำไว้ ๒ ระดับ ชั้นบนสำหรับไว้วางเครื่องบวงสรวง ชั้นล่างไว้สำหรับผู้ประกอบพิธี ส่วนด้านหลังผู้ประกอบพิธีจะให้นักดนตรีนั่ง ซึ่งนักดนตรีจะต้องบรรเลงดนตรีกล่อมตายายตลอดเวลาที่กินอาหารเครื่องบวงสรวง หลังจากตายายกินอาหารอิ่มหนำแล้ว ระยะเวลาประมาณธูปยาวใกล้หมด ก่อนจะส่งตายายกลับจะตั้งเครื่องอาหารให้ผู้ที่ติดตามหรือผู้ที่กินเทียมเจ้าเทียมนายไม่ได้ โดยใส่อาหารทั้งหมดลงบนใบตองที่มีหางสมบูรณ์ จะวางบนพื้นดืน บนโต๊ะ หรือแคร่ เตี้ยๆก็ได้ ก่อนส่งตายายกลับไป ให้ตัดจากโรงครูทิ้ง ๓ ตับ จึงถือเป็นการเสร็จพิธี)

๖. อุปกรณ์ในการประกอบพิธี ประกอบด้วย สายสิญจน์ หม้อน้ำมนต์ ผ้าขาว ข้าวสารเสก (สำหรับขับไล่ผีตายโหง ผีตายพราย) มีดหมอ ธูปเทียน กำยาน (เพื่อให้มีกลิ่นหอมไปไกลถึง ๑๐๐ โยชน์) หมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ ขนมแดง ขนมขาว กล้วย อ้อย ถั่ว งา ข้าวเหนียวเหลือง-ขาว ไข่เป็ด เหล้าขาว ปลามีหัวมีหาง แกงเลียงยอดผัก น้ำชุบผักจุ้ม(ผักเกล็ด) บายศรี สำหรับบายศรีที่ใช้บูชาครูจะมี ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้นหรือ ๙ ชั้น แล้วแต่ความเหมาะสม ซึ่งชั้นบนยอดของบายศรีจะใส่เทียนชัยสำหรับจุดบวงสรวง และเสียบไข่เป็ดต้ม ๑ ฟอง ไว้ด้วย ในบายศรีใส่ข้าวสุกปากหม้อ หมากพลู ๓ คำ ข้าวตอก ดอกไม้ และของคาวหวานเล็กน้อย ส่วนชั้นอื่น ๆ ก็จะใส่ผลไม้ ของหวาน ของคาว ข้าวตอกดอกไม้ และหมาก พลู ๑ คำทุกชั้น

๗. เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงในพิธีไหว้ตายายผีหลาง ได้แก่ ทับสั้น ๑ คู่ กลอง ๑ ใบ ซอด้วง ๒ คัน โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ และรำมะนา นักดนตรีมีประมาณ ๗ คน ทำนองเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ เป็นทำนองร้องเชิญ ใช้เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และดวงวิญญาณ

๘. เครื่องบวงสรวง ในการประกอบพิธีบวงสรวงตายายผีหลาง จะมีเครื่องบวงสรวงต่าง ๆ เช่น ห่อหมก เบือทอด* ลูกชิ้น ปลาดุก ปลาช่อนปิ้ง แกงเลียง แกงสมพรม (แกงผักหลายชนิดรวมกัน) เกลือเคย* หอยอัว (หอยนึ่ง) พร้าวหมกเครื่อง ยำเพรียง แกงพริก แกงควายมะพร้าวคั่ว กุ้งพล่า ปลำยำ ยำผัก แกงกวางเทียน (กระจง) หรือไหว้ทั้งตัว แกงยอด (ต้มกะทิยอดหวายพวน ยอดชก ยอดมะพร้าว) แกงหอยขมมะพร้าวคั่ว ยำแตงเบา (แตงกวา ) น้ำชุบเมืองหลาง ๙ อย่าง* คือ น้ำชุบเยาะ น้ำชุบหยำ น้ำชุบเคย น้ำชุบไคร น้ำชุบหมก น้ำชุบเซียะ น้ำชุบคั่ว น้ำชุบหัวข่า และน้ำชุบเมือง พร้อมผักจุ้ม(ผักเกล็ด หรือผักเคียง) ลูกตอ ลูกเนียง ลูกเหรียง ผลไม้ตามฤดูกาล ของหวาน เช่น ขนมคู (ขนมโค) หรือ ขนมแดง ขนมขาว กันแม (กะละแม) บัวลอย เหนียวแดง เหนียวขาว เหนียวกวน ขนมห่อ ต้ม ขนมลา ขนมเทียน ขนมท่อนไต้ ขนมถั่ว ขนมงา ขนมก้านบัว จู้จุน อ้อย แตงโม สับปะรด ลูกจันทน์ หมากอ่อน ยาเส้นใบจาก(บุหรี่ใบจาก) หมากพลู เป็นต้น

๙. ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม มีดังนี้
๙.๑ ผู้ประกอบพิธีเชิญครูอาจารย์
๙.๒ บริกรรมคาถาปิดประตูหน้าต่าง (หมายถึงปิดตัวผู้ประกอบพิธี) เพื่อกันไม่ให้ผีมาเข้าตัวเอง
๙.๓ เสกข้าวสาร ๑ ถ้วย น้ำมนตต์ ๑ ขัน เพื่อกันไม่ให้ผีเข้ามาในโรงพิธี
๙.๔ เริ่มตั้งนโมตัสสะ…. ๓ จบ

๙.๕ ไหว้สัตดี ๑ จบ บทไหว้มีว่า
ศรี ๆ สวัสดีเจ้าข้าเอย เชิญท่านมาสิงเอา ข้าหราข้าน้อย เรียนอรรถ ขัดทั้งคาถา ศัตรูนึกมาขอให้วินาศวินายสาย ศรี ๆ จำเริญสุขสรรพทุกข์จงเหือดหายลาภมาอย่าขาดสาย ขอให้สวัสดีมีไชยเย มือข้าทั้งสิบนิ้ว… ฯลฯ
๙.๖ ไหว้สักเค….. ๑ จบ
๙.๗ ไหว้พระอรหัง…. ๑ จบ
๙.๘ ออกชื่อบริถิว แม่นางธรณี กรุงพาลี พระภูมิเจ้าที่ เป็นต้น
๙.๙ ร้องเชิญประกอบดนตรี

บทเบิกโรง
ได้ฤกษ์เบิกโรง
ไม่โอ่โถง ข้าจะไหว้เทวดา
นะโมตัสสะภะคะวะโต
อิติปิโสภะคะวา
เอเยปิติ-อะสุสะลา ธรรมมา
พระวิภังแต่งหู พระสังคนีแต่งตา
พระธรรมเจ้าข้า แต่งหมูกลูกยา
ได้หายใจ ดินน้ำลมไฟ พร้อมไป
ในร่างกา-ยา…..

หน้าเรือนแม่หม้า มีขามคอม้า มีหว้ากาจับ มีต้นม่วงคล้า

มีสระหน้าบ้าน มีคูโดยรอบ มีขอบค่ายไผ่

บทเชิญลง

เชิญลงพ่อมาลง อย่าให้ม้าทรงมานั่งถ้า*
เชิญมาเถอะพ่อมา มาแล้วอย่าพ้นไป
ราชครูของข้า---ลับตาไปแล้ว----
ดวงแก้วลูกหลานออกจากพก
โธ่เอยอนิจจังอนัตตา----รำลึกขึ้นมา
น้ำตาตก เหมือนดวงแก้วลูกเหลนออกจากพก----เหมือนหนึ่งยิ่ว*พา-กาเฉียว* พุทธโธ นิสจังอนัตตา มาทิ้งลูกยาไว้
คนเดียว เหมือนหนึ่งยิ่วพา-กาเฉียว-ให้ลูกเหลียวหน้าไปหาใคร จะหันหน้าพึ่ง
ผู้อื่นความชื่นลูกน้อยมีแค่ไหน
ให้ลูกเหลียวหน้าไปหาใคร
นอกจากใยราชครูของข้าเอย

บทกล่อมวิญญาณเมืองถลาง

บทขอโทษ

เชิญพ่อมาตามสายด้าย
เชิญพ่อร่ายมาตามสายไหม
มาแล้วพ่ออย่าพ้นไป
เชิญเข้าในโรงพิธี
ม้าทรงนี้พ่อไม่พอใจ
ลูกจะจัดม้าใหม่ให้เข้ามา
ลูกน้อยจะขอขมาโทษ
พ่อคุณอย่าโกรธลูกเลยหนา
ผิดพลั้งเมื่อก่อนมา
ข้าหนอขออภัย

ผู้ประกอบพิธีจะร้องขับบทเหล่านี้ซ้ำๆ ไปมาอยู่หลายเที่ยว จนวิญญาณยอมมาประทับร่างม้าทรง ซึ่งบางครั้งใช้เวลานานมากถึง ๑ วัน กับ ๑ คืน หรือบางครั้งก็ไม่ยอมมาเข้าทรง ต้องยกเลิกพิธี แล้วเริ่มงานใหม่อีกครั้ง

Location
วัดม่วงโกมารภัจจ์
Tambon เทพกระษัตรี Amphoe Thalang Province Phuket
Details of access
Reference นายสมศักดิ์ โสภานนท์ Email sopanon22@yahoo.com
Tambon เทพกระษัตรี Amphoe Thalang Province Phuket
Tel. 081-787-4764
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่