ความหมายและความสำคัญของเครื่องสักการะล้านนา
ชุมชนคุณธรรมวัดทุ่งกล้วยโพธารามรางวัลชนะเลิศ การประกวดทำเครื่องสักการะล้านนา
งานประเพณีบุญตั้งธรรมหลวงเวียงละกอน(เทศน์มหาชาติ) ครั้งที่ ๑๗
เครื่องสักการะล้านนาเครื่องหมายของการเคารพสูงสุดของชาวล้านา บ่งบอกถึงความคิดที่ลึกซึ้ง ในการมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ควรบูชา โดยการน้อมนำสิ่งของที่มีคุณค่าอันควรแก่การบูชาที่มีอยู่ตามธรรมชาติและเต็มไปด้วยความงดงามที่พิเศษนอกเหนือจากสิ่งที่บริโภคในวิถีชีวิตประจำวัน กล่าวคือ
ข้าวตอก ซึ่งโดยปกตินั้นข้าวมีไว้สำหรับบริโภค แต่เมื่อนำมาทำเป็นข้าวตอกก็ถือเป็นสิ่งสักการะ
เทียนขี้ผึ้ง จะใช้เฉพาะการบูชา
ดอกไม้ โดยทั่วไปดอกไม้ที่มีความสวยงาม และมีกลิ่นหอมนำมาเป็นเครื่องสักการะ วิธีการเก็บดอกไม้เพื่อบูชาพระจะกระทำด้วยความนุ่มนวลอ่อนโยน สะท้อนให้เห็นการให้ความเคารพต่อธรรมชาติการปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความอ่อนโยนและเทิดทูน แสดงถึงพื้นฐานจิตใจที่งดงามของชาวล้านนาซึ่งมีมาช้านาน
หมากสุ่ม
หมากสุ่ม คือการทำต้นพุ่มนำเอาผลหมาก ที่ใช้เคี้ยวของชาวบ้านมาปักใส่ไว้ที่โครงไม้หรือโครงเหล็กที่เตรียมไว้ หมากที่ใช้ทำเรียก “หมากไหม”คือหมากที่ผ่าเป็นซีกๆแล้วเสียบร้อยด้วยปอหรือด้ายผูกไว้เป็นพวง ตากแห้งเก็บไว้กินตลอดปีเรียกว่า “หมากไหม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันในล้านนาไทยมาช้านานแล้ว เมื่อทำโครงไม้ หรือโครงทองเหลืองแล้วนำหมากไหมมาคลุมโครงนั้น เรียกว่า “หมากสุ่ม”
ต้นพลูพุ่มพลูใบพลูถือว่าเป็นสิ่งที่คู่อยู่กับหมากอยู่แล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับพลู เช่น
- เมื่อออกเรือนให้พกหมากคำพลูคำสำหรับเคี้ยวพกใส่กระเป๋าไปด้วย เชื่อว่าจะเป็นสิหริมงคล
-ถ้าเอาก้านพลูเขียนคิ้วให้ทารก เชื่อว่าถ้าเด็กโตขึ้นเด็กจะมีคิ้วสวยดังวาด
- ถ้าพบเจอใบพลู ๒ แฉกหรือ พลู๒ หาง ถ้านำติดตัวไปค้าขายจะร่ำรวย
หมากเบ็ง
หมากเบ็ง คือหมากใช้ไม้หรือทองเหลืองทำเป็นโครงร่างของพุ่มสูงประมาณ 1 ศอก แล้วใช้หมากดิบหรือหมากสุก จำนวน 24 ลูก มาผูกติดไว้กับโครง โดยผูกตรึงโยงกันทางล้านนานิยม เรียกว่า “เบ็ง” คือ การตรึงหมากไว้กับโครงพุ่มจึงเรียกกว่า “หมากเบ็ง” หมากเบ็ง 24 ลูกนี้ เป็นเครื่องหมายแห่งปัจจัย 24 ที่ปรากฏในอภิธรรม 7 คัมภีร์ เรียกกว่า มหาปัฏฐาน คือ เหตุปัจจโย มีเหตุเป็นปัจจัย อารัมมณปัจจโย อารมณ์เป็นปัจจัย เป็นต้น ที่นำเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาไว้ในเครื่องสักการะ เพื่อแสดงถึงความจริงที่ปรากฏ ในรูปสภาวธรรม
ต้นผึ้งหรือพุ่มดอกผึ้ง
การทำพุ่มดอกผึ้ง หรือดอกจากขี้ผึ้งเป็นของบริสุทธิ์ได้มามาจากเกศรดอกไม้ เหมาะในการนำมาประดิษฐ์ดอกไม้ถวายแด่พระสงฆ์องค์เจ้าและใช้แทนดอกไม้ต่างๆได้ด้วยเครื่องสักการะล้านนา ชาวบ้าน ถือว่าเป็นของสูง โดยจะใช้ความพยายามในการประดิษฐ์เป็นอย่างมาก งานส่วนใหญ่จะอาศัยศรัทธา เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ความเคารพในสิ่งที่ตนเองนับถืออย่างแรงกล้า เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดงานศิลปกรรม ที่เกี่ยวกับเครื่องสักการะขึ้นมา เครื่องสักการะล้านนาใช้บูชาเบื้องสูง มีพระพุทธศาสนา ครูอาจารย์
ต้นดอกหรือพุ่มดอก
เป็นต้นที่ใช้ไม้หรือทองเหลืองมาทำพุ่มเป็นถาวร ลักษณะ ๓ เหลี่ยมมีโพรงอยู่ตรงกลางสำหรับ เอาดอกไม้สอดเข้าไปโดยมากจะนำเอาใบเล็บครุฑ ใบดอกใหม่ หรือชะบาบ้าง มาอัดใส่จนเต็มแล้วตัด จนราบเรียบทั้ง ๓ ด้าน ในกรณีนี้ชาวบ้านจะนำเอาดอกไม้ หลายชนิดมารวมกันทำเป็นต้นดอกก็ได้ ส่วนมากมักจะนำดอกไม้มีกลิ่นหอมมาประดับ เช่น ดอกเกร็ดถวา หรือ ดอกพุดช้อน นั้นเอง
ข้อมูลจากเว็บไซต์kitsadermatan.blogspot.com, เทศบาลตำบลเชิงดอย ,เทศบาลตำบลแม่สรวย, เทศบาลเมืองลำพูน และล้านนาคดีศึกษา
ภาพการประกวดทำเครื่องสักการะล้านนางานประเพณีบุญตั้งธรรมหลวงเวียงละกอน(เทศน์มหาชาติ) ครั้งที่ ๑๗ ประจำปี ๒๕๖๓
ต้นเทียนพุ่มเทียน
วิธีทำ โดยการนำเทียนเล่มเล็กๆ มาผูกห้อยกับโครงหรือไม้เสียบลูกชิ้น และไปปักหรือติดกับพานหรือพาชนะที่นำมาประดิษฐ์ เพื่อให้พระสงฆ์เก็บนำไปใช้สอยได้เลย
เครื่องสักการะล้านนา จะปรากฏอยู่ในขบวนประเพณีต่างๆ รวมถึงงานทางศาสนาและงานรดน้ำ ดำหัวผู้ใหญ่และใช้เครื่องสักการะบูชาเหล่านี้สำหรับบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยการน้อมนำสิ่งของที่มีคุณค่าอันควรแก่การบูชาที่มีอยู่ตามธรรมชาติและเต็มไปด้วยความงดงาม