อาหารพื้นเมืองในจังหวัดแพร่
อาหารเป็นวัฒนธรรมที่ปรากฏในวิถีชีวิตของชาวจังหวัดแพร่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีอยู่มากมายรับประทานกับข้าวเหนียวนึ่งเป็นพื้น และนำพืชผักโดยเฉพาะผักพื้นบ้าน เช่น ผักหวาน เห็ดลม เห็ดถอบ เห็ดไข่เหลือง เห็ดโคน สะแล ขนุน งวม ใบม่วง ออกพร้าว(ยอดมะพร้าวอ่อน) ผักสลิดยอกแซ่ว มะค้อมก้อม(มะรุม) มะข้าว หน่อไม้ ผักหละ(ชะอม) ผักปั๋ง(ตำลึง) ผักแคบ ผักแค เป็นต้น เป็นพืชผักที่มีตามฤดูกาลนำมาปรุงอาหาร ซึ่งมีให้รับประทานตลอดปี
การปรุงอาหารมีหลายวิธี เช่น การแกง การจอ การส้า การยำ การเจี้ยว การหลาม การปิ้ง การป่าม การคั่วหรือผัด การหลู้ การต๋ำ เป็นต้น ทั้งนี้มักจะปรุงให้สุกมากๆ การปรุงรสอาหารของชาวจังหวัดแพร่ส่วนใหญ่จะมีรสอ่อน หรือรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว แต่ไม่หวานมาก ไม่นิยมใส่น้ำตาล ความหวานส่วนใหญ่จะได้มาจากส่วนประสมที่นำมาประกอบอาหาร เช่น ความหวานจากผัก ปลาต่างๆ เป็นต้น
อาหารในวิถีของชาวจังหวัดแพร่มีมากมายหลายอย่างชนิด คล้ายๆกับอาหารเมืองเหนือทั่วไป เช่น ลาบ แกงผัก น้ำพริก ยำจิ้นไก่ จิ้นนึ่ง งัวน้อยนึ่ง ส้ามะเขือ ต๋ำมะเขือยาว เป็นต้น อาหารที่ชาวแพร่นิยมกินเคียงกับอาหารหลักอย่างอื่น เช่น แคบหมูไข่มดส้มดอง แมงมันดอง น้ำปู เป็นต้น ทั้งนี้อาจมีส่วนประกอบหรือกรรมวิธีเล็กๆน้อยๆที่ แตกต่างไปบ้างก็ถือว่าเป็นอาหารเหนือเหมือนกัน อาหารพื้นเมืองที่ชาวจังหวัดแพร่นิยมบริโภคในชีวิตประจำวัน มีตัวอย่างดังนี้
ลาบขม หรือ ลาบแป้
ใช้เนื้อวัวหรือควาย มีรสขม เพราะมีส่วนประกอบที่พิเศษกว่าลาบอื่น คือ ใส่เพี้ย (ขี้ในไส้) หรือใส่น้ำดีของวัว หรือควาย ส่วนประกอบของน้ำพริกลาบ มีพริกแห้ง ข่า มะแข่วน(กำจัดต้น) หอม กระเทียม เกลือ ดีปลี โขลกรวมกันให้ละเอียด คลุกเคล้ากับเนื้อที่สับละเอียดและเครื่องในลวก กินดิบหรือคั่วลาบให้สุกก่อนก็ได้ กินกับผักสดต่างๆ(ผักกับลาบ)