ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 12' 51.3749"
16.2142708
Longitude : E 100° 25' 20.7617"
100.4224338
No. : 193073
ศิลปะการแสดงลิเก พิจิตร
Proposed by. พิจิตร Date 27 August 2020
Approved by. พิจิตร Date 27 August 2020
Province : Phichit
0 2904
Description

๑. สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป

วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย เป็นรากฐานของการสร้างความสามัคคี และความมั่นคงของชาติ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนับเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย อาหาร วิถีชีวิต ความเชื่อและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะที่บ่งบอกถึงค่านิยม วิถีชีวิตที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา และความเป็นชาติที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่มาช้านาน จนกลายเป็นรากฐานขององค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ ที่มีคุณค่ายิ่งของชนชาติไทยและเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันงดงามของชาติ ซึ่งคนไทยทุกคนควรตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญมรดกทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงลิเก

องค์ความรู้ศิลปะการแสดงลิเก เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ เรื่องลิเกของจังหวัดพิจิตร วิธีการแสดง และพิธีกรรม ความเชื่อ เพื่อสืบสานและถ่ายทอดไปยังอนุชนรุ่นหลัง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาชาติไทยตลอดไป

๒. ประวัติความเป็นมา

ลิเก เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษา ฮิบรู ว่า ซาคูร (Zakhur) ซึ่งหมายถึง การสวดสรรเสริญพระเจ้าในศาสนายูดาย หรือยิว มาแต่โบราณหลายพันปี ต่อมาชาวอาหรับเรียกการสวดสรรเสริญพระเจ้าว่า ซิกร (Zikr) และ ซิกิร (Zikir) ผู้สวดนั่งล้อมเป็นวงโยกตัวไปมา เมื่อการสวดแพร่หลายเข้าไปในอินเดียโดยชาวอิหร่าน เรียกว่า ดฮิกิร (Dhikir) โดยมีการตีกลองรำมะนาประกอบ ครั้นการสวดแพร่มาถึงจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ก็เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า ดิเก (Dikay) และจิเก (Jikay) ชาวมุสลิมนำดิเกเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ การเรียกก็เปลี่ยนเป็น ยิเก หรือ ยี่เก (Yikay) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกว่า ลิเก (Likay) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ และใช้เรียกอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นมา ส่วนคำว่า ยี่เก ยังคงใช้เรียกกันอยู่ อนึ่ง ลิเกได้ถูกเปลี่ยนชื่อตามพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรม พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็น นาฏดนตรี และเรียกคำนี้แทนลิเกอยู่ประมาณ ๑๕ ปี ก็กลับมาเรียกว่า ลิเก เหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน

วิวัฒนาการของลิเกในเมืองไทย

อาณัติ หมานสนิท ผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้อธิบายว่า ลิเกที่เข้ามาในเมืองไทยครั้งแรก ๆ มีการแสดงอยู่ทางภาคใต้เรียกว่า ลิเกฮูลู ซึ่งใช้ภาษาสูงและลิเกบารัตซึ่งใช้ภาษาง่าย ๆ แทรกด้วยตลกโปกฮา มักจะแสดงเวลากลางคืนประมาณสองทุ่งยันสว่างทั้งในงานที่เป็นมงคลและอวมงคล (ยกเว้นในเดือนระมะดาน) โดยปกติจะเล่นบนลานดินหรือยกพื้นเวทีให้สูงขึ้นไม่มีฉาก นักดนตรีนั่งเรียงด้านหน้าเวทีใกล้คนดู เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองรำมะนา กลองแขกตัวผู้ กลองแขกตัวเมีย ซอเรอราบและโม่ง การแต่งกายจะเป็นแบบพื้นบ้าน คือ นุ่งกางเกงขายาว สวมเสื้อเชิ้ต สวมหมวกและนุ่งผ้าปาเต๊ะทับกางเกงที่เรียกว่า กาอัน ก่อนเริ่มแสดงจะมีการโหมโรง ร้องเพลงอาหรับหรือเพลงอินเดีย พ่อเพลงหรือตุนยอรอจะร้องเพลงทำที่เรียกว่า ยาหยีลากู วิจารณ์เหตุการณ์ทั่วไปในแนวทางตลกและเสียดสี ต่อจากนั้นจึงจะเริ่มแสดงเรื่องเบ็ดเตล็ดชุด สั้น ๆ เรียกว่า ลูกบทอีกเพลงหนึ่งแล้วจึงออกลูกหมดแสดงว่าจบเพลง ผู้แสดงทั้งชายและหญิงแต่งตัวแสดงเรื่องเบ็ดเตล็ดชุดสั้น ๆ และจะมีการออกภาษาล้อเลียนคนต่างชาติ เมื่อเล่นแต่ละชุดจะมีลูกคู่บรรเลงรำมะนา

ต่อมาลิเกสวดแขกได้พลิกแพลงการแสดงออกเป็น ๒ แนว คือ (๑) ละกูเยาหรือลำตัดเป็นภาษามาเลย์ แปลว่าเพลงที่ร้องแสดงความเหน็ดเหนื่อย หรือเพลงที่ใช้เล่นตอนพักเหนื่อยจากการเดินทาง ส่วนที่เรียกว่าลำตัดนั้น เพราะเป็นการ้อง(ลำ) เชือดเฉือนกัน(ตัด) ด้วยคารมรุนแรง (๒) ฮันดาเลาะหรือละครชุดสั้นประกอบเพลงที่ผู้แสดงเป็นผู้ชายล้วน ต่อมาได้พัฒนาไปเป็น ลิเกบันตน ลิเกลูกบท และลิเกทรงเครื่อง ตามลำดับ

๑. ลิเกบันตน คำว่า บันตน เพี้ยนมาจาก บันตุน เป็นฉันทลักษณ์ชนิดหนึ่งของภาษามาเลย์ที่ลิเกสวดแขกใช้เป็นหลักในการร้อง มีลักษณะเป็นละครชุดสั้น ๆ ที่ไม่แก่นสารเป็นเรื่องราวการเจรจาใช้สำเนียงแบบชาวมุสลิม การแต่งกายชายใส่เสื้อคอกลม แขนสั้นสีฉูดฉาด นุ่งโจงกระเบน มีผ้าคาดสวดสังเวียนปักขนนก และหญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน หรือผ้าซิ่นการแสดงเน้นที่ความตลก ไม่มีการำมีการออกภาษาต่าง ๆ ตามชุดการแสดง ก่อนจะเล่นมีการออกแขก เมื่อผู้แสดงร้องจบจะมีลูกคู่ ซึ่งนั่งล้อมวงหน้าเวทีร้องรับและตีรำมะนา พวกตีรำมะนาจะร้องเพลงบันตน สลับรอรายการแสดงชุดต่อไป

๒. ลิเกลูกบท ประยุกต์มาจกลิเกบันตน โดยการใช้ปี่พาทย์ทำเพลงรับแทนการใช้ลูกคี่ที่ตีรำมะนา เหตุที่เรียกลูกบท เนื่องจากเมื่อดนตรีบรรเลงเพลง ๓ ชั้น ที่เป็นแม่บทจบแล้วก็จะบรรเลงต่อท้ายด้วยเพลงสั้นๆ หรือเพลงภาษาต่าง ๆ การบรรเลงเพลงลูกบทนี้ ได้มีผู้คิดปล่อยตัวแสดงออกมาโดยร้องและรำไปตามเพลง ใช้ปี่พาทย์รับแทนลูกคู่ที่ตีกลองรำมะนา เรียกว่าลูกบทอีกเพลงหนึ่ง แล้งจึงออกลูกหมดแสดงว่า จบเพลง ผู้แสดงทั้งชายและหญิงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณธรรมดาแต่นิยมสีฉูดฉาด ผู้ชายใช้โพกหัวหรือสวมสังเวียนที่ศีรษะ ส่วนผู้หญิงซึ่งแต่เดิมใช้ผู้ชายแสดงก็จะสวมช้องผมปลอม ส่วนชุดและการแสดงก็อนุโลมเล่นอย่างลิเกบันตน อย่างไรก็ตามลิเกลูกบทนี้ จะมีการออกภาษาหรือแสดงสิบสองภาษาเหมือนลิเกบันตน ได้แก่ จีน แขก ฝรั่ง พม่า เขมร มอญ ลาว ญวน ข่า ตะลุง ญี่ปุ่น เงี้ยว อนึ่งในปัจจุบันจะหาดูได้ยากมาก นอกเสียจากจะใช้บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์นางหงส์ ที่ใช้กลองมลายูเป็นเครื่องประกอบจังหวะแล้วจึงออกเป็นเพลงต่าง ๆ ที่เร็วและสนุกสนาน

๓. ลิเกทรงเครื่อง เป็นลิเกที่ประยุกต์ลิเกบันตนและลิเกลูกบทเข้าด้วยกัน และจัดรูปแบบการแสดงแบบละครรำมากยิ่งขึ้น จะแสดงกันทั้งชายและหญิง ทั้งนี้อันเนื่องมาจากพระยาเพชรปาณี(ตรี) ได้นำเครื่องแบบการแต่งกายของข้าราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาดัดแปลงใส่ เช่น ปันจุเหร็จยอด(ชฎาที่มียอด) หันไปเลียนแบบแผนการแสดงของละครรำมากขึ้น ดังที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวส่วนเสื้อเยียรบับ นุ่งผ้ายก สวมถุงเท้าขาว ประดับนพรัตน์ราชวราภรณ์กำมะลอ จึงเรียกว่า ลิเกทรงเครื่อง ซึ่งพระยาเพชรปาณี(ตรี) ได้อธิบายให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทราบว่า “ที่แต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวยมักติดใจชอบไปดู เมื่อมีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็มักพากันไปดูผู้หญิง และคนที่ชอบดูลิเกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำหรือเพลงปี่พาทย์สามอย่าง คือ ให้แต่งตัวให้สวย เล่นขบขัน และเล่นให้ทันใจ”(สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๑๗.๒๕๒๐ หน้า ๒๖๕) นอกจากนี้ เรื่องที่ละครทรงเครื่องแสดงจะเป็นเรื่องราวอย่างละครและมีการลดการใช้รำมะนาลง คงใช้แต่ประกอบการแสดงออกแขกเบิกโรงเท่านั้น

คณะลิเกในจังหวัดพิจิตร มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษและสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๐ คณะลิเกที่มีชื่อเสียง ได้แก่ คณะแก้วมณี คณะกำแพงสวรรค์ คณะ ส.พูนสวัสดิ์ คณะ ช.โพธิ์ทอง คณะสีนวล เทียนทอง และคณะแสงธรรม

แรกเริ่มลิเกจังหวัดพิจิตร จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มโดยเฉพาะบริเวณใกล้สถานีรถไฟ อำเภอตะพานหิน ทั้งด้านทิศเหนือ และซอยวัดสันติพลารามโดยรับงานแสดงและคิดค่าจ้างแสดงต่อคืนประมาณ ๖๐๐ บาท จนถึง ๒,๐๐๐ บาท ต่อคน

ในปัจจุบันนี้คิดค่าจ้างแบบเหมาเป็นคณะ โดยคิดราคาค่าจ้างต่อคืนประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท ถึง ๘๐,๐๐๐ บาทตามระยะทาง หรือมีการคัดตัวนักแสดงที่มีชื่อเสียง

นายวิรัตน์ ยื่นแก้ว และชาวลิเกมีความคิดที่จะจัดตั้งชมรมลิเก โดยร่วมกันปรึกษาหารือจะจัดตั้งชมรมขึ้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานชมรมลิเกตะพานหินคนแรก ก็คือ นายประสิทธิ์ สายรุ้ง เป็นผู้นับหน้าถือตาของบรรดาศิลปินลิเก จึงได้รับตำแหน่งประธานชมรมจนใน พ.ศ. ๒๕๓๙ สภาวัฒนธรรมอำเภอตะพานหิน ได้เชิญประธานชมรมลิเกตะพานหิน เข้าร่วมประชุมร่วมกับสมาชิกลิเก จึงคัดเลือกให้นายวิรัตน์ ยื่นแก้ว เป็นประธานชมรมลิเกตะพานหิน โดยจุดมุ่งหมายในการจัดตั้งชมรมลิเกขึ้นมานั้น ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวลิเกด้วยกัน และนอกจากนั้นยังได้ช่วยเหลือสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย

ปัจจุบัน ชมรมลิเกจังหวัดพิจิตร มีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น โดยมีนายวิรัตน์ ยื่นแก้ว เป็นประธานชมรมลิเก คนปัจจุบัน และทางชมรมจัดงานพิธีไหว้ครูปู่ฤาษี วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ของทุกปี (ข้างขึ้น) กิจกรรมในงานประกอบด้วยพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พิธีกรรมไหว้ครู การแข่งขันฟุตบอลระหว่างหน่วยงานกับนักแสดงลิเก โดยแต่งชุดลิเกลงแข่งขัน งานสังสรรค์เชื่อมความสามัคคี และการคัดเลือกประธานชมรมลิเกประจำปี ปัจจุบันมีสมาชิกชมรม จำนวน ๓๘ คณะ

๓. ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

โดยให้มีรายละเอียดครอบคลุมสาระ ดังต่อไปนี้

"ลิเก" เป็นละครผสมระหว่างการพูด การร้อง การรำ และการแสดงกิริยาท่าทางตามธรรมชาติ โดยมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ ทำนองเพลงหลักที่ใช้สำหรับร้องดำเนินเรื่อง เรียกว่า รานิเกลิง (รา-นิ-เกลิง) หรือ ราชนิเกลิง (ราด-นิ-เกลิง) ส่วนอื่นๆ ที่ใช้สำหรับร้องรำและประกอบกิริยานำมาจากเพลงของละครรำ และเพลงลูกทุ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น ผู้แสดงรับบทชายจริงหญิงแท้ มีบทพูดและบทร้องตามท้องเรื่องที่โต้โผกำหนดให้ก่อนการแสดง บางครั้งมีการบรรยายเรื่องและตัวละครจากหลังเวที เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจง่ายขึ้น เนื้อเรื่องมักเป็นการชิงรักหักสวาทและอาฆาตล้างแค้นย้อนไปในอดีตหรือในปัจจุบันโครงเรื่องมักซ้ำกัน จะต่างกันที่รายละเอียด การแสดงลิเกแบ่งเป็น ๓ ส่วนคือ โหมโรงดนตรี เพื่อเรียกผู้ชม และให้ผู้แสดงเตรียมพร้อม ออกแขก เพื่อต้อนรับผู้ชม ขอบคุณเจ้าภาพ แนะนำการแสดงและผู้แสดง การดำเนินเรื่องเป็นฉากสั้นๆ ติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว ลิเกมีแสดงทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน การแสดงลิเก ประกอบด้วย

๔. เทคนิคการแสดงลิเก

๑. การด้นลิเกเป็นการแสดงละครที่อาศัยการด้นเป็นปัจจัยหลัก การด้น หมายถึง การผูกเรื่องที่จะแสดงบทเจรจาและบทร้อง ท่ารำ อุปกรณ์การแสดง ในทันทีทันใดโดยมิได้เตรียมตัวมาก่อน แต่ทั้งนี้โต้โผและผู้แสดงมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาก่อนแล้ว ดังนั้น การด้นจึงมักเป็นการนำเรื่อง คำกลอน กระบวนรำ ที่อยู่ในความทรงจำกลับมาใช้ในโอกาสที่เหมาะสม น้อยครั้งที่โต้โผต้องด้นเรื่องใหม่ทั้งหมดหรือผู้แสดงต้องด้นกลอนร้องใหม่ทั้งเพลง

๑.๑ การด้นเรื่องโต้โผหรือหัวหน้าคณะจะแต่งโครงเรื่องสำหรับการแสดงครั้งนั้น โดยพิจารณาจากจำนวนผู้แสดงที่มาร่วมกันแสดง ตลอดจนความชำนาญเฉพาะบทของผู้แสดงแต่ละคน เรื่องที่แต่งก็นำมาจากเค้าโครงเรื่องเดิมๆที่เคยใช้แสดง แต่ได้ดัดแปลงให้เหมาะกับการแสดงในครั้งนั้นๆ ผู้แสดงมีจำนวนประมาณ ๗ - ๑๕ คน ทั้งนี้ขึ้นกับว่าผู้ว่าจ้างต้องการลิเกโรงเล็กหรือโรงใหญ่ สำหรับลิเกโรงเล็กมีผู้แสดงน้อย เนื้อเรื่อง จึงมักเน้นพระเอกนางเอกเพียงคู่เดียว ส่วนลิเกโรงใหญ่มีผู้แสดงมาก จึงมักสร้างตัวละครตั้งแต่รุ่นพ่อ ต่อมาถึงรุ่นลูกหรือเป็นเรื่องที่มีพระเอกนางเอก ๒ คู่

๑.๒ การด้นบทร้องบทเจรจาผู้แสดงจะแต่งบทเจรจาและบทร้องตลอดการแสดงลิเก สำหรับบทเจรจานั้น ผู้แสดงสามารถด้นสดได้ทั้งหมด เพราะเป็นภาษาพูดที่เข้าใจง่าย ไม่มีใจความที่ลึกซึ้ง ส่วนบทร้องมีเพลงและรูปแบบคำกลอนของเพลงไทย และเพลงราชนิเกลิงกำกับ ประกอบด้วยคำร้องซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนต้นที่มีหลายคำกลอน และคำลงซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนจบที่มีเพียง ๑ คำกลอน การด้นบทร้องมีศิลปะ ๓ ระดับ ระดับสูงคือ ด้นคำร้อง และคำลง* ขึ้นใหม่หมดทั้งเพลง ระดับกลางคือ ด้นคำร้องให้มาสัมผัสกับกลอนของคำลงที่ตนจำมาใช้ ระดับล่างคือ ด้นคำร้องและคำลงที่ลักจำมา หรือจ้างคนเขียนให้มาใช้ทั้งเพลง

๑.๓ การด้นท่ารำลิเกจะเน้นการร้องทั้งบทกลอนและน้ำเสียง ส่วนการรำเป็นเพียงส่วนประกอบ ดังนั้น ผู้แสดงจึงไม่เคร่งครัดในการรำให้ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่นำแบบแผนมาจากละครรำ การรำของลิเกจึงเป็นการย่างกรายของแขนและขา ส่วนการใช้มือทำท่าทางประกอบคำร้องที่เรียกว่า รำตีบทนั้นตามธรรมเนียมของละครรำ มีเพียงไม่กี่ท่านอกเหนือจากนั้น ผู้แสดงจะรำกรีดกรายไปตามที่เห็นงามการด้นท่ารำอีกลักษณะหนึ่งเป็นการรำแสดงความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดงบางคนในท่ารำชุดที่กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์เป็นมาตรฐานเอาไว้แล้ว แต่ผู้แสดงลิเกลักจำมาได้ไม่หมด ก็ด้นท่ารำของดั้งเดิมให้เต็มเพลง

๑.๔ การด้นทำอุปกรณ์การแสดงการแสดงลิเกมีการสมมติในท้องเรื่องมากมาย และไม่มีการเตรียมอุปกรณ์การแสดงไว้ให้ดูสมจริงนอกจากดาบ ดังนั้น ผู้แสดงจำเป็นต้องหาวัสดุใกล้มือขณะนั้นมาทำเป็นอุปกรณ์ที่ตนต้องการใช้ เช่น เอาผ้าขนหนูมาม้วนเป็นตุ๊กตาแทนทารก เอาผ้าขาวม้ามาคลุมตัวเป็นผี เอาดาบผูกกับฝาหม้อข้าวเป็นพัดวิเศษ เอาผ้าขาวม้าผูกเป็นหัวปล่อยชาย แล้วขี่คร่อมเป็นม้าวิเศษ การคิดทำอุปกรณ์การแสดงอย่างกะทันหันเช่นนี้มุ่งให้ความขบขันเป็นสำคัญ และผู้ชมก็ชอบมาก

๒. การร้องการเจรจาการร้องและการเจรจาของลิเกมีลักษณะเฉพาะ ผู้แสดงจะเปล่งเสียงร้องและเสียงเจรจาเต็มที่ แม้จะมีไมโครโฟนช่วย จึงทำให้เสียงร้องและเจรจาค่อนข้างแหลม นอกจากนั้นยังเน้นเสียงที่ขึ้นนาสิกคือมีกระแสเสียงกระทบโพรงจมูก เพื่อให้มีเสียงหวาน การร้องเพลงสองชั้นและเพลงราชนิเกลิงนั้น ผู้แสดงให้ความสำคัญที่การเอื้อนและลูกคอมาก ในการร้องเพลงสองชั้น ผู้แสดงร้องคำหนึ่ง ปี่พาทย์บรรเลงรับท่อนหนึ่ง เพื่อให้ผู้แสดงพักเสียงและคิดกลอน ส่วนการเจรจานั้น ผู้แสดงพูดลากเสียงหรือเน้นคำมากกว่าการพูดธรรมดา เพื่อให้ได้ยินชัดเจน อนึ่ง คำที่สะกดด้วย “น” ผู้แสดงลิเกจะออกเสียงเป็น “ล” นับเป็นลักษณะเด่นของลิเกอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ลิเกนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆที่มีกษัตริย์เป็นตัวเอก แต่ผู้แสดงมักใช้คำราชาศัพท์ที่ไม่ถูกต้องด้วยสาเหตุ ๒ ประการคือ ความไม่รู้ และความตั้งใจให้ตลกขบขัน

๓. การรำการแสดงลิเกใช้กระบวนรำและท่ารำตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย โดยแบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ รำเพลง รำใช้บทหรือรำตีบท และรำชุด

๓.๑ รำเพลงคือ การรำในเพลงที่มีกำหนด ท่ารำไว้ชัดเจน เช่น เพลงช้า - เพลงเร็ว เพลงเสมอ ผู้แสดง

พยายามรำเพลงเหล่านี้ให้มีท่ารำและกระบวนรำใกล้เคียงกับแบบฉบับมาตรฐานให้มากที่สุด

แม่ท่าเพลงช้า-เพลงเร็ว มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้จดจำสืบต่อกัน

มาจนถึงปัจจุบันนี้ เพลงช้า-เพลงเร็ว เป็นเพลงประเภทหน้าพาทย์ จัดอยู่ในประเภทเพลงหน้าพาทย์อัญเชิญครูโขน ละคร พระ นาง มาร่วมในพิธีให้ลูกศิษย์ได้คารวะในวันไหว้ครู เมื่อนำมาใช้สำหรับหลักสูตรบทเรียนนาฏศิลป์ จัดอยู่ในประเภทเพลงฝึกหัดการรำนาฏศิลป์เบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ฝึกหัดได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวพระ-นาง ต้องผ่านการฝึกหัดเบื้องต้นการรำเพลงช้า-เพลงเร็วก่อน ถ้าต้องการฝึกเพื่อเป็นศิลปินหรือครูผู้สอนนาฏศิลป์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตศิลปิน จำเป็นต้องฝึกในรูปแบบเพลงช้า-เพลงเร็วอย่างเต็ม ท่ารำในเพลงช้า-เพลงเร็ว เป็นการนำเอาแม่ท่ามาเรียงลำดับโดยมีลีลาเชื่อมท่ารำต่อเนื่องกันไป ถือว่าเป็นเพลงบูชาครู ดังนั้น ก่อนที่เรียนรำเพลงอื่น ๆ ผู้เรียนควรจะต้องรำเพลงช้าเพลงเร็วก่อนทุกครั้ง ผู้เรียนรำจะต้องฝึกหัดรำเพลงบูชาครูให้คล่องแคล่วแม่นยำ เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนเพลงอื่น ๆ ต่อไป

การฝึกหัดเพลงช้า-เพลงเร็ว เป็นการฝึกหัดที่เป็นขั้นตอนมีระเบียบแบบแผน ฝึกให้มีระเบียบวินัย เป็นแม่แบบของผู้รักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นความรู้เบื้องต้นของผู้ที่เป็นศิลปิน นอกจากนั้น การฝึกเพลงช้า-เพลงเร็ว ยังให้ประโยชน์โดยเฉพาะ คือ

๑. จัดรูปทรง สัดส่วน งดงามตามรูปแบบนาฏศิลป์
๒. เรียนรู้ในการใช้อวัยวะให้สัมพันธ์กัน โดยเริ่มตึงเอว ไหล่ การทรงตัว
๓. ได้ฝึกออกกำลังร่างกายทุกส่วนของอวัยวะ
๔. มีทักษะในการร่ายรำอย่างคล่องแคล่วว่องไว

บทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง

ในด้านบทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงมีจำนวนมากอาจจะแบ่งเป็น ๓ ประเภทตามการใช้ คือ เพลงตามจารีต เพลงตามบทและเพลงตามใจ

๑. เพลงตามจารีตคือ เพลงที่ใช้เป็นแบบแผนในลิเก นิยมใช้กันดังนี้

.๑ เพลงโหมโรง เป็นการบรรเลงเพื่อสักการบูชาและเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์

๑.๒ เพลงออกแขก เป็นเพลงขับร้องก่อนการแสดง

๑.๓ เพลงร้องต้นเป็นเพลงที่ร้องประกอบดนตรีอย่างประณีตไพเราะเพื่อดำเนินเรื่อง

๑.๔ เพลงกริยา คือ เพลงที่ใช้ประกอบกิริยาต่าง ๆ

๒. เพลงตามบทได้แก่ เพลงร้องและบรรเลงตามบทต่าง ๆ เช่น บทโศก บทรัก บทโกรธ

.เพลงตามใจคือ เพลงที่ตัวลิเกหรือปี่พาทย์นำมาใช้ในลิเกตามใจชอบ

๓.๒ รำใช้บทหรือรำตีบทคือ การรำทำท่าประกอบคำร้องและคำเจรจา เป็นท่าที่นำมาจากละครรำและเป็นท่าง่ายๆ อาทิ ท่ารัก ท่าโศก ท่าโอด ท่าชี้ ท่าฟาดนิ้ว ท่ามา ท่าไป ท่าตาย ท่าคู่ครอง ท่าช่วยเหลือ ท่าเคือง ท่าโกรธ และท่าป้อง ซึ่งเป็นท่าให้สัญญาณปี่พาทย์หยุดบรรเลง

๓.๓ รำชุดคือ การรำที่ผู้แสดงลิเกลักจำมาจากท่ารำชุดต่าง ๆของกรมศิลปากร เช่น มโนห์ราบูชายัญ ซัดชาตรี และพลายชุมพล แต่ผู้แสดงจำได้ไม่หมด จึงแต่งเติมจนกลาย ไปจากเดิมมาก ท่ารำบางชุดเป็นท่ารำที่ลิเกคิดขึ้นเองมาแต่เดิม เช่น พม่ารำขวาน และขี่ม้ารำทวน จึงมีท่ารำต่างไปจากของกรมศิลปากรโดยสิ้นเชิงการรำของลิเกต่างกับละคร กล่าวคือ ละครรำเป็นท่า แต่ลิเกรำเป็นที ซึ่งหมายความว่า การรำละครนั้น ผู้รำจะรำเต็มตั้งแต่ท่าเริ่มต้นจนจบกระบวนท่าโดยสมบูรณ์ แต่การรำลิเกนั้น ผู้แสดงจะรำเลียนแบบท่าของละคร แต่ไม่รำเต็มกระบวนรำมาตรฐาน เช่น ตัดทอนหรือลดท่ารำบางท่า รำให้เร็วขึ้น ลดความกรีดกราย ในขณะเดียวกันผู้แสดงลิเกตัวพระนิยมยกขาสูง และย่อเข่าต่ำกว่าท่าของละครรำ อีกทั้งนิยมเอียงลำตัว และเอนไหล่ให้ดูอ่อนช้อยกว่าละคร

๓.๔ การหัด

การหัดลิเกมี ๒ วิธี วิธีหนึ่งคือการหัดโดยตรงกับครูหรือกับพ่อแม่ อีกวิธีหนึ่งหัดด้วยตัวเองโดยแอบจำวิธีการแสดงของคนอื่นมาทดลองทำจนเกิดความชำนาญ แล้วจึงนำไปแสดง วิธีนี้ เรียกว่าครูพักลักจำลิเกส่วนใหญ่ต้องหัดรำและหัดร้องก่อน ต่อจากนั้นจึงจะหัดด้นกลอนสด การหัดร้องและหัดรำนี้ ส่วนใหญ่นั้นหัดไปพร้อม ๆ กัน การหัดรำจะเริ่มรำจะถือเอาวันพฤหัสบดีหรือวันครูเป็นวันเริ่มหัด ฝ่ายผู้หัดจะนำดอกไม้ ธูปเทียน ขันโลหะ ผ้าขาวและเงิน ๖ บาท มาไหว้ครูขอวิชา ครูมักเป็นลิเกอาวุโสหรือครูละครรำ จะจับมือลูกศิษย์ของตนขึ้นตั้งวงและจับมือพอเป็นวิธี แสดงว่ายอมรับเป็นครูเป็นศิษย์กัน ต่อจากนั้นก็นัดวันเวลาทำการฝึกหัด บทแรกที่หัดรำคือรำเพลงช้าและเพลงเร็ว ซึ่งเป็นการหัดรำตามมาตรฐานของนาฏศิลป์ไทย เมื่อรำได้คล่องดีแล้วก็หัดรำแม่บทเล็ก ต่อไปก็ถึงรำใช้บท คือการศึกษาถึงการใช้ท่ารำประกอบบทร้องและบทเจรจา ขั้นสุดท้ายการหัดรำหน้าพาทย์ เช่นรำเพลงเสมอ เป็นอันหมดการหัดกระบวนรำ

ในด้านฝึกหัดร้องเพลง จะเริ่มด้วยการหัดร้องเพลงไทยอัตราสองชั้นอย่างง่าย ๆ ที่ใช้กันเป็นประจำในการแสดงลิเก เช่น ตะลุ่มโปง หงส์ทอง สองไม้และราชนิเกลิง โดยหัดออกเสียงให้ชัดเจนรู้จังหวะ การถอนหายใจ และการถอดเสียงไม่ให้ขาดเป็นห้วง ๆ ลิเกบางคนได้ครูดีมีวิชาก็ได้ต่อเพลงสูง ๆ ก็ถึงชั้นหัดร้องเพลงตับและเพลงเถา เช่น เพลงตับพระลอ (ตับลาวเจริญศรี) เพลง ต้นวรเชษฐ์เถา ผู้เขียนได้พบว่าลิเกเก่า ๆ ที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ ๓๕ ปีขึ้นไปสามารถร้องเพลงชั้นสูง ๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนพวกลิเกวัยรุ่นนั้นหาได้น้อยคนเต็มทีและที่ร้องได้ก็เพี้ยนไปจากของเดิมเป็นส่วนใหญ่

เมื่อได้ฝึกการร้องและการรำจนใช้การได้แล้ว ครูก็จะหัดให้ด้นกลอนด้วยหัดจากกลอนง่าย ๆ ที่เรียกว่า กลอนลี กลอนลา คือกลอนที่คำท้ายสะกดด้วยสระอีหรือสระ อา ถือเป็นสระที่ใช้กันมากในภาษาไทย การหัดนั้นครูจะแต่งกลอนให้ท่อง จนเคยปากจากนั้นก็ปล่อยให้ด้นเอง การด้นกลอนนี้จะต้องฟังมากอ่านมากเรียกว่ารู้หนังสือมาก เรียกใช้ศัพท์แสงต่าง ๆ ได้ถูกต้องทันทีไม่มีติดขัด จึงจะนับว่าด้นกลอนได้เก่ง การหัดดังกล่าวมานี้เป็นกระบวนการของลิเกยุคก่อนซึ่งใช้เวลาหัดนาน ๒ – ๓ ปีซึ่งไม่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้นลิเกรุ่นใหม่จึงมักเรียนลัด พอหัดเพลงช้าเพลงเร็วได้เล็กน้อย ร้องเพลงได้ ๓-๔ เพลงและรำใช้บทได้ไม่กี่ท่าก็ออกโรงแสดงกันเลย โดยคิดไปหาความชำนาญเอาด้านหน้า ตั้งใจว่าจะจดจำวิธีรำและคำกลอนที่มีคารมคมคายจากศิลปินอาวุโสไปใช้ซึ่งใครหัวไวก็ได้ดี วิธีนี้ลิเกแต่ละคนจะมีสมุดกลอนประจำตัว นอกจากจดกลอนจากครูแล้วก็จดจำที่ได้ยินได้ฟังมาในขณะที่ทำการแสดง อันเป็นวิธี“ครูพักลักจำ”

โดยการถ่ายทอดความรู้ทางด้านลิเก ลิเกเป็นการแสดงที่ต้องอาศัยทักษะ จึงได้รับการฝึกหัดมา วิธีการฝึกหัดสองประการคือ หัดโดยตรงจากครูหรือพ่อแม่ อีกวิธีหนึ่งหัดโดยการแอบจำมาปฏิบัติ เรียกว่า ครูพักลักจำ ขั้นตอนการฝึกหัดคือ หัดร้องเพลงลิเก ด้นกลอนสด เมื่อประสบความสำเร็จจึงเริ่มหัดรำการฝึกหัดรำจะถือเอาครูเป็นหลักในการฝึกรำ

ขั้นตอนการแสดงลิเก

๑. โหมโรงเป็นการบูชาเทพยดาและครูบาอาจารย์ พร้อมทั้งอัญเชิญท่านเหล่านั้น มาปกปักรักษาและอำนวยความสำเร็จให้แก่การแสดง นอกจากนั้น ยังเป็นการ อุ่นโรง ให้ผู้แสดงเตรียมตัวให้พร้อมเพราะใกล้จะถึงเวลาแสดง และเป็นสัญญาณแจ้งแก่ประชาชนที่อยู่ทั้งใกล้และไกล ให้ได้ทราบว่าจะมีการแสดงลิเก และใกล้เวลาลงโรงแล้ว จะได้ชักชวนกันมาชม

โหมโรงเป็นการบรรเลงปี่พาทย์ตามธรรมเนียมการแสดงละครของไทย เพลงที่บรรเลงเรียกว่า โหมโรงเย็น ประกอบด้วย เพลงชั้นสูงหรือเพลงหน้าพาทย์ ๑๓ เพลง บรรเลงตามลำดับคือ สาธุการ ตระนิมิตร รักสามลา ต้นเข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ เชิดฉิ่ง เชิดกลอง ชำนาญ กราวใน และวา ถ้าโหมโรงมีเวลาน้อยก็ตัดเพลงลงเหลือ ๔ เพลงคือ สาธุการ ตระนิมิตร กราวใน และวา แต่ถ้ามีเวลามากก็บรรเลงเพลงเบ็ดเตล็ดแทรกต่อจากเพลงกราวใน แล้วจึงบรรเลงเพลงวาเป็นสัญญาณจบการโหมโรง

๒. ออกแขกเป็นการคำนับครู อวยพรผู้ชม ขอบคุณเจ้าภาพ แนะนำเรื่อง อวดผู้แสดง ฝีมือการร้องรำ และความหรูหราของเครื่องแต่งกาย เพื่อให้ผู้ชมสนใจ และเตรียมพร้อมที่จะชมต่อไป ออกแขกเป็นการเบิกโรงลิเกโดยเฉพาะการออกแขกมี ๔ ประเภทคือ ออกแขกรดน้ำมนต์ ออกแขกหลังโรง ออกแขกรำเบิกโรง และออกแขกอวดตัว

๒.๑ ออกแขกรดน้ำมนต์โต้โผ คือ หัวหน้าคณะหรือผู้แสดงอาวุโสชาย แต่งกายแบบแขกมลายูบ้าง ฮินดูบ้าง มีผู้ช่วยเป็นตัวตลกถือขันน้ำตามออกมา แขกร้องเพลงออกแขกชื่อว่า เพลงซัมเซ เลียนเสียงภาษามลายู จบแล้วกล่าวสวัสดีและทักทายกันเอง ออกมุขตลกต่างๆ เล่าเรื่องที่จะแสดงให้ผู้ชมทราบ จบลงด้วยแขกประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การแสดง และเป็นการอวยพรผู้ชม การออกแขกรดน้ำมนต์ไม่ค่อยมีแสดงในปัจจุบัน

๒.๒ ออกแขกหลังโรงโต้โผหรือผู้แสดงชายที่แต่งตัวเสร็จแล้วช่วยกันร้องเพลงซัมเซอยู่หลังฉากหรือหลังโรง แล้วจึงต่อด้วยเพลงประจำคณะที่มีเนื้อเพลงอวดอ้างคุณสมบัติต่าง ๆ ของคณะจากนั้นเป็นการประกาศชื่อและอวดความสามารถของศิลปินที่มาร่วมแสดง ประกาศชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องย่อที่จะแสดง แล้วลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม

๒.๓ ออกแขกรำเบิกโรงคล้ายออกแขกหลังโรง โดยมีการรำเบิกโรงแทรก ๑ ชุด ก่อนลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม รำเบิกโรงนี้มักแสดงโดยลูกหลานของผู้แสดงที่มีอายุน้อยๆ เป็นการฝึกเด็กๆให้เจนเวที เป็นการรำชุดสั้นๆสำหรับรำเดี่ยว เช่น พม่ารำขวาน พลายชุมพล มโนห์ราบูชายัญ หรือชุดที่คิดขึ้นเอง เช่น ชุดแขกอินเดีย ในกรณีที่เป็นการแสดงเพื่อแก้บน รำเบิกโรงจะเป็นรำเพลงช้าเพลงเร็ว โดยผู้แสดงชาย - หญิง ๒ คู่ ตามธรรมเนียมของการรำแก้บนละคร ซึ่งเรียกว่า รำถวายมือ เมื่อจบรำเบิกโรงแล้ว ข้างหลังโรงจะร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม

๒.๔ ออกแขกอวดตัวคล้ายออกแขกรำเบิกโรง แต่เปลี่ยนจากรำเดี่ยวหรือรำถวาย มือมาเป็นการอวดตัวแสดงทั้งคณะ ผู้แสดงทุกคนจะแต่งเครื่องลิเก นำโดยโต้โผหรือพระเอกอาวุโสร้องเพลงประจำคณะ ต่อด้วยการแนะนำผู้แสดงเป็นรายตัว จากนั้นผู้แสดงออกมารำเดี่ยว หรือรำหมู่ หรือรำพร้อมกันทั้งหมด คนที่ไม่ได้รำก็ยืนรอ เมื่อรำเสร็จแล้วก็ร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม แล้วทยอยกันกลับเข้าไป

๓.การแสดงเป็นการแสดงลิเกเรื่องราวที่โต้โผซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องกำหนดขึ้นก่อนการแสดงเพียงเล็กน้อย แล้วเล่าเรื่องพร้อมทั้งแจกแจงบทบาทด้วยปากเปล่าให้ผู้แสดงแต่ละคนฟังที่หลังโรง ในขณะกำลังแต่งหน้าหรือแต่งตัวกันอยู่ โดยจะเริ่มต้นแสดงหลังจากจบออกแขกแล้ว โต้โผจะคอยกำกับอยู่ข้างเวทีจนกว่าเรื่องจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การแสดงเชื่องช้า ตลกฝืด ตัวแสดงบาดเจ็บ โต้โผก็จะพลิกแพลงให้เรื่องดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ผู้แสดงทุกคนต้องรู้บท รู้หน้าที่ และด้นบทร้องบทเจรจาของตนให้เป็นไปตามแนวเรื่องของโต้โผได้ตลอดเวลา

๓.๑ การแสดงในฉากแรกๆเป็นการเปิดตัวละครสำคัญในท้องเรื่อง ผู้แสดงจะส่งสัญญาณให้นักดนตรีบรรเลงเพลงสำหรับรำออกจากหลังเวที เช่น เพลงเสมอหรือเพลงมะลิซ้อน เมื่อรำถวายมาถึงหน้าตั่งหรือเตียงที่วางอยู่กลางเวทีก็นั่งลง หรือทำท่าถวายมือยกเท้าจะขึ้นไปนั่ง แต่กลับยืนอยู่หน้าเตียง แล้วร้องเพลงแนะนำตัวเอง และตัวละครที่สวมบทบาท พร้อมทั้งร้องเพลงขอบคุณผู้ชมและออดอ้อนแม่ยก เพลงที่ร้องเป็นเพลงไทยอัตราสองชั้นด้นเนื้อร้องเอาเอง จากนั้นเป็นการร้องเพลงลูกทุ่งยอดนิยมอีก ๑ เพลง แล้วจึงดำเนินเรื่องร้องรำและเจรจาด้วยการด้นตลอดไปจนจบฉาก เพลงที่ใช้ร้องด้นดำเนินเรื่องเรียกว่า เพลงลิเก ที่มีชื่อว่า เพลงรานิเกลิง หรือ ราชนิเกลิง เมื่อตัวแสดงหมดบทในการออกมาครั้งแรกแล้ว ก็ลาโรงด้วยการร้องเพลงแจ้งให้ผู้ชมทราบว่า ตนคิดอะไรและจะเดินทางไปไหน จากนั้นปี่พาทย์ทำเพลงเสมอให้ผู้แสดงรำออกไป

๓.๒ การแสดงในฉากต่อ ๆ มาผู้แสดงมักเดินกรายท่าออกมา ผู้แสดงบนเวทีหรือผู้บรรยายหลังโรงจะแจ้งสถานที่และสถานการณ์ในท้องเรื่องให้ผู้ชมทราบ แล้วจึงดำเนินเรื่องไปจนจบฉากอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้แสดงหมดบทบาทของตนเองแล้ว ก็จะร้องเพลงด้วยเนื้อความสั้นๆ แล้วกลับออกไปด้วยเพลงเชิด ซึ่งใช้สำหรับการเดินทางที่รวดเร็ว

๓.๓ การแสดงในฉากตลกใหญ่ซึ่งเป็นฉากสำคัญที่ผู้ชมชื่นชอบนั้น ผู้แสดงจะเวียนกันออกมาแสดงมุขตลกต่างๆ โดยมีตัวตลกตามพระ คือผู้ติดตามพระเอก กับตัวโกงเป็นผู้แสดงสำคัญในฉากนี้ เนื้อหามักเป็นการที่ตัวตลกตามพระหามุขตลกมาลงโทษตัวโกง ทำให้คนดูสะใจ และพึงพอใจที่คนไม่ดีได้รับโทษตามหลักคำสอนของศาสนา ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๓.๔ การแสดงในฉากจบมักเป็นฉากที่ตัวโกงพ่ายแพ้แก่พระเอก ผู้แสดงเกือบทั้งหมดออกมาไล่ล่ากัน ประฝีปากและฝีมือกัน โดยในตอนสุดท้ายพระเอกเป็นฝ่ายชนะ ส่วนตัวโกงพ่ายแพ้ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องหนีไปหรือยอมจำนนอยู่ ณ ที่นั้น การแสดงก็จบลงโดยไม่มีการตายบนเวที เพราะถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคล ผู้แสดงมักทำท่านิ่ง เพื่อแสดงให้ทราบว่าการแสดงจบลงแล้ว

๔. ลาโรงเป็นธรรมเนียมการแสดงละครไทยที่มีการบรรเลงปี่พาทย์ลาโรง ผู้แสดงกราบอำลาผู้ชม โต้โผกล่าวขอบคุณผู้ชม และเชิญชวนให้ติดตามชมการแสดงคณะของตนในโอกาสต่อไป

ลิเกเริ่มการแสดงเป็นละครด้วยฉากตัวพระเอก แต่ในระยะหลังๆนี้มักเปิดการแสดงด้วยฉากตัวโกง เพื่อให้การดำเนินเรื่องรวบรัด และฉากตัวโกงก็อึกทึกครึกโครมทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและติดตามชมการแสดง การดำเนินเรื่องแบ่งออกเป็นฉากสั้นๆติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งดึกยิ่งใกล้จะจบ การแสดงก็ยิ่งคึกคัก ตื่นเต้น โลดโผน

Location
สมาคมลิเกจังหวัดพิจิตร
No. - Moo - Soi ซ.ชมฐีระเว Road -
Amphoe Taphan Hin Province Phichit
Details of access
สมาคมลิเกจังหวัดพิจิตร
Reference นางศศิรัชต์ ชูมา Email saranrat656@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร Email Khun16599@gmail.com
No. - Moo ศาลากลาง(หลังเดิม) Soi - Road บุษษา
Tambon ในเมือง Amphoe Mueang Phichit Province Phichit ZIP code 66000
Tel. 081 - 8742821 Fax. 056612-6
Website http:province.culture.go.th/phichit/
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่