ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 28' 5.0066"
16.4680574
Longitude : E 100° 33' 34.9405"
100.5597057
No. : 193518
การทอเสื่อกก
Proposed by. พิจิตร Date 28 March 2021
Approved by. พิจิตร Date 28 March 2021
Province : Phichit
1 1682
Description

กกเป็นไม้ล้มลุกในวงศ์ Cyperaceae ขึ้นในที่ชุมแฉะ มีหัวเหมือนข่าแต่เล็กกว่าและแตกแขนงเป็นต้น คำเรียกพื้นเมืองมักเรียกตามลักษณะลำต้นว่า กกเหลี่ยม กกกลม ชนิดลำต้นกลมนิยมใช้ในการทอเสื่อเพราะผิวจะเหนียวและอ่อนนุ่ม เมื่อทำเป็นเสื่อแล้วจะนิ่มนวลน่าใช้หากขัดถูก็จะเป็นมันน่าดู ส่วนกกเหลี่ยมลำต้น มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ผิวของกกชนิดนี้จะแข็งกรอบและไม่เหนียวไม่นิยมนำมาใช้ทำเสื่อ

การทอเสื่อกกของชาวบ้านหนองคล้า หมู่ที่ ๔ ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร นับว่าเป็น ภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่นนี้ การทอเสื่อกกเป็นวิถีชีวิตในยามว่างจากงานเกษตรกรรมหรือจากการทำสวนมะม่วง มะปราง บ้างก็ทำขึ้นเพื่อใช้เองในครัวเรือน หรือใช้ในการประกอบเป็นอาชีพเสริม บางครัวเรือนได้ยึดเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ยิ่งได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีการพัฒนาลวดลายบนผืนเสื่อ ให้เป็นลวดลายต่างหลากหลาย มีความสวยงาม โดดเด่น การพัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบ และฝีมือการทอ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำรายได้ให้แก่กลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวขึ้นเพื่อประกอบการทอเสื่อตามแนวนโยบายธุรกิจชุมชนจนมีความเข้มแข็ง และอยู่รอดได้ท่ามกลางกระแสความผันแปรของวัฒนธรรม

วัตถุประสงค

๑.เพื่อให้ทราบความเป็นมาของการทอเสื่อกก

๒. เพื่อให้รู้จักขั้นตอนวิธีการทอเสื่อกก

๓. เพื่อเป็นการสืบทอด และดำรงรักษาภูมิปัญญาการทอเสื่อกกให้คงอยู่กับสังคมท้องถิ่นต่อไป

๔. เพื่อเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาการทอเสื่อกกให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

วัสดุ/อุปกรณ์ในการทอเสื่อกก

๑. ต้นกกที่จะนำมาใช้ทอเสื่อต้องเลือกขนาดของกกเพื่อให้เหมาะกับหน้ากว้างของเสื่อที่ต้องการ
๒. มีดหรือเคียวใช้ตัดและเกี่ยวต้นกก
๓. ฟืม ซึ่งมีทั้งฟืมรูและฟืมฟันปลา
๔. กระดานสำหรับรองนั่งทอเสื่อ
๕. ไม้กรอบมีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕ เมตร ยาวประมาณ ๒.๕ เมตร
๖. สีย้อม
๗. เชือกกระสอบ หรือปอแก้ว

๘. มีดปลายแหลมสำหรับสอยต้นกกให้เป็นเส้นเล็ก ๆ

กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร) มีทั้งหมด

การเก็บเกี่ยวการเก็บเกี่ยวกก จะต้องตัดเมื่อกกไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจะได้กกที่มีความทน มีคุณภาพดี ถ้ากกแก่ หรืออ่อนจนเกินไป เมื่อนำไปทอเสื่อจะทำให้เส้นกกขาด เสื่อที่ทอได้จะไม่สวย กกจะสวยงาม และโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ ๖๐-๗๐ วัน การตัดกกให้สังเกตจากสีของดอกกก กกอ่อนดอกจะเป็นสีขาวหรือสีเหลือง กกแก่จะเป็นสีน้ำตาลแก่หรือสีเกือบดำและตามลำต้นจะมีจุดผุด่างดำ กกที่เหมาะสำหรับทอเสื่อควรตัดขณะที่ดอกมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาล ดอกกำลังบานเต็มที่ ส่วนมากจะใช้เคียวเกี่ยว จะตัดลำต้นจนติดกับพื้นดินให้เหลือตอสั้นที่สุด ขณะเก็บเกี่ยวนั้น นิยมกำจัดวัชพืชไปด้วย เพื่อใช้หน่อกก โตขึ้นมาได้อีกเมื่อตัดกกเรียบร้อยแล้วก็ตัดส่วนใบทิ้งไป

การคัดกกวัดขนาดของลำต้นกกก่อนทำการตัด ขนาดที่ใช้อาจเป็น ๕ คืบ ๖ , ๗ , ๘ , ๙ , ๑๐ คืบ ตามแต่ขนาดของเสื่อที่จะทอ กกที่มีความยาวเต็มที่หรือยิ่งได้ความยาวเท่าไหร่ก็ยิ่งดี หลังจากคัดเลือกแล้วจึงตัดปลายของกกทิ้ง เมื่อตัดกกเรียบร้อยแล้วก็ตัดส่วนใบทิ้งไปแล้วนำไปแยกขนาดตามความยาวของลำต้นกกก่อนทำการตัดขนาดที่ใช้อาจเป็น ๕ , ๖ , ๗ , ๘ , ๙ , ๑๐ คืบ ตามแต่ขนาดของเสื่อที่จะทอ กกที่มีความยาวเต็มที่หรือยิ่งได้ความยาวเท่าไหร่ก็ยิ่งดี หลังจากคัดเลือกแล้วจึงตัดปลายของกกทิ้ง

ขั้นตอนที่ ๑การสอยต้นกก

๑. ตัดต้นกกสด

๒. คัดเลือกต้นกกที่มีขนาดเท่ากันไว้ด้วยกัน

๓. นำต้นกกที่คัดแล้วมาสอยเป็นเส้นเล็กโดยใช้มีดปลายแหลมคม(มีดแกะสลัก)

๕. นำเส้นกกสอยที่ตากแห้งแล้วมากมัดเป็นมัด ๆ รอการย้อมสี

การจักกก

การผ่าแบ่งต้นต้นกกให้เป็นเส้น เรียกว่า การจัก เครื่องมือที่ใช้ในการจัก คือ มีด เล็กๆบางๆ ปลายแหลมมีความคมพอประมาณแต่ไม่ต้องคมมากเพราะความคมของใบมีด ขณะกรีดอาจตัดเส้นกกขาดได้ ทำให้เส้นกกไม่สวย ขนาดของเส้นกกที่นิยมใช้กันคือ ๑ ลำต้น ต่อ ๓-๔ เส้น แต่ถ้าเส้นกกมีขนาดเล็กจะใช้ขนาด ๒-๓ เส้น จะจักเอาเฉพาะเปลือกข้างนอกให้มีเนื้อข้างในติดเล็กน้อย แต่พยายามอย่าให้ถูกน้ำค้างหรือน้ำฝน เมื่อตากแดดแล้วกก จะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ก็พร้อมที่จะนำไปย้อมสีให้สวยงามตามต้องการเมื่อจักเรียบร้อยแล้วก็มาถึงขั้นตอนในการตากแดดให้แห้ง ที่จะสามารถนำไปทอได้

วิธีการจักกก
๑. จักกกด้วยมือซ้ายห่างจากโคนประมาณ ๑ คืบดึงมาใกล้ตัว

๒. แทงกกด้วยใบมีดปลายแหลม กะแบ่งให้ได้ขนาด ส่วนมาก กกต้นหนึ่งๆ จักได้ประมาณ ๓-๔ เส้น

๓.เหยียดมือขวากรีดไปจนสุดปลายกก หรือถ้าไม่สุดก็เหยียด มือซ้ายที่จับกกช่วยด้วยก็ได้

๔. เมื่อจักกกได้รอบต้นกกแล้ว จะเหลือไส้ในสีขาวให้ทิ้ง

๕. กกที่จักได้แล้วแบ่งเป็นกอง รวบปลายผูกด้วยเส้นกก

การตากกก
การตากกกในลักษณะต่าง ๆกันบางรายใช้กกตากเกลี่ยกระจายไปบนราวไม้ไผ่ในแนวนอน หรือบางรายอาจนำไปตากตามสถานที่ ๆ เป็นลานกว้างหรือที่ ๆ มีความกว้างใหญ่พอ ที่จะเกลี่ยกกกับพื้นให้ถูกแดด ได้อย่างทั่วถึง ควรเลือกสถานที่โล่งแจ้ง ไม่มีแสงแดดรำไรเพราะจะทำให้กกไม่ถูกแดดอย่างทั่วถึงจะเกลี่ยกกให้กระจายทั่ว ๆ ให้ถูกแดดอย่างทั่วถึงถ้าแดดแรง ตากประมาณ ๔- ๕ วัน ก็ใช้ได้ ตากจนกกเปลี่ยนสีออกเหลือง แห้งสนิท เมื่อตากแดดแห้งดีแล้ว ก็นำมารวบไว้ตามขนาด มัดเป็นกำ ๆ เก็บรวบรวมไว้พร้อมที่จะนำไปย้อม

การย้อมสีกก

ก่อนย้อมสีกก ต้องนำกกที่ตากแห้งไปแช่น้ำประมาณ ๑ วัน เพื่อให้อิ่มน้ำก่อนแล้วจึงนำไปย้อมสีที่นำมาใช้ในการย้อมเสื่อ นั้นเป็นสีวิทยาศาสตร์ ซึ่งชาวบ้านซื้อมา ในราคากิโลกรัมละ ๕๐๐ บาท มีทั้งหมด ๕ สี ได้แก่ สีดำ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีเหลือง

อุปกรณ์ในการย้อม๑. สีย้อมกก
๒. น้ำเปล่า
๓. ไม้พาย
๔. กกที่ตากแห้งสนิทแล้ว นำมาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ ๑ วัน
๕. ปิ๊บเปล่า , กาละมัง
๖. ฟืน
๗. ราวไม้

ขั้นตอนในการย้อมสีกก๑. นำน้ำใส่ปิ๊บประมาณ ๑๕ ลิตร ตั้งไฟต้มน้ำให้เดือด
๒. นำกกที่จะย้อมมัดไว้เป็นกำ
๓. เมื่อน้ำเดือดแล้วใส่สีที่ต้องการย้อมประมาณครึ่งช้อนชาต่อกก ๒ กำมือ แล้วใช้พายกวนเพื่อให้สีกับน้ำผสมให้เข้ากันดี
๔. นำส่วนปลายของกกที่จะย้อมจุ่มลงไปในน้ำที่ผสมสีเพื่อที่ดูว่าความเข้มของสีได้ตามที่ต้องการแล้วหรือยังถ้าสีจางไปให้ เติมสีลงไปอีกเพื่อให้ได้สีตามต้องการ
๕. เมื่อจุ่มปลายกกลงไปในปิ๊บที่มีสีผสมกับน้ำทุกกำแล้ว แก้มัดปลายกกออกแล้วมัดปลายอีกข้างที่ย้อมแล้วให้เรียบร้อย
๖. ค่อยนำกกลงไปย้อมในปิ๊บทีละกำ ย้อมสีให้ทั่วแล้วแก้มัดที่ปลายกกออกแล้วมัดปลายอีกข้างให้เรียบร้อย
๗. นำกกที่ย้อมสีแล้วไปตากแดดที่ราวไม้ให้แห้งสนิท

ขั้นตอนที่ ๒การย้อมสี

๑. เลือกซื้อสีสำหรับย้อมกกสี่ต่าง ๆ ที่มีสีสันสวยงาม เช่น สีแดง สีชมพู สีเหลือง สีม่วง สีดำ สีเขียว เป็นต้น

๒. ก่อไฟโดยไฟที่ใช้ต้องสม่ำเสมอ

๓. นำปี๊ป หรือกระทะใส่น้ำพอประมาณท่วมเส้นกกนำมาตั้งบนเตารอให้น้ำเดือด

๔. พอน้ำเดือดก็นำสีที่เลือกมาเทลง

๕. นำเส้นกกที่คัดเลือกแล้วลงย้อมจนเพียงพอที่จะใช้ในการทอ

๖. นำเส้นกกที่ย้อมสีแล้วลงล้างในน้ำเปล่าแล้วนำไปตากแดดที่จัดจนแห้ง

๗. นำเส้นกกที่ย้อมสีตากแห้งแล้วมากเก็บมัดรวมกัน โดยแยกเป็นสี แต่ละสี

ขั้นตอนที่ ๓ การทอเสื่อ

การทอเสื่อนับเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่นิยมทำกันมาแต่โบราณและถ่ายทอดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบันวัตถุที่สำคัญคือกกอาจจะหายากขึ้น เพราะเกษตรกรใช้พื้นที่ทำประโยชน์ในการทำนาเพราะพื้นที่มีน้อยลงแต่ก็ยังพอมีที่ ริมหนอง บึง หรือคู คลอง ซึ่งมีกกขึ้น หนาแน่น บางบ้านจะปลูกกกเป็นนากก การทอเสื่อจะนำมาทอเพื่อหารายได้เสริมให้แก่ครอบครัวถ้ามีการพัฒนารูปแบบการทอเสื่อให้มีความประณีตมีสีสันสวยและคุณภาพดี เพื่อไปใช้สอยและเป็นของฝากโดยทำให้เป็นหัตถกรรมของที่ระลึกมีคุณภาพและราคาสูงขึ้น ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกษตรกร หรือผู้ทอเสื่อลงทุนที่จะปลูกกกเพื่อเก็บไว้ใช้เพราะถ้าสามารถสร้างรายได้เป็นอาชีพหรือกึ่งอาชีพได้ก็จะช่วยสร้างอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกร

ฟืมที่ใช้ทอเสือ

ฟืมที่ใช้ทอเสือแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ฟืมรูใช้กับที่นอน และฟืมฟันปลาใช้กับที่ตั้ง ฟืมรูทำด้วยไม้แดง ไม้ประดู ไม้เต็งหรือไม้รัง ขนาดใหญ่จะยาวประมาณ ๒ เมตร กว้าง ๒๕ เซนติเมตร หนา ๓ - ๕ เซนติเมตรเจาะรูมากน้อยขึ้นอยู่กับความยาวของฟืม ฟืมฟันปลามีขนาดเดียว ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร กว้าง ๑๕ เซนติเมตรหนา๔ เซนติเมตร เซอะเป็นซี่ฟัน ฟืมกว้าง ๕ เซนติเมตร สูง ๑๐ เซนติเมตร ปลายชี้โค้งมน ห่างกัน ประมาณ ๑ เซนติเมตร ร่องระหว่างฟันฟืมเล็กแคบเป็นร่องลึก

การทอเสื่อด้วยกี่นอนและฟืมรู
การเตรียมกี่และฟืม การทอเสื่อของชาวบ้านโดยทั่วไปผู้ทอมักจะเป็นผู้หญิง สถานที่ใช้ทอเสื่อกกได้แก่ ใต้ถุนบ้าน หรือใต้ร่มไม้บริเวณบ้าน เริ่มด้วย การนำไม้ไผ่มาตีเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๒-๓ เมตร ยาว ๕ เมตร ด้านบนไม้กรอบกี่ท่อนหน้าและท่อนหลังใช้ตะปูเล็กตอกติดเป็นระยะห่างเท่ากับ รูฟืมแล้วเอาเชือกปอแก้วผูกกับตะปูบนไม้กรอบด้านหน้าสอดผ่านรูฟืมไปรัด ไว้กับตะปูไม้กรอบด้านหลังจนหมดรูฟืม (ถ้ากกเส้นสั้นจะรวบ ๒ ข้าง เข้าหากัน ให้พอดีเส้นกก)จะสอดเชือกเข้าด้านละ ๓ - ๕ เส้น ที่ริมฟืมทั้ง ๒ ข้างเพื่อให้ขอบเสื่อทน เส้นปอที่ดึงกะให้ตึงพอดีถ้าตึงมากไปเวลากระทบฟืมปอจะเปื่อยขาด ถ้าหย่อนไปเส้นกกจะไม่กระชับก่อนทอคนทอจะสอดไม้ไผ่ท่อนใหญ่เรียกว่า ไม้โป่งเป้ง หรืออีโปงเข้าใต้เส้นยืนห่างจากฟืมประมาณ ๑.๕ เมตร ยกเส้นทอ สูงกว่าระดับพื้นเล็กน้อย และช่วยให้เส้นเชือกตึงได้ที่เป็นระยะ ๆ

การทอเมื่อกางกี่และปรับเส้นยืนได้ที่แล้วจะมีคนทอช่วยกัน ๒ คน คนหนึ่งทำหน้าที่กระทบฟืมอีกคนหนึ่ง จะสอดเส้นกกเส้นกกที่นำมาเตรียมทอต้องพรมน้ำให้ชุ่มจะได้เหนียวและใช้ผ้าหรือกระสอบพันห่อเส้นกกให้ชุ่มอยู่ได้นานเนื่องจากฟืมรูเจาะรู และเซาะร่องสลับหน้าหลังคนกระทบคว่ำฟืมเส้นยืนอ้าขึ้น คนส่งจะพับปลายเส้นกกประกบกับไม้ชนักสอดเข้าไประหว่างเส้นยืนที่อ้า แล้วกระทบฟืมต่อไป ทำเป็นเช่นนั้นเรื่อยไปจนได้เสื่อกกตาม ต้องการการส่งกกจะต้องสอดโคนกกและปลายกกสลับกัน เพื่อให้สีและพื้นผิวของเสื่อเรียบสม่ำเสมอ คนทอเมื่อกระทบเส้นกกเข้าที่แล้วต้องเก็บริมเสื่อพร้อมกันไปด้วยเพื่อกันขอบหลุดลุ่ยถ้าต้องการลวดลาย คนส่งกกจะเป็นผู้กำหนดว่าจะสอดเส้นกกกี่สีสีละกี่เส้น

การตัดแต่ง
เมื่อได้เสื่อผืนยาวตามต้องการแล้วจะต้องขลิบปลายกกริมขอบเสื่อให้เรียบ ขอบเสื่อจะเส้นสวยต่อไปตัดเชือกเส้นยืนทางปลายเสื่อที่ละคู่ ให้เหลือปลายเชือกยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร แล้วผูกกระชันกับริมเสื่อจนหมดเส้นเชือกแล้วจึงตัดเส้นยืนด้านหัวเสื่อ (ด้านเริ่มทอ)ผูกปลายเชือกเช่นเดียวกันหรือจะถักเป็นเปียชนิดชิดริมเสื่อก็ได้ เมื่อเสร็จแล้วก็จะได้ผืนเสื่อนำไปตากแดดให้แห้งก่อนนำไปม้วนเก็บไว้ใช้หรือจำหน่ายต่อไป

การทอเสื่อด้วยกี่ตั้งและฟืมฟันปลา
การเตรียมกี่และเส้นยืน กี่ตั้งมัดทำสำเร็จเป็นกรอบไว้เท่ากับขนาดความกว้างของฟืมสูงประมาณ ๒ เมตร กว้าง๑.๕เมตรไม้กรอบสี่ด้านบนและล่างจะหมุนเลื่อนได้เวลาขึงเส้นยืนจะกะให้ได้ความยาวเสื่อตามต้องการผูกปลายเชือกเส้นยืนกับไม้กรอบล่างและปลายมนติดไว้กรอบแบน ถอดไม้กรอบบนออกม้วนเชือกทางยืนจนเหลือพอตีกรอบหมุนม้วนให้เส้นตึงสอดไม้กรอบบนเข้าที่ตอกลิ่มปรับให้เส้นเชือกทางยืนตึงได้ที่

การทอเสื่อด้วยกี่ตั้ง

การทอเสื่อด้วยกี่ตั้ง ทำเพียงคนเดียว คนทอวางฟืมพาดตักสอดเส้นกกสลับขึ้นลงกับเชือก ทางยืนจากขวาไปซ้าย สอดฟืม ให้เส้นยืนรับกับร่องฟันปลา และกระทบลง ถอดฟืมออกวางบนตักแล้วสอดเส้นกกสลับโคนกับปลายแล้วกระทบ คนทอเก็บ ริมเสื่อพร้อมไปด้วย เมื่อทอไป จนได้ผืนเสื่อสูงเกือบสุดช่วงแขน จะกระทบไม่สะดวก คนทอจะถอดไม้กรอบบนหมุนหย่อนเส้นยืน แล้ว ถอดไม้กรอบวางม้วนผืนเสื่อที่ทอแล้วสอดเก็บไว้ที่ไม้กรอบล่าง หมุนไม้กรอบบนให้เส้นยืนตึงสอดคืนเข้าที่ใส่ฟืมแล้วทอต่อจนได้ผืนเสื่อยาว ตามความต้องการ เสร็จแล้วตัดปลายเส้นยืน ผูกหรือถักเปียเหมือนทอเสื่อฟืมรู ตัดและแต่งขอบเสือ นำไปตากแดดให้แห้งแล้วม้วนเก็บ การทอเสื่อฟืมฟันปลามักไม่ใส่ลวดลายและทำได้ช้าเพราะทำคนเดียว ต้องเสียเวลาในการปรับฟืม และปรับเส้นยืนส่วนการทอด้วยฟืมรูจะทำได้เร็วเพราะช่วยกัน ๒ คนและไม่ต้องเสียเวลาในการปรับฟืมเส้นยืน

การทอเสื่อกกลายขิดลายพื้นบ้าน
๑.กางโฮงที่ทำสำเร็จรูปแล้วมากาง(โฮงที่ใช้ขนาดทอคนเดียว)

๒.นำเชือกในลอนสำหรับทอเสื่อมาโยงใส่ฟืมจนเสร็จ

๓.ฟืมที่ใช้ต้องมีขนาดเท่ากับเส้นกกและฟืมแต่ละฟืมก็อาจ จะใช ทอลายไม่เหมือนกัน

๔.นำเส้นกกที่ย้อมสีตามจนแห้งแล้วนำมาทอเสื่อลายขิดตามต้องการ ซึ่งมีหลายลายด้วยกัน

๕. นำเส้นกกที่สอยและย้อมสีแล้วเลือกว่าจะใช้สีใดบ้างที่จะทอเสื่อ

๖. เลือกลายแล้วเริ่มทอจนเป็นแผ่น

๗. พอทอเสร็จก็ตัดแล้วหลังจากนั้นก็นำไปตากแดดเพื่อให้สีไม่ออก

๘. หลังจากนั้นก็นำมาเก็บในที่ร่ม

การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเสื่อกก ลายต่าง ๆ

๑. เสื่อที่พิมพ์แล้วนำมาเย็บต่อเป็นผืนโดยใช้จักรเย็บ

๓. นำกระดาษแข็งที่เตรียมไว้แล้วมาตัดแบบตามที่ออกแบบ

๔. นำเสื่อที่ทอไว้แล้วมาตัดตามแบบที่ออกไว้

๕. นำเสื่อที่ตัดเอาไว้ตามแบบแล้วนำมาเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้ออกแบบเอาไว้

ขั้นตอนที่ ๔การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกลายต่าง ๆ

๑. เสื่อที่พิมพ์แล้วนำมาเย็บต่อเป็นผืนโดยใช้จักรเย็บ

๒. ออกแบบผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ดังนี้

๒.๑ ออกแบบกระเป๋าต่าง ๆ

๒.๒ ออกแบบที่รองแก้วรองจาน

๒.๓ ออกแบบที่รองถาด

๒.๔ ออกแบบที่แขวนฝาผนัง

๒.๖ ออกแบบกล่องใส่กระดาษทิชชู เป็นต้น

๓. นำกระดาษแข็งที่เตรียมไว้แล้วมาตัดแบบตามที่ออกแบบ

๔. นำเสื่อที่ทอไว้แล้วมาตัดตามแบบที่ออกไว้

๕. นำเสื่อที่ตัดเอาไว้ตามแบบแล้วนำมาเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้ออกแบบเอาไว้

คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

องค์ความรู้เรื่องการทอเสื่อกก ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่รวมกลุ่มกันในการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดความรู้ความ เข้าใจเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของต้นกก ที่เป็นวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นรวมถึงแนวทางการพัฒนาการทอเสื่อกกของชุมชน ที่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมทีชัดเจน ร่วมกันคิดและแก้ไขปัญหา ในการพัฒนาความรู้และทักษะการทอเสือกก เพื่อให้ได้เสือกกทีมีคุณภาพและมีมาตรฐาน เรียนรู้ความ ผิดพลาดจากอดีตสู่การวางแผนการแก้ไขปัญหาต่อไปใน อนาคต การพัฒนาการทอเสื่อกก ไว้ใช้งานในครัวเรือน หรือเป็นของฝาก งานบุญประเพณีของชุมชน และยังสามารถเป็นสินค้า ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน หรือคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี คนในชุมชนมีความรัก สามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น สร้างความ เข้มแข็งให้กับชุมชน เกิดความรักและหวงแหนภูมิปัญญา การทอเสืออกกให้คงอยู่กับชุมชนบ้านหนองคล้า ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ต่อไป

บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

พบว่าชาวบ้านหนองคล้า ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร มีการทอเสื่ออกกไว้เพื่อใช้งานในครัวเรือน หรือเป็นของฝาก งานบุญประเพณีของชุมชน และปัจจุบันยังสามารถเป็นสินค้า ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนหรือคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี คนในชุมชนมีความรักและเกิดความสามัคคี และช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้นมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นระหว่างรุ่นสู่รุ่น

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)

มีการส่งเสริมให้ความรู้เพิ่มเติมจากสำนักงานเกษตรอำเภอสากเหล็ก และการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เพื่อสนับสนุนงบประมาณ โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสากเหล็ก และองค์การบริหารส่วนตำบลวังทับไทรอำเภอวังทับไทร จังหวัดพิจิตร

สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นระหว่างรุ่นสู่รุ่น แต่เริ่มจะน้อยลงไม่แพร่หลายเหมือน เมื่อ ๑๐ ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากเยาวชนและวัยแรงงานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ จึงเหลือแต่ผู้สูงอายุที่ต้องดูแลลูกหลานและทำไร่ ทำนา เวลาว่างจึงมีน้อยลง

ข้อเสนอแนะ

ควรให้การส่งเสริมให้ความรู้ และพัฒนาทักษะในการทอเสื่อกก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เกี่ยวกับความรู้ และทักษะในการทอเสื่อกก รวมถึงแนวทางการ พัฒนาการทอเสื่อกก เพื่อให้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งเสริมการทอเสื่อกกและร่วมกันจัดตั้งกลุ่มทอเสื่อกกให้เป็นรูปธรรม ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของการทอเสื่อกก ตลอดจน การเพิ่มพูนความรู้การคัดเลือกวัตถุดิบ การทอเสื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้เสื่อกกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มี ความสวยงามพร้อมทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญา ท้องถิ่นให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป

Location
บ้านหนองคล้า
No. 4
Tambon วังทับไทร Amphoe Sak Lek Province Phichit
Details of access
องค์การบริหารส่วนตำบลวังทับไทร
Reference นางวิรากร โกกิจ
Organization องค์การบริหารส่วนตำบลวังทับไทร
Tambon วังทับไทร Amphoe Sak Lek Province Phichit ZIP code 66160
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่