ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 15° 20' 40.9459"
15.3447072
Longitude : E 104° 9' 57.0038"
104.1658344
No. : 193537
สะไน
Proposed by. ศรีสะเกษ Date 8 April 2021
Approved by. ศรีสะเกษ Date 30 June 2021
Province : Si Sa Ket
0 2226
Description

สะไน

สะไน หรือ สเนงเป็นภาษาเขมรท้องถิ่น แปลว่า “เขาสัตว์” ถ้าเป็นเขาควายเรียกว่า “สะไนกะไบ” สะไนที่เป็นเครื่องเป่าของชาวเยอที่นิยมนำมาเป่าให้เกิดท่วงทำนองผสมผสานจังหวะกลองจนเกิดความไพเราะสนุกสนาน นิยมทำจากเขาสัตว์โดยเฉพาะเขาควาย ภาษาเยอ เรียกสะไน ว่า“ซั้ง”หรือ“ซั้งไน”การที่ชาวเยอนิยมนำเขาควายมาทำสะไนเนื่องจากเขาควายมีรูลึกตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขาทำให้เจาะรูจากปลายเขาได้ง่าย ส่วนเขาวัวนั้นรูจากโคนเขาถึงปลายเขาไม่ลึกพอจึงไม่นิยม

สะไน ยังเป็นเครื่องเป่าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมที่สำคัญด้วย เช่น พิธีกรรมบวงสรวงศาลพญากะตะศิลา การแข่งขันเรือและเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ (หอยสังข์) ปัจจุบันนิยมนำมาเป่าเล่นเพื่อผ่อนคลายหรือความบันเทิง ตามที่ครูเฒ่าเผ่าเยอได้เล่าติดต่อกันมาว่า สะไนเป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญมาก สะไนเป็นเครื่องเป่าที่สืบชื้อสายมาจากสังข์ (ในภาษาเยอเรียก ซั้ง “ปรงซั้ง” แปลว่า “เป่าสังข์”) ลิ้นของสะไนทำจากไม้ไผ่ใช้ยางไม้ติดเข้ากับตัวเขา ระหว่างปากลำโพงกับปลายเขา การเคารพบูชาสะไนจะเหมือนกับการเคารพบูชาสังข์ เพราะในอดีตชาวเยอเชื่อกันว่า การเป่าสะไนเป็นการเป่าบูชาสังข์ เมื่อเป่าสะไนแล้ว เงือก นาค ภูตผีปีศาจ จะไม่มาทำร้ายคน พร้อมกันนี้จะทำให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแลคุ้มครองรักษาชาวบ้านให้อยู่ดีกินดีมีความปลอดภัย ในสมัยก่อนเมื่อชาวเยอมีการเดินทางไกลต้องผ่านป่าเขา ถ้าหากเดินทางไปไม่ถึงที่หมายจำเป็นต้องนอนค้างแรมกลางป่าเขาจะต้องเอาสะไนไปด้วย ถ้ายามค่ำคืนก็จะเอาสะไนออกมาเป่าเพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางผีป่าผีเขาให้ช่วยดูแลรักษา ถ้าเป่าสะไนแล้วสัตว์ป่าก็จะไม่กล้ามาทำร้าย ในสังคมวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น ส่วยและเขมร จะใช้สะไนเป็นเครื่องเป่าให้สัญญาณเวลาออกไปคล้องช้าง โดยเสียงสะไนที่เป่าแต่ละครั้งหรือแต่ละเสียงจะมีความหมายเป็นที่รู้จักกันในหมู่คณะ

ประวัติความเป็นมา

สะไนเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาสัตว์ โดยเฉพาะเขาควาย เป็นเครื่องดนตรีที่ชาวเยอเชื่อว่าจะใช้เป่าเพื่อเป็นการบูชาสังข์หรือบูชาหอย สะไนจะแตกต่างจากแตรเขาสัตว์คือ แตรเขาสัตว์จะเป่าจากปลายเขาเพราะลิ้นอยู่ที่ปลายเขา แต่สะไนเจาะลิ้นระหว่างปากลำโพง (ส่วนเขาที่มีความกว้างของรู) และปลายเขา โดยเจาะรูให้อยู่ชิดมาด้านปากลำโพง ใช้เป่าในกิจกรรมที่สำคัญๆและมีความศักดิ์สิทธิ์เช่น เป่าบูชาสังข์ เป่าในพิธีแข่งเรือ เป่าเพื่อปราบผี เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยมีรายละเอียดครอบคลุมสาระ ดังต่อไปนี้

สะไนเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาสัตว์ โดยเฉพาะเขาควาย เป็นเครื่องดนตรีที่ชาวเยอเชื่อว่าจะใช้เป่าเพื่อเป็นการบูชาสังข์ หรือบูชาหอย สะไนจะแตกต่างจากแตรเขาสัตว์คือ แตรเขาสัตว์จะเป่าจากปลายเขาเพราะลิ้นอยู่ที่ปลายเขาแต่สะไนเจาะลิ้นระหว่างปากลำโพง (ส่วนเขาที่มีความกว้างของรู) และปลายเขา โดยเจาะรูให้อยู่ชิดมาด้านปากลำโพง ใช้เป่าในกิจกรรมที่สำคัญ ๆ และมีความศักดิ์สิทธิ์เช่น เป่าบูชาสังข์ เป่าในพิธีแข่งเรือ เป่าเพื่อปราบผี เป็นต้น

ความเชื่อเกี่ยวกับสะไน

สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่เขตพื้นที่อำเภอราษีไศล เนื่องจากมีความเชื่อว่า สะไนมีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงกับ สังข์ ที่เป็นเครื่องเป่าอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู แม้กระทั่งในสังคมไทยก็นับถือว่า สังข์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระราชพิธีที่สำคัญจะมีการเป่าสังข์ก่อน เพื่อเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าทวยเทวดาทั้งหลาย ถ้าเป็นงานมงคลระดับชาวบ้าน ประชาชนทั่วไปก็มีการนำสังข์มาประกอบพิธีเช่น การตั้งศาลพระภูมิ การรดน้ำสังข์คู่แต่งงาน เป็นต้น เมื่อชาวเยอมีความเชื่อว่าสะไนกับสังข์มีความเกี่ยวข้องกัน จึงมีการเป่าสะไนเพื่อเป็นการบูชาสังข์ นอกจากนี้แล้วยังมีการนำสะไนมาเป่าเพื่อบูชาพระแม่ธรณีและพระแม่คงคาในประเพณีการแข่งเรือ (ส่วงเรือ) หรือเมื่อมีการเดินทางไกล ก็จะมีการเป่าสะไนก่อนออกเดินทางเพื่อให้เกิดโชคเดินทางปลอดภัย และได้รับความสำเร็จในการประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะถ้าเดินทางกลางป่า ก็จะนำสะไนติดตัวไปด้วย เพราะชาวเยอเชื่อว่าสัตว์ป่าทั้งหลายถ้าได้ยินเสียงสะไนแล้วจะไม่เข้ามาทำร้าย และถ้าเป่าสะไนจะเป็นการบอกกล่าวให้ทวยเทวดาอารักข์ทั้งหลายมาปกป้องดูแลไม่ให้เกิดอันตรายใด ในสมัยโบราณมีเรื่องจากผู้เฒ่าเผ่าเยอว่า บรรพบุรุษของคนเยอถ้าจำเป็นต้องออกรบทำศึกสงครามกับเมืองไหนจะต้องมีการเป่าสะไนก่อน เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย โดยเชื่อว่าเสียงของสะไนจะทำให้ได้รับชัยชนะกลับมาหรือถ้าหากแพ้ก็จะสามารถหนีเอาตัวรอดกลับมาได้

ชาวเยอโบราณมีคำสอนเกี่ยวกับการเป่าสะไน และมีฤดูกาลสำหรับการเป่าสะไนที่สำคัญคือ ถ้าจะเป่าสะไนต้องเป่าตั้งแต่เดือน ๘ ค้อย (เดือนกรกฎาคมจะเข้าสิงหาคม) จนถึงเดือนอ้ายค้อย (เดือนธันวาคมจะเข้าเดือนมกราคม) ถ้านอกจากระยะเวลาดังกล่าวห้ามเป่าสะไน เพราะมันจะทำให้ฟ้าผ่ากลางวันหรือเกิดสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ขึ้นในหมู่บ้าน แต่ถ้าเป่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนจะเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่าด้วย ความเชื่อดังกล่าวมักจะพบเห็นในสังคมวัฒนธรรมอีสานทั่วๆไป เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากนำมาทำเล่นเพื่อความสนุกสนาน โดยไม่รู้จักกาลเทศะ ย่อมเป็นสิ่งไม่ดี จึงมีกฎข้อห้ามต่าง ๆ ไว้ ฉะนั้น การเป่าสะไนจึงต้องเป่าเฉพาะโอกาสที่สำคัญ หรือในยามที่จำเป็นเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า สะไนคือเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่ของเล่นที่จะนำมาเป่าเพื่อความความสนุกสนาน การเป่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนแปดถึงเดือนอ้ายนั้น มีการให้เหตุผลตามความเชื่อว่า เป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่หอยสังข์กำลังผสมพันธุ์ ถ้าเป่าในช่วงนี้ จะทำให้หอยสังข์มีการเจริญพันธุ์และขยายพันธุ์ดี และอีกอย่างการเป่าสะไนจะทำให้ฝนตก หากเป่าในช่วงนี้ก็จะเป็นผลดีต่อพืชพันธุ์ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป่านอกฤดูกาลจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนอ้ายถึงเดือนสาม และช่วงนี้เป็นช่วงที่หอยสังข์จำศีลด้วยจึงห้ามเป่าสะไน เสียงของสะไนยังเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าสามารถปราบผีได้หากที่ใดมีคำล่ำลือเกี่ยวกับความดุร้ายหรือความเฮี้ยนของผีสางนางไม้ ถ้าได้เป่าสะไนบริเวณนั้น จะทำให้ผียอมสยบ ไม่กล้าอาละวาทหลอกใครอีก

การเป่าสะไน ถือได้ว่าเป็นการสร้างเสียงเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์ โดยเสียงที่สร้างขึ้นไม่ได้มีความหมายตามหลักการของทฤษฎีทางดนตรีแต่อย่างใด (ไม่มีระบบโน้ตและระดับเสียงที่แน่นอน) แต่เป็นเสียงที่สร้างขึ้น ตามลักษณะการพูดเป็นทำนองเพลงสนุก ๆ จากคำพูดของพญามารในมิทานเรื่องพระเจ้าสร้างโลกคือ “เอาคักคักเอาคนคักคัก” เสียงการเป่าสะไนเป็นเสียงที่มีความดังเกินตัว (เสียงดังขนาดเล็ก) มนุษย์เมื่อได้พบเจอสิ่งใดที่ดูแล้วหน้าเกรงขาม ย่อมยกย่องให้สิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกว่าดี ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปรากฏการณ์ที่สำคัญยืนยันว่ามันจะนำมาซึ่งความสงบ ความยินดีของตนจริง เรียกว่า ภูมิปัญญา เสียงสะไน จึงเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ ฟังแล้วดูหน้าเกรงขาม เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเล็ก ๆ แต่เสียงนั้นใหญ่เกินตัวมาก

ต่อมาเพื่อให้คนรุ่งหลังเรียนรู้ได้ง่าย จึงได้กำหนดโน้ตและลายสะไนขึ้นประกอบการเป่า มี ๓ ระดับเสียง คือ โด เร มี

การถ่ายทอดความรู้วิชา“สะไน”

กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการถ่ายทอดวิธีการเป่าสะไน ใช้วิธีแบบมุขปาฐะ และวิธีครูพักลักจำ เนื่องจากการเป่าสะไน เป็นวิชาที่ยังไม่นิยมนำมาถ่ายทอด หรือมีการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง นอกจากผู้ที่มีความสนใจเป็นพิเศษเท่านั้น และสะไนยังเป็นเครื่องเป่าที่ไม่มาสารถใช้เป่าเพื่อผ่อนคลายหรือเพื่อความบันเทิงมากนัก ปัจจุบัน มีการนำสะไนเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านอีหนาและโรงเรียนเมืองคง มีการจัดตั้งกลุ่มนักเรียนเพื่อรับการถ่ายทอดฝึกการเป่าและจัดทำเป็นการฟ้อนรำประกอบการเป่าสะไน มีการนำเครื่องดนตรีอย่างอื่นเข้ามาร่วมบรรเลง เช่น กลองยาว ฆ้อง พิณ แคน เบสไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้สะไนเปลี่ยนรูปแบบการบรรเลงไปในทิศทางที่แปลกขึ้น คือจากเดิมบรรเลงด้วยความเชื่อตามคติแบบชาวบ้าน แต่ปัจจุบันมีการบรรเลงเพื่อการประกวดแข่งขัน

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

๑. คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

สะไน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของชาวเยอในพื้นที่อำเภอราษีไศล การรวบรวมสืบค้นข้อมูลด้านดนตรีและศิลปะการแสดงของท้องถิ่น เป็นการแสดงให้เห็นว่าความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ที่กำลังได้รับความสนใจจากหน่วยงานระดับชาติ ที่เห็นความสำคัญของความมั่นคงของชาติ ผ่านอัตลักษ์และมรดกภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพราะวัฒนธรรมเสียงสะไนของชาวเยอในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งท่วงทำนองและการประยุกต์สู่กิจกรรมด้านศิลปะการแสดง สามารถสร้างสุนทรียภาพด้านดนตรี ชาวจังหวัดศรีสะเกษ ยังมีความภาคภูมิใจต่อวัฒนธรรมเสียงสะไนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถนำมาเป็นสื่อแสดงตัวตนทางวัฒนธรรมผ่านเสียงสะไน ในฐานะที่มรดกภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง และเสียงสะไนของชาวเยอ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ยังสร้างชื่อเสียงโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้มีการนำวัฒนธรรมเสียงสะไนไปปรับประยุกต์ เป็นการแสดงที่มีความโดดเด่นและงดงามจนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในการประกวดดนตรีพื้นบ้านชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และได้เข้าร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมเสียงสะไนรายการคนไทยขั้นเทพ จึงทำให้ สะไน ของชาวเยอ จังหวัดศรีสะเกษได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย

๒. บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ชุมชนให้ความสำคัญกับมรดกทางภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมสะไน โดยมีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับสะไนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นประเพณีของท้องถิ่น เช่น งานประเพณีบุญแข่งเรือ งานบวงสรวงพญากตะศิลา งานบรวงสรวงปู่ดงภูดิน งานบวงสรวงศาลปู่ตาเมืองราษีไศล เป็นต้น สนับสนุนให้มีการจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น โดยโรงเรียนเมืองคงได้นำสะไนไปเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน (สะไนใจเยอ) สนับสนุนให้มีการพัฒนาในรูปแบบศิลปะการแสดง และส่งเสริมให้มีการนำสะไนมาร่วมแสดงพิเศษในงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น งานเทศกาลดอกลำดวนบาน งานเทศกาลเงาะทุเรียนจังหวัดศรีสะเกษ การประกวดในกิจกรรมสำคัญต่างๆ ตลอดการจัดแสดงในงานเทศกาลสำคัญ ๆ ที่ทางอำเภอราษีไศล ทางจังหวัด ทางหอการค้าและทางสถานศึกษาจัดขึ้นเป็นประจำ

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สภาวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้มีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับสะไนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นประเพณีของท้องถิ่น เช่น งานประเพณีบุญแข่งเรือ งานบวงสรวงพญากตะศิลา งานบรวงสรวงปู่ดงภูดิน งานบวงสรวงศาลปู่ตาเมืองราษีไศล เป็นต้น สนับสนุนให้มีการจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น โดยโรงเรียนเมืองคงได้นำสะไนไปเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน (สะไนใจเยอ) สนับสนุนให้มีการพัฒนาในรูปแบบศิลปะการแสดง และส่งเสริมให้มีการนำสะไนมาร่วมแสดงพิเศษในงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น งานเทศกาลดอกลำดวนบาน งานเทศกาลเงาะทุเรียนจังหวัดศรีสะเกษ การประกวดในกิจกรรมสำคัญต่างๆ ตลอดการจัดแสดงในงานเทศกาลสำคัญๆที่ทางอำเภอราษีไศล ทางจังหวัด ทางหอการค้าและทางสถานศึกษาจัดขึ้นเป็นประจำ

การถ่ายทอดความรู้

๑. โรงเรียนเมืองคง ซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษาในท้องถิ่น มีการส่งเสริมให้บรรจุการเป่าสะไนเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมสะไนอย่างต่อเนื่อง

๒. หน่วยงานด้านวัฒนธรรมได้ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมเป่าสะไน ในพื้นที่หมู่บ้านชาวเยอ

๓. มีการส่งเสริมให้ประกวดเป่าสะไน ในงานศิลปะหัตกรรมนักเรียนระดับอำเภอ และระดับจังหวัดของพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษเป็นประจำทุกปี

๔. มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยกลุ่มงานศิลปะและวัฒนธรรม ได้นำเอาวัฒนธรรมการเป่าสะไนไปประยุกต์เป็นศิลปะการแสดงที่สามารถแสดงโชว์และเผยแพร่สู่สาธารณะได้อย่างโดดเด่น

๕. มีการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการ

Location
No. 183 Moo 14
Tambon เมืองคง Amphoe Rasi Salai Province Si Sa Ket
Details of access
Reference นายวิทิต กตะศิลา
Organization อำเภอราษีไศล
No. 183 Moo 14
Amphoe Rasi Salai Province Si Sa Ket ZIP code 33160
Tel. 08 5767 7345
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่