รำตำต๊ะ เป็นศิลปะการแสดงที่บ่งบอกถึงชุมชนเผ่าส่วย ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมการประกอบอาชีพตีเหล็ก ออกมาเป็นศิลปะการแสดงที่สวยงาม และสามารถเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ชื่นชมและรู้จักกันอย่างภาคภูมิใจในความเป็นเผ่าส่วย
ประวัติความเป็นมา
“ตำต๊ะ” เป็นภาษาส่วย ตำ แปลว่า ตี, ต๊ะ แปลว่า เหล็ก รวมความแล้ว หมายถึง การตีเหล็ก ในวิถีชีวิตชาวบ้านตะดอบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือการทำนา หลักจากหมดฤดูทำนาแล้ว ชาวบ้านจึงจะหันมาตีเหล็กเป็นอาชีพรอง ซึ่งการตีเหล็กของชาวบ้านตะดอบนี้มีชื่อเสียงเพราะใช้เหล็กกล้าอย่างดี ทำให้เครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กมีคุณภาพสูง การตีเหล็กชาวตำบลตะดอบโดยทั่ว ๆ ไป มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ ขุดเอาดินโพน (ดินจอมปลอก) มาคลุกเคล้ากับแกลบสำหรับปั้นเตา
ขั้นตอนที่ ๒ บวงสรวงเจ้าที่เพื่อให้งานลุล่วงด้วยดี (มีผ้าผืน แพรวา เหล้าไห ไก่ตัว ขันธ์๕ ขันธ์๘)
ขั้นตอนที่ ๓ ก่อไฟโดยใช้ถ่าน
ขั้นตอนที่ ๔ การสูบลม (เป่าไฟเพื่อให้ถ่านแดงเต็มที่)
ขั้นตอนที่ ๕ นำเหล็กที่ตัดไว้มาเผาให้แดง
ขั้นตอนที่ ๖ นำเหล็กที่สุกเต็มที่ออกมาวางที่แท่นรองรับ
ขั้นตอนที่ ๗ ตีเหล็กให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามที่ต้องการ
ขั้นตอนที่ ๘ ชุบเหล็กด้วยน้ำในหลุมเล็ก ๆ
ขั้นตอนที่ ๙ ตะไบเหล็กให้เกิดความคม เพื่อจะได้นำไปใช้หรือจัดจำหน่ายต่อไป
รำตำต๊ะ เป็นท่ารำที่เลียนแบบจากการตีเหล็กในสมัยโบราณ อาชีพตีเหล็กของชาวบ้านตะดอบโพนงาม นับว่าเป็นอาชีพหลักที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาชีพการทำนา เพราะผู้ชายที่ว่างเว้นจากการทำนา ก็จะจับกลุ่มกันประมาณ ๔ – ๕ คน มาประกอบอาชีพการตีเหล็ก เพื่อทำเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน ต่อมาชาวบ้านช่วยกันทำมีด เสียม เคียวได้มากขึ้นก็จะนำไปแลกอาหารหรือนำไปจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ส่วนผู้หญิงเมื่อว่างจากฤดูทำนา ก็จะพากันทอผ้าและปั้นเครื่องดินเผาสำหรับเอาไว้ใช้ในครัวเรือน เมื่อสิ้นสุดฤดูทำนา ชาวบ้านได้ผลผลิต นำผลผลิตเก็บไว้ในยุ้งฉางเรียบร้อย ชาวบ้านก็จะมีประเพณีทำบุญต่าง ๆ มากมายตามเทศกาลประเพณีอีสาน ประเพณีที่ชาวบ้านสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นประเพณีที่มีความสำคัญสำหรับอาชีพทำนา ประเพณีนั่นคือ ประเพณีบุญเดือนหก หรือประเพณีบุญบั้งไฟ ชาวบ้านตั้งใจทำถวายพญาแถน จึงมีการเอ้บั้งไฟอย่างสวยงาม และมีขบวนแห่ก่อนที่จะนำบั้งไฟไปจุด ซึ่งในขบวนแห่นี้ชาวบ้านได้แสดงท่ารำตามแต่ที่จะคิดได้ มีท่าเลียนแบบการตีเหล็กของช่างตีเหล็ก โดยอาศัยจังหวะดนตรีจากฉิ่ง ฉาบ กลอง เป็นจังหวะในการ่ายรำที่เป็นไปอย่างสนุกสนานเร้าใจแก่ผู้พบเห็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบัน วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านตะดอบโพนงามได้เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนใจที่จะประกอบอาชีพการตีเหล็กเหมือนบรรพบุรุษ เพราะพวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เสียเวลา ประกอบกับอาชีพการตีเหล็กมีขั้นตอนมากเกินไป เหล็กที่ใช้ในการตีเป็นของใช้ที่มีราคาสูง และถ่านที่ใช้เผาเหล็ก (ถ่านชนิดพิเศษ) หายากมาก ตลอดกับเครื่องมือเครื่องใช้ไม่ทันสมัย ผลิตได้น้อย ผู้ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญจากการตีเหล็กอาจจะได้รับอันตรายได้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ชาวบ้านนิยมออกไปประกอบอาชีพรับจ้างในตัวเมืองมากกว่า วิถีชีวิตของชุมชนก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ทุกคนแข่งขันกันทำงาน ไม่ค่อยเกื้อกูลและนิยมด้านวัตถุเหมือนชุมชนเมือง ประเพณีบางอย่างเลือนรางเกือบจะหายไปจากชุมชน
จากการที่ได้สัมผัสเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวบ้านตะดอบโพนงาม ทำให้มีการคิดที่จะอนุรักษ์อาชีพการตีเหล็กไว้ให้อยู่คู่กับชุมชนตลอดไป และเพื่อต้องการให้ลูกหลานหรือเยาวชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความสามารถ และ ภูมิปัญญาของบรรพชนตนเองรวมไปถึงต้องการแสดงความเป็นเอกลักษณ์ถึงความสามารถ และภูมิปัญญาของบรรพชนตนเองรวมไปถึงต้องการแสดงความเป็นเอกลักษณ์ชองชุมชนในด้านอาชีพ จึงคิดท่ารำของชาวบ้านที่ใช้ในขบวนแห่บั้งไฟมาจัดเป็นระบบและรูปแบบให้สอดคล้องกับท่ารำมาตรฐาน ตามลักษณะของนาฏศิลป์ เพื่อนำไปใช้แสดงในเทศกาลต่าง ๆ ที่มีรูปแบบเป็นแนวเดียวกัน
คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
๑. คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
รำตำต๊ะ มีความเชื่อว่า การแสดงของท่ารำตำต๊ะ สามารถสะท้อนถึงขั้นตอนการตีเหล็กและวิถีการประกอบอาชีพที่บรรพบุรุษสืบทอดต่อกันมาจนลูกหลาน สามารถถ่ายทอดเป็นท่ารำตำต๊ะถึงวิถีของดำรงชีวิตของชุมชนเผ่าส่วย ในการประกอบอาชีพตีเหล็กได้
๒.บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
ชุมชนตำบลตะดอบ ยังมีการให้ความสำคัญกับรำตำต๊ะ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงประจำเผ่าส่วยบ้านตะดอบ โดยการนำรำตำต๊ะต้อนรับแขกที่มาเยือน และให้ความสำคัญกับรำตำต๊ะ ดังนี้
การรำตำต๊ะเริ่มมีขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยการนำของ นายวิศิษฐ์ ศักดิ์เทวินทร์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านตะดอบ และนายชวินทร์ ศรีโสดา ตำแหน่ง ครูผู้สอน ได้คิดท่ารำเซิ้งใช้จังหวะของกลองยาวประกอบท่ารำ และได้นำไปแสดงในงานเทศกาลต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักทั่วไปในจังหวัดศรีสะเกษ
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ นายพิชิต หงส์โสภา ศึกษานิเทศก์สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้เชิญ นายชวินทร์ ศรีโสดา ไปเป็นวิทยากรฝึกซ้อมท่ารำเซิ้งตำตะ ให้นักเรียนโรงเรียนเทศบาล ๑ เพื่อนำไปแสดงในกิจกรรมชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๕ ที่จังหวัดชลบุรี
ต่อมาคณะครูโรงเรียนบ้านตะดอบ โดยการนำของ นายไกรฤกษ์ กันหาฤกษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะดอบ ได้เล็งเห็นว่า การรำตำต๊ะ น่าจะมีการอนุรักษ์ไว้เป็นนาฏศิลป์พื้นบ้านไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน ตะดอบ จึงได้ประยุกต์ท่ารำตำต๊ะขึ้นใหม่ให้ทันสมัย โดยได้เชิญอาจารย์สุภางค์รัตน์ จารุภูมิ ครูโรงเรียนวัดพระโตมาเป็นวิทยากร และจัดทำดนตรีประกอบท่ารำซึ่งต่างจากการรำเซิ้งตำตะอันเดิม แต่ท่ารำที่ประยุกต์ขึ้นใหม่นี้ยังคงเลียนแบบท่าทางการตีเหล็กไว้เกือบทุกขั้นตอน
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้นำรำตำต๊ะเข้าแข่งขันงานทักษะและสิ่งประดิษฐ์งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประเภทนาฏศิลป์พื้นบ้าน ของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ผลการแข่งขันได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้นำรำตำต๊ะเข้าแข่งขันงานทักษะและสิ่งประดิษฐ์งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประเภทนาฏศิลป์พื้นบ้านอีกครั้งผลการแข่งขันได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติ แก่โรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง และต่อมาโรงเรียนได้รับการประสานให้นำรำตำต๊ะไปแสดงในงานต่าง ๆ ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เช่น เทศกาลงานผลไม้เงาะ-ทุเรียนของจังหวัดศรีสะเกษ แสดงพิธีเปิดงานกีฬาการแข่งขันท้องถิ่นสัมพันธ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ พิธีเปิดงานกีฬากลุ่มโรงเรียน เป็นต้น
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ได้คัดเลือกให้โรงเรียนเป็นตัวแทนเผ่าส่วย นำรำตำต๊ะไปร่วมแสดงในงานเทศกาลสืบสานประเพณีสี่เผ่าไทย และได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแสดงประกอบ แสง สี เสียง ในภาคกลางคืนก่อนการแสดงละครศรีพฤทเธศวร เป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดศรีสะเกษ โดยตัวแทนลูกเสือ-เนตรนารีของจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำรำตำต๊ะไปแสดงในงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ ๒๐ ที่หาดลาดยาว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
- โรงเรียนตะดอบวิทยา ซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษา (ขยายโอกาส) ในท้องถิ่นมีการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่เป็นศิลปะการแสดงของท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
- หน่วยงานด้านวัฒนธรรมและด้านการศึกษาได้ส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับ “รำตำต๊ะ” อย่างต่อเนื่องและให้มีการเผยแพร่ศิลปะการแสดงในพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียง
- องค์การบริหารส่วนตำบลตะดอบให้การสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนในการจัดแสดง “รำตำต๊ะ” อย่างต่อเนื่องทุกปีและมีการขยายผลในรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนหรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษมีการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการ
การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่ายงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)
จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และ ภาคเอกชน เช่น สภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต ๑ สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองศรีสะเกษ และ องค์การบริหารส่วนตำบลตะดอบ ได้มีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับศิลปะการแสดงรำตำต๊ะอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งที่เป็นศิลปะการแสดงและการจัดทำเอกสารวิชาการ
การถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม
ในปัจจุบันศิลปะการแสดงรำตำต๊ะยังมีการสืบทอด ถ่ายทอด และรักษาปฏิบัติสืบกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแสดงในงานประเพณีที่สำคัญต่าง ๆ ของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง และได้มีการปรับปรุงท่ารำให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย โดยการปรับปรุงรูปแบบท่ารำ การแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบการรำที่สวยงาม