ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 12° 29' 2.3784"
12.4839940
Longitude : E 102° 10' 4.715"
102.1679764
No. : 193875
หงส์ฟาง
Proposed by. จันทบุรี Date 24 June 2021
Approved by. จันทบุรี Date 24 June 2021
Province : Chanthaburi
0 830
Description

หงส์ฟาง เพลงพื้นบ้านกับภารกิจการสืบสานวัฒนธรรมของลูกหลานบ้านตะปอน

เพลงพื้นบ้านในถิ่นภาคกลางส่วนใหญ่มักเป็นเพลงร้องโต้ตอบหรือเรียกว่าเพลงปฏิพากย์*

หนุ่มสาวจะนำมาร้องเกี้ยวพาราสีกัน มักร้องกันเป็นกลุ่มหรือเป็นวง

ประกอบด้วย ผู้ร้องเพลงนำฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่เรียกว่า 'พ่อเพลง แม่เพลง'

ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับ ให้จังหวะด้วยการปรบมือ

หรือใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ จำพวก กลอง ฉิ่ง กรับ

เพลงร้องโต้ตอบนี้ ชาวบ้านภาคกลางนำมาร้องเล่นในโอกาสต่างๆ ตามเทศกาล

หรือในเวลาที่มารวมกลุ่มกัน เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางเพลงก็ใช้ร้องเล่นไม่จำกัดเทศกาล

ส่วนมากมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แสดงถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างถิ่น

ซึ่งไม่ทราบผู้แต่งและที่มาชัดเจน จึงถือเป็นมรดกตกทอดของชาวบ้านที่สืบต่อกันมานานจากการฟังและจดจำ

---------------------------------------

*เพลงปฏิพากย์ หมายถึง เพลงที่ร้องโต้ตอบกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โดยใช้ปฏิภานไหวพริบหรือที่เรียกว่า 'ร้องแก้'

---------------------------------------

'หงส์ฟาง'** เพลงพื้นบ้านพื้นถิ่นตะวันออกที่สูญหายไปเกือบ ๕๐ ปีแล้ว

ชาวระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราดเคยนำมาร้องในลานนวดข้าว

กลางลานนวดมีเสาเกียดปักอยู่ตรงกลางเพื่อใช้เป็นหลักมัดพรวนควายเป็นคู่เรียงกันเป็นแถว

เมื่อชาวนาใช้วัว - ควายย่ำข้าวหลุดออกจากรวงหมดแล้วจะเหลือเศษฟาง

ชาวบ้าน หนุ่มสาวก็จะช่วยกันแยกฟางออกไปกองไว้บริเวณขอบลานนวด

การแยกฟางออกนี้เรียกกันว่า 'การพานฟาง'

เศษฟางจะนำมาวางซ้อนๆ กันขึ้นไปจนเป็นกองสูง เรียกว่า 'ลอมฟาง'

โอกาสนี้ก็จะมีการร้องเพลง 'หงส์ฟาง' [มีบางสำเนียงเรียก 'โหงฟาง']

เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน คลายความเหน็ดเหนื่อย

อีกทั้งยังแสดงถึงความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของหมู่คนชนบทที่ 'ใช้แรง' หรือ 'ลงแขก'

เป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานหมุนเวียนกันไปทั่วทั้งหมู่บ้าน

---------------------------------------

** แถบสุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี เรียก เพลงสงฟาง ชาวราชบุรี เรียก เพลงพานฟาง

---------------------------------------

เพลงหงส์ฟาง จะมีเนื้อร้องง่ายๆ คล้ายกลอนมีสัมผัสนอก - ใน

แบ่งถ้อยคำเนื้อร้องเป็นวรรคตอนให้ลงกับจังหวะ

โดยใช้ปฏิภาณ ไหวพริบของผู้ร้องทั้งสองฝ่ายในการเลือกใช้คำมาร้องโต้ตอบกัน

อาจมีคำสองแง่สองง่ามเป็นเชิงสัญลักษณ์เพิ่มความสนุกสนานก็ได้

แต่บังคับว่าจะต้องขึ้นต้นและลงท้ายด้วยคำว่า 'หงส์' ดังเช่นเนื้อร้องว่า

'หงส์อ่อน ร่อนลง เข้าดงมะไฟ ช่วยกันขย้ำ ช่วยกันขยี้ พอแต่แล้วตกนี้ พี่จะลาครรไล'

..........

[ขย้ำ, ขยี้ คือ การที่เอาเท้านวดข้าว ส่วนคำว่า 'ตกนี้' คือข้าวเปลือกกองนี้]

เวลาร้องจริงๆ จะมีการเอื้อนและเติมสร้อย ดังนี้

'หงส์อ่อน เจ้าเอย ร่อนลง/ ร่อนเข้าในดง เอ่อ เอ๊ย มะไฟ'

ลูกคู่รับซ้ำ

'หงส์อ่อน เจ้าเอย ร่อนลง/ ร่อนเข้าในดง เพื่อนเอ๋ย มะไฟ

ชะเออ เอิ๊ง เอ๊ย... ช่วยกันขย้ำ/ ช่วยกันขยี้ พอแต่แล้วตกนี้/ พี่จะลาครรไล

ชะว่าหงส์เจ้าเอย

ช้า/ฉ่าชา/เอ๊ชา/เจ้าหงส์เอย'

ที่มา : ผาสุก หั้นเจริญ [๒๕๔๐]

---------------------------------------

ที่บ้านตะปอน อำเภอขลุง เพลงหงส์ฟาง ได้ถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แม้ปัจจุบันจะไม่มีกิจกรรม 'ใช้แรง' 'ลอมฟาง' และ 'ลานนวดข้าว' ให้เห็นแล้วก็ตาม

กาญจน์ กรณีย์ หรือลุงสาคร วัย ๖๘ ปี ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการฝึกเด็กๆ ลูกหลานชาวตะปอน

ให้เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หายไปมากกว่าอายุของพวกเด็กเหล่านี้หลายรอบปี

เพลงพื้นบ้านเฟื่องฟูในยุคสมัยที่ยังไม่มีสื่อโทรทัศน์ประจำบ้าน

การฟื้นฟูนำกลับมาในยุคสมัยนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและจะทำได้สำเร็จหรือ?

"เพลงหงส์ฟางมันหายไปจากถิ่นตะปอนมากกว่า ๕๐ ปี ผมเพิ่งเริ่มฟื้นฟูได้ประมาณ ๑๐ ปีแล้ว เมื่อได้มาเป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง"

ลุงกาญจน์ อดีตไวยาจักรวัดตะปอนใหญ่ มีอาชีพเป็นเกษตรกรเลือดชาวเมืองขลุงมาแต่กำเนิดบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของเพลงหงส์ฟาง

"แม้ทุกวันนี้จะไม่มีกิจกรรมเกี่ยวข้าว นวดข้าวแล้ว ผมก็ได้ฝึกเด็กๆ หลายโรงเรียนให้รู้จักว่าเพลงในสมัยก่อนรุ่นปู่ย่าตายายเป็นอย่างไร แล้วนำไปแสดงในงานต่างๆ"

การนำของเก่ากลับมาเผยแพร่ในยุค 'ดิจิตอล' ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่เรียนรู้เสพติดกับดักของ 'สื่ออิเล็กทรอนิกส์'

ลุงกาญจน์ กลับคิดสวนกระแส เดินสายไปขอฝึกสอนให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนหนองเสม็ด โรงเรียนตะปอนน้อย โรงเรียนตะปอนใหญ่ โรงเรียนเทศบาลขลุง [บุรวิทยาคาร] รู้จักเพลงหงส์ฟาง

"ไม่ใช่เฉพาะเด็กนะที่ไม่ค่อยรับ แม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่เคยร้องเพลงหงส์ฟางมาก่อนยังส่ายหน้าว่าในสมัยนี้ไม่มีใครเขาสนใจกันแล้ว"

แต่ลุงกาญจน์ก็ไม่ได้ย่อท้อ ใช้ความมุงมั่นนำทางแหวกพงหนามอุปสรรคด้วยความเพียรพยายามจนได้รับรางวัลแห่งความปลาบปลื้มใจ

"โรงเรียนเทศบาลขลุง [บุรวิทยาคาร] นำทำนองเพลงหงส์ฟางใส่เนื้อร้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปประกวดโครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๓ ปี ๒๕๕๑ จากจำนวนผู้เข้าประกวด ๑๔๐ ชุดการแสดง ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพฯ และเป็นตัวแทนไปเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมไทยที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สามารถปลุกเพลงพื้นบ้านของเราให้เป็นที่รู้จักของคนในยุคนี้ได้”

และวันนี้ภารกิจของลุงกาญจน์ คือร่วมกับคุณครูธิดา ปรางรัตน์ ฝึกสอนเด็กๆ โรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ [เศวตวิทยาคาร] เป็นผู้สืบสานเพลงพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออก

"เด็กๆ เหล่านี้ เพิ่งจะเริ่มฝึกกันได้ไม่ถึงอาทิตย์ดี ใช้ช่วงเวลาเลิกเรียนค่ะ พวกเขามีความตั้งใจดีมาก เวลาและความมุ่งมั่นของเด็กๆ คงจะทำให้พวกเขามีพัฒนาการทางด้านการแสดง การร้องได้ดีขึ้น"

ธิดา คุณครูประจำชั้นประถมปีที่ ๖ กล่าวอย่างมีความหวัง

ท่ามกลางกระแสไหลบ่าของวัฒนธรรมดิจิตอลและสื่ออิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ

เด็กไทยมากมายต่างพลัดหลงไปตามกระแส 'ของเล่นใหม่' เหล่านั้นแทบกู่ไม่กลับ

แต่น่ายินดีและชื่นชมที่เด็กๆ กลุ่มหนึ่งของโรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ [เศวตวิทยาคาร]

ใช้เวลาที่ควรจะวิ่งเล่นหรืออยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มามุ่งมั่นฝึกซ้อมเพลงหงส์ฟาง

สืบสานเพลงสมัยรุ่นปู่ย่าตายายเคยใช้ร้องเพิ่มความสนุกสนานบนลานนวดข้าว

แม้จะเป็นภารกิจที่หนักหนาเกินเรี่ยวแรงกำลังของเด็กๆ แต่โชคดีที่ยังมีผู้ใหญ่ให้การหนุนช่วย

ถือเป็นการ 'ลงแขก' ร่วมแรงใจของคนต่างวัยในยุคดิจิตอลที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง

"ผมไม่ท้อ แม้จะมีเสียงตอบรับน้อย ทำไปจนกว่าจะหมดแรงครับ"

ลุงกาญจน์ กรณีย์ กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่น

แม้ดวงตาจะฝ้าฟางแต่ฉายแววแห่งความมุ่งมั่นของชายสูงวัยแห่งบ้านตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

---------------------------------------

• นักร้องและนักแสดง โรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ [เศวตวิทยาคาร]

๑. ด.ญ.ทิพย์ลดา พาทีทิน ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [นักร้องนำหญิง]

๒. ด.ญ.ภูวดี ศรีสะอาด ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [ลูกคู่]

๓. ด.ช.วัชพล ศิริการ ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [นักแสดงชายและนักร้องนำชาย]

๔. ด.ช.ศุภวิชญ์ ดอกไม้ ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [นักแสดงชายและลูกคู่]

๕. ด.ญ.ทวิยา แก้วยอดยาง ชั้นประถมปีที่ ๔ อายุ ๙ ขวบ [นักแสดงหญิงและลูกคู่]

๖. ด.ญ.บุญญาพร รื่นรวย ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [นักแสดงหญิงและลูกคู่]

---------------------------------------

>>ข้อมูลบุคคล<<

กาญจน์ กรณีย์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง

ธิดา ปรางรัตน์ คุณครูประจำชั้นประถมปีที่ ๖ โรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ [เศวตวิทยาคาร]

ด.ญ.ทิพย์ลดา พาทีทิน

ด.ญ.ภูวดี ศรีสะอาด

ด.ช.วัชพล ศิริการ

ด.ช.ศุภวิชญ์ ดอกไม้

ด.ญ.ทวิยา แก้วยอดยาง

ด.ญ.บุญญาพร รื่นรวย

>>ข้อมูลอ้างอิง<<

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๓๔

ผาสุก หั้นเจริญ. เพลงพื้นบ้านจังหวัดจันทบุรี. จันทบุรี : โรงเรียนศรียานุสรณ์, ๒๕๔๐.

รับชมภาพการแสดงได้ที่ https://www.facebook.com/100006965987363/videos/pcb.1967094306866083/1967087063533474

Location
ตำบลตะปอน
Tambon ตะปอน Amphoe Khlung Province Chanthaburi
Details of access
facebook ปราณ ปรีชญา (คนอาสาบันทึกจารึกแผ่นดิน)
Reference ปราณ ปรีชญา (นามแฝง)
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี Email chantaboon_culture@hotmail.com
Road เลียบเนิน
Tambon วัดใหม่ Amphoe Mueang Chanthaburi Province Chanthaburi ZIP code 22000
Tel. 039303298 Fax. 039303299
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่