เวียงแก่นเป็นชื่อหนึ่งของอำเภอหนึ่ง ในอดีตเคยเป็นเมืองเวียงแก่น มีอายุประมาณ ๗๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยกรุงสุโขทัยและเมืองเชียงราย เดิมเมืองเวียงแก่นเคยมี "เจ้าหลวงเวียงแก่น" เป็นผู้ครองนครองค์สุดท้าย ภายหลังเกิดการสู้รบกับพญามังราย บริเวณที่ราบ ทางทิศตะวันตกของเมือง และเจ้าหลวงเวียงแก่นได้สิ้นพระชนม์ในสนามรบแห่งนี้ ส่งผลให้เมืองเวียงแก่นถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน และในปัจจุบันเมืองเวียงแก่น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เมืองโบราณดงเวียงแก่น" ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นแหล่งโบราณสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าหลวงเวียงแก่น ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ แถบลุ่มน้ำงาว ได้ร่วมใจกันจัดพิธีบวงสรวงเจ้าหลวงเวียงแก่นขึ้นในช่วงเดือน ๘ ขึ้น ๓ และ ๔ ค่ำของทุกปี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าในภาษาถิ่นว่า "ป๋างเเปด" โดยจะประกอบพิธีบริเวณหอเจ้าหลวงเวียงแก่น ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านยายใต้ ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
การประกอบพิธีบวงสรวงเจ้าหลวงเวียงแก่น มีการกำหนดไว้ ๒ วัน คือวันขึ้น ๓ ค่ำ และวันขึ้น 4 ค่ำของเดือน ๘ ราวเดือนมิถุนายน โดยสัตว์ที่ใช้ในการสังเวยในพิธีกรรมจะต้องเป็นหมูหรือควายตัวผู้สีดำเท่านั้น ซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันในแต่ละปี คือจะใช้หมูเป็นเครื่องประกอบพิธี ๒ ปี หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นใช้ควาย ๑ ปี การตระเตรียมสิ่งของ หรือเครื่องประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะเป็นหน้าที่ของพ่อข้าวจ้ำ (ผู้รับหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างชาวบ้านกับดวงวิญญาณ) ในช่วงวันแรกของการทำพิธีจะเริ่มเวลาประมาณบ่ายโมงของวันขึ้น ๓ ค่ำ เรียกว่า "วันปาดหมาก" ผู้เฒ่าผู้แก่จะถือว่าวันดังกล่าวเป็น "วันก๋ำ" ข้อปฏิบัติในวันก๋ำ คือห้ามไม่ให้ชาวบ้านออกไปทำงาน จนกว่าจะพ้นวัน ๔ ค่ำ โดยชาวบ้านจะมีเตรียมสิ่งของในพิธีกรรม ได้แก่กรวยดอกไม้ธูปเทียน กรวยใบพลู หญ้าช้าง หญ้าม้า ผ้าขาว ผ้าแดง หมาก และเหล้าขาวหรือน้ำมะพร้าว รุ่งขึ้นของวันสี่ค่ำเดือนแปด เรียกว่า "วันป๋างหลวง" ชาวบ้านจะเริ่มทยอยมายังศาลจากนั้นพ่อข้าวจ้ำจะนำหมูมาบอกกล่าวเซ่นไหว้ก่อนจะนำไปฆ่าเพื่อทำอาหารถวายภายหลัง
บรรยากาศในพิธีกรรมจะครึกครื้นเนืองแน่นไปด้วยผู้คนมีบรรเลงดนตรีพื้นเมือง สะล้อซอซึง เพื่อขับขานให้เจ้าหลวงมาประทับยังร่างทรง มีการสลับการตีกลอง ฆ้องตลอดช่วงประกอบพิธีกรรม ส่วนช่างปีจะเป็นผู้ทำหน้าที่เชื้อเชิญเจ้าหลวงเวียงแก่นและเจ้าองค์อื่น ๆ มาประทับทุกช่วง อาทิ เจ้าคำเหลือง เจ้าเวียงดึง เจ้าฟ้าแสนศึก ฯลฯ เมื่อลงประทับแล้ว พ่อข้าวจ้ำจะทำการผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายให้กับเจ้าหลวงแต่ละองค์ ชาวบ้านจะตระเตรียมสายสิญจน์และน้ำสะอาดบรรจุภาชนะไว้เพื่อให้เจ้าหลวงร่ายมนต์คาถาปัดเป่าเคราะห์ภัย ก่อนนำไปให้ลูกหลานคนในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นพ่อข้าวจ้ำจะนำอาหารและเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดเตรียมไว้ไปถวายเจ้าหลวงได้แก่ลาบ แกงอ่อม ส้า (ไม่ใส่เลือดแต่ใส่มะเขือแทน) เนื้อย่าง และเครื่องในต้มสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาร้อยด้วย ไม้ไผ่เรียกว่า "จิ้นหิ้ว" พร้อมทั้งหัวหมู หาง และขาทั้ง ๔ ขา (อาหารเหล่านี้ ห้ามชาวบ้านรับประทาน จนกว่าจะถวาย เจ้าหลวงเสร็จ) ก่อนขึ้นศาลเพื่อจะถวายอาหาร เครื่องเซ่นไหว้ จะมีการยิงปืน จำนวน ๘ นัด เมื่อเสร็จพิธีจะทำการยิงปืน จำนวน ๘ นัด รวมเป็น ๑๖ นัด เป็นสัญญาณบอกกล่าวผู้ที่เข้าร่วมพิธีให้สามารถรับประทานอาหารได้ หลังจากนั้นจะทำพิธีสู่ขวัญให้กับ “ที่นั่ง” หรือ ร่างทรง เพื่อเรียกขวัญ และทำพิธี ผูกข้อมือ ถือเป็นเสร็จพิธี