ประติมากรรมช้างงู ลำตัวเป็นงู หัวเป็นช้าง ๓ เศียร ที่กลางวงเวียนสี่แยกบายพาสก่อนจะเข้าอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทุกวันในเวลา ๑๘.๐๐, ๑๙.๐๐, ๒๐.๐๐, ๒๑.๐๐ จะมีน้ำพุและไฟสีสาดส่องสวยงามนาน ๑๔ นาที ซึ่งประติมากรรมช้างงูทำจากเรซิ่นไฟเบอร์ โดยชาวเชียงแสนมุ่งหวังให้วงเวียนที่ประดิษฐานประติมากรรมช้างงู เป็นแลนด์มาร์คของเมืองเชียงแสน ประติมากรรมช้างงูเป็นงานศิลปะที่แฝงด้วยกลิ่นอายของเมืองโบราณ เพราะเมืองเชียงแสนเป็นเมืองเก่า มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นเมืองการค้าการท่องเที่ยว ทุกวันมีประชาชน นักท่องเที่ยว ต่างทยอยมาชมและพักผ่อนในเมืองเชียงแสน
สำหรับ “ช้างงู” มีส่วนหัวเป็นช้างลำตัวเป็นงูนั้น ปรากฏในตำนานหลายแห่ง เล่าว่า พ.ศ. ๑๔๖๐ ในรัชสมัยของพระเจ้าพังคราช ผู้ครองเมืองเชียงแสนหรือโยนกนาคนครได้ถูกพวกขอมดำขับไล่จาก
เชียงแสนไปอยู่เวียงสี่ทวง (ตำบลเวียง อำเภอแม่สาย) ต้องส่งส่วยให้พระยาขอมเป็นทองคำปีละ ๔ ทวงหมากพินน้อย และมีพระโอรสชื่อ พรหมกุมาร เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๑๓ ปี ทรงสุบินถึงเทวดาว่าหากไปล้างหน้าที่แม่น้ำโขง จะได้พบช้างวิเศษ ๓ ตัว หากจับได้ตัวที่ ๑ จะปราบได้สี่ทวีป หากจับได้ตัวที่ ๒ จะปราบได้ชมพูทวีป หากจับได้ตัวที่ ๓ จะปราบแว่นแคว้นล้านนาและขอมดำได้ พอรุ่งเช้า พรหมกุมารได้เสด็จไปยังท่าแม่น้ำโขง ทอดพระเนตรเห็นงูใหญ่ลอยตามน้ำมา ตัวแรกตัวเท่ายุ้งข้าว ตัวที่ ๒ ตัวเท่าต้นตาล น่าสะพรึงกลัว จึงรั้งรอจนถึงตัวที่ ๓ พรหมกุมารคิดว่าเทวดาบอกว่าช้างแต่พบงูแทน ซึ่งเทวดาคงจะหมายถึงงูนั้น พระองค์พร้อมด้วยบริวารจึงช่วยกันจับงูนั้นทันที งูนั้นก็กลายเป็นช้างเผือกแต่กลับไม่ยอมขึ้นฝั่ง จนต้องเอาพานทองคำตีล่อ (หรือ ปาน คือเครื่องดนตรีล้านนาชนิดหนึ่ง)จึงยอมขึ้นจากน้ำ จึงขนานนามว่า“ช้างพานคำ” และทำการขุดคูเมืองรวมถึงปรับปรุงกำแพงและประตูเมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเวียงสี่ทวงเป็น เวียงพานคำ และทำการซ่องสุมผู้คน พร้อมทั้งทูลบิดาว่าให้เลิกการส่งส่วยแก่ขอม เมื่อพระยาขอมทราบจึงยกทัพมาสู้กันที่ทุ่งสันทราย พรหมกุมารขี่ช้างพานคำต่อสู้ ในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ ไล่ตามตีกองทัพพระยาขอมจนแตก ชิงเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นกลับคืนมาได้ และถวายเมืองคืนพระองค์พังคราช
เมื่อเสร็จศึกแล้ว พรหมกุมารได้เดินทางกลับเวียงพานคำ เมื่อลงจากหลังช้างพานคำ ช้างพานคำได้หนีออกจากเมืองและกลับร่างเป็นงูเช่นเดิม แล้วเลื้อยหายเขาไปในดอยแห่งหนึ่ง ภายหลังเรียกชื่อดอยนั้นว่า ดอยช้างงู ต่อมาชาวอาข่าเรียกเพี้ยนเป็น “ดอยสะโง้” (ปัจจุบันอยู่ที่ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย)