นายไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนามแฝงของ ธัญญา สังขพันธานนท์ กวี นักเขียน
เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรท์) ปี พ.ศ. ๒๕๓๐
เกิด : เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๙
ณ บ้านหูแร่ หมู่ที่ ๕ ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
ครอบครัว : เป็นบุตรของนายชู - นางคลี่ สังขพันธานนท์
จบการศึกษา
๑. ระดับประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนบ้านหูแร่ ตำบลบางแก้ว อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
๒. จบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนบางแก้ว (เพียร คุณูปถัมภ์) ตำบลเดียวกัน จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนบูรณพัทศึกษา
๓. จบการศึกษาวิทยาลัยครูสงขลา สถาบันราชภัฏสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น
๔. จบการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒
๕.จบมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก ปัจจุบันคือ มหาวิยาลัยนเรศวร ได้รับปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย
ความเป็นมา
พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เข้าร่วมกับเพื่อนนักเขียนกลุ่มต่าง ๆ ในภาคใต้ ก่อตั้งกลุ่มศิลปะและวรรณกรรมชื่อ "กลุ่มนาคร"ขึ้น ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ รัตนธาดา แก้วพรหม โอภาส สอดจิตด์ และพระมหาจตุรงค์ ศรีจงกล จากชมรมดอกไม้นครศรีธรรมราช ประมวล มณีโรจน์ และรูญ ระโนด จากกลุ่มประภาคาร ทะเลสาบสงขลา กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และเจน สงสมพันธุ์ จากกลุ่มสานแสงทอง เป็นต้น ต่อมาร่วมกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มนาคร อีก ๔ คน คือ รัตนธาดา แก้วพรหม สมใจ สมคิด โอภาส สอดจิตด์ และประมวล มณีโรจน์ เขียนบทร้อยกรองขนาดยาวชื่อ "สองร้อยปีฤาสิ้นเสดสา" เพื่อร่วมฉลอง ๒๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นงานร้อยกรองขนาดยาวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมมากเล่มหนึ่ง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นหมาก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖
ปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เรื่องสั้นชื่อ "คือชีวิตและเลือดเนื้อ" ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเรื่องสั้น โครงการหอสมุดครูเทพ (รับรางวัล พ.ศ. ๒๕๒๖) เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมมากขึ้น และเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้น ๑ ใน ๑๕ เรื่อง ที่ได้รับคัดเลือกแปลเป็นภาษามาลายู โดยสถาบันเดวัน บาฮาซา แห่งประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย
นอกจากจะเขียนเรื่องสั้นอย่างเอาจริงเอาจังแล้ว ไพฑูรย์ยังมีผลงานบทร้อยกรองและบทความทาง ศิลปวรรณกรรมโดยใช้นามแฝงอื่น ๆ อีก เช่น "กำชำ เชื้อชาวนา" "สีคำดอกแคขาว" เป็นต้น ไพฑูรย์เขียนบทร้อยกรองมาพร้อม ๆ กับเขียนเรื่องสั้น บทร้อยกรอง "เจ้าร่างน้อยนอนนิ่งบนเตียงต่ำ"เคยเข้ารอบ ๑ ใน ๑๕ บทกวีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ของงาน "มณีกันยา" ที่จัดโดยนิตยสารถนนหนังสือร่วมกับกลุ่มวรรณกรรมพินิจ เป็นกลุ่มวรรณกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการวิจารณ์วรรณกรรมในยุคนั้น และบทร้อยกรอง "มือที่ว่างเปล่า" ได้รับการประกาศยกย่องให้ได้รับรางวัลชมเชยประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย โดยไม่มีใครได้รับรางวัลชนะเลิศ