คำว่า“เคราะห์” ความหมายที่แท้จริงหมายถึง “สิ่งที่เกิดขึ้นกับคน” อาจเป็นในทางดีหรือร้ายก็ได้ ดังสำนวนที่ใช้อยู่เสมอ เช่น เคราะห์หามยามร้าย เพราะดีก็ดีไป ถ้าเคราะห์ไม่ดีก็ลำบาก ปะเหมาะ เคราะห์ร้าย ถึงคราวเคราะห์ เคราะห์ดีเอาไว้ เคราะห์ร้ายเอาไป แต่คำว่า “เคราะห์” ตามความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไปหมายความว่า ความไม่ดีที่บังเกิดขึ้นแก่คน
คำว่า “ เคราะห์” ในคำ “ลอยเคราะห์” ก็มีความหมายตามนัยหลัง เพราะเชื่อว่าคนทุกคนมีดาวพระเคราะห์เข้ามาเสวยอายุ ดาวพระเคราะห์บางดวงเมื่อเข้าเสวยอายุใครก็จะเป็นโทษกับผู้นั้น ฉะนั้นเมื่อดาวที่ร้ายๆเข้าเสวยอายุจึงเรียกว่าผู้นั้นอยู่ในเคราะห์มักจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีสิ่งร้ายๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต เมื่อมีเหตุไม่ดีและเชื่อว่าอยู่ในเคราะห์จึงได้มีพิธีซึ่งเป็นความเชื่อมาจากศาสนาฮินดูว่า ถ้าจะสะเดาะเคราะห์ก็ต้องมีการล่อยเคราะห์ถ้าไปหาหมอดูตรวจชะตาราศีแล้วพบว่ามีเคราะห์อยู่ เช่น ราหูเข้าพระเสาร์แทรก หมอดูก็จะแนะนำให้ทำวิธีบูชาพระเคราะห์ตามตำรา เครื่องบูชามี ดอกไม้ ธูป เทียนและสิ่งอื่นๆ เช่นยาลม เป็นต้น การบูชาพระเคราะห์ต้องทำตามกำลังวัน คือพระอาทิตย์ ๖ พระจันทร์ ๑๕ พระอังคาร ๘ พระพุธ ๗ พระพฤหัส ๑๙ พระศุกร์ ๒๑ พระเสาร์ ๑๐ พระราหู ๑๒
ตัวอย่างเช่น ถ้าบูชาพระราหูก็ใช้ดอกไม้ ๑๒ ดอก ธูป ๑๒ ดอก เทียน ๑๒ เล่ม ยาลม ๑๒ ห่อ เมื่อทำพิธีบูชาแล้ว ชาวบ้านก็จะทำพิธีลอยเคราะห์คือนำหยกกล้วยหรือวัสดุอื่นๆที่ลอยน้ำได้ มาทำเป็นรูปเรือหรือแพแล้วเอาขี้ไคล ผม เล็บ ของผู้อยู่ในเคราะห์ มาผสมดินปั้นรูปต่างตัวใส่แพรหรือเรือที่ทำไว้นั้นใช้ดอกไม้ ธูปเทียนปักไว้ในแพด้วย ในแพยังใส่เงินเสบียง เป็นต้น ก่อนลอยก็ไอ้ว่า “เพราะดีเอาไว้ เพราะร้ายเอาไป”แพลอยไปที่ใดไม่มีใครกล้าเก็บ เพราะเชื่อว่าผู้เก็บจะรับเคราะห์แทน จากการลอยเคราะห์นี้คนทางภาคใต้ทั่วๆไปเชื่อว่าเป็นการลอยสิ่งชั่วร้ายไปตามน้ำ ให้น้ำพัดพาสิ่งชั่วร้ายไปเสีย
การลอยเคราะห์ไม่มีฤดูกาล พิธีกรรมนี้เป็นความเชื่อของคนทางภาคใต้ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม