ประวัติ
เขาชัยสน ตั้งอยู่ในที่ตั้งอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ในหมู่ที่ ๓ ตำบลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเขาชัยสนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๑-๒ กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะได้พบหลักฐานการเข้าอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ขวานหินขัดเครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป เป็นต้น
ลักษณะ
เขาชัยสนเป็นภูเขาเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด มีความยาวประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร กว้างสุดประมาณ ๑ กิโลเมตร ยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๓๐ เมตร นักธรณีวิทยาให้ความเห็นว่า เขาชัยสนเป็นภูเขาที่เกิดขึ้นจากการดันตัวของหินอัคนี เมื่อประมาณ ๑๓๐ ล้านปีมาแล้ว ในยุคครีเทเซียส การยกตัวคงดำเนินไปจนสิ้นสุดยุคครีเทเซียส ขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนที่ถูกยกขึ้นได้มีการสึกกร่อน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นหินปูน การสึกกร่อนดำเนินไปตลอดยุคเทอเชียรี จนกระทั่งบริเวณหินปูนส่วนใหญ่ถูกทำลายไปคงทิ้งส่วนของปูนเป็นภูเขาลูกโดดมาจนปัจจุบัน
สภาพแวดล้อมโดยรอบ
สภาพพื้นที่โดยรอบเขาชัยสน ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา ปลูกข้าว เนื่องจากทางด้านทิศตะวันตกและด้านทิศเหนือ มีคลองเขาชัยสนหรือคลองปากเพนียดไหลผ่านไปออกทะเลสาบสงขลา ที่บ้านสะทังบริเวณอ่าวอาพัด ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน ส่วนทางด้านทิศใต้มีคลองท่ามะเดื่อไหลผ่านไปออกทะเลสาบสงขลา ที่บ้านท่าต่อเรือใกล้ ๆ กับวัดเขียนบางแก้ว ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน คลองสองสายนี้เป็นหัวใจสำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเป็นเส้นทางคมนาคมของชุมชนโบราณในอดีตที่ใช้ติดต่อระหว่างชุมชนภายในแผ่นดินกับชุมชนรอบลุ่มทะเลสาบสงขลานอกจากนี้บนภูเขามีป่าไม้ค่อนข้างสมบูรณ์สำหรับพันธุ์ไม้ที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ได้แก่"ไม้คนทีดำ" ซึ่งชาวบ้าน เชื่อว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ดองผสมกับเหล้าขาวเป็นยาอายุวัฒนะและแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย บางคนนิยมนำไปใช้ทำเป็นไม้เท้าและเครื่องรางของขลัง ประมาณ ๑ เซนติเมตร