ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : - Longitude : -
No. : 195090
พิธีเถราภิเษก หรือ ฮดสรง บ้านนาหนองแคน หมู่ที่ ๒ ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
Proposed by. มุกดาหาร Date 25 November 2021
Approved by. มุกดาหาร Date 23 Febuary 2022
Province : Mukdahan
0 541
Description

ความเป็นมา อัตลักษณ์ สาระคุณค่า

พิธีเถราภิเษก หรือ ฮดสรง ในสมัยโบราณเป็นพิธีเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ตามประเพณี ซึ่งมีความสำคัญเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะบางชั้นสมณศักดิ์จะได้รับการเถราภิเษกฮดสรงจากพระมหากษัตริย์ และเป็นงานประเพณีโบราณของชาวอีสานที่กระทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นพิธีที่ชาวพุทธอีสานประกอบขึ้นเพื่อประโยชน์ คือเพื่อเป็นการถวายชั้นยศหรือสมณศักดิ์แด่พระมหาเถระ พระสงฆ์สามเณรผู้ทรงคุณและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมพิธี เชื่อกันว่าผู้ใดได้ร่วมฮดสรงพระมหาเถระ ผู้มีความรู้ทางธรรม จะได้รับส่วนแห่งบุญวาสนาบารมีของท่านเหล่านั้น และจะประสบแต่ความสุขสวัสดี เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย คือ อายุ วรรณะ สุข และกำลังสติปัญญา พร้อมลาภยศ สรรเสริญอีกด้วย

ดังนั้น ในสมัยโบราณหากมีพิธีเถราภิเษก หรือ ฮดสรง ณ ที่ใดแล้ว ผู้คนจะหลั่งไหลเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ลำดับชั้นสมณศักดิ์ของพระสงฆ์อีสานในครั้งโบราณ นิยมถือตามแบบอย่างมาจากกรุงศรีสัตตนาคนหุต และเมืองหลวงพระบางในอดีต ซึ่งแบ่งเป็นลำดับชั้นได้ ดังนี้

๑) ชั้นสำเร็จ (บางแห่งเรียก สมเด็จ)
๒) ชั้นชา (ปรีชา)
๓) ชั้นคู (ครู)
๔) ชั้นราชคู (สำหรับครูบาอาจารย์สอนลูกเจ้านาย)
๕) ชั้นเจ้าหัวคูฝ่าย
๖) ชั้นเจ้าหัวคูค้าน
๗) ชั้นเจ้าหัวคูหลักคำ
๘) ชั้นเจ้าหัวคูลูกแก้ว
๙) ชั้นเจ้าหัวคูยอดแก้ว
๑๐) ชั้นราชคูหลวง

สมณศักดิ์ตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ เป็นสมณศักดิ์ฝ่ายปริยัติ ส่วนข้อ ๕ ถึงข้อ ๑๐ เป็นสมณศักดิ์ ฝ่ายบริหาร การเลื่อนสมณศักดิ์ฝ่ายปริยัติ พระภิกษุสามเณรจะได้รับสมณศักดิ์ชั้นใด จะต้องได้รับการศึกษาเป็นบันได ไต่ขึ้นเป็นชั้น ๆ ตามหลักสูตร การเรียนในสมัยนั้นอาศัยการท่องจำเป็นหลัก โดยพระอาจารย์ผู้สอน จะให้ท่องจำแบบปากต่อปาก หนังสือตำราไม่มีต้องเรียนและอ่านจากพระคัมภีร์ใบลานที่จารบทเรียนต่างๆ สืบทอดกันมา และอักษรที่ใช้จารไม่ใช้ภาษาไทยแต่ใช้อักษรธรรม

อุปกรณ์การฮดสรง

๑) เครื่องครองของพระภิกษุสามเณรที่ฮดสรง มีอัฐบริขาร ๘ ได้แก่ ผ้าจีวร ๑ ผืน ผ้าสังฆาฏิ ๑ ผืน ผ้าสบง ๑ ผืน รัดประคด ๑ สาย มีดโกน ๑ เล่ม กล่องเข็ม ๑ กล่อง ธรรมกรก ๑ อัน และมีดตัดเล็บ ๑ เล่ม นอกนี้มีผ้าห่มสีเหลืองหรือสีแดง ๑ ผืน รองเท้าคีบ ๑ คู่ ไม้เท้าเหล็ก ๑ อัน หมวก (หว่อม) ทำด้วยผ้าสีแดง ปักด้วยไหมทองสำหรับสวมทำเป็นเกศ ๑ ใบ และเม็ง (เตียง)

๒) ตาลปัตรรูปใบโพธิ์ปกติใช้ปักด้วยเส้นไหม

๓) หลาบเงินหรือหลาบทอง

เครื่องประกอบการฮดสรง

๑) ฮางฮด(รางรดน้ำสรง)ทำรางด้วยไม้เป็นรูปพญานาค ซึ่งทำเป็นลวดลายลงรักปิดทองอย่างสวยงาม ตรงคอนาคเจาะเป็นรูกลมสำหรับให้น้ำไหลลงที่ห้องฮางฮด เอาเหล็กกลมๆทำเป็นราวสำหรับติดเทียนบูชา ๑ ราว บนหลังพญานาคบริเวณคอจะตั้งพระพุทธรูปไว้ บริเวณรอบคอพญานาคจะผูกด้วยผ้าขาว ข้างในห่อด้วย เครื่องทองคำ เครื่องเงิน เครื่องนาก เขี้ยว งาช้าง พระเครื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพื่อให้น้ำที่ฮดสรงไหลผ่าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์และรดลงมายังพระภิกษุผู้รับได้รับถวายการฮดสรง และที่สำคัญพระเถระบางรูปเป็นผู้ทรง พุทธวิทยาคมขั้นสูง น้ำที่สรงจะมีชาวบ้านน้ำไปพรมที่ศีรษะล้างหน้าล้างตาเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง
๒) เทียนกึ่งหรือเทียนง่า คือ เทียนที่นำมาประกอบติดกันเหมือนกิ่งไม้ ๓ คู่ และเทียนกาบ ๓ คู่ สำหรับจุดบูชาที่ราวเทียนในฮางฮดสรง

๓) เทียนเล่มบาท ๑ คู่ (เทียนหนักเล่มละ ๑ บาท ๒ เล่ม สำหรับเป็นเทียนบูชา)

๔) เทียนเล่มเบี้ย ๑ คู่ (เทียนหนักเล่มละ ๒ บาท ๒ เล่ม) ปักบนหัวมะพร้าวอ่อน ๒ ลูก ที่เจียนหัวท้ายให้สวยงามแล้ว

๕) ขันหมากเบ็ง ๑ คู่

๖) เทียนเล็ก ๑ คู่ พร้อมดอกไม้สำหรับให้ผู้รับการฮดสรงถือบูชา ขณะฟังผู้เฒ่าอ่านประกาศ
๗) หินก้อนโต ๑ ก้อน สำหรับให้ผู้รับการฮดสรงเหยียบในขณะฮดสรง ใต้ก้อนหินมีใบคูณ ใบยอ หญ้าแพรกและใบตอง รองไว้

๘) โอ่ง สำหรับใส่น้ำหอมพร้อมน้ำอบน้ำหอม (น้ำอบน้ำหอม ปรกติผู้ไปร่วมพิธีต่างจัดทำไปเอง)
๙) บายศรี ๑ คู่ พร้อมเทียนอาดหรือเทียนชัยปักบายศรีข้างละ ๑ เล่ม

รูปแบบวิธีการในพิธีฮดสรง

๑) ตั้งกองฮดสรง นำบริขารเครื่องยศที่กล่าวข้างต้น พร้อมเครื่องประกอบการฮดสรง นำมาจัดบนศาลาโรงธรรมโดยจัดตั้งเป็นชุดหรือกอง ตกแต่งให้สวยงามเรียกว่ากองฮด

๒) แห่สมโภชมุงคุล ในวันรวมหรือวันโฮม เวลาประมาณบ่าย ๓ โมง แห่รอบวัดหรือศาลาโรงธรรมแล้วแต่สะดวก ๓ รอบ เสร็จพิธีแห่จึงอาราธนาพระภิกษุสามเณรขึ้นบนศาลาโรงธรรม พร้อมนำอุปกรณ์ฮดสรงไปประดิษฐานตามเดิมจึงทำพิธีสมโภชมุงคุล

๓) กลางคืนจะมีมหรสพสมโภชก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร

๔) วันรุ่งขึ้นถวายอาหารบิณฑบาตเช้าและมีฟังเทศนา

๒.๕ การจัดสถานที่พิธีฮดสรง

๑) ตั้งฮางฮด (รางรดน้ำสรง) ห่างจากศาลาโรงธรรมประมาณ ๑๐ วา เป็นอย่างน้อย ปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อยสองข้างทาง ปลูกต้นกล้วยต้นอ้อยไว้รอบห้องสรงให้เหลือทางเข้าไว้ กั้นห้องสรงให้มิดชิด และให้หัวนาค อยู่ตรงบนห้องสรง หางนาคให้อยู่นอกห้องสรง นำก้อนศิลามงคลหรือฆ้องไปวางไว้ใต้ฮางฮด ใบคูณใบยอ หญ้าแพรก และใบตองรองพื้น เอาผ้าผืนบาง ๆ ห่อพันกล่องหลาบ รองลงที่คอพญานาค ติดเทียนกิ่งหรือเทียนง่าและเทียนกาบ ตรงราวเหล็กที่ฮางฮด

๒) ตั้งโอ่งน้ำอบน้ำหอมไว้ใกล้บริเวณห้องสรง จัดใบคูณ ใบยอ ไว้อย่างละ ๗ ใบ วางไว้ตรงรางน้ำสรงไหลลง ใช้ผ้าขาวห่อรางน้ำเพื่อกรอง และใช้ใบโพธิ์ ๗ ใบ ใส่ห่อผ้าขาวหรือจะใส่เครื่องรางของขลังด้วยก็ได้ ถือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก

๒.๖ ขั้นตอนพิธีฮดสรง

๑) มอบตาลปัตร ไม้เท้าเหล็ก จับไม้เท้าเหล็กต่อๆ กันไป เดินจากโรงพิธีสู่ห้องสรงระหว่างนี้ ญาติโยมจะเข้าไปเกาะชายจีวรผู้รับการฮดสรงคล้ายจูงนาคเข้าโบสถ์ก็ได้

๒) ผู้ชายพร้อมกันนอนคว่ำ เรียงกันไปถึงห้องสรง เพื่อให้พระเถระและผู้รับการฮดสรงเหยียบบั้นเอว ถือว่าศักดิ์สิทธิ์หายเจ็บหลังปวดเอวดีนัก

๓) ถึงห้องสรงแล้ว พระสังฆเถระพร้อมพระพิธีหรือผู้เฒ่าจุดเทียนกิ่งหรือเทียนง่า และเทียนกาบ บนฮางฮด แล้วพระพิธีกลับโรงพิธีเหลือพระสังฆเถระในห้องฮด

๔) พระสังฆเถระ ออกเอามือจับบ่าซ้ายขวาหมุนไปขวา ๓ รอบ เป็นประทักษิณแล้วจึงนิมนต์นั่งบนตั่งพิธีหรือฆ้อง

๕) พุทธศาสนิกชน ญาติโยมถวายผ้าไตรจีวร ภิกษุ

๖) ญาติโยมถวายน้ำหอมพระสังฆเถระ จัดมูรธาภิเษาด้วยน้ำหอม นิมนต์พระสงฆ์ผู้ร่วมพิธีทุกรูป เสร็จแล้วผู้รับฮดสรงยืนขึ้น ทายกนำไตรจีวรให้ครอง ครองเสร็จให้ยืนประนมมือ แล้วกำกำปั้นตีฆ้องชัย

๗) พระสังฆเถระมอบตาลปัตร ไม้เท้าเหล็ก จูงรูปที่ได้รับการฮดสรงขึ้นบนศาลาโรงธรรม โดยญาติโยมผู้ชายนอนคว่ำให้พระภิกษุสามเณรผู้รับการฮดสรงไต่เหมือนกับตอนที่จะไปรับการฮดสรง ขึ้นไปนั่งบนอาสนะ ณ ศาลาโรงธรรม

๘) ญาติโยมพร้อมกันขึ้นบนศาลาโรงธรรม จุดธูปเทียนไหว้พระรับศีล โดยพระภิกษุสามเณร ที่ได้รับฮดสรงนั้นพร้อมกันตั้งตาลปัตรให้ศีลพร้อมกัน

๙) ผู้เฒ่าจุดเทียนเล็กคู่หนึ่งพร้อมดอกไม้ถวายผู้ได้รับการฮดสรงถือไว้ ประธานฝ่ายฆราวาสอ่านประกาศ ในใบลาน อ่านประกาศของรูปใดจบ ให้ตีฆ้อง ๓ ครั้ง เสร็จแล้ว มอบถวายกล่องหลาบ พระสงฆ์สวดชยันโต ไปจนเสร็จพิธีมอบถวายกล่องหลาบ

๑๐) ตั้งขันบายศรี เมื่อมอบถวายหลาบยศแล้ว ผู้รับหน้าที่เป็นพราหมณ์ทำพิธีบายศรี

การจัดงาน ไม่ประจำทุกปีขึ้นอยู่กับสถานะของพระสงฆ์วัดนั้น

ผู้จัดผู้นำชุมชน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน

การสร้างอาชีพและรายได้ให้กับครอบครัว/ชุมชนเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทุกคนเชื่อว่า ทำแล้วจะเกิดสิริมงคลต่อตนเอง ส่วนมากจึงเป็นการบริจาคสิ่งของที่ใช้ในพิธีและถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการกระจายรายได้ในหมวดวัสดุและอาหาร

Location
วัดพระพุทธรูปโพธิ์ศรี
Moo บ้านนาหนองแคน Road -
Tambon หนองสูง Amphoe Nong Sung Province Mukdahan
Details of access
พิธีฮดสรงพระครูสารกิจโพธิคุณ
Reference พระครูสารกิจโพธิคุณ
Organization วัดพระพุทธรูปโพธิ์ศรี
Moo บ้านนาหนองแคน Road -
Tambon หนองสูง Amphoe Nong Sung Province Mukdahan ZIP code 49160
Tel. 0873747172 Fax. -
Website -
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่