“ห้วยผึ้ง เมืองสามอ่าง”
ประวัติความเป็นมาของอำเภอห้วยผึ้ง:
บริเวณหมู่บ้านห้วยผึ้ง ตำบลนิคมห้วยผึ้ง นับแต่ก่อนมีสภาพเป็นป่าดงดิบอยู่ชายเขตดงแม่เผด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เบญจพรรณ มีน้ำไหลผ่านตลอด ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาสันกกน่อง ภูผีโห่กุสันชัยและภูแฝก ทำให้เกิดความชุ่มชื้นแก่พื้นที่ส่วนนี้เป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่ามีฝูงผึ้งมาทำรังที่ต้นไม้มากมาย ทำให้ชาวบ้านบริเวณนี้มีอาชีพตีผึ้ง เพื่อนำน้ำผึ้งไปขายเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากบริเวณนี้อยู่กึ่งกลางอำเภอสมเด็จกับอำเภอกุฉินารายณ์ จึงทำให้เป็นที่พักของคนเดินทางไปมา ต่อมาบริเวณนี้มีความเจริญขึ้นเรื่อยๆ จาก ไม่กี่ครอบครัว ก็เป็นหลายร้อยครอบครัวในปัจจุบัน ปี ๒๕๐๒ ชาวบ้านเหล่านี้ได้ช่วยกันทำนบห้วยผึ้งและอพยพมาอยู่เป็นหมู่บ้านให้และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า " บ้านห้วยผึ้ง " โดยอาศัยลำน้ำที่ไหลผ่านเป็น สัญญลักษณ์ ปี ๒๕๐๕ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้มาตรวจราชการที่ตำบลนาคู อำเภอเขาวง ได้พิจารณาเห็นความสำคัญและความจำเป็นของราษฎรตำบลนาคู ตำบลภูเล่นช้าง และตำบลกุดสิม อำเภอเขาวงว่า ที่ไม่มีเส้นทางคมนาคมไปสู่ตัวเมือง จึงได้มีบัญชาให้สร้างถนนจากบ้านห้วยผึ้ง ไปสู่บ้านนาคู ขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ขึ้น จึงทำให้มีการสร้างทางไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ใกล้เคียง นำความเจริญมาสู่หมู่บ้านห้วยผึ้งตามลำดับ จากความพยายามของหมู่บ้านที่จะขอจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้นที่บ้านห้วยผึ้งจนในที่สุดทางราชการก็ได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอห้วยผึ้ง เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยมีเขตการปกครองรวม ๔ ตำบล คือ ตำบลไค้นุ่น ตำบลคำบง ตำบลนิคมห้วยผึ้ง และตำบลหนองอีบุตร หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งให้เป็นกิ่งอำเภอ รวม ๓ ปี ๑๕ วัน จึงได้มีพระราชกฤษฎีกา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๗ ตอน ๘๓ ลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓
ที่ตั้งและอาณาเขต:
อำเภอห้วยผึ้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอสมเด็จ และ อำเภอภูพาน (จังหวัดสกลนคร)
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอนาคู
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอกุฉินารายณ์ และ อำเภอนามน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอนามน และ อำเภอสมเด็จ
พื้นที่ : ๒๕๖.๘๓๒ ตารางกิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น ๔ ตำบล ๕๒ หมู่บ้าน
ลักษณะอากาศ :
ภูมิอากาศโดยทั่วไปร้อนชื้น
อื่นๆ :
สภาพเศรษฐกิจ
๑.อาชีพหลัก ได้แก่ ทำนา ทำไร่ (อ้อย,มันสำปะหลัง)
๒.อาชีพเสริม ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วลิสง พริก
๓.ธนาคารมี ๑ แห่ง ได้แก่
ธนาคารการเกษตรและสหกรณ์ โทร. ๐๔๓-๘๖๙๐๒๘
การเกษตรกรรม
๑.ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง
๒.ชื่อแหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยผึ้ง ห้วยฝาและห้วยสะทด
ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม
๑.เสื้อภูไทปักลายด้วยมือกลุ่มเสื้อเย็บด้วยจักรปักด้วยมือ บ้านคำบง หมู่ที่ ๑ ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ประวัติความเป็นมา
เสื้อเย็บมือภูไทเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานานของชนเผ่าภูไทจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเอกลักษณ์บ่งบอกถึงชีวิตความเป็นอยู่ความเจริญทางด้านวัฒนธรรมความมีศิลปะความปราณีต บรรจง มีความมานะอดทน สะท้อนความเป็นอยู่วิถีชีวิตของคนสมัยก่อน ซึ่งทุกสิ่งจะถูกถ่ายทอดออกมาทางความคิด โดยดั้งเดิมจะไม่มีลวดลายมากนัก จะใช้วิธีการด้นด้วยมือเป็นเส้นๆ และจะพัฒนาลวดลายอันสวยงามตามแนวคิดสมัยใหม่ การเย็บผ้าด้วยมือจะถูกถ่ายทอดกันมาและจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น สมัยก่อนการตัดเย็บเสื้อผ้าที่จะสวมใส่จะไม่มีจักรเย็บผ้าจะไม่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนทุกวันนี้ การหาเสื้อผ้าจะต้องเริ่มต้นจากการทำไร่ทำสวนทำนา ชาวบ้านจะปลูกฝ้ายในไร่แล้วนำมาเข็ญเป็นเส้นฝ้ายนำมา ทอเป็นผืน สีที่ใช้จะย้อมด้วยสีธรรมชาติเช่น ผ้าฝ้ายจะย้อมด้วยครามหรือย้อมด้วยลูกมะเกลือ เป็นสีที่เข้มเหมาะกับการ ใช้งานที่ทำงานหนัก ส่วนผ้าที่ใช้สำหรับไปงานบุญประเพณีต่างๆ จะใช้ผ้าไหมซึ่งชาวบ้านจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้ว นำมาทอเป็นผืน เช่น ทำเป็นผ้าถุง ผ้ามัดหมี่ ส่วนเสื้อก็จะตัดเย็บด้วยมือ เช่นเดียวกันสีที่ย้อมก็จะเป็นสีธรรมชาติ แต่ออกมาในรูปสีสันที่สวยงาม โดยอาศัยเปลือกไม้ตามธรรมชาติที่มีในท้องไร่ท้องนาของตนเอง ปัจจุบันการเย็บเสื้อด้วยมือกำลังจะหายไป ถ้าเราไม่รู้จักอนุรักษ์รักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผู้คนต้องการความสะดวกสบาย และความรวดเร็วทางด้านการครองชีพ การเย็บเสื้อ ด้วยมือต้องพิถีพิถัน ใช้เวลาในการตัดเย็บหลายวัน เสียเวลาไม่คุ้มค่ากับแรงที่ลงไป ถ้าเปรียบเทียบกับการตัดเย็บด้วยวิธี อื่น แต่การตัดเย็บด้วยมือจะสะท้อนออกมาถึงความละเอียดอ่อนของฝีมือ ลวดลายบนผืนผ้าจะอ่อนช้อยงดงามบ่งบอกถึง ความเป็นธรรมชาติและยากที่จะมีผู้ที่มีฝีมือในการเย็บ ซึ่งปัจจุบันมีไม่มากนัก ปัจจุบันจังหวัดกาฬสินธุ์กำลังรณรงค์ให้ คนในจังหวัดได้ใช้ผ้าที่ทอและเย็บด้วยมือ ทุกหน่วยงานได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ผ้าทอและเย็บด้วยมือเป็นที่นิยมชื่นชอบของผู้ที่ได้พบเห็น ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ได้อนุรักษ์รณรงค์และพัฒนา ต่อยอด ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและใช้ผลิตภัณฑ์ เสื้อที่เย็บด้วยมือมากขึ้น สอนเยาวชนให้รู้คุณค่าของเสื้อที่เย็บด้วยมือ โดยการให้รู้จักรักธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัว รู้จักการนำธรรมชาติมาใช้กับชีวิตประจำวัน เช่น การนำต้นครามมาหมัก แล้วนำเอาน้ำครามมาย้อมผ้าขาว จะออกเป็นสีคราม สีกรมท่า หรือน้ำเงินเข้ม เป็นการสืบทอด ภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน ผ้าที่ย้อมด้วยครามจะมีกลิ่นหอม เมื่อสวมใส่ สามารถดูดซับสารพิษออกจากร่างกายได้เป็นที่นิยมของคนในชุมชนและท้องถิ่น ทั้งในและต่างประเทศ ในการหมักต้นคราม หรือย้อมผ้าด้วยคราม เป็นสิ่งที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม อดทนในการทำ เยาวชนในปัจจุบันไม่มีการสืบทอด ภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้จะมีก็คนเก่าแก่ในบางหมู่บ้านเท่านั้นที่ยังมองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้และได้สืบสานต่อมาแต่ก็ เหลือน้อยมาก ผ้าที่ย้อมด้วยมือจึงกลายเป็นสินค้าที่หายากและค่อนข้างราคาแพง นอกจากต้นครามแล้ว คนในสมัย โบราณยังนำเปลือกไม้ที่เกิดตามธรรมชาติมาย้อมฝ้ายย้อมผ้า ทำให้ได้มีสีสันที่สวยงามและเป็นที่นิยม อาทิเช่น การนำเอา เปลือกไม้ต้นก่อที่เกิดตามป่าและภูเขามาย้อมฝ้ายจะให้มีเหลืองทองสวยงามมาก เมื่อนำมาทอเป็นผืนผ้าจะสวยเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่พบเห็น นอกจากนั้นยังมีต้นไม้ชนิดอื่นๆ เช่น เปลือกมะม่วง จะให้สีเหลืองไข่ นุ่นจะให้สีชมพูอ่อนสวยงาม ดึงดูดใจผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันชนเผ่าภูไทบ้านคำบงได้พัฒนารูปแบบเสื้อที่เย็บด้วยมือในด้านรูปทรง เพื่อให้สวยงามคงทนสีไม่ตก และเวลาสวมใส่กระซับยิ่งขึ้น และเข้าสู่มาตรฐานสากลในระดับหนึ่ง โดยการนำผ้ามาซับในเพื่อให้การใช้งานได้นานขึ้น มีความสง่างามสำหรับผู้สวมใส่ ลวดลายแทรกตามลายผ้าให้ดูแปลกตาจากของเดิม ซึ่งเป็นสีพื้นๆ อย่างเดียว และการย้อมยังคงใช้วัสดุจากธรรมชาติในการย้อมสีเหมือนเดิม ส่วนลายปักก็จะดัดแปลงออกไปตามภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น สะท้อนถึงวิถีชีวิต ศิลปะของคนรุ่นก่อนสานต่อมาจนถึงคนรุ่นปัจจุบัน สมควรรักษาและอนุรักษ์ เอาไว้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผ้าทอด้วยมือย้อมด้วยต้นครามนำมาเย็บปัก ถักทอย้อมด้วยสีของธรรมชาติเปลือกไม้ใบไม้ที่มี อยู่รอบๆตัวเรา ได้อยู่คู่กับชนเผ่าภูไทบ้านคำบงตลอดไปตราบนานเท่านาน
๒.มะม่วงแช่อิ่ม บ้านโนนสำราญ ต.นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์
บ้านโนนสำราญ ม.๙ ต.นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ มีกลุ่มแม่บ้านที่ทำมะม่วงแช่อิ่ม ที่เป็นที่รู้จักทั่วไปของคนในตำบลนิคมห้วยผึ้ง การทำมะม่วงแช่อิ่มเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ที่มีมาแต่โบราณ เป็นของว่างที่ผู้คนชื่นชอบ เนื่องจากมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว รับประทานเป็นของว่าง หรือใช้เป็นของฝากก็ได้
๓.ขนมครกไทยโบราณ บ้านห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์
ขนมครก เป็นขนมหวาน ที่มีมาแต่โบราณ เป็นที่ชื่นชอบทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ กลิ่นหอมรสชาติหวานมัน ใช้เป็นของว่างได้ ควรกินขณะที่ยังร้อน จะได้รสชาติที่อร่อยมาก
ข้าวสารที่ใช้ทำขนมครก ควรใช้ข้าวสารเก่า เพราะถ้าใช้ข้าวเหนียวใหม่ จะเหนียวติดฟัน และเวลาแคะออกจากเตาก็ไม่ค่อยจะล่อน ส่วนเรื่องเช็ดหลุมขนมครก จะใช้เศษผ้าฝ้ายหรือผ้าขาวบางมาห่อรวมกันหลายๆ ชั้น แล้วเอาไปแช่น้ำมันเอาไว้ พอให้น้ำมันซึมทั่วเนื้อผ้า ก็ใช้ได้ หรืออาจจะใช้ผ้านำห่อกากมะพร้าวแล้วนำไปชุบน้ำมันนิดหน่อยก็ได้
สมัยก่อนจะใช้เตาขนมครกที่ทำจากดินเผา แต่ถ้าซื้อแล้วนำมาใช้เลย ขนมจะติดเตา ไม่ล่อน วิธีแก้ไขของคนโบราณ คือ ก่อนที่จะนำกระทะนี้มาใช้ เขาจะเอากากมะพร้าวสุมให้เต็มหลุมแล้วนำไปตั้งไฟให้น้ำมันจากกากมะพร้าวเคลือบทั่วกระทะขนมครก (ทิ้งไว้ให้กากมะพร้าวไหม้คาหลุมเลย) วิธีนี้จะทำให้ขนมไม่ติดเตา
แหล่งท่องเที่ยว
อำเภอห้วยผึ้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่
๑. ภูผีโห่
วัดภูผีโห่ ตำบลนิคมห้วยผึ้ง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงห้วยฝาโดยเป็นป่าชุมชน จำนวน ๑,๐๐๐ ไร่ และเป็นเขตพุทธอุทยาน ๒๐๐ ไร่ ซึ่งวัดภูผีโห่เป็นสถานปฏิบัติธรรม เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน โดยได้มีการร่วมแรงร่วมใจพัฒนา สร้างเส้นทางคมนาคมขึ้นภูเขา และสร้างพระพุทธรูปเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนา โดยมีพระมณี จิตตธัมโม เป็นเจ้าอาวาส อีกทั้ง ภูผีโห่ ยังมีตำนานเรื่องเล่าว่าที่มาของชื่อภูผีโห่ มาจากการได้ยินเสียงเหมือน ฆ้อง กลองโบราณ ดังอยู่ในเมืองลับแล และด้วยสถานที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม นอกจากป่าอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีจุดเด่นใกล้กับอ่างเก็บน้ำ ๓ แห่งด้วยกัน คือ อ่างเก็บน้ำห้วยผึ้ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อยู่ติดกับบ้านหนองแสง และไม่ไกลกันนักสามารถชมความงามของทัศนียภาพ อ่างเก็บน้ำห้วยฝาสำหรับใช้ประโยชน์ในการเกษตรและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และอ่างเก็บน้ำห้วยสะทด เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อยู่ติดกับบ้านปลาขาว ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ใกล้กับภูเขา มีทิวทัศน์สวยงาม และในพื้นที่ตำบลคำบง ยังมีสถานที่น่าสนใจ ลานหินด่านหมาไน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่พักสงฆ์พุทธิลาวัณย์ โดยเป็นสถานที่เป็นลานหินทราย และมีรูปลักษณ์บนลานหินเป็นฝูงหมาใน เต็มพื้นที่
๒. อ่างเก็บน้ำห้วยสะทด
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๑ กิโลเมตร บริเวณบ้านปลาขาว ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กใช้ในการอุปโภค บริโภค เพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติให้เจริญเติบโต และผลิตน้ำประปาใช้ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอสมเด็จและตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง บริเวณอ่างเก็บน้ำมีบรรยากาศของธรรมชาติอันงดงาม และน่าหลงไหลเป็นอย่างยิ่ง
๓. อ่างเก็บน้ำห้วยผึ้ง
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อยู่ติดกับบ้านหนองแสง ต.นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลห้วยผึ้ง มีทิวทัศน์สวยงาม
๔.ห้วยฝา
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อยู่ติดกับบ้านห้วยฝา ต.นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ มีทิวทัศน์สวยงาม
อำเภอห้วยผึ้งมีศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ทั้งหมด ๘ แห่ง คือ
๑. วัดหนองอีบุตร ตำบลหนองอีบุตร
๒. วัดสุทธาวาส ตำบลไค้นุ่น
๓. วัดนิคมห้วยผึ้ง ตำบลนิคมห้วยผึ้ง
๔. วัดทุ่งสว่างโพธิ์ไทร ตำบลไค้นุ่น
๕. วัดทุ่งสว่างไทรทอง ตำบลนิคมห้วยผึ้ง
๖. วัดนิคมอุดมฤกษ์ ตำบลนิคมห้วยผึ้ง
๗. วัดปิยะมงคล ตำบลไค้นุ่น
๘. วัดสุทธาวาส ตำบลคำบง