ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 14° 49' 34.1832"
14.8261620
Longitude : E 99° 41' 30.8828"
99.6919119
No. : 195236
กลุ่มชาติพันธุ์ละว้า ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
Proposed by. สุพรรณบุรี Date 6 January 2022
Approved by. สุพรรณบุรี Date 6 January 2022
Province : Suphan Buri
0 780
Description

กลุ่มชาติพันธุ์ละว้า ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์

ลัวะ ละว้า เลอเวอะ ละเวือะ อเวือะ ลวะ ถิ่น มัล ไปร เป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกนิยามว่าเป็นกลุ่ม “ลัวะ” หากแบ่งด้านการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะนั้น สามารถจัดแบ่งได้ออกเป็น ๒ กลุ่ม ตามการอธิบายในเชิงพื้นที่ คือ กลุ่มที่หนึ่ง ลัวะในเมืองเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ กลุ่มที่สอง ลัวะในเมืองน่าน ทำให้แยกความแตกต่างของลัวะทั้ง ๒ กลุ่มนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน แม้จะเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันว่าลัวะ แต่มีความแตกต่างทั้งการสืบผีจากสายพ่อ หรือสายแม่ การใช้ภาษาที่ต่างกันจนไม่สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ แม้แต่การตรวจ DNA ได้พบความแตกต่างทางการสืบสายเลือด ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะทั้ง ๒ กลุ่ม แยกออกจากกันในการรับรู้จากการศึกษาที่แยกการศึกษาและให้ผลที่ต่างกันเสมอใน ๒ พื้นที่

การกล่าวถึงชื่อชาติพันธุ์ที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน เช่นผลงานของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา กล่าวว่า ลัวะในน่านถือผีสายแม่ ใกล้เคียงกับการสืบเชื้อสายจากชาวละว้าดั้งเดิมตั้งแต่สมัยพุทธกาลโดยอ้างการวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วนลัวะแม่แจ่ม แม่สะเรียง และแม่ฮ่องสอน นับถือผีสายพ่อ มีโครงสร้างทางสังคมเช่นเดียวกับชาวว้าในยูนนานและพม่า โดยสันนิษฐานว่าลัวะในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย อาจเป็นลัวะรุ่นใหม่ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยระยะหลัง ไม่เกินสมัยอยุธยา โดยเฉพาะต้นรัตนโกสินทร์ และมีบรรพชนร่วมเชื้อสายกับว้าชาวป่า ที่ทางสิบสองปันนาเรียกว่า ว้าฮ้าย ที่เลิกล่าหัวมนุษย์ไปเมื่อเหมาเจ๋อตงนำการปฏิวัติมาถึงดินแดนว้า ส่วนลัวะเมืองน่านที่ถือผีสายแม่มาจากเชื้อสายชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมตั้งแต่สมัยปู่เจ้าลาวจก พร้อมกับการเชื่อมโยงถึงการอพยพ ตั้งถิ่นฐานของลัวะในประเทศไทยทั้งพื้นที่แม่แจ่ม แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน และที่เมืองน่านในเขตติดต่อกับเมืองไชยะสถาน สปป.ลาว

จากข้อมูลที่แสดงความเห็นต่างกับการเชื่อมโยงลัวะกับว้าในการศึกษาเรื่อง “ว้า” ของ นรเศรษฐ์ พิสิฐพรพรรณ กล่าวว่า เป็นคนละกลุ่มชาติพันธุ์กับลัวะ “ว้า” เป็นคำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งชาวจีนฮ่อซึ่งมีความใกล้ชิดกับว้า สามารถจำแนกชาวว้า และชาวลัวะออกจากการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ชาวว้าพูดภาษาจีนยูนนาน และมีความเชื่อเรื่องตัดศีรษะมนุษย์ซึ่งลัวะไม่มีความเชื่อนี้อยู่ และมีความต่างทางวัฒนธรรมซึ่ง นรเศรษฐ์ อธิบายไว้ว่า ชาวว้า มีภาษาเป็นของตนเอง อาศัยอยู่ในที่สูงบริเวณภูเขาในประเทศไทยในเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน อยู่รวมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น จีน ฮ่อ ลาหู่ อาข่า ไทใหญ่ ใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารมีวัฒนธรรมการดื่มชา จะแสดงตนว่าเป็นจีนฮ่อหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมากกว่าที่จะบอกว่าเป็นชาวว้า ดังนั้นการจำแนกด้านวัฒนธรรมเฉพาะการสืบผีฝ่ายพ่อเป็นเหตุผลหลัก ร่วมกับประเด็นการอพยพโยกย้าย ยังอยู่ในความคลุมเครือด้วยข้อสันนิษฐานที่หลากหลายในการเชื่อมโยงไปถึงสมัยก่อนล้านนา ช่วงอาณาจักรล้านนาตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือแม้แต่ช่วงอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์ยังเป็นประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ลัวะที่มาจากข้อสันนิษฐาน

พื้นที่ชุมชน

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่

จำนวนประชากร

บ้านกกเชียง ตำบล ห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี

พื้นที่ลาบลุ่ม

1,100 คน

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชุมชน ชาติพันธุ์

ชาวบ้านละว้าอธิบายความเป็นมาของละว้าว่า เมื่อก่อนชาวละว้าเรียกตัวเองว่า โอก๋อง คำว่า “โอ” แปลว่า “คน” ส่วน “ก๋อง” ไม่ทราบความหมาย อาจมาจากคำว่า “ละว้า” ซึ่งเกิดจากการพูดเร็ว จึงทำให้ชาวบ้านสามารถรับคำว่า “ละว้า” มาใช้โดยสะดวกใจ ดังนั้น เวลาที่มีนักวิชาการ ทางการ และชาวลาวครั่งที่ยังไม่ได้รู้จักชาวโอก๋องดีพอก็มักจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ละว้า อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่เวลาพบกับคนภายนอก ชาวโอก๋องมักเรียกตนเองด้วยว่า “ละว้า” ทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่ามีชาวละว้าหรือลัวะอาศัยอยู่ในเขตนี้ไปด้วย

ชื่อของชาวละว้าปรากฏอยู่ในนิราศสุพรรณซึ่งสุนทรภู่แต่งเป็นโคลงขึ้นในราวปี พ.ศ. 2379
หรือ 185 ปีก่อน (สมัยรัชกาลที่ 3) ถือเป็นหลักฐานเก่าแก่ชิ้นหนึ่งที่มีการเอ่ยถึงชาวละว้า คราวนั้นสุนทรภู่เดินทางมาเมืองสุพรรณบุรีเพื่อจะ ‘เล่นแร่แปรธาตุ’ คือหา ‘ปรอท’ เพื่อจะนำไปทำเป็นยาอายุวัฒนะตามความเชื่อของคนในยุคนั้น สุนทรภู่มีชาวกะเหรี่ยงนำทางเข้าไปในดินแดนของชาวละว้า และเอ่ยถึงชาวละว้าหลายครั้ง เช่น

สาวสาวเหล่าลูกลว้า หน้าชม

ยิ้มย่องผ่องผิวสม ผูกเกล้า

คิ้วตาน่านวลสม เสมอฮ่าม งามเอย

แค่งทู่หูเจาะเจ้า จึ่งต้องหมองศรี ฯ

(ลว้า = ละว้า)

ปัจจุบันยังมีชาวละว้าอาศัยอยู่เป็นกลุ่มป็นก้อนที่ ‘บ้านละว้าวังควาย’ (โรงเรียนและวัดก็ใช้ชื่อละว้าวังควาย) ตั้งอยู่ที่ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง,‘บ้านละว้ากกเชียง’ ตำบลห้วยขมิ้น จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังมีชาวละว้าอาศัยอยู่ในอำเภอบ้านไร่และอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี แต่ทุกพื้นที่ก็เหลือชาวละว้า
น้อยเต็มที เพราะมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ เหลือเชื้อสายละว้าจริง ๆ ไม่กี่ครอบครัว

ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา มี 16 หมู่บ้าน ประชากรดั้งเดิมเป็นชาวลาวครั่งหรือลาวคังที่ถูกกองทัพสยามกวาดต้อนครัวเรือนเข้ามาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีชาวละว้า ปัจจุบันมีทั้งชาวอีสาน ชาวสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียงที่เข้ามาอยู่อาศัย หรือแต่งงานกับคนในท้องถิ่น

การประกอบอาชีพของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์

อาชีพส่วนใหญ่คือ ปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เนื่องจากสมัยก่อนชาวละว้ามีการแต่งงานกับคนในท้องถิ่น ซึ่งมีชาวอีสาน ชาวสุพรรณบุรี และคนท้องที่ดั่งเดิมอาศัยอยู่และได้ทำการปักหลักเพื่อทำการเกษตร โดยส่วนมาก ชาวละว้าดั่งเดิม ผู้หญิงจะนิยมทอผ้า ทำอาหารอยู่เรือน และ ส่วนผู้ชายจะเข้าป่าล่าสัตว์และหาของป่าเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวแต่เนื่องด้วย กฎหมาย ทำให้วิถีชีวิตดั่งเดิมของชาวละว้านั้นหายสาปสูญไปในที่สุด

สถานการณ์ของชุมชน

การเคลื่อนไหวของชาวโอก๋องเพื่อสร้างเครือข่ายชาติพันธุ์อาจกล่าวได้ว่ามีความชัดเจนมาก
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมาโดยเริ่มต้นจากโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาศูนย์ละว้า (ก๋อง)
ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีนางฉวีวรรณ ศิริปิมา เป็นหัวหน้าโครงการ มีสถาบันวิจัยภาษา
และวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษา โดยโครงการนี้มีความพยามยามเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน พยายามเผยแพร่วัฒนธรรมและภาษาของตนเองด้วยการไปสอนภาษาและวัฒนธรรมให้กับทางโรงเรียนด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อีกด้วย เพื่อทำให้คนทั่วไปรู้จักและเข้าใจชาวโอก๋องมากขึ้น

วิถีชีวิต / วัฒนธรรม

ในอดีตอย่างน้อยเมื่อราว 50-60ปีก่อน ราวก่อน พ.ศ.2500ชาวโอก๋องยังดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรแบบยังชีพ และการล่าสัตว์หาของป่าเป็นหลัก ในไร่ข้าวจะปลูกพืชอาหารหลายชนิดร่วมกัน
เช่น ฟักทอง โหระพา ตะไคร้ มะเขือ นอกจากนี้ยังมีการปลูกข้าวโพด อ้อย และพริกบ้างเพื่อเอาไปขาย
ส่วนของที่ซื้อกลับมาได้แก่หอม กระเทียม ปลาร้า เกลือ ปัจจุบันชาวโอก๋อง ทำการปลูกข้าวแบบไร่ ซึ่งเป็นแบบไร่หมุนเวียน เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับที่ดอนและภูเขา

ความรู้ / ภูมิปัญญา

ผู้หญิงละว้ามีการแต่งกายที่สวยสะดุดตา ละว้าไม่รู้จักการทอผ้า แต่สามารถตัดเย็บได้ สมัยก่อนจะซื้อผ้าย้อมครามสีน้ำเงินมาจากตลาด แล้วเอามาตัดเองเรียกว่าเสื้อคราม ปัจจุบันนิยมสีเสื้อเป็นสีดำ ชาวบ้านบางคนให้ข้อมูลว่า สมัยก่อนก็มีการใช้สีดำด้วยเช่นกัน เมื่อตัดเสื้อเสร็จแล้วก็ใช้ด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว มาเดินเส้นรอบแขนและคอ โดยด้านหลังปักเป็นลายสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วปล่อยเส้นด้ายเป็นเส้นยาวๆ 3-4เส้น ลายด้านหลังนี้เรียกว่า "ลายลูกยาง" เมื่อปักลายเสร็จจึงเย็บด้านข้างให้ติดกันเป็นตัวเสื้อ เรียกว่า "เสื้อพ็อก" หรือในภาษาไทยเรียกว่า "เสื้อเก๊าะ" ผู้หญิงบางคนจะห่มสไบผืนเล็ก ๆ ทับด้วย ลายปักสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านหลัง หรือ "ลายลูกยาง" นี้ เป็นลายที่มีความหมายต้องการสื่อถึงดอกของต้นยางที่ลอยไปตามลม เปรียบได้กับญัฮกุรที่ต้องกระจัดกระจายพลัดพรากจากกันไปยังที่ต่างๆ ส่วนลายดอกไม้เล็ก ๆ ที่ปักตามชายเสื้อเป็นลายดอกมะเขือ

ส่วนผ้านุ่ง ซื้อมาเป็นผืนจากตลาด นิยมสีสดๆ เช่น สีแดง สีเขียว มีบ้างที่นุ่งสีม่วง วิธีการนุ่งก็จะนุ่งแบบมีชายพกด้านข้าง ถ้าเวลาจะไปวัดหรืองานพิธีต่าง ๆ ก็จะมีผ้าคล้องคออีกผืนหนึ่ง ทรงผมจะเกล้ามวย

เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ก็จะมีกำไลเงิน สร้อยคอเงิน และต่างหูที่ทำด้วยไม้ติดกระจกด้านหน้า หรือทำด้วยโลหะเช่นเงิน ปกติถ้าอยู่บ้านจะไม่ใส่ต่างหู ปล่อยให้เห็นเป็นรูกว้าง ๆ

ในสมัยก่อน ผู้ชายละว้าจะนุ่งโจงกระเบน วิธีนุ่งมี 3แบบ แบ่งตามวัย ถ้าเป็นคนหนุ่มจะนุ่งโจงกระเบน หางกระเบนจะต้องเรียวกริบ เรียกว่า "โจงกระเบนหางแย้" ถ้าแต่งงานมีลูกแล้ว หางกระเบนจะยาน ๆ เรียกว่า "โจงกระเบนหางช้าง" ส่วนคนแก่จะนุ่งโจงกระเบนลอยชาย สวมกับเสื้อคอป่านหรือม่อฮ่อม

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และความนิยมในเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ ทำให้ชาวบ้านไม่เย็บเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมอีก จนกระทั่งเมื่อราว พ.ศ. 2548 ด้วยแรงกระตุ้นจากมหาวิทยาลัยมหิดลและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ จึงได้เริ่มมีกระบวนการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ประเพณี / เทศกาล

ประเพณีกู้ดล้อ

ในอดีตประเพณีกู้ดล้อ บางครั้งเรียกว่า “เล่นกู้ดล้อ” จะจัดขึ้นในเดือน 4 (ราวมีนาคม) แรม 12 ค่ำ เป็นวันที่คนในหมู่บ้านจะไม่ทำงานกัน ตั้งแต่เช้าทุกคนจะต้องไปหาอาหารป่าเช่น แย้ และอื่น ๆ มาทำเป็นอาหาร มีการหมัก “เหล้าโท” (เหล้าที่ยังไม่กลั่น) ดื่มกัน กินเหล้ายาปลาปิ้งกันทั้งวันทั้งคืน พอถึงช่วงเวลากลางคืนจะเล่นรำวง ฟังดนตรี ตีกลอง และเป่าแคนกันสนุกสนาน ในปัจจุบัน ประเพณีกู้ดล้อเลิกทำกันไปแล้วในหมู่บ้านด้วยเหตุผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้คนในหมู่บ้านไม่มีเวลามากพอเช่นเคย น่าจะหายไปประมาณ 20-30 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ชาวบ้านเริ่มปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ประเพณีเวย่าหย่า

เป็นประเพณีที่เลิกทำกันไปแล้ว ในอดีตจะถือเอาวันแรกของเดือน 3, 4, และ 5 (เดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม) เป็นวันที่ฉลองกัน ไม่ทำงาน แต่จะกินเลี้ยงกัน ถือเป็นวันพักผ่อน แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยไปทำไร่ ประเพณีเวย่าหย่าเลิกทำกันไปประมาณ 20-30 ปีเช่นเดียวกับประเพณีกู้ดล้อ

ศาสนา

ชาวละว้าส่วนมากจะนับถือศาสนา พุทธ และนับถือผีเป็นหลักแต่ในบ้างโอกาสของงานพิธี ประจำปี หรือในพิธีกรรมสำคัญของหมู่บ้าน ผู้นำพิธีกรรมหรือเรียกว่า “จาจ้ำ” จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นจาจ้ำ คำว่า “จาจ้ำ” นั้นเป็นคำในภาษาลาว ซึ่งสะท้อนการรับอิทธิพลของกลุ่มลาวครั่งมาอย่างมาก เมื่อสอบถามจากจาจ้ำคนปัจจุบันคือนายเตย แสนเงิน ว่าตำแหน่งจาจ้ำนั้นมีคำศัพท์ในภาษาโอก๋องหรือไม่ ไม่พบว่ามีคำศัพท์ดังกล่าว สำหรับการสืบทอดความเป็นจาจ้ำจะสืบทอดผ่านสายตระกูล จะต้องเป็นคนที่มีเชื้อสายของโอก๋องหรือละว้าเท่านั้น การเรียนรู้ความเป็นจาจ้ำเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้มีการฝึก อาศัยการเรียนรู้เอาเอง เมื่อถึงคราวที่จะต้องทำหน้าที่เป็นจาจ้ำจะมีการเสี่ยงทายด้วยการหยิบข้าวสาร ถ้าได้เม็ดเดียวหรือเป็นเลขคี่จะได้เป็น แต่นอกจากการเสี่ยงทายแล้ว ในกรณีของนายเตย นั้นได้เป็นจาจ้ำ เพราะคนอื่นในหมู่บ้านเข้าฝันแล้วมาบอกว่านายเตยจะต้องเป็นจาจ้ำ ที่ผ่านมาพบว่าสายตระกูลอังดีก้องมักจะได้เป็นจาจ้ำ

ศิลปะ / การแสดง

สมัยก่อน ในชุมชนมักได้ยินเสียงร้องเพลง "ปะเรเร" หรือ "กระแจ๊ะ" คล้ายกับการแสดงลำตัดในภาคกลาง มีการเอื้อนทำนองไพเราะฟังแล้วค่อนข้างเศร้า เนื้อเพลงจะเกี่ยวกับการพูดคุย สอบถามสารทุกข์ การเกี้ยวพาราสี มีบ้างที่นำเอาเรื่องเล่าที่เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวอีสานเช่นพระเวสสันดร มาดัดแปลงร้องเข้าไปด้วย ปกติการเล่นปะเรเรจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ชาย หญิง ร้องโต้ตอบกันไปมา โดยจะมีผู้บอกบทให้กับผู้เล่นทั้งสองฝ่าย เครื่องดนตรีที่ใช้มีเพียง 2 ชิ้น ผู้หญิงจะทำหน้าที่ตีกลองโทน ส่วนผู้ชายจะเป่าใบไม้

การละเล่นปะเรเรขาดหายไปนานเกือบ 30 ปีแล้ว เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คนรุ่นใหม่ไม่สามารถตีกลองโทนด้วยทำนองเก่าได้อีก มีเพียงรุ่นคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่สามารถเล่นได้ แต่ก็เหลือน้อยคนเต็มทีเพราะความชราภาพ

เมื่อนึกถึงบทบาทของผู้หญิงที่เล่นเครื่องดนตรีแล้ว ในภาพปูนปั้นสมัยทวารวดีพบภาพของผู้หญิงเล่นเครื่องดนตรีเป็นวงประกอบด้วยพิณ พิณเปี๊ยะ ฉิ่ง และมีคนขับร้อง

ตำนาน

เรื่องนิทานลูกเสือลูกวัว

เล่ากันว่าแม่เสือกับแม่วัว ต่างคนต่างทำไร่ ต่อมาต่างคนต่างมีลูก ลูกวัวและเสือต่างเป็นเพื่อนกัน อยู่มาวันหนึ่งปรากฏว่าทั้งสองไปนอนใต้ต้นไทรใหญ่ (ต้นไฮ) เทวดาเห็นจึงแกล้งด้วยการเขี่ยเอาขี้เถ้าลงมา เพื่อให้ทั้งสองคนตื่น พอตื่นขึ้นมาก็มองเห็นหำ (อวัยวะเพศ) ของเทวดา เลยเอาคืนด้วยการเอาคีมหนีบหำ เทวดาบอกให้ปล่อย ถ้าปล่อยจะขออะไรก็จะให้ ลูกวัวจึงขอว่าขอให้คนที่ถูกยักษ์กินฟื้นคืน มนุษย์เลยกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ลูกวัวและเสือได้กลายเป็นมนุษย์ ได้ดาบเหล็ก และดาบเหล็กอ่อน ต่อมาลูกวัวเจอช้างเผือกกับช้างดำต่อสู้กัน ลูกวัวฟันงาช้าง ต่อมาได้เข้าไปในบ้านได้ยินเสียงไก่ขัน ในบ้านไม่มีคนเพราะยักษ์กิน แต่เจอเด็กอยู่ในกลองที่เย็บติดไว้ บอกเด็กให้หุงข้าว ทำห้องให้ ปรากฏว่ายักษ์มาอีก ได้กลิ่นเนื้อมนุษย์ ลูกวัวได้ต่อสู้กับยักษ์ ฟันคอยักษ์ขาดจึงชนะ และได้ผู้หญิงในกลองซึ่งเป็นเจ้าหญิง แล้วเลยได้เมืองไปด้วย นิทานข้างต้นมีเนื้อเรื่องคล้ายกับเรื่องหลวิชัยคาวี และปัญญาสชาดกเรื่องคันธกุมาร

Location
Amphoe Dan Chang Province Suphan Buri
Details of access
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
Reference นางสาวทิพย์สุดา อิ่มใจ Email spbcul@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
Amphoe Mueang Suphan Buri Province Suphan Buri ZIP code 72000
Tel. 035536058
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่