ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 14° 14' 1.0997"
14.2336388
Longitude : E 100° 2' 4.263"
100.0345175
No. : 195285
กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
Proposed by. สุพรรณบุรี Date 14 January 2022
Approved by. สุพรรณบุรี Date 14 January 2022
Province : Suphan Buri
0 652
Description

กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมอญ ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชุมชน ชาติพันธุ์

เมื่อราวปี 2450 – 2451 ชาวมอญจากบ้านดอนกระเบื้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
จำนวน 4 – 5 ครอบครัว ได้อพยพมาเพื่อหาแหล่งที่ดินทำกินแห่งใหม่ เนื่องจากประสบปัญหาด้านที่ดิน
โดยเดินทางด้วยวัวเทียมเกวียน มุ่งหน้าทางเหนือ เพื่อไปที่บ้านดอนสำโรง เมื่อขบวนเดินทางผ่านเส้นทางอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผ่านบ้านหนองพุกนก จนล่วงเข้ามาในพื้นที่ วัดทุ่งเข็น ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เกวียนเล่มนำขบวนเกิดติดหล่มโคลน จุ๊หมิ่น จุ๊เหมิ่น จุ๊ซัว หัวหน้าขบวน
และผู้ที่ร่วมขบวน จึงช่วยกันลากและเข็นจนอ่อนแรง แม้จะมีชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยก็ดันไม่ไปจนตกค่ำ
จึงตั้งล้มเกวียนพักแรมตรงที่ติดหล่มนั้น ตกกลางคืนมีเจ้าที่เจ้าทางมาเข้าฝัน จุ๊หมิ่นให้อยู่ที่นี้ จึงเป็นที่มาของมอญวัดทุ่งเข็น

กลุ่มชาติพันธุ์มอญบ้านทุ่งเข็น ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง โดยย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนมอญ ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ มาอาศัยตั้งรกรากประกอบอาชีพเกษตรกรรม การย้ายถิ่นฐานไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมใหม่ ท่ามกลางความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี
จึงเกิดการปรับตัว ซึมซับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมรอบข้างเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิม เห็นได้จากการใช้ภาษามอญในการสื่อสารถึงแม้ว่ามีจำนวนผู้ใช้ภาษามอญไม่มากในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านยังคงมีความตระหนัก
และภูมิใจในความเป็นคนเชื้อสายมอญ สืบทอดความเชื่อ วิถีชีวิตและประเพณี ถึงแม้ว่าบางส่วนจะได้ถูกกลืนเข้ากับวัฒนธรรมไทยภาคกลาง

ความพยายามในการฟื้นฟูวัฒนธรรมและประเพณีของคนเชื้อสายมอญบ้านทุ่งเข็น เกิดจากการ
ร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญ โดยมีสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน คือ ที่วัดทุ่งเข็น ซึ่งเป็น
ศาสนสถานสำหรับปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องชาวมอญ อัตลักษณ์อย่างหนึ่งชองชาวมอญคือความเลื่อมใส
และศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อถือในพระสงค์และความเคารพในระบบอาวุโส ดังนั้นวัดทุ่งเข็นจึงเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูวัฒนธรรมและประเพณีมอญในชุมชนบ้านทุ่งเข็นให้เกิดขึ้น โดยพระครูขันตยานุสิฐ
(บุญมี ธมฺมสาโร) เจ้าอาวาสวัดทุ่งเข็น องค์ปัจจุบันได้พยายามรวบรวมประวัติศาสตร์มอญและส่งเสริมให้
ชาวมอญในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของชาติพันธุ์ และแสดงออกถึงการมีตัวตนของชาวมอญบ้านทุ่งเข็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี

พื้นที่ชุมชน

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่

จำนวนประชากร

บ้านหนองลิง ตำบล บ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี

พื้นที่ลาบลุ่ม

410 คน

บ้านทุ่งดอก อำเภอสองพี่น้องสุพรรณบุรี

พื้นที่ลาบลุ่ม

1,120 คน

การประกอบอาชีพของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์

ชาวมอญส่วนใหญ่ก็จะทำไร่, ทำนา, รับจ้าง, ทอผ้า

สถานการณ์ของชุมชน

มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการแต่งกายตามยุคสมัย แต่ยังคงอนุรักษณ์วัฒนธรรม และประเพณี
เดิมไว้ โดยส่วนมากในพื้นที่ชุมชนมอญ จะเลือกสร้างที่อยู่อาศัยให้มีทางน้ำผ่านเป็นหลัก ซึ่งเหมาะต่อการ
ทำการเกษตร ต่อมาได้มีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ และ กลุ่มทอผ้าขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์ ความเป็นมอญ
และประเพณีพิธีกรรมแบบดั้งเดิมไว้

ชุมชนมอญบ้านทุ่งเข็น ให้การตอบรับและสนับสนุนการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมมอญ ให้กลับมาอีกครั้ง โดยมีเจ้าอาวาสวัดทุ่งเข็นเป็นผู้นำชุมชน เป็นผู้ริเริ่มโดยการเริ่มจากวัดที่เป็นศูนย์รวมของชุมชน เริ่มสร้างความเป็นมอญ ผ่านสถาปัตยกรรม ศาสนา การชักจูงคนมอญให้เข้ามาในชุมชนโดนการจัดฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี วัดทุ่งเข็น ทำให้คนในชุมชนตื่นตัวและฟื้นฟูความเป็นมอญอีกครั้ง ทั้งทางด้านการแต่งกาย ประเพณีการแห่หงส์ธงตะขาบ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานสำคัญๆ ของจังหวัดเช่น งานเข้าพรรษา งานสงกรานต์
พี่น้องชาวมอญพร้อมใจกันแต่งกายชุดมอญ เพื่อประกาศการมีตัวตนของชุมชนและการสร้างอัตลักษณ์ชุมชนให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

วิถีชีวิต / วัฒนธรรม

กลุ่มชาวมอญบ้านหนองลิง ได้แยกตัวออกมาจากบ้านทุ่งเข็น เมื่อมีการประกอบพิธี หรือประเพณีต่าง ๆ จะไปรวมตัวกันประกอบพิธีที่วัดทุ่งเข็น เนื่องจากญาติส่วนใหญ่ รวมถึงกระดูกบรรพบุรุษ (ใส่กระดูกไว้ในรูปปั้นหงส์ รอบกำแพงโบสถ์) ทั้งหมดจะอยู่ที่นั้น “หงส์” ก็คือ มาจากหงส์สาวดี ถือเป็นสิริมงคลกับวงศ์ตระกูล “การแต่งงาน” ของชาวมอญ จะแต่งวันเดียวกัน คือเดือน ๖ (แต่งวันเดียวกัน) เพราะเดือน ๖ เป็นเดือนไหว้ผี สามารถแต่งก่อนเดือน ๖ ได้ แต่จะไม่สามารถไหว้ผีได้ จะต้องรอไปไหว้เดือน ๖ พร้อมกัน แต่จะไม่สามารถแต่งในบ้านได้ จะต้องออกไปแต่งนอกบ้าน ด้านการแต่งกายในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามสมัยแต่ยังแต่งชุดมอญตามงานประเพณีอยู่

การใช้ภาษามอญของคนเชื้อสายมอญบ้านทุ่งเข็นนั้น ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้และเข้าใจภาษาน้อยลง ผู้ที่สามารถสื่อสารภาษามอญได้อยู่ในช่วงอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป และมีผู้ที่สามารถเขียนภาษามอญได้มีจำนวนน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมแวดล้อมและระบบการศึกษาที่สื่อสารด้วยภาษาไทยทำให้เยาวชนรุ่นหลังไม่สื่อสารเป็นภาษามอญ เอกสารโบราณที่พบภายในวัดทุ่งเข็นพบใบลานและสมุดเขียนเป็นอักขระมอญ เป็นตำรายาและเกี่ยวกับบทสวด ทั้งนี้ เจ้าอาวาสพยายามที่จะฟื้นฟูภาษามอญอีกครั้งแต่นับว่าเป็นสิ่งที่ยาก

ความรู้ / ภูมิปัญญา

ความรู้และภูมิปัญญาในการทอผ้ามีการสืบทอดมากว่า ๓-๔ รุ่น ภูมิปัญญาและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมอญได้แก่ การปักผ้า ที่มีความสวยงามกว่าที่อื่น ลายปักของชาวมอญจะมีลาย “ดอกมะเขือ” เพราะดอกมะเขือเป็นดอกไม้ที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นดอกไม้ใกล้ตัว และเป็นดอกไม้ที่เป็นสิริมงคล “ดอกจันทร์” เป็นไม้ชั้นสูง (ต้นจันทร์) “ดอกพิกุล” เป็นดอกไม้ที่นำมาร้อยเพื่อไปเคารพกราบไหว้รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ “ลายขอบพาน” เอามาจากพานที่ใช้ไปทำบุญ ลายทั้งหมดถือเป็นสิริมงคลทั้งหมด จึงได้นำมาลงในผืนผ้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับประเพณีและวัฒนธรรมของชาวมอญที่สืบทอดกันมา

วัฒนธรรมการแต่งกาย

การแต่งกายชาย

การแต่งกายของชายชาวมอญบ้านทุ่งเข็นได้รับอิทธิพลมาจากการแต่งกายของชาวมอญ
ในอำเภอสังขะบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวคือ การสวมเสื้อแขนยาวมีลักษณะตัวเสื้อผ่าหน้า มีลวดลายเป็นเส้นตารางสีแดง นิยมนุ่งผ้าลายตารางเล็ก ๆ และที่แสดงเอกลักษณ์ของผ้านุ่งของชาวมอญคือผ้านุ่งนั้นต้องมี
เส้นสีขาวคาดขวางกลางผ้านุ่ง จึงเป็นลักษณะผ้านุ่งของชาวมอญแท้ ซึ่งเป็นการรับรู้ของชาวมอญที่บ้านทุ่งเข็นและนำไปใช้เพื่อแสดงความเป็นชาติพันธุ์มอญ การแต่งกายที่มีลักษณะแตกต่างจากชายมอญสังขะบุรี
คือ การนำผ้าสไบมาพาดไหล่

การแต่งกายหญิง

การแต่งกายของหญิงชาวมอญบ้านทุ่งเข็นได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากชาวมอญที่สังขะบุรีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผ้านุ่งที่เป็นผ้าลายดอกพิกุลมีลายขวางคาดบริเวณเหนือตีนผ้านุ่ง แต่ลักษณะที่โดนเด่นของเครื่องแต่งกายหญิงชาวมอญ คือ สไบ โดยนำลวดลายสไบของชาวมอญจากจังหวัดสมุทรสาคร
มาเป็นแบบอย่างแล้วพัฒนาผลิตเองได้ในท้องถิ่น โดยผู้ที่ริเริ่มประดิษฐ์สไบคือ นางจรรยา ชาวบ้านใหม่ ข้าราชการบำนาญ โดยจุดเริ่มต้นเกิดจาก เมื่องานฉลองครบ ๑๐๐ ปี วัดทุ่งเข็น

อัตลักษณ์ของสไบมอญประกอบไปด้วยสามส่วนด้วยกัน คือ ขอบสไบ ลายดอกจัน และลายดอกพิกุล ในส่วนที่แตกต่างกันออกไป คือ การออกแบบลายตกแต่งบริเวณภายในผืนของสไบ ขนาดของสไบมอญนั้นมีความกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๑๘๐ – ๒๕๐ เซนติเมตร มีการออกแบบลวดลายปัก

ประเพณี / เทศกาล

“พิธีการเลี้ยงผี” ขึ้นอยู่แต่ละบ้าน บางบ้านก็เลี้ยงทุก 1 ปี บางบ้านก็ 3 ปี (จะใช้ข้าว, ไก่, ผ้าขาว กว้าง 5 คืบ ยาว 5 ศอก, ) การไหว้บรรพบุรุษ (ตั้งพานครู ไหว้ปู่ย่าตายายที่นับถือ) เมื่อถึงพิธีงานเลี้ยงผี
จะมีการทำ “พิธีโกนจุก” (การไว้จุกเป็นการไว้ตามบรรพบุรุษ), “งานแต่ง”, “งานปลูกบ้าน” จะต้องทำพร้อมกันในวันเดียวกันในตะกูล

“ประเพณีแยกผี” หรือรำผีมอญ เป็นการรำแก้บน โดยจะมี “โต้ง” คือ เจ้าพิธี จะมีการตั้งปรัมพิธี
จากทางมะพร้าวมาทำพิธี

“พิธีแห่หงส์ ธงตะขาบ” จะทำในช่วงวันที่ 15 ของช่วงสงกรานต์, “ทำบุญเข้าพรรษา”,
“ออกพรรษา”, “สงกรานต์” พิธีทั้งหมดจะต้องไปจัดที่วัดทุ่งเข็ญ ไปที่ต้นตระกูล (ไปตามบรรพบุรุษ) โดยชาวมอญแต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์ด้วยสีสันที่สดใสพร้อมทั้งถือเครื่องสักการะและธงตะขาบ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ มีการแห่รูปปั้นหงส์ไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยแห่ไปตามหมู่บ้านและเคลื่อนขบวนไปเวียนรอบอุโบสถวัดทุ่งเข็นจำนวน ๓ รอบ หลังจากนั้นนำธงตะขาบไปแขวนไว้บนเสาหงส์บริเวณด้านหน้าอุโบสถของวัดทุ่งเข็น เรียกว่า “แห่หงส์ ธงตะขาบ”

ชาวมอญบ้านทุ่งเข็น ยังคงรักษาความเชื่อและสืบทอดจากบรรพบุรุษ อีกทั้งปฏิบัติสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งที่เป็นแบบดั้งเดิมและประเพณีที่ฟื้นฟูขึ้น ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์
ทำบุญกลางบ้าน เข้าพรรษา ออกพรรษา ทำบุญตักบาตร และถือศีล มีประเพณีที่สำคัญๆ ดังนี้

สงกรานต์แห่หงส์ ธงตะขาบ ( โหน่)

โหน่ หรือ ธงตะขาบ สร้างขึ้นเพื่อไถ่บาป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องพุทธประวัติ มีเรื่องเล่าว่า มีฤษี ๔ ตน บำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขา ๔ แห่ง ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณไว้ว่าทุก ๆ ปีจะชูธงขึ้นเหนือยอดเขา เพื่อเป็นสัญญาณว่ายังมีชีวิตอยู่หรือบรรลุธรรมไปตามลำพัง ต่อมามีฤษีตนหนึ่งได้สิ้นชีวิตลงและไปเกิดเป็นพระราชา อยู่มาวันหนึ่งพระราชามีอาการแสบร้อนในพระวรกายไม่สามารถทนได้จึงเรียกหมอและโหรมาทำนายโหรทำนายถึงอดีตชาติพระราชาได้กระทำการเสียสัตย์ต่อฤษีทั้งสามตน จึงได้เตรียมกระบวนเรือไปยังเขาสามลูกเพื่อขอขมาแก่ฤษี
ขากลับพบกับกองงาช้างขนาดใหญ่จึงสั่งให้ทหารนำกลับไปยังพระราชวัง พญาตะขาบซึ่งเป็นเจ้าของงาช้างกลับมาไม่พบจึงได้ออกติดตามหางาช้าง ระหว่างทางมีปูยักษ์ขวางอยู่ ขบวนเรือพระราชาสามารถผ่านก้ามปู
ไปได้ แต่พญาตะขาบมีขนาดใหญ่กว่าจึงโดนก้ามปูหนีบขาดสองท่อนตายลง หลังจากพระราชากลับมาถึงพระราชวังรู้ถึงกรรมหนักที่ตนได้กระทำไว้จึงสร้างหอคอยงาช้างสูง ๗ ชั้น แล้วทำธงรูปตะขาบแขวนไว้บนหอคอยเพื่อระลึกถึงพญาตะขาบ

ตามความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชาวมอญบ้านทุ่งเข็น จึงรวมตัวกันในเทศกาลสงกรานต์นอกจากจะมีการทำบุญและสรงน้ำพระแล้ว ยังมีการทำธงตะขาบสำหรับนำไปแขวนเสาหงส์ ธงตะขาบประดิษฐ์จากผืนผ้าสีแดงมีลักษณะเป็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาว มีหัวและท้ายเป็นสามเหลี่ยม
กลางผืนสอดไม้หรือวัสดุชนิดแข็งเย็บตรึงเป็นข้อๆ ประดับด้วยเลื่อมหรือวัสดุสะท้อนแสงให้เกิดความสวยงาม ด้านบนประดับรูปหงส์ และประดิษฐ์เป็นธงขนาดเล็กสำหรับไว้ถือในขบวนแห่ธงตะขาบอีกด้วย

ทุคคตะทาน

ทุคคตะทาน เป็นการถวายอาหารพระภิกษุสงฆ์อย่างหนึ่ง โดยปกติคนมอญนั้นนิยมเดินทางไปทำบุญถวายภัตราหารแด่พระภิกษุ สามเณรที่วัด ด้วยข้าวและอาหารจำนวนมาก ทั้งนี้หากบางครอบครัวที่มีกำลังในการซื้อของทำบุญถวายภัตตราหารแด่พระภิกษุน้อย ดังนั้น จึงรอนิมนต์ในงานบุญทุคคตะ พระสงฆ์จะทำสลากสำหรับให้ชาวบ้านได้เลือกจับโดยหากจับได้ชื่อพระสงฆ์รูปใดก็จะนิมนต์พระภิกษุมาฉันภัตตราหารที่บ้านได้ ซึ่งการทำบุญที่ทุคคตะทานนั้นกระทำกันในปีที่มีเดือน ๘ สองหน

ศาสนา

ชาวมอญส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และยังมีการนับถือผี (ผีงู) เป็นการสืบทอดทางสายเลือด (เฉพาะลูกผู้ชาย) ที่สืบสายเลือดหมองูมาตั้งแต่โบราณ และ ผีเต่า

ศาสนาและความเชื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของมนุษย์ทุกเชื้อชาติ โดยยึดถือสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษผ่านกาลเวลาและเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม คนเชื้อสายมอญบ้านทุ่งเข็น มีสิ่งที่เคารพสักการะ ตามความเชื่ออยู่ ๒ สิ่ง คือ การนับถือศาสนาพุทธและการนับถือผีบรรพบุรุษ ดังนี้

พุทธศาสนา

วัดทุ่งเข็น ศาสนสถานที่สำคัญในการปฏิบัติศาสนพิธีและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเชื้อสายมอญในหมู่บ้านทุ่งเข็น โดยสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เดิมมีโครงสร้างไม้หลังคามุงแฝก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ชาวบ้านได้ร่วมกันช่วยสร้างอุโบสถหลังใหม่ทั้งนี้ต้องปล่อยทิ้งร้างไว้เนื่องจากประสบปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของอุโบสถไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้ทำการรื้ออุโบสถหลังเก่าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้แล้วสร้างใหม่ในตำแหน่งเดิมจนกระทั่งแล้วเสร็จและประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ในปีถัดไปได้มีการผูกพัทธสีมาและปิดทองฝังลูกนิมิต ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ แต่เดิมวัดทุ่งเข็นได้ดำเนินศาสนกิจตามปกติในรูปแบบปกติที่วัดไทยทั่วไปปฏิบัติ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและประเพณีมอญ พระครูขันตยานุสิฐ จึงได้ริเริ่มศาสนพิธีที่บ่งบอกถึงความเป็นคนมอญในวัดทุ่งเข็น

การเทศน์โดยใช้ภาษามอญได้หายไปจากบ้านทุ่งเข็นเป็นเวลานาน และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐เจ้าอาวาสจึงได้รื้อฟื้นเทศน์มหาชาติภาษามอญ โดยได้นิมนต์พระครูภัททสิริธรรม (อุ่น สิริภัทฺโท) เจ้าอาวาสวัดม่วง
อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มาเทศน์เป็นภาษามอญ ปัจจุบันภาษามอญโบราณเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดม่วง ซึ่งภายในแสดงประวัติศาสตร์และชีวิตชาวมอญที่สำคัญแหล่งหนึ่ง

การนับถือผี

ชาวมอญบ้านทุ่งเข็นนับถือผีตระกูลสำคัญๆ คือ ผีงูและผีเต่า โดยเฉพาะตระกูลผีงูนั้นเป็นตระกูลใหญ่ คนมอญในตระกูลนี้ใช้นามสกุล ว่า “ใจซื่อ” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันกับเจ้าอาวาสพระครูขันติยานุสิฐที่เป็นตระกูลเดียวกัน การนับถือตระกูลผีงูนั้น มีความเชื่อว่าหากผู้ใดถูกงูพิษขบ จะรักษาด้วยคาถาอาคมที่ถ่ายทอดมาพิษงูไม่สามารถกระทำอันตรายใดๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีนามสกุลที่มีเชื้อสายมอญอีกคือ นามสกุล “นิโกรธา” และ “จตุรจงกล” ซึ่งแต่เดิมบางนามสกุลเขียนคำภาษาไทยแทนการออกเสียงในภาษามอญ ซึ่งยากต่อการเขียนและการสะกด จึงเปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทย

ความเชื่อเกี่ยวกับเสาผี (เสาเอก) ซึ่งเป็นที่อยู่บรรพบุรุษ บ้านที่มีเสาผีจะสืบทอดไปทางลูกชายจะต้องเป็นเจ้าของเสาผี ๑ หลัง เรียกว่า “รับผี” และจะประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “เลี้ยงผี” หากไม่กระทำจะเกิดอาเพศจนถึงขั้นอาจจะเสียสติ วิกลจริตเกิดขึ้น เสาผี ประกอบไปด้วยหีบ ใส่เสื้อผ้าของใช้ต่าง ๆ คือ ผ้าขาว ผ้าแดง เสื้อผ้าดิบ ผ้าถุงแดง สังวาล (สายสร้อย) แหวนพลอยสีแดง มีด แหลน (อาวุธอย่างหนึ่งมีลักษณะยาวปลายแหลม) อาวุธประจำตระกูล และมีกระบอกไม้ไผ่ใส่ต้นกระดูกไก่และใบหว้า จำนวน ๗ ยอด แล้วนำไปใส่ตะกร้า

ศิลปะ / การแสดง

สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งก่อสร้างที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น ๆ โดยศิลปะที่ปรากฏอยู่ในสิ่งก่อสร้างเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงชาติพันธุ์มอญของชุมชนบ้านทุ่งเข็นได้เป็นอย่างดี

รูปปั้นหงส์ในสิ่งปลูกสร้าง เป็นสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอญปรากฏอยู่ในหมู่บ้านทุ่งเข็นอย่างชัดเจน นั่นคือ สถาปัตยกรรมที่อยู่ภายในวัดทุ่งเข็น สิ่งปลูกสร้างและอาคารต่าง ๆ เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่มีกลิ่นอายของศิลปะมอญ กำแพงรอบพระอุโบสถปั้นเป็นรูปหงส์ลอยตัวยืนเรียงรายรอบอุโบสถ ลักษณะรูปปั้นหงส์เป็นรูปแบบศิลปะไทย

หงส์ เป็นสัญลักษณ์แทนตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่ปรากฏอยู่ภายในวัด ทั้งนี้ถึงแม้ว่าการสร้างสถาปัตยกรรมยังไม่เป็นรูปแบบศิลปะมอญมากนัก ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูและแสดงออกถึงการมีอยู่ของชาติพันธุ์มอญของชุมชนคนมอญบ้านทุ่งเข็น ต่อมาชุมชนได้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกมากขึ้น การรับรู้และยอมรับตัวตนของคนมอญจึงแสดงออกทางสถาปัตยกรรมอย่างเด่นชัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น วัดและชุมชนร่วมกันสร้างสถาปัตยกรรมในรูปแบบของศิลปะมอญ โดยเฉพาะมณฑปประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีหลังคามณฑปออกแบบให้มีลักษณะแบบมอญ อีกทั้งยังปั้นรูปหงส์ที่แตกต่างไปจากปูนปั้นรูปหงส์ที่กำแพงอุโบสถ กล่าวคือ รูปปั้นหงส์ที่อยู่กำแพงมณฑปปั้นเป็นรูปหงส์ศิลปะแบบมอญ

นอกจากรูปหงส์ที่เป็นปูนปั้นทั้งที่ประดับกำแพงพระอุโบสถหรือรูปปั้นหงส์ที่เป็นศิลปะมอญที่ประดับอยู่รายรอบมณฑปวัดทุ่งเข็นยังมี อาคารอื่นที่ใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจทั้งของพระสงฆ์เอง หรือสถานที่ที่ประชาชนเข้ามาขอใช้ ก็มีสัญลักษณ์รูปหงส์ติดอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น รูปปูนปั้นหน้าบรรณที่ศาลารวมใจภายในวัด

วัดทุ่งเข็นมีการสร้างเสาหงส์ภายในวัดมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เริ่มแรกเสาหงส์สร้างจากไม้สนบนยอดเสามีรูปหงส์ทำด้วยทองต่อมาได้ผุพังไปตามกาลเวลา ภายหลังการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมมอญ ได้สร้างเสาหงส์ขึ้นอีกครั้งโดยใช้แก่นไม้ประดู่ โดยเสาหงส์ของวัดทุ่งเข็นตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของอุโบสถ บนยอดเป็นหงส์ศิลปะแบบมอญ และมีธงตะขาบ(โหน่) แขวนไว้ โดยมีความเชื่อว่าการสร้างเสาธงเป็นการสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามพุทธประวัติ ทั้งนี้ เสาที่ปรากฏในวัดมอญมีลักษณะยอดเป็นรูปหงส์ จึงเรียกว่า “เสาหงส์”

ตำนาน

ชาวมอญจะมีการนับถือผี จะมี “ผีงู” การรักษา (ตะกูลที่นับถือผีงู) จะมีวิธีการรักษาโดยการเป่า
จะมีค่าครู 6 หรือ 12 บาท (ถ้าเกิดโดนงูกัดในชายคาบ้านก็จะ 12 บาท แต่ถ้าโดนกัดข้างนอก ไม่ได้อยู่ในชายคาบ้านก็ 6 บาท) มีหมาก 7 ซีก พลู 7 ใบ ธูป และเทียน เพื่อทำพิธี“ผีเต่า” มีความเชื่อว่าถ้าเกิดเราไปเจอเต่าแล้วมีการโดนตัวเต่า แสดงว่าบรรพบุรุษเค้าอยากกิน จะต้องนำมาทำอาหารให้กับบรรพบุรุษ แต่หากเราไม่อยากทำก็จะคอยระมัดระวังไม่ให้ไปโดนตัวเต่า หรือให้พูดว่า “เหม็น” แล้วไล่ไป

“ความเชื่อ” สีแดงเป็นมงคลประจำชาวมอญจะเห็นได้จาก “ธงตะขาบ” ที่นำขึ้นถวาย จะใช้สีแดง
เป็นหลัก และอีกความเชื่อหนึ่งก็คือ ชาวมอญที่มี “บ้านมอญ” จะไม่ขอเสื้อผ้าที่มีสีแดง และสีขาวกันจะให้เฉพาะคนที่เป็นเครือญาติกัน ตะกูลเดียวกัน (นับถือผีเดียวกัน) เท่านั้น

Location
Amphoe Song Phi Nong Province Suphan Buri
Details of access
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
Reference นางสาวทิพย์สุดา อิ่มใจ Email spbcul@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี Email spbcul@gmail.com
Tambon สนามชัย Amphoe Mueang Suphan Buri Province Suphan Buri ZIP code 72000
Tel. 035536058
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่