ลาวเวียง เป็นชื่อเรียกกลุ่มชนที่มีการย้ายถิ่นฐานจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีการโยกย้ายครั้งใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุครั้งนี้เป็นผลเนื่องจากการก่อกบฏของเจ้าอนุวงศ์ ใน พ.ศ.2369เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงและกรุงเทพฯ ได้รับชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวใกล้เคียงกลับมามากที่สุด เพราะหากให้เวียงจันทน์ตั้งเป็นบ้านเมืองเพื่อช่วยดูแลและเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวต่าง ๆ ให้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ นั้น อาจจะไม่มีผู้ที่จะไว้ใจให้ดูแลได้ทำให้กลุ่มชาวลาวเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวใกล้เคียงถูกกวาดต้อนส่งลงมาหลายครั้ง จนเกิดเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้น ก่อประโยชน์แก่ส่วนกลางทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ชาวลาวที่ย้ายถิ่นเข้ามาทั้งที่ถูกกวาดต้อนและอพยพ ถูกส่งไปยังเมืองต่าง ๆ ในเขตหัวเมืองชั้นใน ในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเหมือนกับบ้านเกิด โดยอยู่รวมกลุ่มกับชาวลาวที่มาอยู่ก่อน เพื่อง่ายต่อการควบคุมดูแล อีกทั้งหัวเมืองเหล่านี้ยังอยู่ไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม ทำให้การหลบหนีเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้หัวเมืองชั้นในยังเป็นเมืองหน้าด่าน ดังนั้น เมื่อข้าศึกยกทัพมากลุ่มชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการกั้นไม่ให้ข้าศึกเข้าถึงราชธานีได้อย่างรวดเร็ว
พื้นที่หลักที่มีความหนาแน่นของกลุ่มลาวเวียง คือ บริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยกระจายอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม เพชรบุรีและราชบุรี
ชาวลาวเวียงที่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครปฐม ได้แก่ วัดกลางคูเวียง ตำบลสัมปทาน อำเภอนครชัยศรี บ้านหนองขาม ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน