ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 8' 32.7156"
16.1424210
Longitude : E 100° 28' 59.0153"
100.4830598
No. : 195810
ประเพณีวันสารทไทย
Proposed by. พิจิตร Date 22 Febuary 2022
Approved by. พิจิตร Date 22 Febuary 2022
Province : Phichit
4 1057
Description

ประวัติความเป็นมา

วันสารทไทยหรือวันทำบุญกลางปีของคนไทย ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ บางที่ก็นิยมเรียกว่า “วันสารทเดือนสิบ” หรือประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยแต่ละภาคจะเรียก แตกต่างกันไป ดังนี้

ภาคกลาง : วันสารทไทย ภาคใต้ : งานบุญเดือนสิบ หรือ ประเพณีชิงเปรต ภาคอีสาน : งานทำบุญข้าวสาก ภาคเหนือ : งานตานก๊วยสลาก

วันสารทไทย ได้รับอิทธิพลมาจากคติอินเดีย เมื่อไทยรับเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีท้องถิ่นแล้วก็จะมีความยึดโยงกับความเชื่อเรื่องสังคมเกษตรกรรมและบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือจะช่วยให้ ดลบันดาลให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ จากหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เชื่อว่า ประเพณีวันสารทไทย มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนสาเหตุสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและคติพราหมณ์ เนื่องจากในอดีตช่วงวันสารทที่จัดในเดือน ๑๐ เมื่อเทียบกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของไทยแล้ว พบว่าเป็นช่วงข้าวยังไม่สุก ไม่ใช่ฤดูเก็บผลผลิตของไทย จึงไม่สามารถทำขนมกระยาสารทขึ้นมาโดยใช้ผลผลิตในช่วงนั้นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นคนไทยจึงดัดแปลงด้วยการนำข้าวเก่ามาทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่วและงา เพื่อใช้ทำขนมกระยาสารทสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา และผีสางที่คอยปกป้องคุ้มครองแทนนั่นเอง ต่อมาเมื่อคนไทยหันมานับถือศาสนาพุทธ จึงนิยมทำบุญถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ รวมถึงผู้ตายที่ตกเป็น “เปรต” ให้ได้มีโอกาสมารับส่วนบุญในวันทำบุญสารทเดือนสิบนั่นเอง ซึ่งคนภาคใต้จะเรียกวันนี้ว่า “วันทำบุญชิงเปรต” นั่นเอง

ประเพณีปฏิบัติ

วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ เป็นเทศกาลทำบุญในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งวันสารทไทย ถือเป็นประเพณีของภาคกลาง ชุมชนคุณธรรมวัดดงตะขบ นำโดยพระครูปริยัติวโรภาส ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนตำบลดงตะขบ จัดงานสืบสานประเพณีสารทเดือนสิบ กิจกรรมกวนกระยาสารทขึ้น เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สร้างความสามัคคี และจะมีการทำบุญตักบาตรด้วยกระยาสารท มีความเชื่อว่า หากไม่ใส่บาตรด้วยกระยาสารทผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็จะไม่ได้รับส่วนบุญกุศลที่ทำในวันนี้ เมื่อทำบุญกันเสร็จแล้วก็จะมีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนกระยาสารทที่ทำ เป็นการอวดฝีมือกระยาสารทแต่ละบ้าน กระยาสารทจะกินคู่กับกล้วยไข่ เหตุผลก็เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่กล้วยไข่ออกผลนั้นเอง และรสชาติของกล้วยไข่จะช่วยทอนรสหวานของกระยาสารทได้ดี เสริมให้กินอร่อยหวานมันกำลังดีอีกด้วย

เมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านจะจัดหาหรือกวนกระยาสารท เพื่อนำไปตักบาตรและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ในวันสารทชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวปลาอาหาร พร้อมกระยาสารท กล้วยไข่ ผลไม้ตามฤดูกาล ไปทำบุญตักบาตร ถือศีล ฟังเทศนาที่วัด เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้ว ชาวบ้านผู้หญิงที่ทำนาจะนำขนม ผลไม้ น้ำมนต์ เทียนคาถาพัน เครื่องแต่งตัว กระจก หวี น้ำอบ น้ำหอม ด้ายแดงด้ายขาว นำใส่ชะลอมหรือภาชนะที่จัดเตรียม นำไปบูชาแม่พระโพสพที่กำลังตั้งท้อง เพื่อความเป็นสิริมงคลกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เรียกว่า“พิธีทำขวัญท้องข้าว”

กิจกรรมในชุมชน

พิธีกวนขนมกระยาสารท

ทำบุญตักบาตร ถือศีล ฟังเทศน์มหาชาติ

พิธี “ทำขวัญท้องข้าว” บูชาพระแม่โพสพ

วัตถุประสงค

๑. การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าในช่วงวันสารทเดือนสิบ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังต้องชดใช้กรรมอยู่ จะได้กับมาหาครอบครัวเพื่อรับส่วนบุญกุศล

๒. เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ และเป็นการทำบุญด้วยการนำผลผลิตทางการเกษตร แปรรูปเป็นอาหารถวายพระสงฆ์

๓. การแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เนื่องจากในช่วงวันสารทไทย คนไทยมักจะนิยมนำขนมกระยาสารทหรือขนมตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่นไปมอบให้แก่กัน

๔. การแสดงความเคารพต่อธรรมชาติ แม่โพสพ ผีสาง เทวดา (ตามความเบื่อของแต่ละพื้นที่) ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองให้พืชผลการเกษตรได้ผลดี

๕. การเสียสละ ทำบุญ บริจาคทาน ไม่โลภ ไม่ยึดติด อีกทั้งเป็นการอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา อนุรักษ์ประเพณีไทยสืบไป

วัสดุ/อุปกรณ์

เตา กระทะ ไม้พาย กระมัง กระด้ง

ส่วนผสม

ข้าวเม่า

ข้าวตอก

ถั่วลิสง

งาดำ งาขาว

กะทิ

น้ำตาล

แบะแซ

กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)

๑. คั่วข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่วลิสง งาดำ งาขาว คั่วที่ละชนิดไม่ปะปนกัน คั่วด้วยไฟปานกลางค่อนข้างอ่อนให้เป็นสีเหลืองนวล พักไว้ให้เย็น

๒. ผสมของคั่วทั้งหมดตามอัตราส่วนเข้าด้วยกัน

๓. เคี่ยวน้ำตาลกับหัวกะทิให้ข้นเป็นยางมะตูม

๔. ใส่แบะแซคนให้เข้ากันยกลงจากเตา

๕. ใส่ส่วนผสมตามข้อ ๒ ลงในน้ำตาลที่เคี่ยวไว้และยังร้อนอยู่คนให้เข้ากันด้วยไฟอ่อน ๆ เทใส่ถาด หรือภาชนะที่เตรียมไว้เกลี่ยให้หน้าเสมอกัน พักไว้ให้เย็นและตัดเป็นชิ้น ๆ

สถานที่ตั้งขององค์ความรู้: (เช่น วัด, กลุ่มอาชีพ เป็นต้น)

ชุมชนคุณธรรมวัดดงตะขบ ตำบลดงตะขบ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑. คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ประเพณีสารทเดือนสิบ มีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ เป็นการสืบสานประเพณีสารทเดือนสิบ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การบูชาพระแม่โพสพ และสร้างความสามัคคีในชุมชน

๒. บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ชุมชนคุณธรรมวัดดงตะขบ นำโดยพระครูปริยัติวโรภาส ประธานชุมชนคุณธรรม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนตำบลดงตะขบ ทั้ง ๑๐ หมู่บ้าน จัดงานสืบสานประเพณีสารทเดือนสิบ กิจกรรมกวนกระยาสารท ระหว่างวันแรม ๑๒ – ๑๔ ค่ำ เดือนสิบ

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น สนับสนุนงบบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ การจัดเตรียมสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบสาน รักษา ต่อยอดของประเพณีอันดีให้คงอยู่สืบไป

สถานภาพปัจจุบัน

๑. สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้

- มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย

๒. สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

- ชุมชนคุณธรรมวัดดงตะขบ เป็นแหล่งเรียนรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจ

ข้อเสนอแนะ

-

ข้อมูลอ้างอิงบุคคล (ผู้ให้สัมภาษณ์ เช่น ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่)

ชื่อ-นามสกุล พระครูปริยัติวโรภาส

ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดดงตะขบ ประธานชุมชนคุณธรรมวัดดงตะขบ

หน่วยงาน/องค์กร วัดดงตะขบ

ที่อยู่หน่วยงาน/องค์กร ที่อยู่ เลขที่ ๖๙ หมู่ที่ ๔ ตำบล ดงตะขบ อำเภอ ตะพานหิน จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ ๖๖๑๑๐ เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๖๒๑๐๒๓๖๙ E-mail(ถ้ามี) -

ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆเช่นเอกสารงานวิจัย, แผ่นพับ, เวปไซด์, ฯลฯ

https;//www.thairath.co.th/lifestyle/culture

ข้อมูลเจ้าของเรื่อง (ผู้สัมภาษณ์)

ชื่อ-นามสกุล นางศศิรัชต์ ชูมา

ตำแหน่ง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

หน่วยงาน/องค์กร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร

ที่อยู่หน่วยงาน/องค์กร ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ถนนบุษบา ตำบลในเมือง

อำเภอเมือง พิจิตร จังหวัดพิจิตร เบอร์โทรสำนักงาน ๐ ๕๖๖๑ ๒๖๗ รหัสไปรษณีย์ ๖๖๐๐๐ เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๑ ๘๗๔๒๘๒๑ E-mail saranrat๖๕๖@gmail.com

Location
ชุมชนคุณธรรมวัดดงตะขบ
Tambon ดงตะขบ Amphoe Taphan Hin Province Phichit
Details of access
ชุมชนคุณธรรมวัดดงตะขบ
Reference นางศศิรัชต์ ชูมา Email saranrat656@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม)
Tambon ในเมือง Amphoe Mueang Phichit Province Phichit ZIP code 66000
Tel. 081 8742821 Fax. 0 5661 267
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่