ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 7° 30' 37.8536"
7.5105149
Longitude : E 99° 36' 15.3374"
99.6042604
No. : 195845
มีดพร้านาป้อ
Proposed by. ตรัง Date 23 Febuary 2022
Approved by. ตรัง Date 23 Febuary 2022
Province : Trang
0 659
Description

มีดพร้าบ้านนาป้อ เป็นสินค้าชุมชนอีกตัวหนึ่งที่มีคุณภาพ เป็นที่รู้จักของชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ บ้านนาป้อเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง บ้านนาป้อนั้นผลิตมีดพร้ามามากกว่า ๓๐๐ ปี เป็นมีดที่ผลิตสำหรับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ใช้ในเกษตรและชีวิตในประจำวัน นอกจากมีดพร้าแล้วชุมชนที่นี่ยังผลิตเครื่องมือทางเกษตรต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น จอบ เสียม คราด ชะแลง ขวาน และอื่น ๆ หมู่บ้านนาป้อ มีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตมีดพร้า ทุกคนในครัวเรือนจะผลิตมีดพร้ากัน คนที่ริเริ่มหรือเป็นต้นตำรับ คือนายเด่น ชิตจันทร์ หรือบังเด่น ที่คนนาป้อและคนทั่ว ๆ ไปรู้จักเป็นอย่างดี มีดพร้าบ้านนาป้อตามตำนานเล่าว่ามีชาย ๒ คน ชื่อนายเพชรกับนายคง ต้อนวัวควายไปขายที่กันตัง ระหว่างทางนั่งพักเหนื่อยใต้ต้นจากนั้นก็หลับไปทั้ง ๒ คน พอตื่นขึ้นมาก็เห็นเรือลำหนึ่งซึ่งจวนจะพังแล้วจอดทิ้งอยู่ จึงได้ถอนเอาตะปูเรือกลับมาด้วย จากนั้นลองเอาตะปูโยนใส่เข้าไปในเตาไฟ เหล็กตะปูเรือก็กลายเป็นเหล็กแหลม นำไปใช้เจาะดินหยอดเมล็ดพืชในการเพาะปลูก ต่อมาก็ได้ทดลองหาเหล็กมาเผาและตีเป็นรูปทรงต่าง ๆ ทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตร และเครื่องใช้ในชีวิตประจำที่หลากหลาย ทำให้ชีวิตความเป็นของคนในหมู่บ้านดีขึ้นตามลำดับ

เอกลักษณ์ของมีดพร้านาป้อที่มีชื่อเสียงเลื่องลือก็คือคุณภาพความคม ความแข็งแกร่งและความทนทาน จนมีคำเปรียบเปรยว่า “กินเหมือนมีดพร้านาป้อ” ซึ่งหมายถึงว่าเวลาตัดไม้หรือกรีดยางจะกินเนื้อไม้หรือต้นยางได้ง่ายเพราะมีความคมมาก”

บ้านนาป้อ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงมาช้านานในการผลิตมีดพร้าหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ตีมีดพร้า มีดพร้าเป็นมีดที่ใช้ในการเกษตรและชีวิตประจำวันของเกษตรกร จากคำบอกเล่าของชาวบ้านการตีมีดพร้ามีมาตั้งแต่ตั้งชุมชนบ้านนาป้อก็นับร้อยๆ ปี มาแล้ว ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๘ เป็นต้นมา เพื่อให้มีการส่งเสริมและพัฒนากิจการของวิสาหกิจชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ อันจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และแก้ปัญหาชุมชนได้อย่างยั่งยืน

คุณประเวช ชิตจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ได้ดำเนินการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งก็เพื่อสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาจาก
บรรพบุรุษ และเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและชุมชน ซึ่งที่ทำการวิสาหกิจชุมชนตั้งอยู่ที่ หมู่ ๘
ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง

โดยมีดพร้านาป้อมีเอกลักษณ์ที่ทำให้มีดพร้านาป้อ มีความแตกต่างจากที่อื่น คือเหล็กและวิธีการตีจากภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยมีดทุกชนิดที่ถูกตีขึ้น ทำมาจากเหล็กแหนบรถยนต์เก่า ความเหนียวและทนทานของเหล็กแหนบ หลังจากที่ผ่านกรรมวิธีต่างๆ จนกลายเป็นมีด จะมีความแข็งแรง ไม่บิ่นง่าย และมีอายุการใช้งานที่นานมากกว่าเหล็กทั่วไป”

การทำมีดพร้านาป้อนั้นคนแต่ละคนจะทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง เช่น คนที่ตัดเหล็กแหนบก็ทำหน้าตัดเพียงอย่างเดียว ก่อนส่งให้คนที่ทำหน้าที่ตี และส่งต่อในขั้นตอนอื่นเป็นทอดๆ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยร่นระยะเวลาการทำงานได้มากกว่า สำหรับยอดผลิตและยอดขายของวิสาหกิจชุมชนผลิตในเชิงพาณิชย์ได้วันละ ๒๐๐ ชิ้น
สมาชิกร่วม ๒๐ คน เหล็กที่ใช้ตีมีดจะเป็นเหล็กแหนบรถบรรทุก ๖ ล้อ เพราะมีความพอดีกับชิ้นงานตีมีดออกมาจะคม ทนทาน โดยสมาชิกจะตีมีดเฉพาะช่วงเช้า ๐๘.๐๐ น. ถึง ๑๑.๐๐น. งานก็เสร็จแล้วหลังจากนั้นทุกคนก็ออกไปทำงานอื่นๆ ซึ่งในการตีมีดจะมีส่วนประกอบหลักๆ ด้วยกัน ๒ องค์ประกอบด้วยกัน คือ วัสดุและอุปกรณ์ในการตีมีดและขั้นตอนการตีมีด

วัสดุและอุปกรณ์ในการตีมีดพร้านาป้อ ประกอบด้วย

เหล็กแหนบรถยนต์เก่า หาซื้อจากร้านขายเศษเหล็ก เหล็กแหนบรถยนต์ราคาจะขึ้นอยู่ระดับความหนา เหล็กแหนบจะใช้ทำตัวมีด

เหล็กเส้นหรือเหล็กวิทยาศาสตร์ ใช้ทำบ้องหรือด้าม ซื้อได้จากร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป

ถ่านไม้เคี่ยม ถ่านไม้เคี่ยมมีคุณภาพดี ให้ความร้อนสูงทำให้เหล็กสุกเร็ว จะสุกเมื่อใช้ลมเป่า เป็นขี้เถ้าลามหรือปะทุเหมือนถ่านหุงข้าวที่ทำมาจากไม้อื่น เช่น ไม้โกงกาง

สูบลม เดิมเป็นกระบิกสูบทำจามลำต้น (ลำตรง) ของไม้เนื้อแข็งที่แกนในผุ ช่างจะเจาะกลางลำต้นให้กลวงต่อมาได้เปลี่ยนใช้ไม้แผ่นมาประกบเป็นกระบอกสูบสี่เหลี่ยมชักสูบด้วยมือปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมอเตอร์หอยโข่ง

ทั่ง เป็นเหล็กตันที่ใช้รองเวลาตีเหล็ก ทำมาจากหูเรือยนต์

คีม ใช้คีบเหล็กในกระบวนการตีเหล็ก

ค้อน เป็นเครื่องมือของช่างใช้ในการตี

เตาเผา เดิมก่อด้วยดินผสมแกลบยกสูงขึ้นจากพื้น ในระดับที่พอเหมาะ ปัจจุบันก่อด้วยอิฐ

ขั้นตอนการตีมีดพร้านาป้อ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญๆ ๖

๑ ขั้นตอนด้วยกันขั้นการตัดเหล็ก เพื่อให้ได้แผ่นเหล็กตามขนาดที่ต้องการ

๒. ขั้นการขึ้นรูปหรือการแปรรูป เพื่อตกแต่งโครงร่างให้เป็นรูปโค้งตามลักษณะของมีดพร้า

๓. ขั้นการแต่งรูป ทำให้ได้มีดพร้าที่มีรูปร่าง รูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์และสวยงาม

๔. ขั้นการตีตรา เป็นการประทับตราหรือยี่ห้อลงบนมีดพร้า

๕. ขั้นการแต่งผลิตภัณฑ์ เป็นขั้นสำคัญ คือทำให้มีดพร้ามีความคมและเรียบสวยงาม

๖. ขั้นการชุบ เป็นขั้นตอนที่ทำให้มีดมีความคม ความแกร่ง และความทนทานง

สำหรับกระบวนการเผาเหล็กให้แดงสำหรับตี มีขั้นตอนที่สำคัญในการผลิตมีดพร้านาป้อ คือการใช้ไม้เคี่ยมจากต้นเคี่ยมที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นมาเผาทำเป็นเชื้อเพลิง สาเหตุที่เลือกไม้เคี่ยมมาใช้ในการเผา เพราะมีคุณสมบัติที่ร้อนเร็ว ร้อนสม่ำเสมอ แต่มีความแตกต่างจากถ่านไม้ชนิดอื่นๆ ตรงที่มอดเร็ว และต้องอาศัยพัดลมเป่าเพื่อให้ระอุอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้ประหยัดถ่านไม้ ไม่ต้องปล่อยให้มอดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยในการเผาเหล็กให้แดงจนสามารถตีได้นั้นจะใช้ความร้อนมากกว่า ๑๐๐ องศา และต้องตีเหล็กประมาณ ๑๐๐-๓๐๐ ครั้ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของมีดและขั้นตอนการเผาก่อนหน้า ถ้าเหล็กแดงจัดจะสามารถตียืดได้มากกว่า

จากนั้นนำเข้าเครื่องรีดเหล็ก เพื่อตกแต่งเก็บรายละเอียดมีด ต่อด้วยการนำไปทำคมด้วยเครื่องเจียเหล็ก ก่อนจะนำไปชุบด้วยน้ำเปล่าให้เหล็กเย็น สำหรับการชุบนั้นจะต้องมีขั้นการชุบมีด หากชุบไม่ดีเหล็กจะเปราะหรืออาจแตกได้ ซึ่งไม่ใช่ช่างทุกคนที่สามารถชุบมีดได้ จะต้องอาศัยความชำนาญอย่างสูง ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เหมาะกับการใช้งานทั้งในครัวเรือนและภาคการเกษตร ซึ่งกำลังการผลิตของวิสาหกิจชุมชนเฉลี่ยต่อวันประมาณ ๒๐๐ ชิ้น รายได้ของสมาชิกประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ บาทต่อวันผลิตภัณฑ์สำคัญ ได้แก่ เหล็กแทงปาล์มมีดกรีดยาง มีดหวดสองคมมีดหวดหญ้า มีดแล่เนื้อ จอบ ขวาน เสียมกรรไกรคีบหมาก มีดอีโต้ มีดอีโต้แก้วหน้าม้า เป็นต้น

ตลาดของมีดพร้านาป้อ

การตลาดของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ คุณประเวช เดิมใช้วิธีการจำหน่ายโดยตรง ด้วยการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่จัดโดยภาครัฐและและภาคเอกชน และส่งขายผ่านพ่อค้าคนกลางกระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย เมียนมา และลาว โดยมีชื่อทางการค้า ตรา 55 ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเริ่มมีการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น อาทิ การสร้างเพจ สำหรับประชาสัมพันธ์และติดต่อกับลูกค้า ที่ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ ตรา 55 OTOP จ.ตรัง” ที่จะมีการอัพเดตรูปภาพ ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนสามารถติดต่อซื้อขายกับลูกค้ารายย่อยได้โดยตรงและเป็นหนึ่งช่องทางสร้างการรับรู้สินค้าไปในเวลาเดียวกัน

การขับเคลื่อนของวิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ มีการอบรมถ่ายทอดความรู้กรรมวิธี กระบวนการในการผลิต และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่นักเรียน นักศึกษา กลุ่มอาชีพองค์กรต่างๆ และบุคคลที่สนใจทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เพื่อรักษาภูมิปัญญาของการตีมีดพร้านาป้อให้คงอยู่และสืบสานด้วยคนในชุมชน

Location
วิสาหกิจชุมชนมีดพร้านาป้อ
No. ๑๔๒/๒ Moo
Tambon ควนปริง Amphoe Mueang Trang Province Trang
Details of access
นายประเวช ชิตจันทร์ ช่างตีมีด
Reference นายทัศพร กั่วพานิช Email tussporn.kuapanich@gmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่