พิธี “บูชาดาวนพเคราะห์ ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อนัมนิกาย มีความเชื่อว่า ดวงดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ คือ อดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ และพระโพธิสัตว์ ๒ พระองค์ ซึ่งเมื่อนิพพานแล้วแต่ครั้งโบราณ ได้โปรดมีพระเมตตาแบ่งภาคเป็นดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ ประกอบด้วย พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลทุกสรรพชีวิตบนโลกมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูแลดวงชะตาชีวิตของเรา การบูชาดวงดาวจึงมีพลานุภาพ ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ชีวิตของเราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวงตลอดปี อานิสงส์ผลบุญแห่งการบูชาดาวนอกจากเราที่จะได้รับแล้ว ยังสามารถส่งต่อไปให้ถึงบิดามารดาญาติมิตรทั้งหลายทั้งปวงอีกด้วยในสมัยโบราณเชื่อว่า หลังจากตรุษจีน ๑๕ วัน เป็นเทศกาลสารทหง่วนเซียว หรือว่าวันแรกวันเพาะปลูก หรือวันเกษตรกร หรือวันชาวนา เป็นวันที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ถือเป็นวันพระใหญ่แรกของปี ตามประเพณีของมหายานรวมไปถึงอนัมนิกายถือว่า องค์เต๋าบ้อ หรือพระอนุตรธรรมมารดา พระมารดาแห่งดวงดาว ผู้สร้างดวงดาวและจักรวาล รวมถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และองค์พระโพธิสัตว์ทั้ง ๙ พระองค์ ที่จุติเป็นเทพเจ้าดาวนพเคราะห์ จะลงมาปกปักรักษาคุ้มครองชะตามนุษย์โลกผู้ที่ตกต้องดาวดวงใด เมื่อบูชาดาวดวงนั้นก็ถือว่าเป็นสิริมงคล พระสงฆ์ และคณะผู้ศรัทธาจะจัดพิธีร่วมกันอัญเชิญพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์เสด็จมาในปางของดวงดาว เพื่อประทานพรสร้างความเป็นสิริมงคลให้ผู้คนงานบูชาดาวนพเคราะห์ ของวัดเขตร์นาบุญญาราม จันทบุรี จัดขึ้นในช่วงเดือนแรกของปีตามปฏิทินจันทรคติอนัม-จีน ตรงกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเพณีทางพุทธศาสนามหายานของชาวเวียดนาม สันนิษฐานว่างานบูชาดาวนพเคราะห์จัดขึ้นมายาวนานกว่า ๑๘๘ ปี นับตั้งแต่แรกสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ และจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงแรกจัดงานเพียง ๑ วัน และขยายมาเป็น ๑๐ วันในปัจจุบัน และนับว่าเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีการจัดพิธีบูชาดาวนพเคราะห์ตามแบบแผนดั้งเดิมอานิสงส์ของการเข้าร่วมพิธีบูชาดาวว่า การที่ทุกท่านได้เดินทางเข้าร่วมพิธีบูชาดาว ถือเป็นการไปสัมผัสพลังแห่งธรรมะและดวงดาว เป็นการอธิษฐานจิตสั่งสมบารมีจากการขอพรจาก ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ พระองค์ ให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง นำมาซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์ อายุยืนนาน สุขภาพแข็งแรง ได้ผลานิสงส์มากประมาณมิได้ และส่งต่อให้บิดามารดา ญาติมิตรทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ และที่ล่วงลับไปแล้วได้รับผลบุญกุศลโดยทั่วกัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มเติมพลังบวกให้กับตนเอง เมื่อได้รับพลังบวกจากงานบูชาดาว จะมีพลังกลับมาสร้างสรรค์กิจการงานต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้งาน บูชาดาวนพเคราะห์ ยังถือเป็นการร่วมกันสืบสานประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ๒ แผ่นดิน ได้แก่ ไทย และเวียดนาม เพราะวัดเขตร์นาบุญญาราม เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดจันทบุรี มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธฝ่ายมหายาน เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มาโดยตลอดชั่วอายุว่ากันว่า “ดวงดาว” เป็นเสมือนดวงชะตาที่มีอิทธิพลส่งผลต่อชีวิตเรา หลายคนมีความเชื่อ ความศรัทธาที่เกี่ยวข้องกับดวงดาวในวันเกิดของตน ซึ่งในแต่ละปี ดวงดาวของเรานั้นก็จะเปลี่ยนแปลง แปรผันไป ส่งผลให้ดวงชะตาของเรานั้นเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เราก็ต้องทำพิธีเพื่อให้ดวงดาวช่วยปกปักษ์รักษาเรา ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่า “ดาวนพเคราะห์” พระองค์ใดเข้ามาเสวยอายุให้ดูจากปีนักษัตรที่เกิด เพศ และอายุในปีนั้น แล้วให้เพิ่มอีก ๑ ปี ตามความเชื่อในการนับอายุตั้งครรภ์มารดา โดยลักษณะการวางเทียนจะเป็นไปตามตำแหน่งของดาวนพเคราะห์แต่ละองค์ ทั้งนี้การบูชาดาวนพเคราะห์สามารถทำได้ปีละไม่เกิน ๓๐ วันหลังตรุษจีน เนื่องจากเป็นช่วงฟ้าเปิด สวรรค์เปิด ถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นว่าต้องทำแค่วันเดียวครั้งเดียว หากแต่สามารถทำได้ตลอด เพราะชาวจีนมีความเชื่อว่าหากทำมาก ก็จะส่งผลต่อดวงดาวมาก ทำให้ดวงดาวจะช่วยปกปักษ์คุ้มครองเราได้มากขั้นตอนพิธีบูชาดาวนพเคราะห์๑. ตรวจสอบปีเกิด อายุ และเพศ ที่ตารางดาวนพเคราะห์๒. แจ้งชื่อ ทำบุญพะเก่ง พร้อมรับขนม ผลไม้ เส้นหมี่มงคล ณ บริเวณโต๊ะบัญชี๓. ติดต่อจุดจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน๔. ไหว้ฟ้าดินบริเวณเสามังกร๕. ไหว้หลวงพ่อโต ปิดทอง ถวายดอกบัวบริเวณด้านหน้าอุโบสถ๖. ไหว้ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใส่บาตรทำบุญรอบอุโบสถ๗. ไหว้เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลาบำเพ็ญบุญ๘. ไหว้องค์จำลอง ดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ ที่ตำหนักปะรำพิธี๙. ต่อไฟพระฤกษ์จากตะเกียง จุดเทียนบูชาดาวนพเคราะห์ อธิษฐานขอพร