“ การปักผ้าของชาวเมี่ยน ”
เดิมทีเดียวกลุ่มชาติพันธ์ชาวเมี่ยนอาศัยอยู่ที่จังหวัดน่าน พะเยา จากนั้นได้มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน
มาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาปักหลักอยู่อาศัย ประกอบอาชีพทำไร่ อยู่บริเวณกิ่วกระทิง และบริเวณ
ช่องเย็น ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พื้นที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ก่อนที่
จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ นั้น ซึ่งหลังจากที่บริเวณดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขต
อุทยานแห่งชาติ เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๘ ทางหน่วยงานราชการจึงได้เชิญกลุ่มชาติพันธ์ชาวเมี่ยน
บริเวณนั้น มาอยู่รวมกันที่บ้านปางเหนือ และบ้านปากคลองลาน ในเขตอำเภอคลองลาน
จังหวัดกำแพงเพชร จำนวนทั้งหมด ๖๐ หลังคาเรือน จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรบ้านสักงาม หมู่ที่ ๑ ตำบลสักงาม อำเภอคลองลาน
จังหวัดกำแพงเพชร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้า และทรงได้รับการถวายฎีกา
จากราษฎรชาวไทยภูเขาที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
และเขตอุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขากลุ่มที่ได้ฝึกศิลปาชีพ
ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ว่าได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับ
สัญชาติไทยแล้ว อีกทั้งทรงพบว่า มีราษฎรยากจนเป็นจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน มีอาชีพ
ทำไร่และบางส่วนไม่มีงานทำ ราษฎรเหล่านี้ส่วนมากเป็นชาวไทยภูเขา มีความสามารถพิเศษ
ในการปักผ้าและจักสาน โดยเฉพาะการปักผ้านั้น สามารถทำได้อย่างสวยงาม ประณีต และฝีมือดี
ควรมีการรวมกลุ่มราษฎรชาวไทยภูเขา เหล่านี้ โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามกลุ่มอาชีพ ที่ราษฎรถนัด สนับสนุนให้มีการทำการเกษตร ส่วนแม่บ้านให้ปักผ้าส่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในการนี้
ได้พระราชทานพระราชเสาวนีย์ให้หน่วยงานราชการในจังหวัดกำแพงเพชร จัดหาพื้นที่ทำกิน
และให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ตลอดจนส่งเสริมให้บริเวณพื้นที่
ดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จะทำให้ขายสินค้าของที่ระลึกได้ จากพระราชเสาวนีย์ดังกล่าว
ได้ก่อให้เกิดโครงการ“บ้านเล็กในป่าใหญ่” ณ พื้นที่บ้านอุดมทรัพย์ หมู่ที่ ๘ ตำบลหินดาต
อำเภอปางศิลาทองจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน
ทำไร่เลื่อนลอยได้มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมให้ราษฎรได้ประกอบอาชีพที่ถนัด
พร้อมกับช่วยฟื้นฟูสภาพป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และส่งเสริมให้หมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว
หลังจากที่ได้รับการจัดสรรที่อยู่อาศัย ตลอดจนที่ดินทำกินใหม่แล้ว กลุ่มชาติพันธ์ชาวเมี่ยน
จำนวน๕๓ ครอบครัว จึงได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากบ้านปางเหนือ และบ้านปากคลองลาน ในเขต
อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มายังโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ณ พื้นที่บ้านอุดมทรัพย์
หมู่ที่ ๘ ตำบลหินดาตอำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร
แนวคิดภูมิปัญญาลวดลายการปักผ้ากลุ่มชาติพันธ์ชาวเมี่ยน
ลวดลายที่ปักลงไปได้แนวคิดมาจากปรัชญาลัทธิเต๋าที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต วัฒนธรรม
ของชุมชนรวมไปถึงประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์ ตลอดจนความสำนึกที่ว่าตนเองนั้นสืบเชื้อสาย
มาจากพระจักรพรรดิของจีน ซึ่งชาวเมี่ยนเคยได้รับสิทธิพิเศษในการตั้งหลักแหล่งที่ใดก็ได้
ในประเทศจีน โดยไม่ต้องเสียภาษี จะเห็นได้จากลายปักชื่อเทพสุนัขมังกร ลายองครักษ์
ลายเครื่องประดับยศ เป็นต้น ซึ่งลายเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับจักรพรรดิและตำนาน
ซึ่งถือว่าเป็นลายที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเมี่ยน ซึ่งผ้าเมี่ยนทุกผืนจะต้อง
มีลายปักทั้ง ๓ ลายที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นเมี่ยนในพื้นที่ใดก็ตาม
สตรีชาวเมี่ยนผู้ที่ปักผ้ายังได้ใส่จิตวิญญาณและศิลปะที่ตนเองสร้างสรรค์และได้รับการถ่ายทอด
มาจากรุ่นสู่รุ่นลงไปในขณะที่ปักด้วย กล่าวคือ การปักผ้าเมี่ยนนั้นมีแบบแผนที่ชัดเจน ค่อนข้าง
ตายตัวซึ่งมีองค์ประกอบของลายปักดังนี้
๑. ลายที่แสดงถึงความเป็นเผ่าพันธุ์เมี่ยน ถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวที่ผู้ปักทุกคนจะต้องปักลงบนผ้า
ได้แก่ ลายองครักษ์ ลายเครื่องประดับยศ และลายเทพสุนัขมังกรหรือลายอุ้งตีนแมว ซึ่งแสดงถึง
ความเป็นชาติพันธุ์อันทรงเกียรติที่สืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิ โดยในตำนานที่ปรากฏในสาสน์
หรือหนังสือที่ใช้หมึกจีนเขียนลงบนผ้าผืนยาวเล่าถึงลูกสาวของพระจักรพรรดิ คือพระเจ้าผิงหวาง
ที่ต้องแต่งงานกับสุนัข แล้วต้องออกจากเมืองไปหาที่อยู่ใหม่ ในหนังสือดังกล่าวได้เขียนไว้ด้วยว่า
ไม่ว่าผู้ที่ถือหนังสือม้วนนี้จะไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใดก็ตามในอาณาจักรจีน อนุญาตให้อยู่ได้โดยไม่ต้อง
เสียภาษี เพราะคนเหล่านี้เป็นคนในตระกูลของพระจักรพรรดิ ซึ่งพระเจ้าผิงหวางได้พระราชทาน
ให้เมี่ยน ๑๒ ตระกูล ที่เข้ามาอยู่ในไทย
๒. ลายที่แสดงถึงความเชื่อและวิถีชีวิต คือเป็นลายปักบังคับที่ผ้าปักเมี่ยนทุกผืนจะต้องปักลาย
เหล่านี้ลงไป เป็นลายที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืช ดอกไม้ อุปกรณ์ในการดำเนินชีวิต เช่น
ลายฟันเลื่อย ลายข้าวตอก ลายรอยเท้าเสือ ลายดอกฟักทอง เป็นต้น
๓. ลายที่ออกมาจากการสร้างสรรค์ของผู้ปัก ลายปักที่เกิดจากการสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยผู้ปัก
ซึ่งการสร้างสรรค์นี้ก็ยังอยู่ในกรอบ กล่าวคือ เป็นการนำเอาลายบังคับที่มีอยู่มาร้อยเรียง
ในรูปแบบต่างๆหรืออาจจะสร้างลายขึ้นมาใหม่แต่ก็ต้องอยู่ในเรื่องของวิถีชีวิต หรือสิ่งที่ใกล้ตัว
เช่น ลายดอกไม้ที่นอกเหนือจากที่มีอยู่ ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ออกมาจากความนึกคิด จินตนาการ
และวางแผนการปักของผู้ปักความละเอียดประณีต การเลือกผ้าสำหรับปัก ถ้าผ้ามีความละเอียด
มากเท่าใด การปักก็จะละเอียดและยากเท่านั้น การปักผ้าในองค์ประกอบนี้แสดงให้เห็นถึงความ
อดทน ความอุตสาหะและอีกหลายๆ อย่างของผู้ปัก การเลือกคู่ครองของชายชาวเมี่ยนจึงมัก
จะดูแลและตัดสินที่งานปักบนกางเกงที่สตรีนั้นสวมใส่ เพราะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นอุปนิสัยได้
ส่วนนี้เองที่ทำให้ผ้าแต่ละผืนจะประกอบไปด้วยลายปักองค์ประกอบที่ ๑ และ ๒ : ๗๐%
และองค์ประกอบที่ ๓ : ๓๐%
เทคนิคการปักผ้าของชาวเมี่ยน
การปักผ้าเมี่ยนเป็นการปักผ้าที่ปักจากด้านหลัง เพื่อให้ได้ลายออกมาด้านหน้า คือ เมื่อปักเสร็จแล้ว
ใช้ลายที่ปรากฏในผ้าด้านหน้าโชว์ โดยชาวเมี่ยนส่วนใหญ่จะนิยมใช้สีปักลายเพียง 5 สีเท่านั้น
คือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียว และสีขาว ซึ่งมีเทคนิคและวิธีปักอยู่ 4 แบบ คือ
๑. การปักแบบหญิ่ว เป็นการปักลายเส้น งานปักเมี่ยนบนผืนผ้าทุกชนิด จะต้องมีการปักลายเส้น
ในส่วนที่เป็นขอบของงานปักผ้า มีวิธีปักคือ ใช้เข็มแทงลงด้านบนของผ้า ลอดเส้นฝ้ายในผ้า
ไป ๔ เส้น จากนั้นแทงเข็มทแยงข้ามเส้นฝ้ายขึ้นมาด้านบน แล้วดึงปลายเข็มขึ้น จากนั้น
ปักถอยหลังไป ๒ เส้น แล้วทำเหมือนเดิมคือ แทงเข็มลงด้านบนของผ้า แล้วลอดเส้นฝ้ายในผ้า
ไป ๔ เส้น จากนั้นแทงเข็มทแยงข้ามเส้นฝ้ายขึ้นมาด้านบน แล้วดึงปลายเข็มขึ้น จากนั้น
ปักถอยหลังไป ๒ เส้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนได้ความยาวตามที่ต้องการ
๒. การปักแบบเจี่ยม (ลายขัด) เป็นการเดินเส้นขึ้นลงตามลวดลายที่กำหนดไปตามแนวขวาง
ในงานทอผ้าเจี่ยมจะใช้ปักส่วนที่เป็นขากางเกง ซึ่งเป็นส่วนที่เริ่มต้นในการปักผ้าเปรียบเสมือน
การหัดก้าวเดิน ก้าวสั้นบ้าง ยาวบ้าง การปักลักษณะนี้เป็นการสอนเรื่องการนับเพราะการปักเทคนิคนี้
จะต้องนับช่อง นับเส้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้ของสตรี ในเรื่องการปัก มีวิธีปักคือ แทงเข็มลงบน
ผ้าด้านบนแล้วสอดเข็มเข้าในช่องว่างระหว่างเส้นฝ้ายในผืนผ้าเหมือนกับการทอผ้าที่พุ่งเส้นนอน
ลงบนเส้นยืนซึ่งการสอดเข็มลงใต้เส้นฝ้าย จะสอดกี่เส้นและข้ามกี่เส้นขึ้นอยู่กับลาย ซึ่งจะต้องนับ
ให้ถูกต้อง เมื่อปักเสร็จด้านหน้าและด้านหลังจะได้ลายที่แตกต่างกัน ลายปักที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่
ฉ่งเฉ่ ฉ่งโอ่งก้วง และฉ่งเสด เป็นลายที่ปักปลายขากางเกง โดยทั้งสามลายนี้เป็นลายบังคับที่
กางเกงเมี่ยนทุกผืน ไม่ว่าจะเป็นเมี่ยนในพื้นที่ใดก็ตาม
๓. การปักแบบทิ่ว (ลายสอง) เมื่อปักเสร็จแล้วจะได้รูปคล้าย เครื่องหมายบวก (+) แต่เป็นการปัก
สี่เส้นที่แยกจากกันจากจุดเดียว มีวิธีปักคือ แทงเข็มลงบนผ้าด้านบนแล้วสอดเข็มลอดเส้นฝ้าย
บนผืนผ้า ๒ เส้นดึงปลายเข็มขึ้น จากนั้นสอดเข็มลอดเส้นฝ้ายอีก ๒ เส้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ตามแนวนอนขณะที่กำลังปักแนวนอน และแนวตั้ง กล่าวคือการปักลายนี้ต้องปักเดินหน้าไปเรื่อยๆ
จนมาบรรจบกันเป็นลาย การปักเทคนิคทิ่วนี้ เป็นการปักที่ยากที่สุดจะต้องใช้สมาธิ และการวางแผน
ที่ดี จึงจะสำเร็จ ดังนั้นลายที่ใช้เทคนิคนี้ปักจึงมักเป็นลายเดี่ยว และใช้สีเดียว เช่น ลายเทพสุนัขมังกร
ลายองครักษ์ ลายเครื่องประดับยศ เป็นต้น การปักเทคนิคนี้ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะได้ลายออกมาเหมือนกัน เนื่องจากเทคนิคนี้ เป็นเทคนิคที่ยาก สตรีเมี่ยนรุ่นใหม่จึงทำไม่ค่อยได้ และหันไปใช้
เทคนิคดับญัด คือการปักไขว้ซึ่งง่ายกว่าแทน
๔. การปักแบบดับญัด คือการปักไขว้ เทคนิคการปักแบบนี้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เพราะมีการ
นำมาปักในงานต่างๆ มากมาย มีวิธีการปักคือ แทงเข็มลงบนผ้าขึ้นลงโดยข้ามเส้นฝ้ายบนผ้า
ครั้งละ ๒ เส้น จะทำให้เส้นไหมที่ปักลงไปออกมาเป็นรูปกากบาท เมื่อปักเสร็จลายด้านหน้าและหลัง
จะต่างกัน การปักเทคนิคนี้มักจะใช้ปักทั้งลายเดี่ยว เช่น ลายฟันเลื่อย และลายที่มีการผสมผสาน
เช่น ลายดอกฝักทอง ซึ่งมักจะใช้หลายสีในการปักเทคนิคนี้ไม่นิยมปักลงในชุดเจ้าสาว
เพราะการปักไขว้ถือว่าเป็นการทับและถมกัน จะใช้เทคนิคเจี่ยมและทิ่วเท่านั้น อีกทั้งไม่นิยม
ให้ผู้ที่เริ่มหัดใหม่ปักเพราะง่าย แต่จะให้เริ่มหัดในสิ่งที่ยากก่อน โดยเริ่มจาก เจี่ยม ทิ่ว
แล้วจึงมาดับญัด
การแต่งกายของชาวเมี่ยน
การแต่งกายชาวเมี่ยน มีส่วนประกอบที่เกี่ยวกับงานปักดังนี้
๑. ผ้าโพกศีรษะชั้นใน (ก้องจู๊ด) ซึ่งในบางหมู่บ้านอาจจะใช้สีแตกต่างกัน เช่น สีแดง สีดำ ปัจจุบัน
สตรีชาวเมี่ยนบางคนไม่นิยมใช้ผ้าโพกศีรษะชั้นในแต่ใช้
๒. ผ้าโพกศีรษะชั้นนอกผ้าโพกศีรษะชั้นนอก (ก้องเป้า) อาจจะแตกต่างกันไปแต่ละหมู่บ้าน เช่น
บ้านปางค่า หมู่บ้านป่ากลาง นิยมใช้ผ้าทอมือเส้นฝ้ายขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่สีดำทั้งผืน
ปักลายที่ปลายทั้ง ๒ ด้าน
๓. ผ้าคาดเอวใช้ผ้าทอมือสีดำ ลักษณะเหมือนผ้าโพกศีรษะมีปักลายที่ปลายทั้ง ๒ ด้าน
การผูกผ้าคาดเอวจะเริ่มจากหน้าหรือหลัง โดยให้ปลายทั้ง ๒ ข้างผูกกันไว้ข้างหลัง
เพื่อให้เห็นลายปักกางเกง (โฮว)
๔. การตัดเย็บกางเกงสตรีเมี่ยนใช้ผ้า ๕ ชิ้น ประกอบด้วยผ้าปักลาย ๒ ผืน โดยใช้ผ้าทอมือสีดำ
ปักเกือบเต็มผืนเหลือด้านข้างไว้
๕. เครื่องแต่งกายบุรุษเมี่ยนตามประเพณีจะมี ๒ ชิ้น คือ เสื้อที่ใช้ผ้าสีดำมาตัดเป็นตัวเสื้อ
และมีการปักลายที่ตัวเสื้อรวมถึงที่กระเป๋า