บ้านทุ่งบานเย็น หมู่ที่ 13 ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้แยกหมู่บ้านออกมาจากหมู่ที่ 8 บ้านใหม่บุญนาค ในปี พ.ศ.2522 โดยมีวัดนันตารามที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายชาติพันธุ์ มีการอาศัยอยู่ของคนหลากหลายชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ชาติพันธุ์ปะโอ ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทยจีน ไทยวน(คนพื้นเมือง) เมี่ยน จากการอพยพเข้าอยู่อาศัยและการเกี่ยวดองทางการแต่งงาน โดยมีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 จากการที่กลุ่มพ่อค้าที่เดินทางค้าขายบนเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างพม่า ล้านนา ลาว ได้เข้ามาแผ้วถางพื้นที่รกร้างละแวกนี้เพื่อใช้เป็นจุดพักค้างระหว่างการเดินทาง และได้มีการบุกเบิกก่อสร้างที่พักของพระสงฆ์ที่ร่วมเดินทางมากับคาราวานพ่อค้า หรือพระสงฆ์ที่เดินทางธุดงค์ในเส้นทางสายนี้ ที่พักพระสงฆ์ในยุคแรกก่อสร้างด้วยไม้มุงด้วยใบคาจึงเรียกว่า วัดจองคา โดยคำว่า จอง เป็นภาษาพม่าหมายถึงวัดหรืออาคาร ส่วนคำว่า คา มาจากการใช้หญ้าคามามุงหลังคา ต่อมาคนท้องถิ่นเรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดม่าน ซึ่งมาจากคำว่ามะล่านในภาษาล้านนาหมายถึงพม่า
ในปี พ.ศ.2467 คหบดีชาวพม่าเชื้อสายปะโอซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายในเส้นทางนี้และได้มาทำสัมปทานไม้ในเขตลำปาง พะเยา เชียงราย มีศรัทธาที่จะบูรณะวัดจองคาเดิม ให้เป็นวัดที่ทำศาสนกิจอย่างถาวร จึงร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์ และร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างวิหารหลังใหม่ ที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลศิลปะพม่า เรียกชื่อใหม่ว่าวัดนันตาราม
ถึงแม้ว่าลูกหลานชาวปะโอในชุมชนทุ่งบานเย็นได้ผสมผสานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จนความชัดเจนในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้คลี่คลายลงไปตามกาลเวลาแล้ว แต่ด้วยการค้นคว้าของชาวบ้านที่มีเชื้อสายปะโอจึงได้ค้นพบข้อมูลว่า การแต่งกายของผู้ชายปะโอจะสวมผ้าโผกหัว ใส่เสื้อคอจีนแขนยาว เสื้อคลุมด้านนอกคอกลมแขนยาวทรงกระบอกสีกรมท่า สวมกางเกงขายาวที่ขาเป็นทรงกระบอกใหญ่เรียกว่าเตี่ยวเปา สะพายย่าม ถือดาบ พกมีดสั้นไว้ที่เอว ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อคอวีแขนกุด เสื้อตัวนอกเป็นเสื้อกั๊กคอตั้งไม่มีกระดุมแขนยาวทรงกระบอก ใส่ผ้าถุงที่มีลักษณะเป็นผ้าผืนยาว มีผ้าโพกหัว ใส่ปิ่นปักผม ถือกระบุงทำจากไม้ไผ่สะพายห้อยติดตัว และนิยมใส่เครื่องประดับต่างๆ เช่น ตุ้มหู กำไลข้อมือ