ประเพณีแห่ต้นดอกไม้บ้านอาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ ๑๖ เมษายน ขบวนเริ่มแห่ต้นดอกไม้ออกจากวัดเมืองตูมธรรมาราม และเคลื่อนไปยังวัดศิริมงคล ในเวลาประมาณบ่ายโมง
การแห่ต้นดอกไม้ มีจุดประสงค์บูชาพระรัตนตรัย เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง บ้านเมืองและนำปัจจัยไปบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งมีกำหนดการคือวันสงกรานต์ คือวันที่ 13เมษายน จะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของวัดลงมาตั้งไว้ที่หอสรงหรือโต๊ะรวมกันเพื่อให้ประชาชนได้ทำพิธีสรงน้ำ
วันที่ 14เมษายน จะอัญเชิญพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแห่ไปรอบๆหมู่บ้านให้ประชาชนนำน้ำหอมมาสรงพระเพื่อความเป็นสิริมงคลและเล่นสาดน้ำกัน เชื่อว่าถ้าชาวบ้านเล่นน้ำกันมาก ปีนั้นน้ำฝนจะอุดมสมบูรณ์
วันที่ 15เมษายน วันปักธงก่อกองทราย
วันที่ 16เมษายน เป็นวันแห่ต้นดอกไม้ไปคาราวะและขอขมาต่อ พระรัตนตรัย ก่อนจะนำพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานยังแท่นบูชาเดิม
ขบวนแห่ต้นดอกไม้เริ่มต้นจากวัดเมืองตูมธรรมาราม ไปตามถนนกลางหมู่บ้าน สิ้นสุดที่วัดศิริมงคล หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า“วัดพระธาตุมะนาวเดี่ยว” :ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง อายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวลาวมีชีวิตผูกพัน ต่างให้ความเคารพ ศรัทธา โดยวัดนี้อยู่ติดลำน้ำเหือง ซึ่งเป็นเขตกั้นแดนระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว เพียง 300 เมตรเท่านั้น ตลอดระยะทาง ๒ กิโลเมตร เพราะการเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานหรือการกระทำการใดต่อพระพุทธรูปในระหว่างนั้นอาจเป็นการล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพสูงสุดจึงต้องแห่ต้นดอกไม้เพื่อขอขมา สักการะต่อพระพุทธรูปที่แห่ ในงาน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดต้นดอกไม้ ขบวนแห่ต้นดอกไม้ จากหมู่บ้านต่างๆ ประกวดหมอลำพื้นบ้าน หมอแคน หมอสอย จ่ายพญา แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันสงกรานต์ เป็นประเพณีที่ทำตามหลักความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมากว่า 400 ปี ชาวบ้านจะเข้าวัดทำบุญและบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ จากเดิมใช้แค่ดอกไม้ ปรับเปลี่ยนมาเป็นช่อ และพัฒนามาเป็นพานพุ่มหรือพานบายศรีขนาดต่างๆ และเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้โครงสร้างทำด้วยวัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ จนกลายมาเป็นต้นดอกไม้ ในปัจจุบัน โดยมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คนหาม 6-10 คน ซึ่งทุกคนในหมู่บ้านจะร่วมใจกันช่วยทำต้นดอกไม้ โดยถือเคล็ดว่าจะต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เมื่อนำต้นดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย จะนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ผู้คนในหมู่บ้าน ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชสวนไร่นาและสัตว์เลี้ยงต่างๆ จะอุดมสมบูรณ์ ในทุกๆ ปีจึงมีการปฏิบัติประเพณีนี้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน การแห่ต้นดอกไม้ แต่ละรอบมีความหมายแตกต่างกัน โดย รอบที่ 1 แห่เพื่อบูชาพระพุทธ รอบที่ 2 เพื่อบูชาพระธรรม รอบที่ 3 เพื่อบูชาพระสงฆ์ เมื่อแห่ครบ 3 รอบแล้วจะวางต้นดอกไม้ไว้รอบอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน