ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 50' 3.2654"
16.8342404
Longitude : E 100° 26' 22.7616"
100.4396560
No. : 196220
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการแทงหยวก
Proposed by. พิษณุโลก Date 17 March 2022
Approved by. พิษณุโลก Date 22 September 2022
Province : Phitsanulok
1 595
Description

งานช่างแทงหยวกจัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ประเภทช่างสลักของอ่อน เป็นวิชาที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีต ในจังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านงานช่างฝีมือ พบได้ที่ ชมรมไท-ยวน ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก บ้านหัวร้อง ตำบลนครไทย และ ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีการเรียนการสอน การถ่ายทอดงานช่างแทงหยวกตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี โรงเรียนวัดศรีวิสุทธาราม (วิไลราษฎร์อุปถัมภ์) โรงเรียนวัดคูหาสวรรค์ (เทศบาล 2) โรงเรียนวัดกรรมธรรม์ โรงเรียนนครไทย โรงเรียนครไทยวิทยาคม เป็นต้น

การแทงหยวกเป็นงานช่างฝีมือประเภทหนึ่ง เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยนำ กาบกล้วยมาฉลุให้เป็นลวดลายต่างๆ ใช้ประดับตกแต่งที่เป็นงานชั่วคราว เช่น ตกแต่งจิตกาธาน ตกแต่งแลแห่นาค ตกแต่งที่ตั้งกฐิน และงานตกแต่งอื่น ๆ โดยมีการแทงแบบไม่มีการร่างลวดลาย ไว้บนกาบกล้วย กล้วยที่ใช้ในการแทงหยวกจะต้องเป็นกล้วยตานีเท่านั้น เพราะเป็นกล้วยที่มีความสมบูรณ์อิ่มตัวในลำต้นและไม่มีใยเวลาตัด แทง ฟัน อีกทั้งยังไม่เหี่ยวง่ายเมื่อลอกกาบออกจากต้นมาสามารถอยู่ได้อย่างสมบูรณ์เป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง ถ้าเทียบกับกล้วยชนิดอื่นจะอยู่ได้แค่ ๑๐ ชั่วโมง ช่างแทงหยวกจะต้องมีความชำนาญในด้านลวดลายไทยและลวดลายต่างๆเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะแทงกาบกล้วยสดๆให้เสร็จภายในวันที่จะใช้ เพราะถ้าแทงทิ้งไว้จะทำให้กาบกล้วยที่แทงแล้วเหี่ยวไม่สวยงาม

งานแทงหยวก เป็นงานช่างพื้นบ้านที่ใช้กาบกล้วยมาฉลุลายเพื่อตกแต่งจิตกาธานเชิงตะกอน และแห่นาคหรือตกแต่งภาชนะยังใช้ในงานโกนจุก บวชนาคและเป็นด้ามเทียนที่ใช้ในการเวียนเทียน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา

ในการเขียนลาย ผูกลวดลายต่างๆ โดยนำหยวกกล้วยมาแทงลวดลายระบายสีให้เกิดเป็นผลงานศิลปะ ในสมัยโบราณจะนิยมเผาศพกันกลางแจ้งในบริเวณป่าช้าของวัดเนื่องจากยังไม่มีเมรุเผาศพเหมือนปัจจุบัน เมื่อจะทำการเผาก็จะต้องขุดศพขึ้นมาทำความสะอาดเหลือแต่กระดูก แล้วนำมาบรรจุลงในโกศแล้วประดับให้สวยงามเพื่อบำเพ็ญกุศลบนเชิงตะกอนก่อนที่จะทำพิธีเผา จึงมีการนำกาบกล้วยมาแทงเป็นลวดลายประดับบนเชิงตะกอนให้ดูสวยงามและเหมาะสมกับฐานะของผู้ตายหรือผู้ที่เป็นเจ้าภาพ จึงเป็นที่มาของการเกิดศิลปะการแทงหยวกที่สืบทอดกันมา

อำเภอเมืองพิษณุโลกนายสนั่น เอี่ยมสาย ช่างแทงหยวกชาวไท-ยวน อาศัยอยู่ที่ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เดิมบิดา มารดา ของนายสนั่นเป็นชาวไท-ยวนอพยพมาอยู่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีฝีมือในการทำทำม้าไม้และตัดกระดาษลายไทยที่ใช้ในงานบวชต่อมาได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีความสนใจในงานช่างแทงหยวกที่ใช้ในงานศพ
จึงขอไปเป็นผู้ช่วยกำนันตุ๋ย ตาพัน ตาพัด เพื่อฝึกแทงหยวกตั้งแต่อายุ ๑๕ ลุงสนั่นได้ฝึกฝนทำจนชำนาญและทำอาชีพช่างแทงหยวก ทำม้าไม้และตัดกระดาษจนถึงปัจจุบัน แต่ลุงสนั่นก็ไม่มีลูกหลานสืบทอดวิชาแทงหยวกต่อและไม่ได้มีการไหว้ครูเหมือนกับที่อื่นๆ แต่ได้ถ่ายถอดให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนและผู้ที่สนใจศึกษา และได้จัดตั้งชมรมไท-ยวนขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้

นอกจากการแทงหยวกเพื่อประดับเชิงตะกอนแล้ว ในอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
มีการแทงหยวกเพื่อประดับแลแห่นาค เป็นศิลปะพื้นบ้านที่แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ของชาวนครไทยก่อนที่จะลงมือแทงหยวก ช่างแทงหยวกจะทำพิธี เข้าคาย และทำน้ำมนต์ธรณีสาร เพื่อประพรมหยวกกล้วย
ที่แกะสลักเป็นลวดลายแล้ว และลูกมือมาช่วยในการแทงหยวก โดยเชื่อว่าน้ำมนต์จะขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป
ทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิต

อำเภอนครไทยแทงหยวกเพื่อตกแต่งแลที่ใช้แห่นาค ในสมัยก่อนเมื่อมีงานแห่นาค
ช่างแทงหยวกจะมารวมตัวกันช่วยแทงหยวกตกแต่งแลโดยไม่คิดค่าจ้าง มีการคิดลายใหม่ขึ้นมาเพิ่มบ้างแต่ยังคงลายเดิมไว้ ในปัจจุบันการแทงหยวกได้กลายมาเป็นอาชีพเสริมหลังจากการทำนา เมื่อถึงเดือน ๔ เดือน ๕ เป็นช่วงเดือนบวชพระจึงมีคนมาจ้างทำและให้เงินเป็นค่าตอบแทนในการทำ

ในปัจจุบันการแทงหยวกเป็นการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยจะมีการครอบครูให้แก่ลูกหลานผู้สืบทอด โดยช่างแทงหยวกที่บ้านหัวร้อง ตำบลนครไทย คือ นายประทุม จ๊อดดวงจันทร์ นายแจ้ว ทรัพย์อยู่ และนายสิทธิศักดิ์ วิเชียรสวรรค์ ได้รับการถ่ายทอดมาจาก นายคัด จ๊อดดวงจันทร์ ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านการแทงหยวกของอำเภอนครไทย นอกจากนี้ยังพบช่างแทงหยวกที่ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย ที่ได้สืบทอดจากบรรพบุรุษ คือ นายบุญลือ สีดารักษ์ และนายสำราญ หมื่นพันธ์

ลวดลายการแทงหยวกประกอบแลแห่นาคจะทำลวดลายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือลายธรรมจักร ลายนาค ลายดอกบัว และยังมีลายอื่นๆ อีก เช่น ลายดอกพิกุล ลายดอกจันทร์ ลายหนวดเสือและลายเถาวัลย์ ปัจจุบันการแทงหยวกไม่มีการกำหนดลาย แล้วแต่ช่างจะเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นตามจินตนาการของตนเอง จึงเกิดความแตกต่างกันของลาย ในขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆ จะมีลวดลายเหมือนกัน คือ ลายฟันปลา ลายฟันสาม ลายน่องสิงห์ และลายเถาวัลย์ เป็นต้น

การไหว้ครู

ก่อนการแทงหยวกทุกครั้งช่างอาวุโสในกลุ่มช่างที่มาช่วยงาน จะทำพิธีไหว้ครูหรือยกครู ซึ่งชาวอำเภอนครไทยจะเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “การเข้าคาย

เครื่องบูชาครูของบ้านหัวร้อง ตำบลนครไทย ประกอบด้วย

1. ธูป 3 ดอก

2. ดอกไม้สีขาว 1 คู่

3. บุหรี่ 2 มวน

4. เทียนน้ำมนต์ 1 เล่ม

5. ขันน้ำมนต์ 1 ใบ

6. ค่าคาย หรือ เงินกำนล 32 บาท หรือ ลงท้ายด้วย เลข 2

เครื่องบูชาครูของ ตำบลนาบัว ประกอบด้วย

1. เหล้าขาว 1 ขวด

2. ฝ้าย 1 ไน

3. ไข่ไก่ 1 ฟอง

4. ดอกไม้ 5 คู่

5. เทียนน้ำมนต์ 1 เล่ม

6. ขันน้ำมนต์ 1 ใบ

7. ค่าคาย หรือเงินกำนัล 124 บาท

เครื่องมือ
๑.กล้วยตานี
๒.มีด

3.มีดแทงหยวก
4.กรรไกร
5.ตอก ไม้เสียบลูกชิ้น ไม้จิ้มฟัน

6.กระดาษว่าว สีต่างๆ
7.สีผสมอาหาร (ช่างตำบลสมอแขใช้ทาเพื่อให้ลวดลายชัดเจนขึ้น)

ตำบลสมอแข อำเภอเมืองพิษณุโลก

ลวดลายมี ๕ ลาย ได้แก่
๑.ลายบัวคว่ำ บัวหงาย

๒.ลายก้างปลา ฟันปลา
๓.ลายท้าวแขน

๔.ลายดอกจิก

๕.ลายดอกบัวตูม

วิธีการทำ

เตรียมกล้วยตานีแล้วลอกกาบไว้ให้เรียบร้อย เริ่มฉลุกาบกล้วย เป็นลายต่างๆ ใช้สีผสมอาหารทาลงบนกาบกล้วยที่ฉลุแล้ว เพื่อให้ลวดลายเด่นชัดขึ้นมา ส่วนใหญ่นิยมใช้สีแดง จากนั้นตัดกระดาษสีใส่ใต้กาบกล้วยที่ฉลุแล้วนำกาบอีกอันมาปิดทับตรงก้นเพื่อให้เห็นลายที่แทงชัดขึ้น เสร็จแล้วนำกาบที่แทงแล้วมาประกอบกัน โดยใช้ไม้เสียบลูกชิ้น โดยให้ลายหลัก เช่น ลายดอกจิก อยู่ตะรางกลางแล้วประดับด้านริมด้วยลายฟันปลา และบัวคว่ำ บัวหงาย นำกาบที่ประกอบเสร็จแล้วไปตกแต่งจิตกาธาน เสาทั้ง ๔ เสา จะตกแต่งด้วยลายท้าวแขน
บ้านหัวร้อง ตำบลนครไทยอำเภอนครไทย

ลวดลายมี ๗ ลาย ได้แก่

๑. ลายฟันปลา

๒. ลายฟันสาม

๓. ลายน่องสิงห์

๔. ลายเถาวัลย์

๕. ลายหงส์คาบเครือ

๖. ลายปีกหงส์

๗. ลายเรือสุพรรณหงส์

วิธีการทำ

เตรียมกล้วยตานีแล้วลอกกาบไว้ให้เรียบร้อยตัดตอกยาว ๑.๕ ฟุต กว้าง ๑ เซนติเมตรแทงกาบกล้วยให้เป็นลายต่างๆ โดยมีเทคนิค คือ เริ่มฉลุจากกลางกาบกล้วย เพื่อลวดลายจะได้มีความสมดุลตัดกระดาษสีใส่ใต้กาบกล้วยที่ฉลุแล้วนำกาบอีกอันมาปิดทับตรงก้นเพื่อให้เห็นลายที่แทงชัดขึ้นเสร็จแล้วนำกาบที่แทงแล้วมาประกอบกัน โดยใช้ตอกเป็นตัวยึด โดยให้ลายหลัก เช่น
ลายเถาวัลย์ ลายปีกหงส์ ลายหงส์คาบเครือ ลายเรือสุพรรณหงส์ อยู่กลางแล้วประดับด้านริมด้วยลายฟันปลาลายฟันสามนำกาบที่ประกอบเสร็จแล้วไปตกแต่งแลที่เตรียมไว้โดยจะต้องตกแต่งเสาทั้ง ๔ เสา และคานทั้ง ๔ ด้านของแล

บ้านนาบัว ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย

ลวดลายมี ๗ ลาย ได้แก่

๑. ลายฟันปลา

๒. ลายฟันสาม

๓. ลายหางสิงห์

๔. ลายตัวพญานาค

๕. ลายหัวพญานาค

๖. ลายเถาวัลย์

๗. ลายดอกไม้

วิธีการทำ

เตรียมกล้วยตานีแล้วลอกกาบไว้ให้เรียบร้อยแทงกาบกล้วยให้เป็นลายต่างๆตัดกระดาษสีใส่ใต้กาบกล้วยที่ฉลุแล้วนำกาบอีกอันมาปิดทับตรงก้นเพื่อให้เห็นลายที่แทงชัดขึ้นเสร็จแล้วนำกาบที่แทงแล้วมาประกอบกัน โดยใช้ตอกเป็นตัวยึดให้แม่ลายคือลายพญานาค อยู่กลางแล้วประดับด้านริมด้วยลายฟันปลาลายฟันสามลายหัวพญานาคอยู่ตรงกลางประดับด้านริมด้วยลายฟันปลาลายฟันสามและหางสิงห์นำกาบที่ประกอบเสร็จแล้วไปตกแต่งแลที่เตรียมไว้โดยจะใช้ลายตัวพญานาคประดับคานแลแห่นาค และใช้ลายหัวพญานาคประดับเสาแลแห่นาคทั้ง ๔ เสา

การแทงหยวก เป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ช่างแทงหยวกสามารถนำเอากาบกล้วยมาฉลุลาย ผูกลายต่างๆให้เป็นลวดลาย จนเกิดเป็นผลงานอันวิจิตรงดงาม ลวดลายการแทงหยวกประกอบแลแห่นาค หรือตกแต่งจิตกาธาน จะทำลวดลายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือ ลายนาค
ลายดอกบัว เป็นต้น ปัจจุบันการแทงหยวกไม่มีการกำหนดลาย แล้วแต่ช่างจะเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นตามจินตนาการของตนเอง

บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

สมอแขชาวไท-ยวนได้มีการจัดตั้งชมรมไท-ยวนเพื่อจะอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาให้แก่ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและฝึกทำ โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน

นครไทยได้มีการสอนถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลานและผู้ที่สนใจศึกษา แต่จะต้องมีการครอบครูก่อนที่จะเรียนรู้การทำ

มาตรการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่คาดว่าจะดำเนินการในอนาคต

ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กนักเรียนที่โรงเรียนเพื่อสนองนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในแก่นักเรียน และเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้การแทงหยวก

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

๑. มีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษรุโลก ได้มีการนำศิลปะการแทงหยวกมาจัดแสดง และถ่ายทอดในกิจกรรม โครงการ ต่างๆ ที่จัดขึ้น

๒. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการสนับสนุน ให้มีกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปะการแทงหยวก

๓. โรงเรียนได้จัดชั่วโมงการเรียนการสอนในการเรียนรู้การแทงหยวก และได้นำไปประยุกต์ใช้ เช่น นำไปตกแต่งแจกันดอกไม้

สถานภาพปัจจุบัน

สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

เนื่องจากไม่มีผู้ที่สืบทอดการแทงหยวกโดยตรงจึงมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี โรงเรียนวัดศรีวิสุทธาราม โรงเรียนวัดคูหาสวรรค์ โรงเรียนวัดกรรมธรรม์ โรงเรียนนครไทย เป็นต้น เพื่อสนองนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในแก่นักเรียน และผู้ที่สนใจโดยจะต้องครอบครูก่อนที่จะฝึกฝน

รายชื่อผู้สืบทอดหลัก

รายชื่อบุคคล/หัวหน้าคณะ/กลุ่ม/สมาคม/ชุมชน

อายุ/อาชีพ

องค์ความรู้ด้านที่ได้รับการสืบทอด/จำนวนปีที่สืบทอดปฏิบัติ

สถานที่ติดต่อ/โทรศัพท์

นายสนั่น เอี่ยมสาย

69

ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถงานฝีมือมากมาย เช่น แทงหยวกกล้วย ตัดกระดาษ งานจักสาน การทำม้าไม้ สำหรับงานบวช และยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่งดงาม และยังเป็นประธานชมรมไท-ยวน สมอแข และยังคงรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธ์ไท-ยวน เช่น ภาษา การแต่งกาย ฯลฯ / จำนวนปีที่สืบทอด 51 ปี

377 ม.3 ต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก/โทร. 086-9387368

นายประทุม จ๊อดดวงจันทร์

56

ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถในด้านการแทงหยวก เป็นผู้สืบทอดจากนายคัด จ๊อดดวงจันทร์ ซึ่งเป็นตา/จำนวนปีที่สืบทอด 40 ปี

303 ม.6 ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

นายแจ้ว ทรัพย์อยู่

72

ปราชญ์ชาวบ้าน มีความสามารถในการแทงหยวก/จำนวนปีที่สืบทอด 45 ปี

77/1 ม.12 ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

นายบุญลือ สีดารักษ์

81

ปราชญ์ชาวบ้าน มีความสามารถในการแทงหยวก/จำนวนปีที่สืบทอด 60 ปี

25/1 ม.13 ต.นาบัว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

นายสำราญ หมื่นพันธ์

80

ปราชญ์ชาวบ้าน มีความสามารถในการแทงหยวก

13/1 ม.13 ต.นาบัส อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

Location
Province Phitsanulok
Details of access
Reference สวจพล พล Email plk.culture@gmail.com
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่