ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 50' 3.2654"
16.8342404
Longitude : E 100° 26' 22.7616"
100.4396560
No. : 196221
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพลงฮินเลเลหรือพินเลเล
Proposed by. พิษณุโลก Date 17 March 2022
Approved by. พิษณุโลก Date 22 September 2022
Province : Phitsanulok
1 1879
Description

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพลงฮินเลเลหรือพินเลเล

เพลงฮินเลเลหรือพินเลเลในจังหวัดพิษณุโลก มีลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นวรรณกรรมพื้นบ้าน ภาษาศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล เพลงพื้นบ้าน คือ เพลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนในชนบท ที่มีลักษณะเฉพาะและมีเอกลักษณ์ของตนเอง สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้นและยังสามารถบอกถึงประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้

เพลงพื้นบ้านในจังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบันจากการศึกษาจากเอกสารต่างๆ พบว่า ยังปรากฏว่ามีให้เห็นในทุกรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละท้องถิ่นจะให้ความสำคัญหรือน้ำหนักกับเพลงในรูปแบบใดมากกว่ากัน อาทิ เพลงฮินเลเล เป็นเพลงปฏิพากย์ที่ชาววัดโบสถ์นิยมเล่นจนถือเป็นจุดเด่นของอำเภอวัดโบสถ์ ส่วนเพลง พินเลเล ที่มีความคล้ายคลึงกันกับ ฮินเลเล กลับเป็นจุดเด่นของชาวอำเภอนครไทย ส่วนอำเภอเมืองมีเพลงมังคละที่เป็นเอกลักษณ์

เพลงฮินเลเล หรือเพลงพินเลเล เป็นเพลงพื้นบ้านของจังหวัดพิษณุโลก ที่พบในอำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอนครไทย ซึ่งมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก และสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลและส่งเสริมให้ทำการอนุรักษ์ไว้ตามโครงการภูมิบ้านภูมิเมือง พ.ศ.๒๕๔๙ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เพลงพื้นบ้านแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับวิธีการจัดแบ่ง คือแบ่งตามเขตพื้นที่ แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมของผู้เป็นเจ้าของเพลง แบ่งตามโอกาสที่ร้อง แบ่งตามจุดประสงค์ในการร้อง และแบ่งตามจำนวนผู้ร้อง เป็นต้น ถ้าจำแนกตามพื้นที่ คือเพลงพื้นบ้านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง เป็นกลุ่มเพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ ร้องเพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง และใช้ประกอบการละเล่นของหนุ่มสาว พบว่ามีการร้องเล่นกันในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับที่ ๓๔) พบว่ามีการร้องเล่นกันในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และที่บ้านท่าโพ อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี (google.com) นอกจากนี้ พบว่าได้มีการนำมาร้องเล่นที่บ้านปลักแรด อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกด้วย

เพลงฮินเลเล/พินเลเล เป็นเพลงปฏิพากษ์ชนิดหนึ่ง โดยผู้เล่นจะร้องแก้กันเป็นกลอนสดระหว่าง
หญิงชาย ซึ่งต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบโต้ตอบกันอย่างทันควัน เนื้อร้องจะเป็นการเกี้ยวพาราสีกันบ้างตัดพ้อต่อว่า หรือบางครั้งก็เป็นการว่ากระทบกระเทียบเสียดสีหรือล้อเลียนกัน โดยมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อความสนุกสนานและเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เกี้ยวพาราสีกัน

การเล่นเพลงฮินเลเล ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก จะเล่นควบคู่ไปกับเพลงพวงมาลัย เพลงนางด้ง เพลงนางตาล เพลงลิงลม ส่วนเพลงพินเลเลที่อำเภอนครไทย นิยมเล่นควบคู่กับเพลงชะช้าละหงส์ และเพลงพวงมาลัย โดยผู้เล่นจะร้องสลับกันไปทั้งวัน และอาจมีการละเล่นอย่างอื่นมาคั่น เช่น ลูกช่วง สะบ้า มอญซ่อนผ้า เป็นต้นทั้งที่อำเภอวัดโบสถ์และอำเภอนครไทย

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการเล่นและร้องเพลงฮินเลเล/พินเลเล ที่อำเภอวัดโบสถ์และอำเภอนครไทย ได้ลดความนิยมลง ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะประชาชนหันมานิยมร้องเพลงรำวง เช่นเดียวกับที่พบในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย โดยขนบธรรมเนียมและประเพณีเมื่อใกล้ถึงวันนักขัตฤกษ์ โดยเฉพาะวันสงกรานต์ ภาคเช้าชาวบ้านจะออกไปทำบุญตักบาตรที่วัด ส่วนภาคเย็นก็จะผลัดกันไปขนทรายเข้าวัด และทำการก่อพระเจดีย์ทรายกัน หลังจากนั้นหนุ่มสาวก็จะชวนกันแสดงเพลงพื้นบ้านกันที่บริเวณลานวัด สำหรับเพลงต่างๆ ที่ผลัดกันร้อง เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงนางด้ง เพลงลิงลม และเพลงฮินเลเล/พินเลเลในแต่ละเพลงมีกติกาสำหรับการร้องไม่เหมือนกัน

เพลงฮินเลเล/พินเลเล ของชาวอำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกเป็นเพลงสั้นๆ ง่ายๆ แต่ละกลอนมีคำร้องตั้งแต่ ๑๐ พยางค์ขึ้นไป และคำสุดท้ายของแต่ละวรรคจะลงท้ายด้วยคำที่ใช้สระ เอ และจะเป็นการร้องสด จึงต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบควบคู่กันไปขณะที่ร้อง ส่วนมากเป็นเพลงที่ร้องโต้ตอบแก้กัน หรือร้องต่อกลอนกัน เป็นการฝึกสมอง ทดลองปัญญาไปในตัวพร้อมกัน นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เนื้อเพลงฮินเลเล/พินเลเล จะพบคำศัพท์ที่เป็นภาษาถิ่นปะปนอยู่ สำนวนที่ใช้ในเนื้อเพลงก็สามารถสะท้อนบริบท วิธีคิดและค่านิยมทางสังคมในขณะนั้นด้วย

ตัวอย่างของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในเพลงฮินเลเล/พินเลเล ของอำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอนครไทย เช่น

๑.การสะท้อนภาพบริบททางสังคม ในเนื้อเพลงฮินเลเล ของอำเภอวัดโบสถ์ แสดงว่า มีการละเล่นประเภท “ลิเก” อยู่ในยุคสมัยนั้น และสตรีที่มีความสวยงาม จะเอวเล็ก เอวบาง เหมือน “นางลิเก” สีเสื้อผ้าสตรีที่นิยมว่าสวยงามคือ “สีแดง” และมีความฝันในการไป “เที่ยวทะเล” (เพราะอำเภอนี้อยู่ในเขตภูเขา) ส่วนการเดินทางในชีวิตประจำวัน คือ “เรือเมล์” เนื่องจากเป็นอำเภอที่มีแม่น้ำแควน้อยเป็นเส้นทางคมนาคมที่บรรจบกับแม่น้ำน้ำน่าน ที่ไหลลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และในลำน้ำที่มีเรือเมล์แล่นผ่าน น่าจะอุดมไปด้วยดอกบัว ตามเนื้อเพลงที่มีการบันทึกไว้ ดังนี้

สร้อยเพลง ฮินเลเลฮินเลเล

(ชาย) เอวเล็ก เอวบาง น้องงามเหมือนนางลิเก (สร้อย)

(หญิง) อย่ามาหลอกให้น้องตายใจ มันเชื่อไม่ได้ดอกนะเว (สร้อย)

(ชาย) จะรำก็รำ อย่ามัวไปทำรวนเร (สร้อย)

(หญิง) จะรำก็ได้ มันไม่เป็นไรดอกนะเว (สร้อย)

(ชาย) แม่เสื้อแดงสวนนัก จะพานัองรักไปเที่ยวทะเล (สร้อย)

(หญิง) ฉันไปไม่ได้จริง ฉันกลัวถูกทิ้งไว้ชายทะเล (สร้อย)

(ชาย) จะไปก็ไป กระโดดเกาะท้ายเรือเมล์ (สร้อย)

(หญิง) อย่าเร่งนักซี ฉันไม่เคยขี่เรือเมล์ (สร้อย)

(ชาย) ฉันชอบชมดอกบัว พี่ขออยู่หัวเรือเมล์ (สร้อย)

(หญิง) ฉันขอบนอนหลับ ขอนั่งพิงกาบเรือเมล์ (สร้อย)

(ชาย) ได้แต่งกับเจ้า พี่ต้องขอเหมาเรือเมล์ (สร้อย)

(หญิง) ถ้าพี่โกหก จะผลักให้ตกเรือเมล์ (สร้อย)

(ชาย) มัวแต่คุยกัน เดี๋ยวก็ไม่ทันเรือเมล์ (สร้อย)

(หญิง) นายท้ายไม่ได้เรื่อง ยังไม่ติดเครื่องเรือเมล์ (สร้อย)

๒.การสะท้อนวิธีคิดของหญิงชายเกี่ยวกับความรักและการมีครอบครัว ในเนื้อเพลงพินเลเล ของชาวบ้านหนองกระท้าว อำเภอนครไทย แสดงว่าชายหนุ่มมีความคิดที่จะพาหญิงสาวหนีตาม แต่หญิงสาวไม่ยอมเพราะถือว่าไม่รักจริง และเชื่อว่าถ้ารักจริงจะต้องสู่ขอกับพ่อแม่โดยมีค่าสินสอด ๘ บาท ในขณะที่ฝ่ายชายพยายามต่อรอง โดยอ้างว่าสมัยนั้นมีความนิยมในการฉุดผู้หญิงไปแต่งงานด้วย แต่ฝ่ายหญิงก็พยายามโต้ตอบด้วยปฏิภาณ ตามเนื้อเพลงที่ได้มีการบันทึกไว้ ดังนี้

(สร้อย) พินเลเลพินเลเล

(ชาย) แม่คนนี้สวยเกิน ยิ่งดูยิ่งเพลินยังไงละเว (สร้อย)

(ชาย) รักจริงเอาจริง ได้แล้วไม่ทิ้งจริงหนอเว (สร้อย)

(หญิง) ดอกเอยสิมาเกี้ยว ก็น้องไม่เชื่อพี่แล้วเว (สร้อย)

(ชาย) รักจริงจะพาน้องหนี ๆ ไปวันนี้จะได้ไหมเว (สร้อย)

(หญิง) โธ่เอ๋ยที่จะตามชาย ก็สันไม่ไปดอกนะเว (สร้อย)

รักน้องก็มาขอ ต่อหน้าแม่พ่อกันนะเว (สร้อย)

รักจริงก็หนอเอาจริง ได้แล้วอย่าทิ้งเชียวนะเว (สร้อย)

(ชาย) รักจริงเอาจริง พี่ไม่ทอดทิ้งดอกหนาเว (สร้อย)

รักน้องจะไม่มาแต่ง กลัวสินสอดจะแพงยังไงละเว (สร้อย)

(หญิง) ทองหมั้นแปดบาท พี่อย่าให้ขาดเลยนะเว (สร้อย)

(ชาย) มาแต่งเงินไม่มี ไม่สู้พาหนีดอกนะเว (สร้อย)

(หญิง) พี่อยากได้ให้พี่มาขอ อย่ามัวรีรอกันเลยนะเว (สร้อย)

(ชาย) เดี๋ยวนี้รักกันอุตลุด เขาพากันสุดแล้วนะเว (สร้อย)

(หญิง) สุดไปแล้วพี่อย่าเสียใจ สันจะขายเอานะเว (สร้อย)

(ชาย) ถึงน้องจะขายพี่ก็จะซื้อ ไม่ให้ตกมือสันเลยนะเว (สร้อย)

๓.การสร้างเสริมกำลังใจและความบันเทิงเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ก้าวใหม่ของชีวิต เนื่องจากสังคมดั้งเดิมของอำเภอวัดโบสถ์และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก การสิ้นสุดปีเก่าจะตรงกับแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ซึ่งจะมีประเพณีสำคัญ เรียกว่า “ตรุษ” และจะตามด้วยประเพณีต้อนรับปีใหม่ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวัน “สงกรานต์”เพลงฮินเลเล/พินเลเล จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานี้
ในสมัยโบราณประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงจะรู้จักวัดเสนาสน์เพราะงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่โตมากก่อนเทศกาลตรุษ ๒– ๓ วัน ทั้งที่ วัดโบสถ์และวัดเสนาสน์ ในอำเภอวัดโบสถ์ และวัดสำคัญของอำเภอนครไทย คือ วัดกลาง วัดเหนือ และวัดหัวร้อง จะมีประเพณีบวชนาคหมู่ที่ยิ่งใหญ่และมีงานฉลองที่ยาวนานในวันตรุษและสงกรานต์ การสาดน้ำของหนุ่มสาวชาวเมืองนครไทยในช่วงสงกรานต์สมัยก่อนเคยใช้เวลานานนับเดือนซึ่งสามารถจะสาดน้ำกันแม้แต่ในช่วงเวลาค่ำคืน

ที่อำเภอวัดโบสถ์ ผู้สูงอายุมักเดินทางไปยังวัดเสนาสน์ ตั้งแต่วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ และพักค้างคืนเพื่อปฏิบัติธรรมที่วัด แล้วในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา และร่วมกันทำพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุแล้วจึงเดินทางกลับ เพื่อไปร่วมงานประเพณีที่วัดโบสถ์ซึ่งจัดต่อจากวัดเสนาสน์ เนื่องจากให้เกียรติที่วัดเสนาสน์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนคนหนุ่มสาว จะเดินทางไปที่วัดเสนาสน์ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ร่วมสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุและดูการละเล่นแล้วจึงเดินทางกลับ งานสรงน้ำพระบรมธาตุวัดเสนาสน์ในสมัยก่อนนั้น นอกจากจะมีมหรสพต่าง ๆ แล้ว จะมีการแข่งม้าในบริเวณงานวัด นักเลงที่มีเรื่องบาดหมางหรือไม่ถูกชะตากันจะนัดมาชกต่อยตีกันเพื่อชำระความแค้นถือว่าที่วัดเสนาสน์มีพระบรมสารีริกธาตุเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองและเป็นสักขีพยานชกต่อยตีกันแล้วไม่มีการเอาเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่มีเลือดตกยางออกถึงอันตรายร้ายแรง

การเดินทางไปร่วมงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุวัดเสนาสน์ในสมัยก่อนต้องเดินเท้า บนเส้นทางมีผู้ใจบุญสร้างศาลาพักร้อนไว้หลายแห่ง เช่น“ศาลายายตั้ว” “ศาลาตาโทน – ยายมี” ในศาลามีน้ำสะอาดใส่โอ่งดินเผาไว้ให้ดื่ม ศาลาบางแห่งมีข้าวต้มใส่หัวผักกาดเค็มโรยมะพร้าวขูดอยู่ในกระทะใบบัวใบใหญ่ บางศาลามีข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย และผลไม้พื้นบ้านไว้ให้คนเดินทางรับประทานบนเส้นทางบุญหนุ่มสาวที่เดินทางไปร่วมงานบางคู่เกิดผูกพันรักใคร่จนได้แต่งงานกันก็มีเป็นจำนวนมาก หลังจากสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุที่วัดเสนาสน์ ก็จะไปสรงน้ำหลวงพ่อโตซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดโบสถ์ต่อ

เพลงฮินเลเล/พินเลเล เป็นเพลงพื้นบ้านที่ให้ความเพลิดเพลินแก่สมาชิกของสังคมในขณะที่ผู้ร้องเองก็เพลิดเพลินผ่อนคลายอารมณ์เครียดไปด้วยในตัว เป็นเพลงปฏิพากย์ซึ่งโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง ที่มีเนื้อหาสนุก เพราะเป็นเรื่องของการเกี้ยวพาราสี เรื่องของความรัก การประลองฝีปากเป็นสิ่งบันเทิงที่เต็มไปด้วยโวหารและปฏิภาณ มีบทสังวาสที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟัง มีจังหวะคึกคัก เร้าใจ มีลีลาสนุก เวลาร้องก็มีท่าทางประกอบ และมีการรำซึ่งทั้งรำอย่างสวยงามและรำยั่วเย้าอย่างอิสระ จึงมีบทบาทสร้างความสุข ความบันเทิง และความผ่อนคลาย ให้กับสมาชิกในสังคม

4.บทบาทในการฝึกไหวพริบผ่านกลบทคำกลอนสระ เอ ภาษาไทยมีลีลาและสัมผัสในสัมผัสนอกที่งดงาม เป็นภาษาที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาอันซับซ้อนของชนชาติไทย เพลงฮินเลเล/พินเลเล ใช้คำลงท้ายด้วยสระ เอ ซึ่งมักจะมีคำที่มีความหมายในเชิงบวกไม่กี่คำ ส่วนใหญ่จะมีความหมายเชิงลบ เช่น เก เข เซ เฉ เห เหย เหล่ เป๋ โลเล ฯลฯ ดังนั้น การบังคับให้ลงท้ายแต่ละกลอนด้วยสระ เอ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสติปัญญา และการที่ชาวบ้านซึ่งเป็นเพียงเกษตรกร สามารถตอบโต้กันอย่างฉาดฉานทันที ทันใด โดยเลือกคำที่มีความหมายที่ถูกใจผู้ฟัง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถไม่น้อย ที่อำเภอวัดโบสถ์และอำเภอนครไทย การเล่นเพลงฮินเลเล/พินเลเล ถูกสืบทอดต่อกันมาด้วยความ สมัครใจ และมีหลักฐานที่ยืนยันว่า ชาวบ้านดั้งเดิมของทั้งสองอำเภอนี้ มักจะมีฝีปากคมคายและเจ้าบทเจ้ากลอนนอกจากจะมีชื่อเสียงเรื่องเพลงฮินเลเล/พินเลเล ยังมีเพลงพื้นบ้านอื่นๆ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นอีก เช่น เพลงลาเอ๋ยลา ซึ่งลงท้ายคำกลอนด้วยสระ อา ของชาววัดโบสถ์ และเพลงแห่นาคที่สตรีชาวบ้านหัวร้อง ในอำเภอนครไทยแต่งขึ้นเพื่อเตือนนาคไม่ให้รีบสึกเพราะคิดถึงสีกา เป็นต้น

กล่าวได้ว่า เพลงฮินเลเล/พินเลเล เป็นเพลงพื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นสมบัติของสังคมที่ได้สะสมต่อเนื่องกันมาอย่างนานเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยในอำเภอวัดโบสถ์และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยมาหลายร้อยปี เป็นงานสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มชน เป็นสิ่งที่บันทึกประสบการณ์ของบรรพบุรุษที่ส่งทอดต่อมาให้แก่ลูกหลาน บันทึกความรู้และภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่นมิให้สูญหาย ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างปัญญาให้แก่คนในท้องถิ่นทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม แต่ในปัจจุบันเพลงพื้นบ้าน ซึ่งรวมทั้งเพลงฮินเลเล/พินเลเลมีบทบาทต่อท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลกน้อยมาก เพราะมีสิ่งอื่นขึ้นมาทดแทนมีสิ่งบันเทิงแบบใหม่มากมาย มีการศึกษาในระบบโรงเรียนเข้ามาทำหน้าที่ให้การศึกษา และควบคุมสังคมแทนการใช้เพลงพื้นบ้านมีระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารและคมนาคมที่รวดเร็วและมีรูปแบบที่หลากหลาย เพลงพื้นบ้านอย่างเพลงฮินเลเล/พินเลเลจึงกำลังยุติบทบาทลงโดยสิ้นเชิง ถ้าไม่มีการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของเพลงฮินเลเล/พินเลเล หลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเพลงฮินเลเล/พินเลเล ของอำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอนครไทย ไม่ปรากฏว่าเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด และยังไม่มีการศึกษาว่ามีการเคลื่อนย้ายทางวัฒนธรรมจากแหล่งไหนเข้าไปสู่สังคมโบราณทั้งสองแห่งนี้ แต่มีหลักฐานว่าทั้งสองอำเภอมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพราะอำเภอวัดโบสถ์อยู่บนเส้นทางการคมนาคมทางเรือและทางบกโดยการเดินเท้าหรือใช้ช้างม้า จากเมืองนครไทยมาที่เมืองสรลวงสองแคว หรือพิษณุโลก โดยทางเรือจะผ่านมาตามลำน้ำแควน้อย และมีเพลงพื้นบ้านของเมืองนครไทยที่เล่าเรื่องการเดินทัพของพ่อขุนบางกลางหาว ว่าได้เดินทางผ่านทางเมืองชาติตระการซึ่งติดต่อกับเขตอำเภอวัดโบสถ์ในปัจจุบัน อีกทั้งมีชาวบ้านตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์ จำนวนหนึ่งซึ่งใช้ภาษาถิ่นของเมืองนครไทย และมีบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองนครไทย

ผลจากการสัมภาษณ์ชาวพื้นเมืองนครไทยอายุ ๙๕ ปี ที่เกิดและเติบโตที่บ้านโนนจันทร์ ตำบลนครไทย อำเภอนครไทย ได้ทราบข้อมูลว่า คำว่า “พิน” ในเพลงพินเลเล อาจจะมาจาก “พิณ” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านดั้งเดิมที่หนุ่มเมืองนครไทยนิยมดีดในค่ำคืนที่มา “แอ่วสาว” ก็เป็นได้ เพราะในสมัยก่อนนั้น มีประเพณี “ลงช่วง” โดยสาวๆ จะทำงานในยามค่ำ เช่น ทอผ้า ที่ลานบ้าน และหนุ่มๆ ก็จะพากันมาเยี่ยมเยียนเพื่อเกี้ยวพาราสี ระหว่างเดินทางมาบ้านสาว หนุ่มส่วนมากก็มักจะดีดพิณเพื่อให้สัญญาณมาก่อนด้วย (นางอรุณ ศรีคุ้ม,๒๕๖๑)

การเรียกชื่อเพลงที่แตกต่างกัน น่าจะเป็นเพราะมีการเพี้ยนเสียงของคำว่า “ฮิน” และ “พิน” ของชาวบ้านที่อำเภอวัดโบสถ์ก็ไปได้ เนื่องจากมีตำนานและโบราณวัตถุที่แสดงว่าวัดเสนาสน์ และวัดโบสถ์ ในอำเภอวัดโบสถ์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยละโว้ ก่อนยุคสุโขทัย และได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากศรีลังกามาประดิษฐานไว้ ในสมัยเดียวกับพระบรมสารีริกฐานที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ส่วนประวัติของอำเภอนครไทยนั้น ก็มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันว่า มีความเก่าแก่ก่อนสมัยสุโขทัยประมาณ ๑๑๐ ปี (ปราณี แจ่มขุนเทียน, ๒๕๒๗) และทั้งอำเภอวัดโบสถ์กับอำเภอนครไทย มีภาษาถิ่นที่ใช้ร่วมกันด้วย
ภาษาถิ่นของชาวนครไทย เป็นภาษาตระกูลไท (ไต) ที่เป็นภาษาไทยมาตรฐานสำหรับพูดในกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และอำเภอวัดโบสถ์บางหมู่บ้าน รวมทั้งอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีเสียงพยัญชนะ สระ คล้ายเสียงในภาษาถิ่นภาคเหนือและภาษาถิ่นอีสาน มีคำศัพท์ที่ผสมผสานระหว่างคำในภาษาไทย ภาษาล้านนา และภาษาอีสาน

ภาษาถิ่นของชาววัดโบสถ์มี ๒ กลุ่มภาษา ชาววัดโบสถ์ตอนล่างใช้ภาษาไทยภาคกลางที่ได้รับมาจากเมืองสุโขทัย แต่ชาววัดโบสถ์ตอนบน (ตำบลคันโช้ง และตำบลหินลาด) ได้รับวัฒนธรรมทางภาษาจากเมืองเชียงแสน เชียงของ น้ำปาด พิชัย ทองแสนขัน ด่านซ้าย ชาติตระการ นครไทย และผู้อพยพจากประเทศลาว
การวิเคราะห์บทเพลงพิธีกรรมของชาวอำเภอนครไทย ด้วยวิธีการทางมานุษยดุริยางค์ จาก ๑๔ หมู่บ้านที่ใช้ภาษาถิ่นนครไทยของวิรัตน์ เจริญผ่อง (๒๕๔๒) เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่และการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของบทเพลงและผู้ขับร้องเพลงรวมทั้งบันทึกโน้ตเพลงและวิเคราะห์ทำนองเพลง พบว่า มีเพลง “เชิญปู่” เป็นบทเพลงที่บรรพชนชาวนครไทยสร้างขึ้นทั้งบทร้องและทำนอง เพื่อจุดมุ่งหมายเฉพาะในการขับลำนำเชิญปู่มาประทับร่างนางทรง รูปแบบและท่วงทำนองเพลงเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ใช้เสียงในช่วงเสียงที่แคบและมีระดับเสียงต่ำ ทำนองเพลงมีลักษณะการเชื่อมเสียงที่ใกล้ชิดกัน แนวทำนองเพลงช้าๆ ยืนเสียงอย่างสม่ำเสมอเป็นการขับลำนำคล้ายการสวด เหมาะสมที่จะใช้กับบทร้องที่เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์“เพลงเชิญปู่” จึงยังหลงเหลืออยู่ในกลุ่มชาวบ้านที่มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติในอำเภอนครไทยและอำเภอชายแดนที่ชาวบ้านอยู่ในกลุ่ม วัฒนธรรมไทย-ลาว แต่เพลงฮินเลเล/พินเลเล แม้จะใช้ร้องเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ แต่ก็มีบทบาทในการสร้างความบันเทิงและปลดปล่อยแรงผลักดันทางเพศ มากกว่าการควบคุมพฤติกรรมเชิงจริยธรรม

ในสมัยอยุธยา มีหลักฐานกล่าวถึงเพลงพื้นบ้านเป็นครั้งแรกในกฎมณเฑียรบาล ที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการกล่าวถึงเพลงชนิดหนึ่งเรียกว่า เพลงเรือ เป็นเพลงที่ชายหญิงร้องเล่นในเรือ ซึ่งประกาศมิให้มาร้องในท่าน้ำสระแก้ว และใกล้เขตพระราชฐานที่กำหนดไว้ต่อมา ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีเพลงชื่อว่า “เพลงเทพทอง”ปรากฏในหนังสือเรื่อง "ปุณโณวาทคำฉันท์" ของพระมหานาค จนถึงสมัยธนบุรี กล่าวถึงเพลงเทพทอง ในหลักฐานที่เล่าถึงการมหรสพในงานพระเมรุใหญ่ ๒ งาน คือ งานพระเมรุพระอัฐิกรมพระเทพามาตย์ พระพันปีหลวง พ.ศ. ๒๓๑๙ ว่า มีเทพทอง ๒ โรง และงานพระเมรุกรมขุนอินทรพิทักษ์ มีเทพทอง ๑ โรงส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ครั้งจัดงานฉลองพระแก้วมรกตและพระบาง ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น การมหรสพสมโภชมีเพลงพื้นบ้านอยู่ ๒ ชนิด คือ เพลงปรบไก่ และเพลงเทพทอง

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เพลงปรบไก่ยังเป็นมหรสพที่ใช้ในงานสมโภชพระยาเศวตกุญชรที่ได้มาจากเมืองโพธิสัตว์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ และสมัยรัชกาลที่ ๓ ปรากฏหลักฐานดังใน "โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส" กล่าวถึงงานลอยกระทงว่า มีการเล่นเพลงสักวา เพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่ และดอกสร้อย
ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ เกิดกระแสความนิยมแอ่วลาว จึงทรงออกประกาศห้ามเล่นแอ่วลาวขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ และทรงขอให้ฟื้นฟูเพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่ เพลงสักวา เพลงไก่ป่า เพลงเกี่ยวข้าว ขึ้นใหม่ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ มีการประสมเพลงฉ่อยเข้ากับละครรำ เกิดเพลงพื้นบ้านชนิดใหม่เรียกว่า เพลงทรงเครื่อง หรือเพลงส่งเครื่อง นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ เพลงพื้นบ้านยังเป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมไม่แพ้มหรสพอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏมีหลักฐานใดๆ เชิงประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงเพลงฮินเลเล/พินเลเล จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า เพลงฮินเลเล/พินเลเล เป็นเพลงที่ชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนของอาณาจักรไทย ที่เมืองนครไทยและเมืองใกล้เคียง ใช้ขับร้องเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ แล้วส่งต่อไปยังกลุ่มวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ อุทัยธานี และอุตรดิตถ์ โดยผู้อพยพที่ไปจากเมืองนครไทยและใกล้เคียง เพราะมีหลักฐานว่ามีการอพยพของชาวเมืองนครไทยมาอยู่ที่บ้านวัดตายม ที่ตั้งเมืองสรลวงสองแควแห่งแรก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ก่อนจะมีการสร้างเมืองพิษณุโลก ณ พื้นที่ตั้งปัจจุบัน และก่อนจะมีการสร้างพระพุทธชินราช

เพลงพื้นบ้านของชาวนครไทย โดยนางรำพรรณ จันทร์บรรจง (บ้านนาหัวเซ อำเภอนครไทย) ซึ่งได้ร้องให้ลูกหลานฟังเมื่อกว่าเจ็ดสิบปีที่แล้ว พรรณนาว่าเส้นทางการเดินทัพจากเมืองบางยางหรือนครไทย ไปยังศรีสัชนาลัย ของพ่อขุนบางกลางหาว ได้ผ่านไปทางเมืองทุ่งยั้งและเมืองลับแลในจังหวัดอุตรดิตถ์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงเทครัวชาวเมืองพิษณุโลก เข้าไปอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจนเมืองร้างไประยะหนึ่ง จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เมืองพิษณุโลกจึงได้รับการฟื้นฟูขั้นมาใหม่ ในขณะที่ เมืองนครไทยไม่ได้หยุดทำหน้าที่ส่งส่วยที่เป็นทรัพยากรจากป่าให้กับเมืองหลวงของไทย ไม่ว่าในยุคสมัยไหน และยังมีหลักฐานจากคำบอกเล่า ว่าพ่อค้าจากเมืองนครไทย ได้เดินทางไปค้าขายไกลถึงเมืองอุทัยธานี ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ (ประสานสุข หมวกงาม,สัมภาษณ์. ๒๕๕๙)

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอย่างมาก รัฐบาลควบคุมการละเล่นพื้นบ้าน และใน พ.ศ. ๒๔๘๖ กรมศิลปากรได้กำหนดระเบียบการควบคุมการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่ง ส่งผลให้พ่อเพลงแม่เพลงไม่สามารถว่าเพลงได้ดังเดิม ในขณะเดียวกัน รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการรำวง อาทิ บังคับให้ข้าราชการฝึกซ้อมรำวงทุกบ่ายวันพุธ และให้รำวงในโอกาสต่างๆ การรำวงจึงแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ส่วนเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแต่เนื่องจากอำเภอนครไทยเพิ่งเปิดสู่โลกภายนอกหลังจากมีถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๔ส่วนอำเภอวัดโบสถ์ก็เพิ่งแยกออกจากอำเภอพรหมพิรามเป็นกิ่งอำเภอวัดโบสถ์ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๑ การถูกควบคุมไม่ให้มีการเล่นเพลงพื้นบ้านจึงอาจจะไม่เข้มงวดมากนัก จึงอาจเป็นเหตุผลที่ยังมีมรดกวัฒนธรรมนี้หลงเหลืออยู่ลักษณะเฉพาะของเพลงฮินเลเลหรือพินเลเลที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมีดังนี้

วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ประกอบด้วย ประเภท โครงเรื่องของแต่ละสำนวนลักษณะเด่นของแต่ละสำนวน และความสัมพันธ์และบทบาทในวิถีชีวิตภาษา ประกอบด้วยระบบภาษา คำและความหมาย ระบบการเขียน/ภาษาเขียนดั้งเดิม ลักษณะการสื่อสาร การปรากฏใช้ วรรณกรรมมุขปาฐะศิลปะการแสดง ประกอบด้วย ลักษณะการแสดง ประเภท พัฒนาการ ขนบความเชื่อ ลำดับขั้นตอนการแสดง รูปแบบการจัดการแสดง โน้ตเพลง บทเพลง บทละคร อุปกรณ์ และกระบวนท่า

การเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของเพลงฮินเลเล/พินเลเลอำเภอวัดโบสถ์/อำเภอนครไทย

เพลงฮินเลเล/พินเลเล เป็นบทร้อยกรองท้องถิ่นที่จดจำวิธีเล่นสืบต่อกันมา แต่เนื้อเพลงเกิดจากการแต่งขึ้นโดยชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เล่น และการคิดถ้อยคำที่เป็นบทกลอนภาษาไทยท้องถิ่น ในลักษณะกลบท ชนิดฉับพลันทันด่วน มีลักษณะเฉพาะที่สรุปได้ดังนี้

๑. เป็นงานของกลุ่มชาวบ้านอาศัยไหวพริบและความชื่นชอบในศิลปะการร้องรำของผู้เล่นทั้งเพศชายหญิง ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร คนในกลุ่มผู้ร้องรำมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบทเพลง ชาวบ้านร่วมเป็นผู้ร้องสร้อยเพลง หรือเป็นลูกคู่ โดยคุ้นชินกับจังหวะเพลงและภาษาที่ใช้

๒. มีกำเนิดที่ไม่แน่ชัด เพราะไม่มีการจดบันทึกไว้ แต่พบว่ามีการเล่นในจังหวัดภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับเมืองนครไทย จึงน่าจะค้นคว้าให้ลึกซึ้งต่อไปว่า สำนวนเพลงและภาษา ในเพลงฮินเลเลที่อำเภอและจังหวัดอื่นๆ มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างจากที่อำเภอนครไทย และอำเภอวัดโบสถ์มากน้อยเพียงใด มีการถ่ายโอนกันทางวัฒนธรรมอย่างไรหรือไม่

๓. เพลงฮินเลเล/พินเลเลมีเนื้อร้องไม่ตายตัว แต่มีโครงสร้างประกอบด้วยกลอนที่มีอย่างน้อย ๑๐ พยางค์ ใน ๑ กลอน และจะต้องลงท้ายด้วยสระ เอ เพลงพินเลเลของอำเภอนครไทย จึงมักจะลงท้ายด้วย “เว” แม้ว่าจะไม่มีความหมายใด ๆ ส่วนเพลงฮินเลเลของอำเภอวัดโบสถ์ นิยมใช้คำลงท้ายที่มีความหมาย เช่น“ลิเก” “เมล์” “รวนเร” “ทะเล”

๔. ใช้ภาษาถิ่นในการแต่งบทกลอน ไม่ได้ใช้ภาษากลางที่เป็นภาษาของกลุ่มชนชั้นปกครอง เช่น เพลงพินเลเล ของชาวหนองกระท้าว อำเภอนครไทย ใช้คำว่า “สัน” ตามสำเนียงภาษาถิ่นแทนคำว่า “ฉัน” และคำว่า “สุด” แทนคำว่า “ฉุด”

การเป็นศิลปะเฉพาะท้องถิ่นของเพลงฮินเลเล/พินเลเล

๑. ลักษณะการแสดงประกอบเพลงฮินเลเล/พินเลเล ทั้งที่อำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอนครไทย คล้ายกัน คือ การร้องและรำประกอบเพลง โดยไม่มีอุปกรณ์การเล่น ไม่มีโน้ตเพลงที่ตายตัว และมีจำนวนผู้เล่นไม่จำกัด แต่จะเล่นเป็นคู่ชาย-หญิง โดย ฝ่ายชายจะขึ้นเนื้อเพลงก่อน แล้วรำเข้าไปหาฝ่ายหญิง แล้วฝ่ายหญิงจะร้องเพลงรับหรือแก้ พร้อมกับรำออกมาคู่ กับฝ่ายชาย ผู้ร้องจะสลับกันฝ่ายละ ๑ บท หรือ ๒ วรรค
๒. ผู้เล่นบางคนที่ร้องเพลงไม่ได้ แต่ชอบรำ ก็สามารถมาร่วมเล่นได้ โดยเพื่อนในกลุ่มของแต่ละฝ่ายจะเป็นผู้ร้องแทน ให้ผู้รำได้ทำหน้าที่รำอย่างเดียว หรือถ้ารำไม่ได้ ก็สามารถร้องเป็นลูกคู่และปรบมือให้จังหวะก็ได้

๓. การเล่นเพลงฮินเลเล/พินเลเล ทั้งในอำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอนครไทย ไม่จำกัดว่าจะรำกี่คู่ และจะจบเพลงเมื่อไร อาจจะเล่นไปเรื่อยๆ โดยไม่เปลี่ยนเป็นเพลงอื่น หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นเพลงอื่นบ้าง แล้วกลับมาร้องกันใหม่อีกก็ได้ เป็นการเล่น “รำวง” ชนิดหนึ่ง ซึ่งในอำเภอนครไทย พบว่า มีคำเรียกว่า “รำวง พินเลเล”ด้วย

๔. ในอำเภอนครไทย มักจะเล่นกันหลังไปทำบุญสรงน้ำพระและเล่นสาดน้ำกัน พอพลบค่ำก็จะเล่นรำวง “พินเลเล” ตามลานบ้าน บางครั้งเล่นกันจนกระทั่งรุ่งเช้า บางแห่งเล่นติดต่อกันนานถึง ๓-๗ คืน ก็มี เป็นโอกาส ให้หนุ่มสาวได้พบกัน บางคนก็ถือโอกาสเลือกคู่ครองไปด้วย

๕. ในสมัยดั้งเดิม การแต่งกายของผู้ร่วมเล่นเพลงและรำวง “ฮินเลเล/พินเลเล” น่าจะไม่มีรูปแบบที่ตายตัว แต่คงจะเป็นชุดที่สวยงามที่สุดของแต่ละคน เพราะเป็นโอกาสในการเลือกคู่ครองของหนุ่มสาว แต่ในปัจจุบัน การแสดงเพื่ออนุรักษ์เพลงพื้นบ้านของอำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอนครไทย มีการกำหนดชุดการแสดง เช่น ให้ผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าคาดเอว และผู้หญิงสวมเสื้อคอกลมแขนกระบอกแบบเข้ารูป ผ่าหน้า มีสไบ คล้องคอ นุ่งผ้าถุงทรงยาวไม่จำกัดสี

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและงานเทศกาล

ในสมัยดั้งเดิม ทั้งในอำเภอวัดโบสถ์ และอำเภอนครไทย การเล่นเพลงฮินเลเล/พินเลเล นิยมปฏิบัติกันในงานตรุษ สงกรานต์ แต่ในปัจจุบัน มักจะเป็นเพียงการแสดงสาธิต หรือแสดงประกอบงานเทศกาลที่ต้องการนำเสนอศิลปะพื้นบ้านที่อำเภอนครไทย มีการฟื้นฟูการเล่นเพลงพินเลเล ในประเพณีปักธงไชย หรืองานปักธง เมืองนครไทย ซึ่งกลายเป็นงานประจำปีที่ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนให้ประชาชนอนุรักษ์ไว้ในฐานะเป็นประเพณีซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น มีพิธีทอธงผ้าขาว งานบวงสรวง และงานฉลองธง ในวันขี้น ๑๔ เดือน ๑๒ ของทุกปี แล้วชาวบ้านจัดขบวนแห่ธง ๓ ผืน ขึ้นไปปักบนยอดเขาฉันเพล เขายั่นโฮ และเขาช้างล้วง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เพลงพินเลเล ในปัจจุบัน จึงมีเนื้อร้องเกี่ยวข้องกับประเพณีปักธง แต่ผู้เล่นยังคงเป็นชาวบ้านผู้สูงอายุที่สมัครใจ

Location
Province Phitsanulok
Details of access
Reference สวจพล พล Email plk.culture@gmail.com
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่