วิหารทับเกษตร หรือพระระเบียงตีนธาตุเป็นระเบียงหรือวิหารที่อยู่โดยรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ มีความยาว ๑๘ วา ๑ ศอก ๑๕ นิ้ว เท่ากันทั้ง ๔ ด้าน กว้างด้านละ ๒ วา ทั้ง ๔ ด้าน คำว่า “ทับเกษตร”เป็นศัพท์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึงผิวพื้นบริเวณที่ใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปเหนือนาบบนฐานพระหรือเรือนซึ่งเป็นขอบเขตซึ่งได้แก่ระเบียงคดวิหารคด ด้วยเหตุนี้ วิหารทับเกษตรจึงได้ชื่อตามหน้าที่ ก็คือวิหารคด ซึ่งเป็นวิหารแสดงขอบเขตของพระบรมธาตุเจดีย์วิหารทับเกษตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นและสำริดเรียงรายเป็นระเบียบเต็มไปหมดทั้ง ๔ ด้าน ทั้งพระพุทธรูปยืนและนั่งรวมทั้งหมด จำนวน ๑๓๗ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้สร้างในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น รอบ ๆ ฐานพระบรมธาตุเจดีย์ทำเป็นซุ้มมีหัวช้างยื่นออกมาจากฐานพระบรมธาตุเจดีย์ราวกับว่าเป็นขื่อคานรับองค์พระเจดีย์ ซุ้มเหล่านี้มีโดยรอบ ๒๒ ซุ้ม (หัวช้าง ๒๒ หัว) ในระหว่างซุ้มหัวช้างแต่ละซุ้มอันเป็นลักษณะเฉพาะที่เชื่อว่ารับมาจากลังกา สลับกับซุ้มเรือนแก้วปูนปั้นครอบพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัยไม่ซ้ำแบบกันเลยทั้งพระและซุ้มจำนวน ๒๕ ซุ้ม โดยเฉพาะรูปยักษ์และคนที่รองรับยกซุ้มอยู่นั้นสวยงามมาก สันนิษฐานว่าซุ้มเหล่านี้สร้างสมัยอยุธยาแต่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบลพบุรีและสุโขทัย ที่ด้านเหนือซึ่งเดินได้ไม่ตลอดเพราะติดวิหารพระทรงม้านั้นทั้งสองฟากมีพระปูนปั้นชาวบ้านนิยมสักการะบูดขาด้วยเชื่อว่า คือพระศรีอารย์ ฐานทับเกษตรมียกพื้น ๒ ชั้น ซึ่งสามารถเดินได้รอบ ชั้นบนนิยมเรียกว่า "ทางพระเจ้าตาก" มีเสารอบตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมไทย ระหว่างเสามีพระพุทธรูปปูนปั้นและสำริดปางต่าง ๆ เรียงรายเต็มทั้ง ๔ ด้าน หลายองค์ที่ฐานเป็นที่บรรจุอัฐิของขุนศรีธรรมธาตุรักษา ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ในอดีต ทั้ง ๓ ด้านในวิหารนี้มีธรรมาสน์สำหรับพระสงฆ์ใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะถือเป็นที่แสดงธรรมสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ วิหารทับเกษตร มีประตู ๒ ประตู ประตูด้านหน้า คือประตูเหมรังศรี ข้างประตูมีสิงห์โตหินตัวผู้และตัวเมีย หน้าจั่วซุ้มประตู ประดับแก้วสีเป็นรูปครุฑและนาคยึดเกี่ยวกัน