ตุง
ตุงเป็นภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง ธงของชาวล้านนา มีรูปแบบและใช้วัสดุต่างกัน ทำด้วยผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้ ตุงที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าห้อยลง ได้แก่ ตุงไชย ตุงค่าคิง ตุงสามหาง และตุงกระด้าง อีกชนิดหนึ่งเป็นธงรูปสามเหลี่ยมที่เรียก ช่อ จ้อ หรือธงช่อ โดยตุงนั้น บางทีเขียนทุงหรือธุง แต่ออกเสียงว่าตุง ภาษาถิ่นอีสานเรียกทุุง
ตุงทราย
ตุงทราย เป็นตุงที่ใช้ปักเจดีย์ทรายช่วงปีใหม่สงกรานต์ มีหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่ง
ที่นิยมทำก็คือทำเป็นรูปเทวดา โดยจุดมุ่งหมายก็เพื่อทำบุญถวายเทพเทวดาที่รักษาดูแลรักษาตัวเราและขอขมาสิ่งที่ได้ล่วงเกิน และนำไปปักบนเจดีย์ทรายพร้อมกับตุงอื่นๆ เช่น ตุงช่อน้อย ซึ่งเมื่อโดนลมก็จะปลิวไสวสวยงามอยู่บนเจดีย์ทราย
การทำตุงเทวดา (ตุงทราย)
วัสดุอุปกรณ์ในทำตุงเทวดา (ตุงทราย)
1. กระดาษว่าวคละสี ขนาด 30x 35 เซนติเมตร จำนวน 3 แผ่น
2. กรรไกร
3. เข็มเย็บผ้า
4. ด้าย
วิธีการทำตุงเทวดา (ตุงทราย)
1. นำการดาษว่าวคละสี ขนาด 30x 35 เซนติเมตร จำนวน 3 แผ่น มาวางซ้อนกัน จากนั้นทำการพับตามแนวยาวให้เป็น 3 ส่วน โดยเมื่อพับแล้วกระดาษจะมีขนาด 10 x 35 เซนติเมตร
2. จากนั้น นำกระดาษที่พับเป็น 3 ส่วน มาพับครึ่งตามแนวยาวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการตัดตัวเทวดา ซึ่งเมื่อตัดออกมาจะได้ตุงเทวดา (ตุงทราย) จำนวน 9 องค์
3. เมื่อพับครึ่งกระดาษแล้ว ต่อไปให้ทำการตัดตัวเทวดา โดยตัดส่วนหัวก่อน หลังจากนั้นก็ตัดส่วนหาง แล้วตัดส่วนแขน และตัดตกแต่งลวดลายบริเวณขา
4. เมื่อตัดเสร็จแล้วให้คลี่กระดาษออก จะพบว่ากระดาษที่ตัดเมื่อครู่เป็นรูปเทวดาแล้ว
5. จากนั้นให้ค่อย ๆ แยกเทวดาออกจากกัน แล้วทำการร้อยด้ายสำหรับห้อยเทวดาที่บริเวณปลายแหลมของหัวเทวดา เสร็จวิธีการทำตุงเทวดา (ตุงทราย)