“วัดฝั่งหมิ่น” ตั้งอยู่ในหมู่บ้านฝั่งหมิ่น เลขที่ 30 หมู่ 6 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแม่กก ด้านทิศตะวันออกของเทศบาลเมืองเชียงราย ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำกก 1 กิโลเมตร การเดินทางไปวัดฝั่งหมิ่นสามารถไปได้ 2 ทางคือ ทางน้ำโดยทางเรือ ไปตามลำน้ำกก ทางบกมีถนนไปวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย ผ่านหน้าวัด
ความหมายของชื่อวัดฝั่งหมิ่น
ฝั่ง หมายถึงแผ่นดินที่อยู่ติดขอบ,ริมสุด หรือติดต่อกับ เช่น ฝั่งน้ำ,ฝั่งขวา เป็นต้น
หมิ่น หมายถึง 1. สิ่งที่เกิดจากการเผาไหม้ มีสีดำเหมือนเขม่า
2. เป็นลักษณะหรืออาการที่เกือบหลุด หรือหล่นไป เช่น หมิ่นเหม่
3. เป็นภาษาท้องถิ่นของภาคเหนือ หมายถึง ใกล้ ชิด ติด ขอบ เกือบจะหล่นเกือบจะหลุดหรือเกือบจะร่วงไป รวมทั้งเรียก “เขม่า” ว่า “หมิ่น”
สรุป คำว่าฝั่งหมิ่น หมายถึง แผ่นดินที่เกือบจะหลุด หรือจะพังลง
วัดฝั่งหมิ่น จึงหมายถึง วัดที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ ที่ใกล้ชิดติดแม่น้ำและเกือบจะพังลง
“วัดฝั่งหมิ่น” เป็นวัดที่ไม่ปรากฏชื่อของผู้สร้างวัดนี้เป็นที่แน่นอนหรือเด่นชัด แต่จากการตรวจสอบซากวัตถุที่มีอยู่เดิม และจากการสันนิษฐานของซากเศษอิฐ ชิ้นส่วนบางรายการของพระพุทธรูปหิน และวัสดุที่ค้นพบในบริเวณวัด รวมทั้งตำนานที่มีอยู่บางส่วนและคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ ทำให้สันนิษฐานว่า เป็นวัดที่มีมาช้านาน แต่เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำกก ทางเดินของน้ำได้ไหลเปลี่ยนทิศทาง เซาะตลิ่งจนถึงบริเวณวัด ทำให้วัดล่มสลายลง แต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก ที่กระแสน้ำไม่ได้พัดพาเอาเศษอิฐและวัสดุของใช้ภายในวัดแต่เดิมให้ไหลไปตามน้ำ
ต่อมาทางน้ำได้ไหลเปลี่ยนทิศทางอีก ทำให้บริเวณวัดเดิมเกิดมูลดินทรายโผล่พ้นเป็นเกาะขึ้นมากลายเป็นวัดร้างปรากฏให้เห็นเฉพาะฐานรากพระวิหาร เศษวัสดุดั้งเดิมของวัด เช่น อิฐ ไม้ ซากพระพุทธรูปหินมากมาย ชาวบ้านจึงช่วยกันขุดค้นตกแต่งฐานพระวิหารแล้วทำการบูรณปฏิสังขรณ์ สร้างเป็นวัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณกว่า 200 ปีมาแล้ว
ขณะเดียวกันในช่วงที่วัดดั้งเดิมอยู่บริเวณฝั่งน้ำก่อนที่น้ำจะเซาะตลิ่งและวัดล่มสลายนั้น บริเวณหน้าวัดเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ เป็นที่จอดเรือค้าขายของชาวจีนและชาวลาวจากลานช้าง ที่ล่องเรือตามลำน้ำกกมาค้าขายกับชาวเชียงรายบ่อยครั้งและได้มีชาวจีนคณะหนึ่งนำเรือยาวประมาณ 15 เมตร บรรทุกสินค้ารวมเครื่องราชบรรณาการจะมาถวายพ่อขุนเม็งราย เรือเกิดล่มจม ณ บริเวณวัด คาดว่าซากเรือพร้อมสินค้ารวมทั้งเครื่องราชบรรณาการที่มีค่ามหาศาลถูกฝังอยู่ ณ บริเวณวัดปัจจุบัน โดยไม่ทรายว่าเป็นจุดใด และยังไม่มีผู้ขุดค้นขึ้นมาได้ตราบจนทุกวันนี้ ชาวบ้านที่ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ได้เล่าขานต่อกันมา โดยเรียกวัดที่บูรณะแล้วว่า “วัดฝั่งหมิ่น” ปัจจุบันมีผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสช่วยกันสร้างถาวรวัตถุเพื่อพระพุทธศาสนาสืบต่อมา จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบัน
เนื้อที่และเขตธรณีสงฆ์ วัดฝั่งหมิ่นมีเนื้อที่ตามหลักฐานทางราชการ (โฉนด) จำนวน 6 ไร่ 1 งาน เขตธรณีสงฆ์ จำนวน 10ไร่ 2 งาน รวม จำนวนทั้งสิ้น 16 ไร่ 3 งาน
รายนามเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดฝั่งหมิ่น ตามหลักฐานที่ปรากฏ มีรายนามดังต่อไปนี้
1. พระกา
2. พระครูบาอภัย พ.ศ. 2351
3. พระกันทา
4. พระว๊อก
5. พระพรม
6. พระเมืองใจ
7. พระจันทร์ตา พ.ศ. 2466
8. พระบุญปั๋น
9. พระคำแปง จนฺทวงฺโส
10. พระอุ่นเรือน พรหมฺสโร
11. พระสมบูรณ์ สุปุญโญ
12. พระสิงห์แก้ว ขนฺติพโล พ.ศ. 2487 – 2499
13. พระสาร
14. พระยศ
15. พระอินปั๋น ฐิตธมฺโม พ.ศ. 2501 – 2504
16. พระสมบัติ ชนฺติพโล พ.ศ. 2505 – 2507
17. เจ้าอธิการดวงทิพย์ ฐานจาโร พ.ศ. 2508 – 2520
18. พระครูขันติพลาธร (บุญยวง ขนฺติพโล) 12 พฤษภาคม 2520 – ปัจจุบัน
สถานที่สำคัญในศาสนสถาน
1. พระวิหารวัดฝั่งหมิ่น แบบโบราณล้านนา(ลับแล)
พระวิหารหลังนี้ เป็นพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนหลังเก่า โดยพระครูขันติพลาธร เจ้าอาวาสและคณะศรัทธาของวัดฝั่งหมิ่น ได้ทำการรื้อถอนหลังเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก แล้วสร้างขึ้นใหม่ ณ สถานที่เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2562จนเสร็จสมบูรณ์ และทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 15มีนาคม พ.ศ. 2563
ลักษณะพระวิหารที่สร้างใหม่ครั้งนี้ เป็นพระวิหารทรงล้านนา เรียกว่าวิหารปิดหรือวิหารปราการ รูปทรงซึ่งชาวบ้านเรียกว่า แม่ไก่ฟัก องค์ประกอบของพระวิหารหลังนี้ เครื่องบนได้แก่ช่อฟ้า ป้านลม ปราสาทเฟื้อง หางหงส์ ช่อฟ้ายองปลี เชิงชาย รวมถึงประตู หน้าต่าง เป็นเครื่องไม้ที่มีรูปแบบเชิงศิลปะแบบล้านนา โดยมีการแกะสลักรูปเทวดา จากตัวอย่างงานพุทธศิลป์ของวัดเก่าแก่ต่างๆ ได้แก่ วัดโพธาราม วัดลำปางหลวง ส่วนลายคำประดับเสาวิหาร มาจากวัดลำปางหลวง วัดปงยางครก วัดไหล่หิน วัดพระธาตุเสด็จ จากจังหวัดลำปาง และจาก วัดวิหาร วัดต้นเกว๋น อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
บันไดนาค หรือทางขึ้นพระวิหาร ตัวนาคเป็นพญานาคโบราณเศียรเดียว คัดแบบมาจากพญานาค ๕ เศียรของวัดเจดีย์หลวง วัดอุโมงค์เถระจัน และวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ตัวพญานาคของวัดฝั่งหมิ่นแห่งนี้ จะมีสีเทาเข้ม เพราะเป็นไปตามนิมิตของหลวงพ่อ พระครูขันติพลาธร เจ้าอาวาส ซึ่งนิมิตว่า ลึกลงไปใต้บริเวณวัดฝั่งหมิ่นแห่งนี้ เป็นวังบาดาล เป็นที่อยู่อาศัยของพญานาคมุจลินท์ พร้อมกับบริวาร ซึ่งทุกตัวจะมีผิวเป็นสีเทาเข้ม
ประตูโขง หรือซุ้มประตู ได้ประยุกต์เรื่องราวทางคติธรรมไว้ โดยมีรูปแบบซุ้มประตูและลวดลายปูนปั้นมาจากซุ้มประตูวัดลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
บานประตู ได้แกะสลักตามคติโบราณที่ต้องมีเทวดาเฝ้าประตูทางขึ้น ลวดลายและองค์เทวดา ได้รูปทรงมาจากรอบเจดีย์ของวัดโพธาราม
สำหรับพระพุทธรูป พระประธาน ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม อายุเก่าแก่นับร้อยปี นามว่าพระพุทธรูปทองขาว ได้รับการบูรณะปิดทองทั้งองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2562เป็นพระพุทธรูปแบบลักษณะสิงห์สอง
งานจิตรกรรมในพระวิหาร ได้แก่ภาพต่างๆ ประกอบไปด้วยภาพพุทธนิยมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า ปรากฏอยู่ในห้องที่ประดิษฐานพระประธาน ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน จะมีรูปพระพุทธเจ้าที่เกิดมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งจะมีกี่พระองค์ ก็ไม่สามารถนับได้ รวมทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถลำดับพระนามได้ มี 28พระองค์ นอกจากนี้ ภาพทั้งสองด้าน จะมีพระสาวกที่มี เอตทัคคะ เป็นเลิศในด้านอิทธิฤทธิ์ คู่ไปกับ พระสารีบุตร รวมทั้งพระภิกษุ พระภิกษุณี ผู้เผยแพร่พระธรรม รวม 108พระองค์
ลำดับภาพผนังด้านทิศเหนือ หรือด้านซ้ายขององค์พระประธาน ภาพต่อจากพระปัจเจกพระพุทธเจ้าและพระสาวก เริ่มด้วยภาพพญา ลวจักราช หรือปู้จ้าวลาวจก กับย่าเจ้าลาวจก ซึ่งเป็นปฐมวงศ์ของราชวงศ์มังราย จากนั้นเป็นรูปภาพพระแม่คำขยาย พระมารดาของพระยามังราย ภาพพระบิดาและพญามังราย ( องค์ยืน ) พร้อมพระกุมารอีกสามพระองค์ คือองค์โต ขุนเครือ องค์รองขุนคราม และองค์เล็กขุนเครื่อง แสดงไว้เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณ ที่ทุกพระองค์มีต่อแผ่นดินล้านนา ต่อจากนั้นเป็นรูปพระโพธิสัตว์ 10พระองค์ที่จะตรัสรู้ สัมโพธิญาณในภายภาคหน้า
ต่อด้วยเรื่องราวของพระสารีบุตร และตำนานการสร้างเจดีย์ ๙ จอม เป็นเจดีย์ที่ชาวพุทธนับถือ ตามคติความเชื่อที่ว่า ผู้ใดได้สักการะกราบไหว้เจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ครบ ๙ องค์นี้แล้ว จะบังเกิดอาณิสสงส์เป็นศิริมงคล ต่อตนเองและครอบครัวตลอดถึงเครือญาติ จากนั้นจะเป็นภาพประวัติ แมงสี่หู ห้าตา ซึ่งตามตำนานเล่าถึงชายผู้ยากไร้ แต่ตั้งมั่นอยู่ในศิลธรรมอันดีตั้งแต่เยาว์วัย กระทั่งพระอินทร์แปลงกายมาเพื่อช่วยเหลือในรูปของแมงสี่หู ห้าตา กินถ่านไฟแดงเป็นอาหาร ขับถ่ายออกมาเป็นทองคำ ต่อมาชายผู้ยากไร้กลายเป็นผู้ที่มั่งคั่ง ร่ำรวย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เจริญเติบโตก็ปฏิบัติตัวและตั้งมั่นในศิลธรรมมาโดยตลอด ท้ายที่สุดได้เป็นถึงพระราชาครองเมือง และได้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ณ วัดดอยเขาควาย ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวก็ปรากฏอยู่จริงมาจนถึงทุกวันนี้
ภาพด้านหลัง เหนือประตูด้านใน เป็นภาพพระสัมมา สัมพุทธเจ้ากับพระอัครสาวก และพระเจ้าอโศกมหาราช ( กรุงสาวัตถี ) ทรงเตรียมงานส่งเสด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าที่เสด็จเลียบโลก ตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆเคยเสด็จ ซึ่งภาพลำดับต่อจากนี้ไป ด้านในเหนือประตูทิศใต้ เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จถึงดินแดนล้านนา โดยเฉพาะดินแดนสุวรรณภูมิ พระองค์ได้ทรงประทับรอยพระบาทตามที่ต่างๆ ตามลำดับได้แก่ พระพุทธบาทนางแล พระพุทธบาทตากผ้า พระพุทธบาทผางาม พระพุทธบาทที่สนามบินเก่า พระพุทธบาทบ้านดู่ พระพุทธบาทผาเรือ และพระพุทธบาทดอยตุง เป็นต้น
ภาพช่วงสุดท้าย เป็นภาพสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าเสด็จถึงเมืองเชียงราย และเสด็จออกจากดอยทอง ไปเจอชีร้ายถือดาบไล่ทำร้าย แต่พระองค์ยื่นแขนให้ฟัน ปรากฏว่าดาบกลายเป็นดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง จนชีร้ายขอถวายตัวออกบวชและร่วมเดินทางไปพร้อมกับอัครสาวก 60องค์ เดินทางไปประกาศพระศาสนา ในดินแดนสุวรรณภูมิ
ลำดับต่าง ๆ ในพระวิหารเหล่านี้แล้ว ขอให้ทุกท่านได้ไปอฐิษฐานจิต ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดจุดอื่นด้วย เช่นพระพุทธรูปหยก ณ หอพระหยก ซึ่งเป็นพระหยกขาวและพระหยกดำ บริเวณศาลาดังกล่าว ยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องอีกด้วย นอกจากนี้ ขอให้ไปอฐิษฐานจิต ขอพรจากเจ้าแม่เทพอักษรใต้ต้นไทร และเทพทันใจ เสร็จแล้วเชิญไปนมัสการอฐิษฐาณจิต ณ พระเจดีย์ประจำวันเกิดจำลอง ซึ่งตั้งอยู่ด้าน ทิศตะวันออกของต้นไทร สำหรับด้านทิศตะวันออกของวัดฝั่งหมิ่นแห่งนี้ ได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา เป็นอาคาร 3ชั้น โดยเฉพาะชั้นที่ 3จะมีพระพุทธรูปโบราณ เพื่อให้ผู้ที่ไปเยี่ยมชม ได้สักการะ อฐิษฐานจิตขอพรตามปรารถนาอีกด้วย
2. หอพระหยก
วางศิลาฤกษ์วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2541 โดยพลเรือเอกประพัฒน์-คุณหญิงศรีศิริ กฤษณจันทร์ พร้อมคณะทหารเรือพระเทพรัตนมุนี รองเจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดพระเเก้ว (พระอารามหลวง) ให้นามพระพุทธหินหยกขาวว่า"พระพุทธศรีบุศยรัตน์ประพัฒน์ขันติพลาธรไพโรจน์"และพระพุทธรูป หินหยกดำว่า"พระพุทธนิลรัตน์สิริพัฒน์ขันติธรรมไพศาล"พระครูขันติพลาธร เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย เจ้าอาวาสวัดฝั่งหมิ่น ให้พระนามรูปทองสำริดว่า"พระเชียงแสนสำเภาทรงเครื่องจักรพรรดิ์"
พลเรือเอกประพัฒน์-คุณหญิงศรีศิริ กฤษณจันทร์ คณะทหารเรือ พร้อมทั้งคณะ ศรัทธาประชาชนเป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูปหินหยกขาวและพระพุทธรูปหินหยกดำร้านทองลิ่มเซ่งเฮงและคุณเดชา ศิริเวชพงศ์กุล เป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูปทองสำริดและกระถางธูป, คุณแม่ประพัฒนวรรณ นิลวรางกูร และ นางสาวนับทรัชช์ ธนวิทย์วัฒนา เป็นเจ้าภาพประดับเครื่องทรง, ปิดทองพระพุทธรูปทองสำริดและบาตรน้ำมนต์, นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล รมช.อุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพสิงห์หน้าหอพระหยก,อาจารย์พรศิลป์ รุตนชูเดช ออกแบบพระพุทธรูปทองสำริด โดยมีนายช่าง บุญธรรม รัศมี โรงงานพุทธประสิทธิ์ กทม. เป็นช่างหล่อ, อาจารย์กนก วิศวกุล ออกแบบ"พระพุทธรูปหินหนกดำ""พระพุทธรูปหินหยกขาว"โดยมีร้านหยกทองทวี อำเภอเเม่สาย เป็นช่างแกะสลัก , อาจารย์อำนวย บัวงาม ออกแบบช่อฟ้า - ใบระกาและหน้าบัน โดยมีนายหยาด ชัยแสน เป็นช่างแกะสลัก, นายโดน สุริยะพรหมชัย ออกแบบโครงสร้างหอพระหยกและออกแบบสิงห์หน้าหอพระหยก,นามแก้ว ใจหลวง เป็นผู้รับเหมาโครงสร้างหอพระหยก, นายช่างวุฒิกรณ์ น้อยเงิน ผู้ให้แบบงานจิตรกรรมบนฝาผนัง งานปฏิมากรรมหอพระหยกและควบคุมงาน,นายช่างสิงห์คำ สนเครือ แกะสลักสิงห์, บาตรน้ำมนต์และกระถางธูป, บริษัทเชียงรายหินอ่อน๒๐๐๒ เป็นผู้รับเหมาพื้นหินแกรนิต
ความโดดเด่นหรือความน่าสนใจของสถานที่/คุณค่าที่เป็นประจักษ์
เรื่องราวของประตูวัดฝั่งหมิ่น
(ทิศเหนือ) นวขันติธรรมไชยศรี ประตูของผู้มีธรรมคือตบะ 9ประการสู่ชัยชนะอันประเสริฐ
อัญเชิญ = ครูบาอภัย
คิดสิ่งใดสมใฝ่ปอง ความผาสุก ร่มเย็น ปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายสารพัด ทำอะไรที่ผิดพลาดไปจะได้รับการให้อภัยทาน มีชีวิตที่ราบรื่น สุขทั้งกายสุขทั้งใจเหมือนน้ำเย็นหุ้มห่อไว้ตลอดเวลา มีลาภ ยศ อายุ สุขะ พละ
(ทิศตะวันตก) โมรีภิรมย์ทิศา= เสริมเมตตามหานิยม
อัญเชิญ = เจ้าแม่เทพอัปสร
ดึงดูดโชคลาภ ผู้คนหลงใหล จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ความรักก็จะมั่นคงและราบรื่น มีคนหลงรัก ไปทางไหนทิศใดจะมีแต่คนคอยช่วยเหลืออุปถัมภ์ คนไม่มีคู่จะสมหวังดังหมายปอง
(ทิศตะวันออก) ไอยราปิยบงกช = เสริมขอโชคขอลาภ
อัญเชิญ = ครูบาก๋ำ
ลาภยศบริบูรณ์สมประสงค์ ทั้งจะอายุยืนยาว การค้าขายเจริญรุ่งเรือง สมดังปรารถนาทุกประการ
(ทิศใต้) มหรรณพสีหราชนันทา = เสริมอำนาจ วาสนา บารมี
อัญเชิญ = ครูบาก๋า
ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นเจ้าคนนายคน มีอำนาจบารมี มีผู้คนนับหน้าถือตาทำการสิ่งใดไม่มีอุปสรรค การงานก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง ความแคล้วคลาดปลอดภัย
การให้บริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกภายในวัด
ด้วยวัดฝั่งหมิ่น ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย ปัจจุบันทางวัดได้มีการพัฒนาปรับปรุงเสนาสนะและถาวรวัตถุภายในวัดให้มีความเหมาะสมกับการเป็นพุทธสถาน สำหรับปฏิบัติศาสนกิจทางพระพุทธศาสนา ให้เหมาะสมกับกาลเวลาโดยการจัดทำซุ้มประตูพยานาค 9ตัว บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารสร้างขึ้นใหม่เป็นแบบทรงล้านนาลงภาพระบายสี หรือจิตรกรรมฝาผนังภายในเป็นตำนานและพุทธตำนาน เริ่มตั้งแต่ อดีตพระพุทธเจ้าที่มีมาแต่เก่าก่อน จนถึงพระพุทธรูป 28พระองค์ รวมถึงพระสาวกที่มีเอตทัคคะ เป็นเลิศทางด้านอิทธิฤทธิ์ควบคู่ไปกับพระสารีบุตรและพระภิกษุพระภิกษุณีผู้เผยแพร่พระธรรม 108พระองค์ ตลอดถึงประวัติตำนานอื่น ๆรวมทั้งพระพุทธเจ้าเสด็จเลียบโลก ซึ่งครั้งเสด็จถึงดินแดนสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยปัจจุบันมีการสร้างพระเจดีย์ 9จอม ไว้เป็นสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จไปยังสถานที่แห่งนั้น นอกจากนั้นยังมีภาพ ประวัติเเมงสี่หูห้าตา และสถานที่ประทับรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในพื้นที่เชียงรายอีก 7แห่งเป็นต้น
นอกจากนี้ปัจจุบันทางวัดได้เปิดบริการให้สาธุชนเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08:00 น. ถึง 15:๓0 น. ในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวเหนือตั้งแต่โบราณ ณ ตึกพิพิธภัณฑ์ 3 ชั้น โดยเฉพาะชั้นบนสุด จัดแสดงวัตถุโบราณล้ำค่าและพระพุทธรูปเก่าแก่ให้ผู้เข้าชมได้กลับไหว้สักการะบูชาอธิฐานจิตตามปรารถนา จากนั้นผู้เข้าชมวัดสามารถไปสักการะพระเจดีย์ประจำวันเกิดจำลองที่ตั้งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ ขอพรเจ้าแม่อักษร พระสหายของเจ้าแม่นางนอนซึ่งจิตวิญญาณของพระองค์ท่านสถิตอยู่ ณ ที่ใต้ต้นไทรของวัด ก่อนเดินทางกลับขอพรจากเทพทันใจเพื่อเดินทาง กลับโดยสวัสดีภาพ