ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 13° 31' 56.375"
13.5323264
Longitude : E 99° 49' 15.1075"
99.8208632
No. : 197349
โอ่งมังกรราชบุรี
Proposed by. ราชบุรี Date 14 September 2022
Approved by. ราชบุรี Date 20 September 2022
Province : Ratchaburi
1 850
Description

โอ่งมังกร

นับตั้งแต่มนุษย์เรารู้จักเอาดินชนิดต่างๆมาสร้างเป็นภาชนะใช้สอย ภาชนะที่ใช้บรรจุเก็บน้ำอย่างโอ่ง ก็มีมาแต่โบราณ และเป็นภาชนะสำคัญของครัวเรือน โดยใช้โอ่งสำหรับเป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้สอยภายในบ้าน

โอ่งมังกร แต่เดิมไม่มีการสร้างลวดลายจึงเรียกว่า โอ่งเลี่ยน แต่มีการเพิ่มลาย เข้ามาในภายหลังเนื่องจากมังกรเป็นสัตว์มงคลตามคติความเชื่อของคนเชื้อสายจีน และลายที่มักจะได้รับความนิยมก็คือลายมังกร จึงเรียกว่า โอ่งมังกร และถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินราชบุรีมากว่า 90 ปี จวบจนปัจจุบัน

ความเป็นมาของโอ่งมังกรราชบุรี

กล่าวกันว่าโอ่งสมัยก่อนที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดีต้องเป็นโอ่งที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งสมัยนั้นจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยม ต่อมาโอ่งที่นำเข้าจากประเทศจีนเริ่มขาดแคลนเพราะผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2476 ช่างปั้นโอ่งชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ นายฮง แซ่เตี่ย และ นายจือเหม็ง แซ่อึ้ง พบว่าแหล่งดินที่จังหวัดราชบุรี เป็นเนื้อดินที่มีคุณภาพเหมาะแก่การปั้นโอ่งเป็นอย่างมาก จึงได้รวมกันก่อตั้งโรงงานผลิตโอ่งขึ้นมาและได้แพร่หลายจนเกิดโรงงานผลิตหลายแห่ง และเป็นจุดเริ่มต้นของโอ่งมังกรราชบุรีตั้งแต่นั้นมา ในอดีตจากท่าน้ำหน้าเมือง โอ่งมังกรจะแพร่ไปทั่วตามแม่น้ำลำคลองที่เรือขายโอ่งจะผ่านไปได้ ไม่ว่าเหนือจรดใต้จนเป็นที่รู้จักว่าราชบุรีคือ เมืองโอ่งมังกร จังหวัดราชบุรี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตโอ่งมังกรในประเทศไทย มีชื่อเสียงในการผลิตโอ่งมังกร และมีการกล่าวถึงในคำขวัญของจังหวัด คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี

ด้านภูมิปัญญากระบวนการผลิตโอ่งมังกรจะมีขั้นตอนหลายขั้นตอนกว่าจะได้ซึ่งโอ่งมังกรที่เป็นภาชนะใส่และกักเก็บน้ำ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของราชบุรี ด้วยพื้นฐานของช่างปั้นซึ่งเป็นลูกหลานของคนจีน ประกอบกับเนื้อดินเหนียวเป็นวัตถุดิบชนิดดี ช่างติดลายได้นำความสามารถเชิงศิลปะสะท้อนภาพชีวิตตามวัฒนธรรมจีนมาผสมผสานกับเทคนิคการผลิตเป็นอุตสาหกรรม

1. การเตรียมดิน นำดินเหนียวที่มีคุณสมบัตินำมาหมักเพื่อให้ดินอ่อนตัวทั่วถึงกัน

2. การขึ้นรูป แบ่งการปั้นเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนท้อง และส่วนปากโอ่ง

3. การทุบโอ่ง ช่างทุบตกแต่งโอ่งเพื่อให้โอ่งนั้นเรียบ และได้รูปทรงที่ดี

4. การเขียนลายโอ่ง โดยเฉพาะการติดลายมังกร ถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากเพราะโอ่งจะสวยสะดุดตามากน้อยขึ้นอยู่กับลวดลายนี้ ซึ่งโอ่งแต่ละใบผู้ชำนาญจะใช้เวลาในการเขียนลายประมาณ 10 นาที ถ้าเป็นลายแบบนูนต่ำใช้เวลามากกว่านั้น

5. การเคลือบโอ่ง จะโอ่งมาเคลือบ น้ำที่ใช้เคลือบ คือ น้ำโคลนผสมกับขี้เถ้า นอกจากจะทำให้เกิดสีสวย การเคลือบยังช่วยสมานรอยและรูระหว่างเนื้อดินเมื่อนำโอ่งไปใส่น้ำ น้ำก็จะไม่ซึมออกนอกโอ่ง

6. การเผาโอ่ง นับเป็นกรรมวิธีขั้นสุดท้ายของการทำโอ่ง โดยใช้เวลาประมาณ 2 วัน และในวันที่ 3 จะปล่อยให้ไฟมอด โดยปล่อยทิ้งไว้ 10 - 12 ชั่วโมง

ลวดลายมังกรลวดลายมังกรที่ใช้ติดอยู่กับโอ่งยังเป็นเสมือนการเสริมบารมี โดยชาวจีนเชื่อว่า มังกร เป็นสัตว์มงคลตามเทพนิยายจีน เป็นเทพเจ้าแห่งพลังความดีงามและเป็นสัญลักษณ์พลังอำนาจความยิ่งใหญ่ โดยการวาดลายมังกรช่างจะต้องใช้ความประณีตและชำนาญเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้โอ่งมีความสวยงามสะดุดตา การวาดลวดลายมังกรโดยไม่มีแบบร่าง ใช้ดินเหนียวผสมดินขาว เรียกว่าดินติดดอกโอ่ง ช่วงติดลายจะใช้ดินติดดอกเป็นเส้นๆ ป้ายติดไปที่โอ่งสามตอน เพื่อเป็นการแบ่งโอ่งออกเป็นสามช่วง คือ ช่วงปากโอ่ง ตัวโอ่งและเชิงล่างของโอ่ง แต่ละช่วงจะติดลายไม่เหมือนกัน ช่างเขียนลายจะใช้ดินสีนวลปาดด้วยมือเป็นเล็กๆ รอบตัวโอ่ง นิยมเขียนลายดอกไม้หรือลายเครือเถา ส่วนลายมังกรจะปาดเนื้อดินด้วยหัวแม่มือเป็นรูปร่างมังกรอย่างคร่าวๆ ใช้ปลายหวีขีดเป็นตัว และใช้ซี่หวีตกแต่งเป็นส่วนหนวด นิ้วและเล็บ สำหรับเกล็ดมังกรใช้สังกะสีที่ตัดปลายหยักไปมาบนตัวมังกร และเน้นส่วนลูกตาของมังกรให้มีความนูนเด่นออกมา

ด้านการอนุรักษ์และพัฒนา

แม้ทุกวันนี้ โอ่งที่ใช้สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ตามบ้านจะถูกลดบทบาทลงไป แต่ด้วยชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพ ลวดลายที่วิจิตรบรรจงและงดงามของมังกรที่ปรากฏบนโอ่ง กลายเป็นสัญลักษณ์ของโอ่งจากราชบุรี หรืออีกนัยหนึ่งโอ่งมังกรเป็นมากกว่าแค่โอ่งใส่น้ำ แต่คือภูมิปัญญาอันทรงคุณค่ายิ่ง การปั้นโอ่งมังกรสืบทอดผ่านหลายชั่วอายุคน แม้ธุรกิจโรงงานปั้นโอ่งปิดตัวลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปัจจุบัน ยังมีโรงโอ่งหลายแห่งที่ปรับตัวพัฒนา และเปิดให้เข้าไปเยี่ยมชม ศึกษา เรียนรู้ถึงวิธีการปั้นโอ่งเพื่อรักษา อนุรักษ์มรดกอันล้ำค่านี้ โรงงานโอ่งมังกรที่ยังคงสืบทอดงานศิลปะอันทรงคุณค่า เผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถศิลป์ ของดีเมืองราชบุรี ได้แก่

1. เถ้าฮงไถ่

2. เรื่องของโอ่ง

3. รัตนโกสินทร์ 1

4. รัตนโกสินทร์ เซรามิกค์ 4

Location
Tambon หน้าเมือง Amphoe Mueang Ratchaburi Province Ratchaburi
Details of access
Tambon หน้าเมือง Amphoe Mueang Ratchaburi Province Ratchaburi ZIP code 70000
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่