สำหรับชาวมอญนั้นขนม "กาละแม” คือขนมโบราณที่มีลักษณะคล้ายแป้งเหนียวๆ สีดำ นับเป็นขนมหนึ่งในสามชนิด ( ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง กาละแม)ที่นิยมทำขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย เพื่อเป็นของฝากของขวัญที่จะนำไปทำบุญถวายพระรวมถึงมอบให้กับญาติผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลนี้ ขนมชนิดนี้มีข้อจำกัดที่จะต้องทำให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์ การทำขนมชนิดนี้มีความพิเศษคือต้องอาศัยแรงงานคนมาช่วยกันกวนขนมโดยเฉพาะแรงงานหนุ่มๆจึงจะกวนไหวเพราะต้องกวนตั้งแต่เป็นข้าวเหนียวเม็ดขาวจนกลายเป็นแป้งคาราเมลสีน้ำตาลเข้มถึงดำ การมอบกาละแมเป็นของขวัญ จึงถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยมิตรไมตรีเป็นความดีงาม กาละแมรามัญเป็นขนมหวานชนิดหนึ่งของชาวมอญ เหตุที่ชื่อว่ากาละแมรามัญหลายท่านคงสงสัยว่าทำไมต้องรามัญ เพราะรามัญก็แปลว่ามอญนั่นเอง กาละแมรามัญไม่พบปีพ.ศ.ที่เริ่มทำขึ้นอย่างแน่ชัด เพราะเป็นขนมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่เดิมนั้นกาละแมรามัญจะกวนขึ้นในงานแต่งของคู่บ่าวสาวชาวมอญ เป็นส่วนหนึ่งของสินสอดทองหมั้น ต่อมาการกวนกาละแมรามัญก็เริ่มมากวนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะจะมีการทำบุญอุทิศแก่บรรพชนในช่วงสงกรานต์ก็จะมีการกวนกาละแมขึ้นเพื่อเป็นขนมถวายพระสงฆ์และแจกญาติสนิทมิตรสหาย จะกวนในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์คือประมาณวันที่ 1-9 เมษายน ของทุกปี ญาติพี่น้องก็จะมารวมตัวช่วยกันกวนกาละแม การกวนกาละแมรามัญนั้นต้องใช้คนจำนวนมาก ประมาณ 9-10 คน ใช้กระทะที่เรียกว่ากระทะใบบัวเป็นภาชนะในการกวนซึ่งการกวนกระทะนึงต้องใช้เวลาถึง 6-7 ชั่วโมงโดยไม่หยุดไม่เช่นนั้นจะทำให้ขนมไหม้ จึงต้องมีการร่วมใจสามัคคี ลงแขกช่วยกันกวนแต่ละบ้านๆหมุนเวียนช่วยกันไป ในช่วงหลังประเพณีการกวนกาละแมช่วงเทศกาลสงกรานต์เริ่มหายไป หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดศรัทธาธรรม(วัดมอญ)จังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้คิดริเริ่มตั้งกลุ่มแม่บ้านรามัญพัฒนาเพื่อสืบทอดและอนุรักษ์กาละแมรามัญและเพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนวัดมอญ ขนมกาละแมรามัญจึงได้สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นขนมที่ขึ้นชื่อสำหรับชาวมอญโดยทั่วไป กะละแม มีส่วนประกอบหลักเพียงข้าวเหนียว กะทิ และน้ำตาลปี๊ป(น้ำตาลมะพร้าว)เท่านั้น แต่วิธีทำค่อนข้างต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด เพราะต้องกวนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกะละแมงวด แสดงถึงความพิถีพิถัน ความอดทน และความสามัคคีของผู้กวนเป็นอย่างยิ่ง